Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้เขียนยังมีเรื่องคาใจที่อยากจะพูดต่อกับชาวพุทธด้วยกันโดยเฉพาะเรื่องขันติธรรมกับการยอมจำนนต่อจากประเด็นในบทความที่แล้ว ก่อนอื่นจะขอเริ่มต้นโดยอาศัยคำพูดของโยฮัน กัลป์ตุง เพื่อเตือนให้ตระหนักถึงคุณค่าของพุทธศาสนากับสันติภาพ

“หลักธรรมพื้นฐานของพุทธศาสนาอีกประการหนึ่งได้แก่ หลักขันติธรรม แม้พุทธศาสนาจะมีพระธรรมคำสั่งสอนถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แต่จากประวัติศาสนา อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาไม่เคยมีสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เพื่อมาทำหน้าที่พิทักษ์หลักธรรมคำสอน ทั้งไม่มีศาลศาสนาและสงครามภายในศาสนาด้วย ในทางตรงกันข้าม พุทธศาสนากลับมีขันติธรรมต่อระบบความเชื่ออื่นๆ ให้โอกาสในการผนวกระบบความเชื่ออื่นเข้าอยู่ด้วยกันในขอบข่ายอันกว้างขวาง หรืออย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้ระบบความเชื่ออื่นดำรงอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ พุทธศาสนามีความเป็นพหุนิยมถึงกับมีความคิดที่จะช่วยเหลือกศาสนาอีกด้วย เป็นศาสนาที่มีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย แต่ก็มีความหลากหลายดำรงอยู่ในความมีเอกภาพ และยังใช้ประโยชน์จากการดำรงอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันท่ามกลางความหลากหลาย ซึ่งเห็นได้จากความสามารถของชาวพุทธในการประสานวิธีคิดอื่นเข้ากับแนวทางของตน ซึ่งตรงกับแนวทางของทฤษฎีสันติภาพที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของรูปแบบทางสังคม ทัศนคติและพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อผนวกกับความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน นั่นคือแนวคิดและการปฏิบัติแบบพุทธจะสร้างความยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นในระบบ ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า จะมีก็แต่การแสวงหาความคิดและการกระทำที่สอดคล้องกัน”[1]

ไม่ว่ากัลตุงจะมองพุทธศาสนาแบบโลกสวยหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าจะยอมรับกันได้จากคำพูดดังกล่าวคือ พุทธศาสนาให้ความสำคัญอย่างสูงกับ “ขันติธรรม” ดังจะเห็นได้จากเรื่องเล่า 2 เรื่องคือ ปุณโณวาทสูตร และเรื่องพระติสสะผู้คุ้นเคยกับตระกูลนายช่างแก้ว ซึ่งถูกคนที่คุ้นเคยที่สุดทรมานจนเสียชีวิต ในสองเรื่องนี้เราเห็นอุดมคติอันสูงส่งที่มอบไว้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับพุทธบริษัทเมื่อการเบียดเบียนจากคนอื่นมาถึงเนื้อถึงตัว เพื่อจะธำรงศีลข้อปาณาติบาตและพร้อมกับรักษาคำสัตย์ด้วยกัน พระติสสะไม่ยอมปริปากที่จะบอกให้นายช่างแก้วทราบว่าแก้วมณีที่หายไปนั้นอยู่ในท้องของนกแก้ว แต่ในความอดกลั้นอดทนอย่างสูงนี้เราก็จะได้เห็นมิติที่เมตตาธรรมหรือความกรุณาเล่นบทบาทในชีวิตของพระติสสะด้วย นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่ามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราจากสองเรื่องคือการไม่กลัวตายของพระติสสะและพระปุณณะ นี่เป็นตัวอย่างของการแลกชีวิตกับการดำรงธรรม (การไม่ทำร้ายสัตว์ /ความกรุณาที่มีต่อสรรพชีวิต) ซึ่ง “ธรรม” ในที่นี้หมายถึงธรรมที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของผู้อื่นหรือชีวิตอื่นมากกว่าจะเป็นการรักษาธรรมเพื่อศาสนา เมื่อไม่มีความกลัวต่ออันตรายที่จะมาถึงชีวิต เราก็จะไม่กลัวตาย และเราจะมีความอดทนที่จะไม่โกรธและตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง หรือไม่เอาตัวรอดด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม

ถ้าใช้มุมมองนี้มาวิเคราะห์สถานการณ์ของชาวพุทธไทยในปัจจุบันในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนคือความโกรธ (อันเป็นสภาวะตรงกันข้ามกับความเมตตากรุณา) อันมีสาเหตุมาจากการรับรู้เหตุการณ์รุนแรงบางประการที่เกิดขึ้นและเกิดความกลัว เช่น กลัวว่าชาวพุทธจะถูกทำร้าย สังหาร หรือเข่นฆ่า กลัวพุทธศาสนาจะหายไปและทำให้ความเป็นไทยหายไปจากแผ่นดินนี้ด้วย ความกลัวมีผล 2 ประการต่อพฤติกรรมของเราคือ หนีเพื่อเอาตัวรอด หรือการสู้กลับซึ่งอาจจะรอดหรือไม่รอดก็ได้ ปัจจุบัน พระสงฆ์และชาวพุทธจำนวนมากมองว่าชาวพุทธไทยยอมเปิดกว้างใจกว้างต่อศาสนิกชนอื่นมากแล้ว เช่น การเปิดใจกว้างต่อชาวคริสต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นมา  ชาวพุทธมักคิดว่าดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเป็นของพวกตน และเอื้อกรุณาให้ “คนอื่น” เข้ามาอาศัย กระนั้นยังไม่ได้รับความเคารพจากคนอื่นอย่างเพียงพอ มิหนำซ้ำยังจ้องรุกรานอีก ชาวพุทธจำนวนมากรู้สึกว่าชาวมุสลิมไม่เคยตรวจสอบตนเอง หาเหตุผลเข้าข้างความรุนแรงที่กระทำโดยชาวมุสลิมเสมอมา ไม่เคยตำหนิติเตียนกันเองในกรณีที่มีการทำร้ายคนอื่นจนถึงตาย เมื่อพูดถึงชาวมุสลิม ภาพของความรุนแรง ความรุกรานทางศาสนาจะปรากฏขึ้นในมโนภาพของชาวพุทธจำนวนมาก ชาวพุทธจำนวนมากโกรธเมื่อรู้สึกว่าตนเองถูกรุกราน มิตรสหายชาวพุทธด้วยกันถูกทำร้าย แต่ชาวมุสลิมกลับมองดูอย่างนิ่งเฉย การที่ชาวพุทธจะยอมรับสันติธรรมบนพื้นฐานความคิดแบบอหิงสาตามพระธรรมคำสอนในสถานการณ์แบบนี้ถูกมองว่าเป็นการยอมจำนน เป็นความขี้ขลาดซึ่งจะตามมาด้วยความสูญสิ้นพุทธศาสนาไปจากประเทศไทย

ข้อนี้ย่อมแตกต่างจากสิ่งที่กัลตุง เห็นและประทับใจในพุทธศาสนา ที่กัลตุงกล่าวถึงหลักการของพุทธศาสนานั้นก็คงไม่ผิด หลักคิดพุทธศาสนามีลักษณะที่เอื้อให้เกิดความมีใจกว้างต่อลัทธิศาสนาอื่นๆ หรือความเชื่ออื่น ๆ เสมอ ข้อมูลในพระไตรปิฎกก็บ่งชี้ชัด เช่น เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร) หรือ อปัณณกสูตร เป็นต้น ล้วนแต่สอนให้เปิดกว้างต่อสัจจะหรือความจริงแบบอื่น ๆ พระพุทธเจ้าสอนให้บุคคลมีสิทธิขาดในการยอมรับหรืไม่ยอมรับความเชื่ออื่นหลังจากได้ไตร่ตรองพิจารณาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ขันติธรรมในเรื่องความคิดและความรู้นั้นดูไม่เป็นปัญหามากสำหรับชาวพุทธนัก (แต่ใช่ว่าไม่มีปัญหาเสียเลย) ส่วนขันติธรรมในเรื่องสถาบันนั้นมาถึงจุดที่อาจพูดได้ว่าชาวพุทธได้หันออกไปจากเส้นทางที่เคยเป็นจุดยืนอันโดดเด่นของชาวพุทธเรียบร้อยแล้วเมื่อเผชิญหน้ากับชาวมุสลิมหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม คำสอนศาสนาอาจทดสอบกันด้วยเหตุผล แต่การใช้กำลังก็ต้องต่อต้านด้วยอาศัยกำลังเช่นเดียวกัน

คำถามที่น่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการเรียกร้องให้ชาวพุทธใช้ขันติธรรมต่อการรุกรานทางศาสนาของลัทธิอื่นๆ โดยเฉพาะชาวมุสลิม ก็คือ การมีขันติธรรมในขณะที่คนอื่นเอาไฟมาสุมบ้าน หรือมุ่งหมายที่จะเอาชีวิตเรานั้น ควรเป็นอุดมคติหรือไม่ ถ้ายอมรับขันติธรรมแบบที่ยอมเสียชีวิตแต่ไม่ยอมมีปฏิกิริยาเชิงบวกใด ๆ ก็คงถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่รักศาสนา เป็นพวกขี้แพ้ ยอมจำนน ไม่ยอมสู้ การมีขันติธรรมต่อความรุนแรงและการรุกรานกลายเป็นความขลาดเขลา ขันติธรรมและเมตตาธรรมที่ตามมาด้วยการสูญเสียตัวเองและสิ่งอันมีคุณค่าต่อชีวิตของตน เป็นสิ่งที่ควรจะยอมรับหรือ ?

พระพุทธเจ้าให้ค่าสูงส่งกับการมีขันติธรรมและการไม่เบียดเบียน การตีความว่าการมีขันติธรรมคือการยอมจำนน ความขลาดเขลา ย่อมเป็นการประเมินค่าคุณธรรมของพุทธศาสนาไว้ต่ำกว่าวัตถุสิ่งของ รูปแบบทางวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งสมมติ หมายความว่า นี่เป็นการออกนอกทางหรือการอยู่ในทางของพุทธะ


ถ้าไม่ต้องการยอมจำนน – อะไรคือหนทาง ?

ถ้าการแผ่เมตตาอย่างเดียวไม่ช่วยให้ชีวิตรอด หากศัตรูมุ่งหมายจะเอาชีวิตเราจริงๆ ตัวอย่างในวรรณกรรมทางพุทธศาสนาก็มีให้เห็น เช่น การสูญสิ้นตระกูลศากยะวงศ์และการล่มสลายของกบิลพัสดุ์ เพราะถูกฆ่าล้างตระกูลโดยพระเจ้าวิฑูฑภะผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวศากยะเอง เรื่องเล่าว่า ชาวกบิลพัสดุ์เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูที่กระหายเลือด กลับมุ่งหมายแต่จะรักษาศีลคือการไม่ฆ่า แต่สุดท้ายก็ไม่เหลือรอดแม้แต่ทารก เลือดนองทั้งแผ่นดิน – นี่คือตัวอย่างของความพินาศอันเนื่องจากมุ่งแต่จะดำรงศีลตามอุดมคติศาสนา อย่างไรก็ตามในพระไตรปิฎก ก็มีเรื่องเล่า (ชาดก) หลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าการยอมจำนนคือทางออกในการรักษาชีวิตผู้บริสุทธิ์

แต่เพื่อจะหลีกหนีจากข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกยอมจำนนหรือขี้ขลาด ชาวพุทธก็มีสองทางเลือก ทางหนึ่งนั้นดูลัดสั้นทันใจแต่ก็มีสิทธิที่จะไม่รอดด้วยเช่นกันคือสู้กลับแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน อีกทางหนึ่งนั้นเป็นทางเลือกที่ยากกว่า จึงต้องอาศัยขันติธรรมเป็นเครื่องนำทางด้วย ขอเรียกว่า หนทางแห่งปัญญาและเมตตาธรรม ถ้าเราถือเอาเรื่องเล่าในวรรณกรรมทางพุทธศาสนามาเป็นกรอบพิจารณาถึงวิธีการที่จะต่อสู้กับความทุกข์หรือความปวดร้าวอันเนื่องมาจากการคุกคามของผู้อื่น จะมีเรื่องที่อาจนำมาพิจารณาได้หลายเรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการกับการประทุษร้ายของพระเทวทัตอาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนดีแต่ต้องอาศัยการวิเคราะห์ที่ละเอียดจึงช่วยให้เห็นประเด็นชัดเจน แต่ในที่นี้จะพูดถึงเรื่องอื่นแม้อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีนักแต่ก็น่าจะถอดบทเรียนมาใช้ได้คือ เรื่องอุบาสกชื่ออุบาลี และเรื่องขององคุลิมาล ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกทั้งสองเรื่อง

ถ้าเราจับเรื่องราวของคฤหบดีอุบาลีในอุปาลิวาทสูตร[2] มาไว้ในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน เราจะพบว่าพระพุทธเจ้าเองนั่นแหละที่เป็นฝ่ายรุกรานความเชื่อทางวัฒนธรรมของผู้อื่น อุบาลีเป็นเศรษฐีที่ให้ความอุปถัมภ์แก่ศาสนาของนิครนถ์ (ศาสดามหาวีระ) ซึ่งเป็นกลุ่มทางศาสนาที่เกิดขึ้นก่อนพุทธศาสนาแต่ร่วมสมัยกัน พระพุทธเจ้าเผยแผ่ศาสนาเข้าสู่ภาคกลางและรุกเข้าสู่รัฐใหญ่ ๆ อย่างแคว้นโกศล (เมืองสาวัตถี) และแคว้นมคธ (เมืองราชคฤห์) อันเป็นถิ่นของครูหรือเจ้าลัทธิทั้งหกซึ่งมีท่านศาสดามหาวีระรวมอยู่ด้วย อุบาลีได้รับทราบเรื่องราวของพระพุทธเจ้าว่าทรงมีความสามารถในการโต้แย้งธรรมและเอาชนะฝ่ายปรปักษ์ได้เป็นที่น่าหวาดหวั่นแก่นักบวชกลุ่มอื่น อุบาลีเป็นคนฉลาดและหยิ่งทะนงตนว่าโต้วาทะเอาชนะพระพุทธเจ้าได้ จึงสมัครใจที่จะเดินทางไปโต้แย้งปัญหาเชิงอภิปรัชญากับพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ก่อนไป อุบาลีบอกแก่ศาสดาของตนว่าจะทำให้พระพุทธเจ้าหัวหมุนด้วยตรรกะอันชาญฉลาดของเขา เมื่อถึงเวลากลับโดนพระพุทธเจ้าต้อนให้จนมุมด้วยระบบตรรกะและแนวคิดที่เหนือกว่า อุบาลียอมศิโรราบแก่พระพุทธเจ้าโดยบอกว่าตนจะยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะตลอดชีวิต แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนให้เขาคิดถึงผลกระทบที่จะมีต่อชีวิต ครอบครัว และชื่อเสียงของเขา อุบาลีไม่หวั่นและหันมานับถือพระพุทธเจ้า ถ้าชาวพุทธมองพระพุทธเจ้าเป็นผู้รุกรานทางวัฒนธรรมบ้างก็มีทางที่จะเปิดใจกว้างต่อศาสนาอื่นๆ ได้บ้างกระมัง

สมมติเราพลิกอ่านสถานการณ์ในเรื่องเล่านี้ว่า อุบาลีคือผู้รุกรานพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้า เราก็จะมองเห็นวิธีที่พระพุทธเจ้าจัดการและรับมือกับอุบาลีจนสามารถจะทำให้กลายเป็นพวกเดียวกันได้ในที่สุด กรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่เป็นการรุกรานถึงชีวิตซึ่งอาจจะสามารถรับมือได้อย่างวิญญูชน เพราะต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในการสนทนาแลกเปลี่ยนหรือโต้แย้งความคิดด้วยเหตุผลและสติปัญญา อาจจะไม่เหมือนกรณีองคุลิมาล [3] ในแง่ที่องคุลิมาลมีจุดมุ่งหมายชัดเจนในการวิ่งเข้าหาพระพุทธเจ้า คือต้องการสังหารเพื่อตัดหัวแม่มือไปบูชาครูของตน [4] ชีวิตของคนทั้งคนมีค่าเพียงแค่หัวแม่มือ พระพุทธเจ้าต้องการจะเผชิญหน้ากับคนซึ่งลดทอนคุณค่าชีวิตของคนอื่นอย่างสูงเช่นองคุลิมาลและทำให้เขากลับมาเห็นคุณค่าชีวิตและการไม่เบียดเบียนผู้อื่น พระพุทธเจ้าทรงทำอย่างไร ?

เรื่ององคุลิมาลไม่ใช่ตัวอย่างของการรุกรานของศาสนาอื่น แต่เป็นตัวอย่างของการเผชิญหน้ากับความเป็นความตายหรือคนชั่วร้ายที่มุ่งหมายชีวิตของคนอื่นเพียงเพื่อตนเองจะได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิต ตามความในพระไตรปิฎก องคุลิมาลเป็นโจรที่น่ากลัวครอบครองพื้นที่ราวป่านอกเมืองสาวัตถีด้วยกิตติศัพท์แห่งความโหดร้ายที่ไม่มีใครจะรอดชีวิตมาได้เมื่อเผชิญหน้ากับองคุลิมาล ไม่ว่าคนเดียว 20 คน หรือ 40 คนก็สู้คมดาบองคุลิมาลไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าเดินทางออกนอกเมืองเข้าไปยังเขตแดนที่อาศัยขององคุลิมาลแต่พระองค์เดียว องคุลิมาลเห็นการปรากฏตัวอย่างท้าทายของพระพุทธเจ้า จึงวิ่งเข้าหาเพื่อสังหารให้จงได้ แต่ไม่สามารถวิ่งตามพระพุทธเจ้าได้ทัน พระพุทธเจ้าทำให้องคุลิมาลยอมสยบด้วยการสนทนาตอบโต้กันที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ เมื่อองคุลิมาลวิ่งตามพระพุทธเจ้า จนอ่อนล้าไม่สามารถวิ่งได้อีกต่อไป เขาเหนื่อยหอบและร้องเรียกให้พระพุทธเจ้าหยุด แต่พระพุทธเจ้ากลับตรัสว่า “เราหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด” องคุลิมาลรู้สึกว่าคำพูดของพระพุทธเจ้าไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น จึงถามหาความหมายของคำพูด พระพุทธเจ้าได้ใช้จังหวะนั้นตรัสถ้อยคำที่ทำให้องคุลิมาลตาสว่าง สิ่งที่องคุลิมาลรู้สึกได้หลังการสนทนาครั้งนั้นคือ พระพุทธเจ้าเสด็จมาหาเขาด้วยความปรารถนาดีอย่างแท้จริง ขณะที่คนอื่นมองเขาเป็นคนชั่วร้าย เป็นมหาโจร เป็นบุคคลที่ไม่น่าปรารถนาสำหรับสังคม แต่พระพุทธเจ้าเดินทางมาเพื่อต้อนรับเขาเข้าสู่สังคมอีกครั้ง มิหนำซ้ำเป็นสังคมใหม่ที่เน้นความไม่เบียดเบียน เช่นเดียวกับชื่อเดิมของเขาคือ “อหิงสกะ” ผู้ซึ่งเห็นคุณค่าของชีวิตคนอื่นอย่างสูง [5]

จะเรียนรู้อะไรจากสองเรื่องนี้ได้บ้าง สำหรับผู้เขียน เรื่องแรก “อุปาลีคฤหบดี” เราได้เรียนรู้การเผชิญหน้าทางความคิดของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา การยอมรับกติกาพื้นฐานบางอย่างร่วมกันก่อนจะเริ่มต้นแสดงเหตุผลของตนเพื่อหักล้างคนอื่น การที่คนต่างกัน มีความแปลกหน้าและมีคติความเชื่อที่แตกต่างกันได้เดินทางมาสนทนาโต้แย้งกันโดยยึดเอาหลักการความถูกต้องและเหตุผลเป็นตัวตั้งน่าจะเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับการแปรความขัดแย้งไปสู่การสนทนากันด้วยเหตุผลและมุ่งแสวงหาความจริงเป็นที่ตั้ง ดังที่พระพุทธเจ้าและอุบาลีเริ่มต้นด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมเป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่ายก่อน จากนั้นจึงเริ่มโต้แย้งหักล้างกันด้วยความจริงและเหตุผล 

กรณีองคุลิมาล บทสนทนาที่พระพุทธเจ้าแสดงออกไป เป็นการชี้ให้องคุลิมาลได้เห็นความจริงเกี่ยวกับชีวิตทั้งหมดของตน โดยอาศัยด้วยคำพูดอันชาญฉลาดไม่กี่ประโยคก็ช่วยให้องคุลิมาลกลับไปมองตัวเองได้อย่างชัดเจน อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้องคุลิมาลซาบซึ้งจริงๆ คือความปรารถนาดีที่พระพุทธเจ้ามีให้แก่เขา ซึ่งแสดงออกผ่านการกระทำอันชาญฉลาดและบทสนทนาที่ทำให้เขารู้สึกอึ้ง พระพุทธเจ้าช่วยให้องคุลิมาลตระหนักถึงวิถีชีวิตทางจริยธรรมอันเลวทรามของตน เกิดการตระหนักรู้คุณค่าของการเกิดมามีชีวิตเป็นมนุษย์ เมื่อตาสว่างเขาจึงพร้อมที่จะละทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ที่จมอยู่กับความชั่วร้ายตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความปรารถนาดีต่อกันย่อมเป็นหนทางที่จะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เป็นหนทางที่ศาสนาทุกศาสนาต้องการปลูกฝังสำหรับทุกคน แต่เหตุใด เมื่อเผชิญหน้ากับความยากลำบากเราจึงพร้อมจะวิ่งออกนอกทางที่ศาสนาพร่ำสอนไว้เล่า ?

แน่นอนว่าชาวมุสลิมทั้งหมดไม่ใช่คนชั่วร้ายที่มุ่งก่ออันตรายแก่วิถีชีวิตของชาวพุทธหรือชาวโลก แต่สมมติว่าชาวพุทธมีทัศนคติในทางที่เป็นลบแก่ชาวมุสลิม มองว่าชาวมุสลิมเป็นคนชั่วร้ายที่มุ่งหมายจะรุกรานชีวิตและวัฒนธรรมของตน ชาวพุทธจะเลือกเผชิญหน้าอย่างไร หนทางแห่งสติปัญญานั้นชอบด้วยหลักการทางศาสนา ชาวพุทธเดินบนวิถีแห่งสติปัญญามากพอหรือยัง การเอาชนะผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ โดยมุ่งการอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและสันติเป็นเป้าหมายนั้นน่าจะเป็นที่ตระหนักชัดอยู่แล้วสำหรับชาวพุทธ แต่การพยายามเดินทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้นเป็นหนทางที่ยาก เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างสูง ชาวพุทธในฐานะที่นิยามตนเองว่าเป็นศาสนิกชนที่เชื่อในความจริงที่มีเหตุผล พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา และความเพียรพยายาม ทำไมจึงสิ้นหวังที่จะเดินไปตามหนทางนี้ – บางทีอาจเพราะยังไม่สามารถเอาชนะความกลัวได้ ถ้าเราไม่กลัว เราก็อาจเป็นอย่างพระติสสะได้ หรือเป็นอย่างพระพุทธเจ้าได้ ความกลัวต่ออันตรายในชีวิตของตนถูกสลัดทิ้ง เหลือไว้แต่เมตตาธรรมเป็นเบื้องหน้า และปิดกั้นความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในตัวเองด้วยขันติธรรม

ถ้าเช่นนั้น เราจะเอาชนะความกลัวได้อย่างไร เชื่อว่าชาวพุทธน่าจะมีคำตอบจากภูมิปัญญาจากวัฒนธรรมของตนอยู่แล้ว


อ้างอิง
[1] โยฮัน กัลป์ตุง, พุทธสันติวิธี : ทฤษฎีเชิงโครงสร้าง. สมชัย เย็นสบาย แปล. กรุงเทพฯ เรือนแก้วการพิมพ์, 2538. หน้า 19-20
[2] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เล่มที่ 13 ข้อ 56-77
[3] พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เล่มที่ 13 ข้อ 521-525
[4] “อรรถกถองคุลิมาลสูตร” ใน มหามกุฎราชวิทยาลัย, พระสูตรและอรรถกถาแปล มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่มที่ 2 ภาคที่ 2 
[5] รายละเอียด ดู ชาญณรงค์ บุญหนุน “ภาษาและความหมายอันแปรเปลี่ยน: จากพุทธศาสนานิกายเซ็นถึงองคุลิมาลสูตร” ใน คงกฤช ไตรยวงศ์ และรชฎ ศาสตราวุธ (บรรณาธิการ), ดั่งสลักและขัดเงา : หนังสือรวมบทความทางวิชาการเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมมติ, 2560. หน้า 90-122



 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net