Skip to main content
sharethis

สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ร่างพ.ร.บ.กีฬาแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สูงอายุ

แฟ้มภาพ

5 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช. ) วันนี้ (5 ต.ค.60) ได้พิจารณาและมีมติรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลายฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่าง พ.ร.บ. นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ. สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 

รับหลักการร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่

สนช. พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงเหตุผลการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

โดยแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิ่มบทนิยามคำว่า "สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม" การยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้อำนาจวุฒิสภาในการถอดถอนหรือดำเนินการต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม

ขณะที่สมาชิก สนช. อภิปรายสนับสนุนหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ โดยหลังอภิปรายที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนนเอกฉันท์ 199 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 17 คน พิจารณาภายใน 60 วัน

รับหลักการร่างพ.ร.บ.กีฬาแห่งชาติ

สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นโยบายการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชี้แจงว่า การกีฬาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และขีดความสามารถของประชาชนในการพัฒนาประเทศ แต่เนื่องจากประเทศไทยยังขาดกลไกการบริหารการพัฒนาระดับนโยบายพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาของประเทศไทยไปสู่ความเป็นเลิศ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และทันต่อการเปลี่ยนแปลง 

“ร่างกฎหมายนี้จึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการกีฬาเพื่อบูรณาการ การทำงานของทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รวมทั้งกำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายและแผนพัฒนาการกีฬาอย่างเป็นระบบ และมีเครือข่ายการพัฒนาการกีฬาอย่างชัดเจน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าว

ขณะที่สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน แต่เสนอแนะให้ดึงภาคเอกชนและผู้ที่มีความสามารถด้านกีฬาและประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งควรสนับสนุนให้สร้างสนามกีฬาครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยหลังการอภิปรายที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 191 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 15 คน มีกรอบการทำงาน 60 วัน

รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สูงอายุ

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.สูงอายุ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สนช.มีมติรับหลักการร่างดังกล่าวเช่นกัน ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 206 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 211 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 19 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 45 วัน

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวชี้แจงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุปี 2546 ให้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลจึงมีนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยโดยการให้เงินช่วยเหลือ เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้ได้รับสวัสดิการที่จำเป็น แต่ขณะนี้ทุนในกองทุนผู้สูงอายุเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มบทบัญญัติเรื่องการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มาของเงินกองทุน เพื่อให้รวมถึงเงินบำรุงกองทุนที่ได้รับจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้าสุราและยาสูบโดยให้เรียกเก็บเงินบำรุงกองทุนในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีดังกล่าวเป็นผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุน และให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บเงินบำรุงกองทุน เพื่อนำส่งเข้ากองทุน และในปีงบประมาณที่มีเงินบำรุงกองทุนส่งเข้ากองทุนเกิน 4 พันล้านบาท ให้กรมกิจการผู้สูงอายุนำเงินบำรุงกองทุนส่วนที่เกินนั้นส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน นอกจากนี้ยังกำหนดให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจัดสรรเงินบำรุงกองทุน และเงินที่มีผู้บริจาคเข้ากองทุนซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย สำหรับจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์ดังกล่าว พร้อมกำหนดกรณีการได้รับการยกเว้น ลดหย่อน หรือคืนเงินบำรุงกองทุน และกรณีที่ต้องเสียเงินเพิ่ม รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษและการเปรียบเทียบคดีหากมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ส่งเงินบำรุงกองทุน และแก้ไขเพิ่มเติมให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้เพื่อให้กองทุนผู้สูงอายุมีรายได้ที่ยั่งยืน และบรรเทาภาระงบประมาณแผ่นดินในระยะยาว ทำให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพอย่างทั่วถึง สามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตามได้ฝากข้อสังเกตไว้ในหลายประเด็น อาทิ กรณีผู้มีหน้าที่ส่งเงินบำรุงกองทุนมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ส่งเงิน ควรมีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นผู้พิจารณาโทษด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และควรแยกเบี้ยยังชีพออกจากเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้การปฏิรูประบบเงินบำนาญเกิดปัญหาในอนาคต เนื่องจากเบี้ยยังชีพมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของบำนาญพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิพึงได้ แต่เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เป็นเรื่องของการใช้ความช่วยเหลือทางสังคม จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าการรับเบี้ยยังชีพต้องดูจากฐานะเศรษฐกิจแต่ละคนเป็นหลักการ

ที่มา : เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และสำนักข่าวไทย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net