Skip to main content
sharethis

วิษณุ คาดจะมีรัฐบาลใหม่ ปลายปี 61 หรือต้นปี 62 ประธาน กรธ. ย้ำ อย่ากังวลกระแสร่างกฎหมายลูกถูกคว่ำ ยันพร้อมส่งให้ สนช. พิจารณาได้ทันตามกรอบก่อน 1 ธ.ค. นี้ ขณะที่ประธาน สนช. ยืนยัน สนช.เร่งพิจารณากฎหมายลูกตามกรอบเวลา

แฟ้มภาพ

5 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชัดเจนการกำหนดวันเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2561 และมีรัฐบาลใหม่ช่วงต้นปี 2562 ว่า กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญต้องดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน คือในช่วงเดือนธันวาคม 2560 และส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนมกราคม 2561 โดยมีเวลาในการพิจารณา 60 วัน แต่หากมีการแก้ไขอีก ก็ต้องเพิ่มเวลาออกไปอีก 30 วัน เมื่อแล้วเสร็จ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป โดยมีระยะเวลา 90 วัน เมื่อประกาศใช้กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ก็จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน คาดว่าจะได้รัฐบาลใหม่ในช่วงปลายปี 2561 หรือ ต้นปี 2562

“เพราะเมื่อจัดการเลือกตั้งเสร็จแล้วประกาศผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน ก็ดูสิว่าประกาศได้หรือไม่ ถ้าอยู่บนสมมุติฐานว่าประกาศได้ก็ต้องประกาศ ถ้าประกาศไม่ได้ ใบแดงเยอะ เปิดสภาฯ ไม่ได้ ผมไม่รู้ เพราะอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เปิดสภาฯ ไม่ได้ ก็ต้องยืดเวลาออกไป ถ้าเปิดสภาฯ เลือกนายกฯ ได้ สามวันจบ ม้วนเดียวเสร็จ มันก็เร็ว แต่ถ้าเลือกนายกฯ ยังไม่ได้ ต้องยืดยาว ก็ 20 วัน 30 วัน 40 วัน 50 วัน ผมก็ไม่รู้ว่าไงแล้ว เพราะสมุมติก็สมมุติเยอะแล้ว แต่เวลาพูดโรดแมป กรุณาพูดโรดแมปที่เป็นเหตุการณ์ว่าอะไรจะเกิด แต่ถ้าจะเอาวัน เดือน ปี เวลา วัน เวลา มันตอบไม่ได้ เพราะตัวแปรมันเยอะ” วิษณุ กล่าว

ประธาน กรธ. ย้ำ อย่ากังวลกระแสร่างกฎหมายลูกถูกคว่ำ

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า สนช. น่าจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(กฎหมายลูก) ต่าง ๆ เสร็จสิ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2561 และไม่ทราบว่าจะมีการขยายเวลาการพิจารณาไปถึง พ.ย. 61 หรือไม่ เพราะเป็นดุลพินิจของทาง สนช.  แต่ในส่วนของ  กรธ. ยืนยันว่าจะส่งร่างกฎหมายลูกทั้งหมดให้ สนช. พิจารณาได้ ก่อนวันที่ 1 ธ.ค. นี้  ซึ่งเป็นไปตามกรอบเวลา 240 วัน  และแม้ว่าจะมีเหตุให้ร่างกฎหมายลูกไม่สามารถบังคับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าร่างกฎหมาลูกไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือ สนช. มีมติไม่เห็นชอบ ก็ตาม  กรธ. ก็จะต้องเป็นผู้แก้ไขหรือยกร่างขึ้นใหม่  ขออย่ากังวลกระแสข่าวคว่ำร่างกฎหมายลูก

ประธาน กรธ. ยังกล่าวถึงกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ว่า  ซึ่งการบังคับใช้ต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาของรัฐบาลที่จะกำหนดว่าจะบังคับใช้กับหน่วยงานใดก่อนหลัง เพื่อเป็นหลักประกันการทำหน้าที่ของของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ  และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  สามารถนำมาตรวจสอบได้ หากมีการกล่าวหาว่ามีการกระทำทุจริต   

ประธาน สนช. ยืนยัน สนช.เร่งพิจารณากฎหมายลูกตามกรอบเวลา

ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวชี้แจงขั้นตอนการพิจารณา กฎหมายลูกของ สนช. หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า อาจมีการคว่ำร่างกฎหมายเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปว่า หลัง กรธ. ส่งกฎหมายลูกเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในวาระรับหลักการแล้ว จะมีเวลาพิจารณา 60 วัน และภายหลังจากกฎหมายลูกผ่านการเห็นชอบจาก สนช.แล้ว ต้องส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กรธ. จะต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 องค์กร ก็มีสิทธิวินิจฉัยว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายลูกที่ สนช. เห็นชอบ หากไม่เห็นชอบก็จะส่งข้อโต้แย้งกลับมายัง สนช. ภายใน 10 วัน จากนั้น สนช. จะบรรจุเข้าที่ประชุม สนช. โดยมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย และพิจารณาภายใน 15 วัน เมื่อนำกลับเข้าที่ประชุม สนช. หากจะคว่ำร่างกฎหมายต้องใช้เสียงมติถึง 2 ใน 3 และหลังจากกฎหมายลูกผ่านความเห็นชอบแล้ว สนช.ก็ส่งไปยังนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ หากต้องการตรวจสอบความถูกต้องของกฎหมายลูกว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ สมาชิก สนช. ต้องร่วมกันเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ นายกรัฐมนตรี เห็นว่าบทบัญญัติส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งฉบับขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย แต่หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเห็นว่า สนช. ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ

ระธาน สนช. กล่าวยืนยันว่า สนช. ยึดหลักการพิจารณากฎหมายทุกฉบับต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประโยชน์ต่อประชาชน กระบวนการดังกล่าวเป็นขั้นตอนปกติที่ต้องการทำให้กฎหมายออกมาดีที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องการดึงเวลาให้ล่าช้า และไม่ใช่การพิจารณากฎหมายเพื่อให้มีมติคว่ำร่างกฎหมายอย่างแน่นอน

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ไทยจะจัดการเลือกตั้งในปี 2561 นั้น ประธาน สนช. กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ สนช. ต้องพิจารณากฎหมายลูกให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ซึ่งตนคาดว่า สนช.จะพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แล้วเสร็จช่วงปลายเดือน มกราคม 2561 หากไม่มีกระบวนการโต้แย้งหรือยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ และหากกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 150วัน โดยส่วนตัวคาดว่าการเลือกตั้งทั่วไปไม่เกินช่วงปลายปี 2561

ที่มา เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา และ สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net