หนังสือในมือเจ้าหน้าที่: แนะนำหนังสือ 2 เล่มจากที่เกิดเหตุ 6 ตุลา 19

ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมชูหนังสือ 2 เล่มที่ว่านั้นคือ "ด้วยเลือดและชีวิต : รวมเรื่องสั้นเวียดนาม" ผลงานแปลของจิตร ภูมิศักดิ์ และ "คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง" โดยชะตากรรมของหนังสือทั้ง 2 เล่มหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เคยถูกประกาศให้เป็นหนังสือต้องห้าม ปัจจุบันเป็นหนังสือที่สามารถยืมได้ในห้องสมุด ม.ธรรมศาสตร์ รวมทั้งมีจำหน่ายอยู่ในเว็บขายหนังสือเก่า

000

ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนถืออาวุธ โดย 2 ใน 3 นายชูหนังสือ 2 เล่ม โดยมีฉากหลังคือสนามฟุตบอลและผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นอนหมอบราบ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามด้วยอาวุธและเข้าเคลียร์พื้นที่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็น 1 ใน 94 ภาพถ่ายที่ "โครงการบันทึก 6 ตุลา" (https://doct6.com/) ได้รับชุดภาพถ่ายมาจากปฐมพร ศรีมันตะ ซึ่งได้รับภาพต่อมาจากบุคคลอื่นอีกต่อหนึ่ง โดยได้รับเมื่อพฤษภาคม 2560 โดยชุดภาพดังกล่าวสามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ของโครงการบันทึก 6 ตุลา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับหนังสือในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเป็นหนังสือที่ยึดจากผู้ชุมนุมหรือไม่ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันหนังสือทั้ง 2 เล่มเป็นหนังสือที่สามารถยืมอ่านได้ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แก่

ภาพปกหนังสือ "ด้วยเลือดและชีวิต : รวมเรื่องสั้นเวียดนาม" ที่วางจำหน่ายในเว็บไซต์ "บ้านหนังสือปฏิวัติ"

1. ด้วยเลือดและชีวิต : รวมเรื่องสั้นเวียดนาม / [แปลโดย] จิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ : ชมรมหนังสือแสงตะวัน, 2519. แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ชื่อ "The One-Eyed Elephant and the Elephant" เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนภาพการต่อสู้ของชาวเวียดนามต่อจักรวรรดินิยม ซึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม จะกลายเป็นหนังสือต้องห้าม

โดยหนังสือดังกล่าวสามารถยืมได้ที่ห้องสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เลขเรียกหนังสือ รส.ด3755 โดยหนังสือตามเลขเรียกหนังสือดังกล่าวมีผู้บริจาคเข้าห้องสมุดเมื่อเดือนมกราคมปี 2544

ภาพปกหนังสือ "คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง" ฉบับที่จัดพิมพ์โดย "สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง" (ที่มา: CRI)

ส่วน 2. คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง. เป็นหนังสือขนาดกระทัดรัดแต่หนาถึง 426 หน้า จัดพิมพ์โดย "สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง" เมื่อปี 2512 ต่อมามีการพิมพ์ซ้ำในปี 2518 โดย "ชมรมหนังสือวังแก้ว"

หนังสือรวบรวมคำกล่าวของเหมาเจ๋อตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลานั้น ในเล่มนอกจากพิมพ์รูปภาพเหมาเจ๋อตุง ภาพเดียวกับที่พลับพลาจัตุรัสเทียนอันเหมินแล้ว ยังมีภาพลายมือของหลินเปียวเขียนว่า "เรียนนิพนธ์ของประธานเหมา เจ๋อตุง เชื่อฟังคำสอนของประธานเหมา เจ่อตุง ปฏิบัติตามคำชี้แนะของประธานเหมา เจ๋อตุง เป็นนักรบที่ดีของประธานเหมา เจ๋อตุง" เนื้อหาในเล่มนอกจากนั้นเป็นการรวมคำกล่าวของเหมาเจ๋อตุงในโอกาสต่างๆ [CRI, 8 ก.ย. 2558]

หนังสือ "คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง" ดังกล่าว สามารถยืมได้ที่ห้องสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เลขเรียกหนังสือคือ  DS778.ม7 ก17 โดยเป็นฉบับที่พิมพ์เมื่อปี 2518 โดยชมรมหนังสือวังแก้ว

อนึ่งทั้ง "ด้วยเลือดและชีวิต : รวมเรื่องสั้นเวียดนาม" และ "คติพจน์ประธานเหมาเจ๋อตุง" ต่างเคยอยู่ในบัญชีของ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดชื่อเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่ห้ามผู้ใดมีไว้ครอบครอง" ประกาศวันที่ 3 มีนาคม 2520 โดยสมัคร สุนทรเวช รมว.มหาดไทย ในเวลานั้น อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษ 2530 หลังยุคสงครามเย็นสิ้นสุด หนังสือเหล่านี้ก็ถูกตีพิมพ์ซ้ำและวางจำหน่ายอีกครั้ง แต่ก็ไม่คึกคักเหมือนยุคก่อน [นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, หนังสือต้องห้าม, ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท