Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


“บทความหรือข้อเขียนนี้อุทิศแก่การจากไปของ อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
นักสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ด้วยความอาลัยและเคารพรักอย่างที่สุด”

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์-นักวิชาการ-และผู้รักในประชาธิปไตยได้ประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ ที่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ อาจารย์ยิ้ม หรือ สหายสมพร ได้จากพวกเราไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ แน่นอนว่าตัวผมเองนั้นรู้สึกเศร้าเสียใจอย่างยิ่งต่อการจากไปของอาจารย์แม้ว่าตัวผมจะมิได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์โดยตรง อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาแห่งความสูญเสียนี้ ผมได้หวนนึกถึงวลี “ส่งคนตุลาเข้านอน” หัวข้อคอลัมม์ของนิตยสาร Way ที่สัมภาษณ์ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เมื่อราวห้าปีก่อน

“คนตุลา” หรือ “คนเดือนตุลา” ทั้งในปี 2516 และปี 2519 ล้วนแล้วแต่เป็นคนในระดับ “ตำนาน” หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่นับถือของปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ทั้งในฝ่ายประชาธิปไตย และกระทั่งฝ่ายที่สนับสนุนการรัฐประหาร พวกเขาเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โลดแล่นอยู่ในสนามการเมืองมาโดยตลอด และแน่นอนว่าวิธีคิดของพวกเขานั้นส่งผลมาถึงบรรดาคนรุ่นใหม่ด้วย

เป็นเรื่องยากจะปฏิเสธว่า “คนเดือนตุลา” มีวิธีคิดแบบฝ่ายซ้าย-มาร์กซิสต์-เหมาอิสต์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งหัวใจสำคัญของมันคือเรื่อง “การยึดอำนาจรัฐ” หรือ “การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ” ซึ่งน่าแปลกใจว่าในปัจจุบันวิธีคิดเรื่อง “อำนาจรัฐ” นี้ได้สลายหายไป ในหมู่ปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์รุ่นใหม่มีน้อยมากที่จะพูดถึงการเข้าสู่อำนาจรัฐ ในขณะที่ปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์รับอิทธิพลทางความคิดเรื่องประชาธิปไตยมาจากคนเดือนตุลา คำถามอันท้าทายประการแรกของคนรุ่นใหม่อยู่ตรงนี้นี่เอง “เราจะขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองอย่างไรในขณะที่เราไม่พูดถึงการเข้าสู่อำนาจรัฐ?”

ขณะเดียวกันนั้นการจากไปของอาจารย์ยิ้มเองก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างยิ่งของการส่งต่อยุคสมัย เมื่อ “ตำนาน” ที่ปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์เฝ้ามองมาตลอดนั้นกำลังจะทยอยเกษียณและเข้านอนกันไปตามเวลา ตรงนี้คือคำถามและความท้าทายประการที่สองต่อคนรุ่นใหม่ “เราจะทำอย่างไรต่อไปในวันที่เราอาจจะไม่มีคนเดือนตุลา?”

ต่อคำถามประการแรกอันว่าด้วยเรื่อง “อำนาจรัฐ” นั้นผมไม่คิดว่าการยึดอำนาจรัฐตามแนวทางการจับอาวุธหรือใช้ความรุนแรงของ พคท. จะสามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน สภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี รวมทั้งปัจจัยต่างๆทำให้วิธีการของ พคท. ไม่สามารถทำได้จริงอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันนั้นนี่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เรา (ปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์) จะปฏิเสธการคิดหรือการพูดถึงเรื่อง “อำนาจรัฐ” หรือ “การเข้าสู่อำนาจรัฐ” นี่เป็นความท้าทายสำคัญสำหรับปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประชาธิปไตยจะต้องขบคิดและเสนอแนวทาง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องกลับมาพูดกันถึงเรื่อง “อำนาจรัฐ” อย่างจริงจัง

คำตอบสำหรับคำถามประการที่สอง ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่สำคัญอย่างมากสำหรับปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ ซึ่งแน่นอนว่าจะสะท้อนกลับไปถึงคำถามในข้อแรกด้วย คือในช่วงเวลาที่ผ่านมาสำหรับคนรุ่นใหม่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา (หากนับเอาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นหมุดหมาย) คนรุ่นใหม่หรือคนในเจเนอเรชั่นผมที่ผ่านการรัฐประหาร 2549 และการรัฐประหาร 2557 มา และทำการเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารและเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น ต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่าพวกเรามี “จุดอ่อน” อย่างมาก หากจะนับหลังการรัฐประหาร 2557 มานั้นจะเห็นได้ว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวของปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์นั้นมีรูปแบบตายตัว ผมไม่ได้ปฏิเสธการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือต่อต้านหากแต่ว่าในขณะที่เราสนใจและจับจ้องอยู่กับการทำกิจกรรมเพียงอย่างเดียวมันทำให้เราหลงลืมเรื่อง “อำนาจรัฐ” และที่สำคัญคือทำให้เราหลงลืมการพูด-การคิด-และการพัฒนาเรื่อง “ทฤษฎี” เพราะเรารู้ว่าเรามี “คนเดือนตุลา” ที่พร้อมจะเสริมและสนับสนุนเรื่อง “ทฤษฎี” ให้เราเสมอ ผมไม่ได้ปฏิเสธการสนับสนุนของคนเดือนตุลาแต่ขณะเดียวกันนั้นมันก็สร้างประเด็นตามมาอีก คือ คนรุ่นใหม่ที่ทำกิจกรรมขาดทฤษฎีทำให้การเคลื่อนไหวตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง และ คนรุ่นใหม่จะไร้ฐานทางทฤษฎีทันทีหากขาดคนเดือนตุลา มันจึงกลับมาเป็นโจทย์สำคัญที่คนรุ่นใหม่ต้องคิดเอาไว้

ข้อเสนอสำคัญของผมคือ คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องยกระดับและพัฒนาศักยภาพของตัวเองขึ้นมาให้มากกว่าเดิม ความท้าทายสำคัญก็คือ เราจะต้องพัฒนาตัวเองไปให้อยู่ในระดับที่เทียบเท่าหรือไปให้ไกลกว่าคนเดือนตุลาที่เราเฝ้ามองพวกเขาเป็นแบบอย่างมาโดยตลอด!

นี่คือความท้าทายที่คนรุ่นใหม่ต้องบอกตัวเองและท้าทายตัวเอง ว่าเราจะสามารถไปไกลกว่า
คนเดือนตุลาที่เป็นทั้งครูและแบบอย่างของเราได้หรือไม่?

ผมคิดว่ามันมีความจำเป็นในหลายประการที่คนรุ่นใหม่จะต้องพัฒนาตัวเองไปให้ไกลกว่าคนเดือนตุลาที่เป็นทั้งครูและแบบอย่างหรือ “ไอดอล” ที่เรานับถือ ประการแรกอย่างที่ผมได้เขียนไปตอนต้นว่าคนเดือนตุลามีอิทธิพลทางความคิดอย่างมากต่อคนรุ่นใหม่และเหตุการณ์ในเดือนตุลา 2516 เองก็มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่อย่างมากเช่นกัน จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ผีเดือนตุลา” อิทธิพลทางความคิดดังกล่าวในทางหนึ่งนั้นช่วยชี้นำแนวทางให้กับคนรุ่นใหม่จริง แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีสภาพเป็นเพดานทางความคิดแบบกลายๆโดยเฉพาะเมื่อมันถูกควบทับด้วยภาพชัยชนะของมวลชนนับแสนที่ออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ภาพจำดังกล่าวส่งผลอย่างมากต่อคนรุ่นใหม่ พวกเขาเคลื่อนไหวกันด้วยความคาดหวังว่ามวลชนจะออกมาเรือนหมื่นเรือนแสนแบบในอดีต แม้ว่าบริบทของสังคมจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

ประการที่สอง เราต้องปฏิเสธและตั้งคำถามต่อแนวคิดบางประการของคนเดือนตุลา ข้อเสนอนี้อาจจะฟังดูท้าทายและอาจหาญอย่างมาก แต่ผมเชื่อว่านี่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับคนรุ่นใหม่หากเราจะก้าวไปให้ไกลกว่าเดิม อย่างที่ผมกล่าวไว้ว่าหัวใจสำคัญของคนเดือนตุลาซึ่งรับวิธีคิดแบบ พคท. มาคือเรื่องการปฏิวัติ-การยึดอำนาจรัฐ ซึ่งไม่ตรงกับบริบทสังคมในปัจจุบันอย่างยิ่งนั่นทำให้ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องพัฒนาและสร้าง “ทฤษฎี” ของตนเองขึ้นมา

ประการที่สาม ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผมไม่ได้จะปฏิเสธความคิดของคนเดือนตุลาทั้งหมด อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ผมยืนยันว่าเราจำเป็นต้องพูดเรื่อง “อำนาจรัฐ” และเรื่อง “ทฤษฎี” แบบที่คนเดือนตุลาพูดกัน แต่เราจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนมันและพัฒนาไปให้ไกลกว่าเดิม คนรุ่นใหม่จะสามารถเข้าสู่อำนาจรัฐได้อย่างไร? คนรุ่นใหม่จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบทางการเมืองโดยการใช้อำนาจรัฐได้อย่างไร? คนรุ่นใหม่จะใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมากให้เป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวอย่างไร? ฯลฯ

สุดท้ายนี้ข้อเสนอหรือเป้าประสงค์สำคัญที่ผมต้องการจะเสนอในบทความชิ้นนี้ก็คือ ต้องการกระตุ้นคนรุ่นใหม่ทั้งที่เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ในแวดวงปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่พวกเราจะต้องพัฒนาตนเองให้มากกว่าเดิม การทำกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวแบบอีเว้นท์ต่ออีเว้นท์นั้นไม่เพียงพอต่อไปอีกแล้ว เราจำเป็นต้องขยับไปให้ไกลกว่าเดิม “เราต้องสานต่ออุดมการณ์ของคนเดือนตุลา ด้วยวิธีการและทฤษฎีของคนรุ่นใหม่” และท้ายที่สุดนี้ผมขอยกคำพูดของไผ่ ดาวดิน เพื่อนปัญญาชน-แอ๊คติวิสต์ที่ถูกจองจำมาไว้เตือนใจแก่ผู้อ่านอีกครั้ง

“จะชนะเมื่อไหร่เราไม่รู้ แต่ตราบใดที่ยังสู้ แสดงว่าเรายังไม่แพ้”

 

ปล.คำว่า “ส่งคนตุลาเข้านอน” ในบทความนี้ ใช้ในคนละความหมายกับในบทสัมภาษณ์ “ส่งคนตุลาเข้านอน” ครับ


 

อ้างอิง

 “ส่งคนตุลาเข้านอน” คอลัมม์สัมภาษณ์ ประจักษ์ ก้องกีรติ, โดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ, way magazine (online) : https://waymagazine.org/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99/

“เดินฝ่าความมืด ร่วมส่ง อ.ยิ้ม สุธาชัย คนรุ่นหลังสานต่ออุดมการณ์” โดย ฟ้ารุ่ง สีขาว, voice news (online) : https://news.voicetv.co.th/thailand/528988.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net