Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ละคร "รากนครา" จบแล้วแต่คนดูอย่างผมยังไม่จบ ถ้าไม่เขียนระบายความรู้สึกเสียหน่อยคงไปดูอะไรต่ออย่างค้าง ๆ คา ๆ จะดูนายฮ้อยทมิฬให้สนุกซะหน่อย เสียงอู้เมืองของศุขวงศ์กับแม้นเมืองก็คอยดังแทรกอยู่ในหัวตอนที่หูได้ยินเสียงนายฮ้อยเคนกับน้องเมียคำแก้วเว้ากระเง้ากระงอดกัน

ละครเรื่องนี้มีตัวละครที่บุคลิกซับซ้อนอยู่คนเดียวคือแม้นเมือง เพราะเป็นคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกนึกคิดสองฝักสองฝ่ายภายในจิตใจตนเอง และดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายของการต่อสู้แย่งชิงหัวใจ ระหว่างฝ่ายของหน่อเมืองและศุขวงศ์ ว่าแม้นเมืองจะยังคงภักดีกับครอบครัวทางสายเลือดและอุดมการณ์เอกราชนิยมของบ้านเกิดเชียงเงิน หรือจะหันไป "สามีภักดิ์" กับครอบครัวทางการแต่งงานและอุดมการณ์สลายเอกราชท้องถิ่นเพื่อรวมประเทศกับสยามของบ้านใหม่เชียงพระคำ

ส่วนตัวละครอื่น ๆ แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงจิตใจเท่าใดนัก เหมือนจะคิดอย่างไรก็คิดอย่างนั้นตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ต่างคนต่างก็เป็นเหมือนกล่องบรรจุคุณค่าหรือเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ต่าง ๆ มากกว่าจะเป็นมนุษย์มนาที่มีความต้องการหลากหลายปะปนกันอย่างซับซ้อน

ฉะนั้นถ้าจะตีความหมายของละครเรื่องนี้ให้มันแล้วใจ เราควรที่จะพิจารณาว่ามันเป็นเรื่องเล่าอุปมานิทัศน์ (Allegorical Story) ที่ตัวละครทำหน้าที่เป็นอุปมาของคุณค่าหรืออุดมการณ์บางอย่างมากกว่าจะเป็นภาพสะท้อนของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในห้วงเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภาวะกดดันต่าง ๆ จนก่อให้เกิดสำนึกที่เปลี่ยนแปลงไป

หลายคนมองว่า 'ศุขวงศ์' เป็นตัวละครขี้ข้าสยาม ผมกลับมองว่าไม่ใช่ เขาคือสยามเลยมากกว่า เพราะเมื่อพิจารณาสิ่งที่เขาพูดตลอดเรื่องนั้น ถ้าเอาภาษาพูดที่เป็นคำเมืองออกไปแล้วใส่ภาษากรุงเทพฯ เข้าไปแทน แล้วจินตนาการต่อว่าเอาชุดราชปะแตนใส่ให้ด้วย ศุขวงศ์เป็นขุนนางกระทรวงมหาดไทยของสยามได้สบาย ๆ เนื่องจากจุดยืนของเขาไม่มีตรงไหนเลยที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสยาม

'หน่อเมือง' ยิ่งไม่มีอะไรซับซ้อนใหญ่ เขาคือตัวแทนของอุดมการณ์เอกราชแบบประเพณีนิยม ปฏิเสธการปรับตัวทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมหากมันจะทำให้สถาบันเจ้าหลวงที่เป็นฐานอำนาจทางการเมืองดั้งเดิมต้องถูกลดทอนความสำคัญ

ในเรื่องนี้ฉากเหตุการณ์ที่เชียงพระคำต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่ฉากความขัดแย้งที่เมืองมัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่เพียงเป็นแบ็คกราวด์ที่เน้นย้ำถึงความฉลาดทันเหตุการณ์ของฝ่ายที่ภักดีกับสยามเท่านั้น

เกิดอะไรขึ้นที่เชียงพระคำ? เกิดอะไรขึ้นกับแม้นเมือง? ฉากเหตุการณ์ที่เชียงพระคำคือการต่อสู้ช่วงชิงความจงรักภักดีของแม้นเมือง ซึ่งหากตีความไปจนสุดทาง ที่แท้แล้วแม้นเมืองคืออุปมานิทัศน์ (Allegory) ของประชาชนที่เป็นฐานรากของการปกครอง และเป็นเป้าหมายของการช่วงชิงอำนาจที่แท้จริง เจ้าหน่อเมืองไม่ได้พูดผิดเลยที่บอกว่าศุขวงศ์พยายามล้างสมองเธอให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองแบบใหม่ ระบบเศรษฐกิจการค้าแบบใหม่ สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ ๆ วัฒนธรรมใหม่อย่างระบบผัวเดียวเมียเดียวแบบฝรั่งและเสรีที่เพิ่มขึ้นของสตรี รวมทั้งการพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาแบบใหม่บนฐานของการรู้หนังสือ โดยเฉพาะในภาษาอังกฤษ

จดหมายจากแม้นเมืองถึงหน่อเมืองในตอนจบคือคำประกาศยอมรับอุดมการณ์ใหม่โดยแม้นเมืองอย่างสิ้นสงสัย เธอบอกว่าเธอเปลี่ยนไปแล้วในทางความคิดความเชื่อ แม้ว่าในทางอารมณ์ความรู้สึกนั้นเธอยังเชื่อว่าเธอไม่อาจละทิ้งเยื่อใยของวัฒนธรรมประเพณีได้ การยอมตายของเธอเป็นไปเพื่อข้ามพ้นความขัดแย้งนั้น ซึ่งในเชิงอุปมาแล้วก็คือการที่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประชาชนรุ่นหนึ่งได้ตายลง เพื่อจะเปิดพื้นที่ว่างให้อัตลักษณ์ใหม่ได้ถูกปลูกฝังให้งอกงามขึ้นในหมู่ประชาชนรุ่นใหม่

ถ้าเราเปรียบเทียบการสืบทอดทางสายเลือดว่าเป็นอุปมาของความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เราก็จะไม่รู้สึกว่ามีความผิดปกติในฉากสุดท้ายของละครที่ลูกชายคนเดียวของแม้นเมืองพูดภาษาไทยกรุงเทพฯ กับศุขวงศ์พ่อของเขา เพราะการสูญเสียภาษาแม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่สูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นเมื่อประชาชนเลือกอัตลักษณ์ใหม่ให้กับตนเอง และในแง่จิตวิทยาของผู้ชมละคร การที่ต้องอดทนฟังตัวละครอู้เมืองปะแล้ดไปปะแล้ดมาอยู่นานสองนาน การที่ผู้ชมได้ฟังตัวละครพูดเป็นภาษากลางอย่างสบาย ๆ ยิ่งทำให้กระบวนการชื่นชมแม้นเมืองเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น

ผมจบการตีความของผมดื้อ ๆ แบบนี้แหละ เพราะแค่นี้ก็สบายใจแล้วที่ละครในใจมันจบได้เสียที จะได้ดูเรื่องใหม่กันต่อ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net