Skip to main content
sharethis

ชี้การเลือกปฏิบัติต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในสังคมไทยมาจากความคิดฝังรากลึกที่เห็นคนไม่เท่าเทียมกัน ระบุต่อให้รัฐบาลไทยลงนามรับรองสิทธิผู้หญิงอีกกี่ฉบับก็ไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นได้ หากผู้กำหนดนโยบายยังไม่ปรับเปลี่ยนชุดความคิดให้สอดคล้องกับหลักสากล

6 ต.ค. 2560 เครือข่ายผู้หญิง รายงานว่า ช่วงเวลาสองถึงสามเดือนที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงต่อผู้หญิง เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจายไปในทุกพื้นที่ของประเทศไทย  จนน่าสงสัยว่าระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่รัฐบาลไทยไปลงนามรับรองสิทธิสตรีตามข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ดูจะสวนทางกันอยู่ไม่น้อยในทางปฏิบัติ  เพราะข้อตกลงหรือสิทธิตามหลักการสากล กลับกลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ยาก หรือถูกปรับแต่งจนเพี้ยนไป เมื่อเข้ามาในประเทศไทย

กล่าวได้ว่าในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยตกขบวนในการเข้าร่วมเวทีประชุมระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงเลย มีข้อตกลงระหว่างประเทศ อนุสัญญาระหว่างประเทศ ตลอดจนกระบวนการสิทธิมนุษยชนใด ๆ ที่เกิดขึ้น ไทยเราเข้าร่วมแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานและเข้าร่วมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (กระบวนการ UPR ) เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นในการนำข้อเสนอแนะจากผู้แทนประเทศต่างๆ มาสู่การปฏิบัติ รวมถึงในประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ในการลดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ

ในส่วนของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW-ซีดอว์) ที่ไทยลงนามเข้าร่วมตั้งแต่ปี 2528  และล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะผู้แทนรัฐบาลก็ได้ไปรายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯนี้  ซึ่งมีจุดที่น่าสนใจคือ ผู้เชี่ยวชาญประจำอนุสัญญาฯ มีข้อคำถามต่อรัฐบาลและมีข้อเสนอแนะในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาสู่การปรับปรุงกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะข้อเสนอขอให้แก้ไข พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ  ผู้เชี่ยวชาญประจำอนุสัญญาฯ ยังได้มีคำถามต่อผู้แทนไทยด้วยว่า อะไรคือการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากต้นศัพท์เดิมใช้คำว่า การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) เท่านั้น

จากสถานการณ์ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงอย่างต่อเนื่อง และข้อเท็จจริงหลายอย่างที่เกิดขึ้นสวนทางกับหลักการสากล  เครือข่ายผู้หญิง อันประกอบด้วย มูลนิธิผู้หญิง, เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ, Thai CSO Coalition for the UPR ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  จึงได้จัดเสวนาเรื่อง การเลือกปฏิบัติกับสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เปิดประเด็นแรกกับคำถามคาใจในหัวข้อ การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม /ที่ไม่เป็นธรรม คืออย่างไร  โดย วิฑิต มันตราภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในกรอบสากลนั้น เรื่องการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการแบ่งเป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม  มีแต่คำว่า การเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่มีการใช้คำคุณศัพท์ใด ๆ มาขยายความอีก แต่คอนเซปต์นี้มีความยืดหยุ่น โดยที่อาจมีการให้โควต้าผู้หญิงในการเข้าสู่องค์กรสาธารณะ ซึ่งต้องเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว  หรืออาจจะมีเรื่องของมาตรการพิเศษโดยเฉพาะเรื่องสตรีมีครรภ์  อันเป็นเรื่องทางชีวภาพ

กรอบแนวคิดสากลเรื่องการเลือกปฏิบัติ นอกจากปรากฏอยู่ในอนุสัญญาซีดอว์แล้ว ล่าสุดเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs- เอสดีจี) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดกรอบคิดในการพัฒนาในมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน ศาสตราจารย์กิตติคุณวิฑิต เห็นว่าเป้าหมายของ SDGs ทั้ง 17 ตัว ล้วนเกี่ยวข้องกับสตรีทั้งหมด

วิฑิต ชี้ว่า คำว่าการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม/ไม่เป็นธรรมนั้น เริ่มมาปรากฏในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และสืบเนื่องต่อมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีที่ใดที่เกี่ยวกับคอนเซปต์ของการเลือกปฏิบัติ ตามหลักสากล ไม่ว่าจะอนุสัญญาใดก็ตาม หากจะเปรียบเทียบ การเลือกปฏิบัติตามหลักสากลคือข้าวผัด ซึ่งอร่อยตามหลักสากล แต่การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม/ไม่เป็นธรรม ก็เหมือนกับ ข้าวแช่ ซึ่งเป็นอาหารไทย ดังนั้นเราจึงควรจะต้องแก้ให้อร่อยตามแบบสากลด้วย หากจะเข้าร่วมกับเวทีนานาชาติ

ศรีประภา เพชรมีศรี จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่า เรื่องการเลือกปฏิบัตินั้น โดยตัวมันเองเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว  และในสังคมไทยแนวคิดเรื่อง ความเสมอภาคไม่ได้หยั่งรากลึกในพื้นฐานของสังคม  สังคมไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค  การเลือกปฏิบัติจึงมีทั้งเป็นธรรมและไม่เป็นธรรม แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยอมรับความแตกต่างโดยมีวิธีที่มองต่างจากที่สากลมองกัน 

ต่อเรื่องการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม/ไม่เป็นธรรมนั้น ศรีประภา บอกว่าสำหรับตนเองไม่มีข้อสรุป แต่จะต้องมีการถกเถียง อภิปรายโต้ตอบกันต่อไป การที่แนวคิดแบบนี้ถึงขนาดเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ จะทำให้ในระยะยาวคงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น และที่เกิดขึ้นได้ก็มาจากการที่สังคมไทยไม่ได้เชื่อเรื่องความเสมอภาคอยู่แล้ว

ศรีประภา ระบุว่า หากย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ดร.ศรีประภาชี้ว่า ไม่มีบัญญัติเรื่องการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ทั้ง ๆ ที่สภาพสังคมในสมัยนั้น ยังคำนึงเรื่องฐานันดรศักดิ์อยู่มาก แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก ม. 12 บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย นอกจากความเห็นจากนักวิชาการแล้ว วงเสวนาในช่วงที่สอง เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ จากคำมั่นและพันธกิจของรัฐตาม UPR SDGs CEDAW จะนำสู่การปฏิบัติได้อย่างไร

ศิริพร สะโครบาเนค มูลนิธิผู้หญิง ในฐานะนักกิจกรรมทางสังคมผู้คร่ำหวอดกับประเด็นผู้หญิงมาสามสิบกว่าปี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาซีดอว์ มาตั้งแต่ปี 2528 มีความก้าวหน้าต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้งการปรับเปลี่ยนกฎหมายหลายชนิด มีการสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น  แต่ในด้านอื่น ยังพบทัศนคติที่ไม่น่าพอใจที่ปรากฏในสื่อมวลชน  อย่างไรก็ตาม มีเครื่องมือหลายอย่างที่จะขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดความเสมอภาค ไม่ว่า CEDAW UPR หรือ SDGs

ในทางปฏิบัติในประเทศไทย ศิริพร ชี้ว่าภาครัฐยังมีความไม่เข้าใจในการทำงานเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันทราบว่ามีกระทรวงหนึ่งที่กำลังร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว ซึ่งเนื้อหาเป็นคนละเรื่องกับที่คนทำงานด้านผู้หญิงต้องการ เพราะไปเน้นกลไกการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว แทนที่จะคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง แต่กลับจะไปทำครอบครัวชุมชน ให้แข็งแรง ตั้งกรรมการต่าง ๆ มากมาย และมีการพูดคุยกันหลายครั้งแล้ว รู้สึกว่ารัฐยังยืนยันจะใช้ร่างนี้ เมื่อจะขอดูก็บอกว่าเป็นความลับ ไม่เข้าใจว่ากฎหมายเกี่ยวกับเด็ก เกี่ยวกับผู้หญิง ทำไมต้องปกปิด แนวคิดเรื่องความลับ ความมั่นคงของชีวิตมนุษย์อยู่ที่ไหน  ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แทนที่จะให้คนมีส่วนร่วมในการออกแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุด

หลังจากทำงานมาหลายปี ศิริพร เห็นว่าการพัฒนาระบบความคิดของเราไปได้ช้ามาก เมื่อเทียบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไปอย่างรวดเร็ว

สุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ มูลนิธิผู้หญิง กล่าวถึงเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของเด็กและสตรี  พร้อมกันนี้ยังมีที่เพิ่มขึ้นมาใหม่คือ ม.71 วรรค 4 เรื่องการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ วัย ของคน การที่ระบุเช่นนี้จึงเป็นโอกาสในการส่งเสริมขจัดการเลือกปฏิบัติฯ โดยมีวิธีการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเพศ ทำให้เห็นความหลากหลายของประชากร  อันจะนำไปสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศ และความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง ตามอนุสัญญาซีดอว์ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)

นอกจากนี้ สุพัตรา ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องของการบูรณาการมิติหญิงชายเข้าสู่การพัฒนากระแสหลัก (Gender Mainstreaming) ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ในเวทีการประชุมระดับโลกเรื่องผู้หญิง ตั้งแต่ปี 2528 โดยส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นไทยทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง  อย่างมากก็แค่มีมุมมองทางเพศสถานะ ในการวางแผนโครงการ  ทั้ง ๆ ที่การบูรณาการมิติหญิงชายเข้าสู่การพัฒนากระแสหลักนั้น เป็นทั้งยุทธศาสตร์ แนวทางและวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมาย  ควรที่จะมีการบรรจุเข้าไปในกระบวนการทุกระดับของการกำหนดนโยบาย การเจรจาต่อรอง การวางแผนงบประมาณ และการติดตามประเมินผล

ด้าน พูลทรัพย์  สวนเมือง ตุลาพันธ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ในฐานะองค์กรที่ทำงานกับผู้รับงานไปทำที่บ้าน และแม่บ้าน แสดงทัศนะว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย หากพิจารณาจากมิติเชิงเศรษฐกิจ จะเห็นว่าผู้หญิงที่รับงานไปทำที่บ้าน รวมไปถึงกลุ่มโอทอปต่าง ๆ ยังไม่มีการเก็บสถิติของผู้หญิงในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้ง ๆ ที่ผู้หญิงอยู่ในภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการเป็นจำนวนมาก  พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ภาคประชาสังคมผนึกกำลังทำงานร่วมกัน ในประเด็นมิติหญิงชาย  สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การกระจายอำนาจ และควรทำรายงานของภาคประชาสังคมในประเด็นเหล่านี้เพื่อเสนอต่อสังคมทุกปี เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญ

รายงานจากเครือข่ายผู้หญิง ระบุด้วยว่า โดยสรุปจากวงเสวนา ทำให้ได้เห็นภาพกว้าง ๆ ว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรค ต่อการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในสังคมไทยนั้น มีที่มาจากความคิดที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ที่ไม่ได้เห็นคนมีความเท่าเทียมกัน และต่อให้รัฐบาลไทยไปลงนามรับรองสิทธิผู้หญิงอีกกี่ฉบับ ก็คงจะไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นได้ หากผู้กำหนดนโยบายยังไม่ปรับเปลี่ยนชุดความคิด ให้สอดคล้องกับหลักสากล

คำมั่นและพันธกรณีของรัฐต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง

จากการไปรายงานกระบวนการ UPR ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการ CEDAW และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 5 เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังแก่หญิงและเด็กหญิง รัฐบาลไทยจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

·         จัดทำนโยบายและกรอบทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ  แก้ไขพ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ

·         ดำเนินการจัดสรรทรัพยากรบุคคลและงบประมาณเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของสตรีได้อย่างเต็มที่  รวมถึงการคุกคามต่อหญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

·      ขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกรูปแบบทั้งในที่สาธารณะและในพื้นที่ส่วนตัวรวมทั้งการค้าหญิงและการแสวงประโยชน์ทางเพศและการแสวงประโยชน์รูปแบบอื่นๆ  การปรับปรุงกฎหมาย นโยบายและมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net