Skip to main content
sharethis
'ชาติไทยพัฒนา-เพื่อไทย' ขอ คสช.ปลดล็อคคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมเตรียมความพร้อมหลัง พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลบังคับ 'ประชาธิปัตย์' แนะนายทะเบียนพรรคการเมืองหารือ คสช.
 
8 ต.ค. 2560 นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีผลบังคับใช้วันนี้ (8 ต.ค.) เป็นวันแรกว่าเมื่อกฎหมายนี้ออกมาจะมีภารกิจของพรรคการเมืองจำนวนมาก เพราะเปลี่ยนแปลงจากอดีต เสมือนรื้อใหม่หมด จะส่งผลให้การบริหารจัดการภายในพรรคเปลี่ยนแปลงมาก โดยพรรคการเมืองที่จดใหม่ต้องเริ่มตั้งและหาสมาชิกพรรค หาทุนประเดิม ซึ่งทำได้ยากขึ้น แต่สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา แม้มีอยู่แล้วก็ต้องดำเนินการหลายอย่าง เพื่ออนุมัติให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ภายในระยะเวลาที่จำกัด 
 
“อันดับแรกจะต้องตรวจสอบจำนวนสมาชิกและแจ้งนายทะเบียนภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท และให้สมาชิก 500 คน จ่ายค่าบำรุงภายใน 180 วัน และภายใน 1 ปี ต้องให้สมาชิกจ่ายค่าสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และไม่น้อยกว่า 10,000 คน ภายใน 4 ปี ที่สำคัญคือ จัดให้ประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรค ซึ่งแก้ให้เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบันภายใน 180 วัน และยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่จำเป็นต้องทำอีกจำนวนมาก ภายในระยะเวลาที่จำกัดมาก และในการกระทำส่วนใหญ่ต้องใช้มติพรรค และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการประชุม หรืออย่างน้อยต้องหารือกันเกิน 5 คน ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน” นายนิกร กล่าว
 
นายนิกร กล่าวว่า หากยังมีงานสำคัญของประเทศในช่วงนี้ ก็รองานสำคัญนี้ผ่านไปแล้ว ควรจะพิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน มั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่จะทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะลำพังการจัดการภายในพรรคให้เป็นไปตามกฎหมาย และเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็หมดเวลาแล้ว ไม่มีเวลาไปทำเรื่องอื่น
 
“สำหรับในส่วนของพรรคได้เตรียมการไว้บ้างแล้ว เพราะเป็นพรรคการเมืองเดิมที่ผ่านการเลือกตั้งมากว่า 10 ครั้ง พอจะประคองตัวไปได้ แต่กฎหมายพรรคการเมืองแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการภายใต้สถานการณ์แบบนี้ และที่สำคัญตัวแปรยังไม่ชัดอีกหลายส่วน โดยเฉพาะกฎหมายเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน จึงยังตั้งหลักไม่ถูกนัก อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าวออกมาโดยเร่งด่วน” นายนิกร กล่าว
 
ด้านนายชูศักดิ์  ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ระบุว่าแม้ทุกอนย่างจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐญธรรมนูญที่ต้องการให้พรรคการเมืองดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่ถูกครอบงำโดยคนภายนอก และมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองได้ไม่เต็มที่นัก รวมทั้งการหาสมาชิกพรรคตามกำหนดเพื่อทำไพมารี่โหวต และยังมีการระดมทุนจากสมาชิกพรรค เสียค่าบำรุงพรรค อย่างน้อย 500คน ซึ่งเรื่องต่างๆล้วนแล้วแต่มีระยะเวลากำหนดไว้ และต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 90วัน  
 
นายชูศักดิ์ กล่าวว่าปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการของพรรคการเมืองตามพ.ร.ป.พรรคการเมือง ขณะนี้คือไม่สามารถประชุมพรรคหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เนื่องจากยังติดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคหนักใจมาก และเชื่อว่าเป็นเหมือนกันทุกพรรค เพราะหากไม่ให้ประชุมพรรคก็ไม่สามรถทำอะไรได้เลย หนำซ้ำพ.ร.ป.พรรคการเมืองยังมีเวลากำหนดไว้ และบางเรื่องหากไม่ทำตามเวลาที่กำหนดก็จะมีผลร้ายแรงตามมาถึงขั้นไม่สามารถส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก จึงขอคสช.ให้ปลดล็อคคำสั่งดังกล่าว ควรเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้แล้ว เพื่อจะได้จัดประชุมพรรคเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย” นายชูศักดิ์กล่าว
 
คสช.ยืนยันเลือกตั้งตามโรดแมป
 
ด้าน พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ชี้แจงคำแถลงการณ์ร่วมของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าเกิดความสับสนว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 หรือ 2562 รวมทั้งเกรงว่าทางสหรัฐจะเข้าใจผิด ว่า คสช.ยืนยันว่าการเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามโรดแมปที่ประกาศไว้ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกฎหมายที่จะต้องเดินตามกรอบเวลา โดยเริ่มตั้งแต่การมีรัฐธรรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเสร็จครบทั้ง 4 ฉบับแล้ว จึงจะประกาศวันเลือกตั้งภายในเวลา 150 วัน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เช่นนี้ ขอยืนยันว่าไม่ใช่การขยับวันเลือกตั้งออกไป แต่ทุกอย่างเป็นไปตามตารางเวลาที่เดินตามกรอบกฎหมาย
 
“ตอนนี้กฎหมายลูกยังเสร็จไม่หมด คาดว่าจะน่าเสร็จครบได้ทั้งหมดช่วงปลายปี จากนั้นต้องบวกไปอีก150 วัน จึงจะกำหนดวันเลือกตั้งได้ ที่ผ่านมานายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชี้แจงไปหมดแล้ว  เรื่องการเลือกตั้ง ยืนยันว่าไม่ใช่การเลื่อนหรือไม่เลื่อน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและกรอบระยะเวลาที่ถูกบังคับเอาไว้” พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าว
 
ส่วนเรื่องที่พรรคการเมืองเรียกร้องให้ปลดล็อคทางการเมือง เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตามเงื่อนเวลา พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวว่า การจะปลดล็อคหรือไม่ปลดล็อคจะต้องดูสถานการณ์ของบ้านเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้มีงานสำคัญของบ้านเมืองที่ชาวไทยทุกคนร่วมกันถวายความจงรักภักดี กิจกรรมทางการเมืองอาจจะเป็นเรื่องสำคัญรอง ๆ ลงไปในเวลานี้
 
แนะนายทะเบียนพรรคการเมืองหารือ คสช.
 
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (8 ต.ค.) ว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมีข้อกำหนดหลายข้อที่พรรคการเมืองที่เคยจดทะเบียนไว้แล้วอย่างพรรคประชาธิปัตย์จะต้องดำเนินการตาม เช่นเรื่องการตรวจสอบและยืนยันสมาชิกที่มีอยู่เดิมของพรรคไปยังนายทะเบียนพรรคการเมือง ในกรณีของสาขาพรรคต้องดำเนินการใหม่ให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย รวมทั้งข้อบังคับพรรคที่จะต้องกำหนดขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่และรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีเรื่องนโยบาย การจัดประชุมใหญ่ในเรื่องการเลือกกรรมการบริหารพรรค เป็นต้น 
 
นายจุรินทร์  กล่าวว่า ทั้งหมดนี้มีกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองที่จะต้องทำให้เสร็จตามกรอบเวลา 90 วันบ้าง 180 วันบ้าง ประเด็นสำคัญคือข้อกำหนดที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติและเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ถือว่าเป็นการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองหรือไม่ หากถือว่าเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมืองสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะมีคำสั่งคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งเป็นประเด็นที่คิดว่านายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องช่วยให้คำตอบกับพรรคการเมืองว่าสามารถดำเนินการไปตามข้อกำหนดของกฎหมายพรรคการเมืองได้หรือไม่ ในขณะที่ยังมีคำสั่งคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองบังคับใช้อยู่ 
 
"สำหรับผม คงไม่เรียกร้องคสช. ว่าจะต้องเปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้เมื่อไหร่ แต่ผมคิดว่าเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองบังคับใช้แล้วก็เป็นเรื่องที่กกต. นายทะเบียนพรรคการเมือง กับคสช.จะต้องหารือกัน เพื่อพรรคการเมืองจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เมื่อพรรคการเมืองต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่มีพ.ร.บ.พรรคการเมืองและคำสั่งคสช.ซึ่งอาจจะแย้งกันอยู่ นายทะเบียนพรรคการเมือง หรือกกต.กับคสช.ควรหารือกัน เพื่อปฏิบัติได้ถูก" นายจุรินทร์ กล่าว
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4]
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net