วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ: เมื่อรัฐ ‘แปรรูปน้ำ’ เป็นสินค้าให้เอกชนจัดการ

แนวคิด ‘เก็บค่าน้ำทำนา’ เป็นแค่พื้นผิว การแปรรูปทรัพยากรน้ำให้เอกชนเป็นผู้จัดการคือกระดูกสันหลังของการผลักดันกฎหมายทรัพยากรน้ำ ซึ่งวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากไบโอไทยมองประเด็นนี้ว่า คือการเร่งการล่มสลายของภาคการเกษตรไทย

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีการแถลงถึงการจัดทำร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…. แม้ว่าจะมีการกล่าวถึงการเก็บค่าน้ำสำหรับภาคธุรกิจบริการ สนามกอล์ฟ ไปจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วย แต่การรับรู้ของสังคมก็พุ่งไปที่ประเด็น ‘การเก็บค่าน้ำเพื่อทำนา’ ซึ่งระบุว่าเก็บไม่เกิน 0.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับการทำเกษตรขนาด 50 ไร่ขึ้นไป

การเก็บค่าน้ำสำหรับทำการเกษตรไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีการเสนอแนวคิดนี้มามากกว่าหนึ่งครั้ง และทุกครั้งก็มักจะมีเสียงคัดค้านตามมาเสมอ ซึ่งโดยมากมักผูกโยงเชิงความรู้สึกกับภาพลักษณ์ว่า ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และออกลูกดราม่าเป็นหลัก

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย ชวนมองร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำจากมุมมองของผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรแบบยั่งยืนว่า ในรายละเอียด (เท่าที่มีการเปิดเผย) กฎหมายนี้ก็หลักการที่ดีอยู่ แต่ผลกระทบด้านลบนั้นก็เดิมพันด้วยการล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย

แปรรูปทรัพยากรน้ำให้เอกชนจัดการ

วิฑูรย์ฉายภาพหลักการ 3 ประการของกฎหมายฉบับนี้ โดยประการแรกที่ถือเป็นหัวใจสำคัญจริงๆ คือการแปรรูปทรัพยากรน้ำให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐ

“เท่าที่ผมดูคำให้สัมภาษณ์หลังมีเสียงคัดค้าน คนในกรรมาธิการและคนในกรมทรัพยากรน้ำพูดในแง่ที่ว่า กฎหมายมีข้อดีในแง่ที่ว่าจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาพัฒนาจัดการน้ำ อยู่ในมาตราต้นๆ พูดถึงการกำหนดให้ทรัพยากรน้ำเป็นสมบัติสาธารณะ มีหัวข้อหนึ่งระบุว่าน้ำที่อยู่ในแหล่งน้ำ น้ำบาดาล ทะเลสาบที่อยู่ในอาณาเขต ถือว่าเป็นทรัพยากรของชาติ น้ำที่หน่วยงานของรัฐไปพัฒนาในพื้นที่สาธารณะ ก็ถือเป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ”

แปลไทยเป็นไทยได้ว่า หากเป็นแหล่งน้ำที่พัฒนาโดยเอกชนไม่ถือเป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ วิฑูรย์มองว่านี่คือแนวคิดการแปรรูปที่ซ่อนอยู่ในกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีข้อความในร่างกฎหมายที่ระบุว่า ทรัพยากรน้ำในระบบชลประทานที่มีอยู่เดิมไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ให้ใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ แม้จะดูเหมาะดูควร แต่เขาก็เห็นว่าบางประโยคที่ตามมายังชวนเคลือบแคลง

“ที่ระบุว่าพื้นที่ชลประทานเดิมไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้ แต่ก็มีบางประโยคที่ฟังดูแล้วยังสงสัยอยู่คือที่ระบุว่า ในกรณีที่อยู่ภายใต้กฎหมายอื่น จะต้องมีมาตรฐานการดำเนินการไม่ต่ำไปกว่า พ.ร.บ. นี้ด้วย ไม่รู้แปลว่าอะไร เจตนาคืออะไร ถ้าหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเป็นในแง่ที่ว่าคนที่อยู่ในเขตชลประทานหลวงต้องใช้เกณฑ์การใช้น้ำแบบเดียวกันกับแหล่งน้ำที่เอกชนพัฒนาก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตา”

ประการที่ 2 คือการกำหนดอัตราค่าใช้น้ำ ถือเป็นผลักดันให้มีการเก็บภาษีน้ำ ซึ่งเป็นข้อเสนอของหลายฝ่ายก่อนหน้านี้ ทั้งธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารโลก และกลุ่มล็อบบี้ทางนโยบาย ยกตัวอย่างในการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับอเมริกา กลุ่มล็อบบี้ด้านการเกษตรของอเมริกาก็กดดันว่ารัฐบาลไทยอุดหนุนเรื่องน้ำแก่เกษตรกรไทย

“เราอาจยังไม่เห็นปัญหาตอนนี้ชัดเจน เพราะกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดค่าน้ำเราไม่รู้ว่าถึงวันหนึ่งจะตั้งเรทเท่าไหร่ ขณะเดียวกัน หลายเรื่องที่เขากำหนดน่าจะเป็นเรื่องดี เช่น การกำหนดให้มีการเก็บค่าน้ำจากกิจการขนาดใหญ่อย่างสนามกอล์ฟ เป็นต้น ถือเป็นการสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากร เพราะการผลิตขนาดใหญ่ในสังคมไทยตอนนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งฟาร์มขนาดใหญ่ รวมถึงการนำทรัพยากรน้ำไปใช้โดยไม่มีการคิดมูลค่าของน้ำ”

ประการสุดท้ายคือความพยายามในการให้บทบาทแก่กรรมการลุ่มน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ให้มีส่วนร่วมในกฎหมาย ซึ่งมีการออกแบบในกฎหมายให้มีตัวแทนจากกรรมการลุ่มน้ำ มีตัวแทนผู้ใช้น้ำ มีตัวแทนเอกชน แต่วิฑูรย์ยังไม่แน่ใจว่าสัดส่วนกรรมการจะโน้มเอียงไปทางใด เพราะในหลายกรณีที่ผ่านมากรรมการทรัพยากรน้ำมักจะอิงรัฐหรือมีการรวมศูนย์ไปอยู่ที่รัฐ

เพราะตอนนี้เรายังไม่เห็นร่าง บางร่างที่เห็นตัวแทนจากลุ่มน้ำแทบไม่มีบทบาทเลย เป็นต้น แต่ในนี้เท่าที่เห็น ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นร่างตัวนี้หรือเปล่า ก็เห็นตัวแทนจากปชช. ที่ดูแลทรัพยากรน้ำในส่วนภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมด้วย มีตัวแทนผู้ใช้น้ำด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนนักว่าผู้ใช้น้ำมาจากกลุ่มไหน เช่น มาจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำหรือเป็นรายใหญ่ อาจจะต้องดูต่อ

เพิ่มต้นทุนเกษตรกร

“สิ่งที่ผมกังวลคือส่วนที่เกี่ยวกับการแปรรูปน้ำให้เป็นสินค้า ถึงแม้ตอนนี้อาจจะยังเห็นไม่ชัด แต่เป็นเรื่องที่ต้องจับตา ผมยกตัวอย่างปัญหาที่จะมีแน่ๆ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งชลประทาน ถ้าวัดจากที่เคยเป็นในพื้นที่ภาคกลาง เราพบว่าเกษตรกรรายย่อยสูญเสียที่ดินไปเยอะมาก กลายเป็นชาวนาเช่า ซึ่งขนาด 50 ไร่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่เป็นชาวนาไร้ที่ดิน ต้องทำนามากขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ อันนี้จะเป็นปัญหาต่อไป ดังนั้น เกษตรกรรายย่อยหรือเกษตรเพื่อยังชีพอาจมีปัญหาได้บางกรณี เพราะไปคำนวณเงินแล้วไม่ใช่น้อยๆ เลย ตัวเลขที่เราเห็น อยู่ที่ประมาณ 800 บาทต่อไร่ สมมติทำนา 70 ไร่ 50 ไร่แรกไม่ต้องจ่ายหรือจ่ายทั้ง 70 ไร่ ที่พูดนี่คือยังไม่รู้ว่าเขาคิดยังไง อาจกดดันให้ชาวนาเช่าแค่ 50 ไร่ ถ้าคิดเฉพาะ 20 ไร่ที่เกินขึ้นไปเท่ากับ 16,000 บาทสำหรับค่าน้ำ ที่ชาวนาต้องจ่ายค่าสูบน้ำอีก

“ผมคาดหมายอยู่แล้วว่า ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่โดยไม่ต้องมีเรื่องการเก็บค่าน้ำ ชาวนาก็ต้องลดลงอย่างรวดเร็วแน่ๆ อยู่แล้ว เราต้องสร้างทางเลือก เมื่อเขาไม่สามารถไปสู่ภาคการผลิตอื่นได้ เขาก็ยังพอมีชีวิตที่ดีอยู่ได้ แต่ถ้าเพิ่มเงื่อนไขนี้เข้ามาจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการล่มสลายอย่างรวดเร็ว"

“การที่ชาวนาหรือเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของการจัดการทรัพยากรน้ำ การกำหนดค่าใช้น้ำ เป็นต้น จะเป็นปัญหาใหญ่แน่ๆ ในอนาคต เพราะกฎกระทรวงกำหนดได้ง่าย แล้วตอนนี้ฟังดูเหมือนว่าอำนาจในการกำหนดอยู่ที่ระดับกระทรวง ในร่างกฎหมายเขียนไว้อยู่เหมือนกันว่า ต้องมีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำเป็นคนกำหนด แต่ในทางปฏิบัติหน้าตาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นการรวมศูนย์ แล้วรัฐมีทิศทางที่จะแปรรูปน้ำแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นมากสำหรับอนาคตของเกษตรกรรายย่อยที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำ”

เร่งการล่มสลายของภาคการเกษตร

จุดนี้มีประเด็นที่เกี่ยวพันอยู่ 2 ประเด็น ซึ่งมีการกล่าวถึงมานานแล้วต่อสถานการณ์ภาคการเกษตรของไทย หนึ่งคือประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่งและสอง-การลดขนาดภาคการเกษตรลงโดยการดึงเกษตรกรออกจากภาคการเกษตรเข้าสู่ภาคการผลิตอื่นที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า ซึ่งการเก็บค่าน้ำสำหรับการเกษตรก็ดูเหมือนจะตอบโจทย์ 2 ประการข้างต้น

ทว่า วิฑูรย์กลับไม่แน่ใจ เขาแสดงทัศนะว่า

“ตอนนี้ภาระหนักของเกษตรกรรายย่อยมีอยู่ 2 เรื่อง หนึ่ง-ค่าเช่าที่ดิน การพัฒนาทรัพยากรน้ำ มันมักจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ชาวนาต้องเช่าที่ เขตพื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่เป็นนาเช่า ค่าเช่ากินต้นทุนไปประมาณ 1 ใน 4 ถึง 1 ใน 3 ตั้งแต่ประมาณร้อยละ 25-35 สอง-ค่าปุ๋ยกับสารเคมีก็ประมาณ 1 ใน 3 ค่าเช่านากับปุ๋ยและสารเคมีรวมกันอย่างน้อยก็ประมาณร้อยละ 60 แล้ว ค่าน้ำจะกลายเป็นต้นทุนสำคัญเพิ่มขึ้นอีก เหมือนในบางประเทศ เช่น อินเดีย ปัญหาการแข่งขันของชาวนาไทยย่ำแย่อยู่แล้ว จะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าไม่มีหลักประกันว่าเกษตรกรสามารถเข้าถึงการใช้น้ำได้ แล้วมีการแปรรูปเป็นการค้าจะยิ่งกดดันเกษตรกร”

วิฑูรย์เห็นด้วยว่าต้องสร้างกติกาการใช้ทรัพยากรที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ด้วยเงื่อนไขที่รัดรึง เกษตรกรปัจจุบันถูกบีบให้ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอยู่แล้ว เขาไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกรเพื่อเร่งการปรับตัวแต่อย่างใด เพราะการทำเช่นนั้นไม่ใช่การเร่งการปรับตัว แต่จะยิ่งเร่งการล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย

“ผมคาดหมายอยู่แล้วว่า ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่โดยไม่ต้องมีเรื่องการเก็บค่าน้ำ ชาวนาก็ต้องลดลงอย่างรวดเร็วแน่ๆ อยู่แล้ว เราต้องสร้างทางเลือก เมื่อเขาไม่สามารถไปสู่ภาคการผลิตอื่นได้ เขาก็ยังพอมีชีวิตที่ดีอยู่ได้ แต่ถ้าเพิ่มเงื่อนไขนี้เข้ามาจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการล่มสลายอย่างรวดเร็ว คนจำนวนน้อยที่จะเหลือรอด ภาคเศรษฐกิจที่จะรองรับก็จะไม่มี

“การบีบให้ชาวนาออกจากภาคเกษตร ไม่มีหลักประกันว่าภาคอื่นจะรองรับและทำให้มีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าได้ อย่างตอนนี้ชาวนาที่ออกจากภาคเกษตรมาอยู่ภาคอื่น เช่น ค้าปลีกสมัยใหม่กำลังโต ซึ่งก็มีปัญหาสองเรื่อง หนึ่ง-ไม่สามารถดูดซับแรงงานได้หมด สอง-ภาคอุตสาหกรรมที่มารองรับจะมีหลักประกันในการสร้างรายได้ที่เพียงพอหรือเปล่า อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ เพราะดูจากค่าจ้างขั้นต่ำกับวิถีชีวิตในเมือง มันแทบจะไม่พอ”

ชลประทานไทย ประสิทธิภาพเพิ่มไม่ทันต้นทุน

วิฑูรย์เล่าตัวอย่างการเก็บค่าน้ำในภาคเกษตรในต่างประเทศว่า ในประเทศกำลังพัฒนามักจะไม่มีการเก็บ ยกเว้นบางประเทศที่ขาดแคลนน้ำจริงๆ เช่นในอินเดียที่ค่าน้ำเป็นสัดส่วนใหญ่ของการเกษตร ส่วนในประเทศอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบการบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพมากกว่า การเก็บค่าน้ำไม่ถือเป็นภาระ เนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมากกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

โดยทั่วไป ระบบชลประทานสามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 เป็นอย่างน้อย การเพิ่มค่าน้ำประมาณร้อยละ 5-10 ของต้นทุน ในประเทศพัฒนาแล้วสามารถเอาชนะได้จากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น แต่ในประเทศไทย ระบบชลประทานไม่ได้เข้าสู่พื้นที่นาโดยตรง แต่ต้องเสียค่าสูบน้ำที่ยังสูงมากและน้ำก็ไม่มีให้ตลอดปี การเก็บค่าน้ำเพิ่มขึ้นจึงไม่ทำให้ผลที่ได้เท่ากับในประเทศพัฒนาแล้ว

“แต่ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาที่มีการแปรรูปน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาการดึงน้ำไปใช้ในระบบอุปโภคบริโภค โดยให้เอกชนมาดำเนินการแทนรัฐ ทรัพยากรสาธารณะจะถูกส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาพัฒนา ในลาตินอเมริกามีหลายประเทศที่ทำแบบนี้และพบว่าค่าน้ำที่เอกชนเก็บมันสูงมาก ทั้งที่น้ำมาจากแหล่งน้ำสาธารณะ และไปไกลถึงขั้นที่ว่าน้ำฝน ถ้ามีการเอาไปใช้ประโยชน์ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย

“ส่วนในฝั่งการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ผมยังนึกไม่ออก เพราะมีน้อยมากที่มีการแปรรูปน้ำมาใช้ในภาคเกษตร เพราะส่วนใหญ่เป็นบริการของรัฐที่จะให้แก่เกษตรกร ถ้าประเทศไทยใช้ระบบนี้ก็จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศที่ทำเรื่องนี้”

เกษตรกรแบกต้นทุน ภาคธุรกิจเอกชนผลักภาระต้นทุน

ข้อสังเกตอีกประการที่วิฑูรย์กล่าวว่าสังคมจะต้องจับตาดู เนื่องจากเขาเห็นร่องรอยในร่างกฎหมายว่าภาคธุรกิจเอกชนคือกลุ่มที่ไม่ต้องรับภาระค่าน้ำ แต่จะผลักภาระนี้ไปให้เกษตรกรรายย่อยจนถึงผู้บริโภครับภาระแทน

“ยกตัวอย่างอ้อยซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำมากที่สุด แต่รัฐกลับมีระบบการอุดหนุนให้กับอุตสาหกรรมอ้อย หมายความว่าอุตสาหกรรมอ้อยใช้น้ำได้เต็มที่เพราะมีผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระ ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าน้ำแทนอุตสาหกรรมอ้อย ปัจจุบันระบบเกษตรแบบประชารัฐ แบบแปลงใหญ่ นายทุนที่ทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ก็นั่งอยู่ในรัฐบาลในหลายระดับ หรืออย่างข้าว เกษตรกรไม่สามารถผลักภาระให้ใครได้ ราคาต่ำก็คือต่ำ แต่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์อย่างข้าวโพดหรืออ้อย มีมาตรการเต็มไปหมดเพื่ออุดหนุนผู้ผลิตกลุ่มนี้ อ้อยใช้น้ำมากจริง คุณทำแปลงใหญ่เหมือนคุณต้องจ่ายน้ำ แต่ในท้ายที่สุดเมื่อเข้าสู่ระบบ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล มันมีการอุดหนุนให้บริษัทเหล่านี้อยู่แล้ว กลายเป็นว่าภาระจะถูกผลักให้กับผู้บริโภค”

ขณะที่เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถผลักภาระค่าน้ำออกไปได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจพอในการกำหนดราคาสินค้าเกษตร

แนะรัฐต้องสร้างหลักประกันให้เกษตรกรรายย่อย ยังไม่ถึงเวลาเก็บค่าน้ำ

วิฑูรย์เสนอว่า การผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะการผลิตที่เป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร รัฐต้องมีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน น้ำ สินเชื่อได้ เพราะความอยู่รอดของเกษตรกรกลุ่มนี้คือความอยู่รอดและความมั่นคงทางอาหารของประเทศโดยรวม

“ประการต่อมา เราไม่ได้ผลิตเพื่อความมั่นคงด้านอาหารอย่างเดียว เราผลิตเพื่อขายด้วย แต่คนเหล่านั้นเป็นเกษตรยากจนและมีปัญหาด้านความสามารถทางการแข่งขัน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จะต้องไม่เพิ่มภาระให้กับเกษตรกรที่กำลังปรับตัวเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นเขาจะล่มสลาย

“การจะสร้างหลักประกัน ผมคิดว่าต้องสะท้อนมาจากสองสามประการ หนึ่ง-โครงสร้างทางนโยบายต้องออกแบบให้คนเล็กคนน้อยที่ได้รับผลกระทบมีบทบาทกำหนดกลไกราคา สอง-ในฝั่งประชาชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาฐานทรัพยากร การอนุรักษ์ ฟื้นฟูต้นน้ำ แหล่งน้ำ ต้องให้เขามีบทบาท คนสองกลุ่มนี้ต้องมีบทบาทหลักในคกก.ทรัพยากรน้ำ ไม่ใช่รัฐและเอกชนรายใหญ่ คนเหล่านี้ต้องเป็นผู้คุมกติกาหลักเพราะเป็นผู้รักษาฐานรากของทรัพยากรน้ำ ไปจนถึงผู้ใช้น้ำที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีสองกลุ่ม กลุ่มที่ผลิตเพื่อความมั่นคงด้านอาหารกับกลุ่มชาวบ้านที่ยังมีหนี้สิน แม้จะผลิตเพื่อการส่งออกก็ตาม”

ประชาไทถามย้ำว่า ควรเก็บค่าน้ำหรือไม่

วิฑูรย์ตอบว่า ควรบริหารทรัพยากรน้ำและระบบชลประทานให้มีประสิทธิภาพโดยไม่เก็บค่าน้ำสำหรับเกษตรกรรายย่อย จนกว่าจะถึงจุดที่สามารถสร้างผลิตภาพได้เกินกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและไม่สร้างภาระให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้ เมื่อนั้นย่อมสามารถเก็บค่าน้ำ แต่ยังไม่ใช่ ณ เวลานี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท