ตร.มีความเห็นควรสั่งฟ้อง 'ส.ศิวรักษ์' ข้อหา ม.112 กรณีพูดพาดพิงพระนเรศวร

พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี 'ส.ศิวรักษ์' ข้อหา ม.112  ปมกล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวรและกรณียุทธหัตถี ส่งพนักงานอัยการศาลทหารพิจารณาคดีต่อ พร้อมนัดให้มาฟังคำสั่งวันที่ 7 ธ.ค.นี้ 

แฟ้มภาพ

9 ต.ค.2560 จากกรณี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิจารณ์การเมืองชื่อดัง ถูก พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน เข้าแจ้งความให้เจ้าพนักงาสอบสวน สน.ชนะสงคราม  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2557 จากรณีที่ สุลักษณ์ ได้ร่วมอภิปรายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยคณะสภาหน้าโดม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 โดยกล่าวหาว่าในการอภิปรายดังกล่าวสุลักษณ์ได้กล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอดีตพระมหากษัตริย์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยกล่าวว่า การทรงกระทำยุทธหัตถีไม่มีจริง และมีอีกหลายถ้อยคำที่เข้าข่าย “หมิ่นเบื้องสูง”

ล่าสุดวันนี้ (9 ต.ค.60) พวงทิพย์ บุญสนอง ทนายความของสุลักษณ์ เปิดเผยว่าวันนี้ พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีดังกล่าวเสร็จแล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จึงนำสำนวนพร้อมตัวสุลักษณ์ส่งพนักงานอัยการศาลทหารให้พิจารณาคดีต่อไป โดยหลังจากนี้จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของพนักงานอัยการ และนัดให้มาฟังคำสั่งวันที่ 7 ธ.ค.นี้ 10.00 น.

สำหรับสุลักษณ์ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเคยถูกฟ้องด้วยคดี 112 สองครั้ง ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ ระบุว่า คดีแรกเกิดขึ้นจากกรณีเมื่อ 17 ธ.ค.47 สุลักษณ์ได้รับเชิญไปอภิปรายเรื่อง “สังคมไทยทางรอดที่ควรเลือก เหลียวหลังแลหน้าจากราชดำเนินถึงตากใบ” ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างการอภิปรายผู้ต้องหาได้ประชาสัมพันธ์หนังสือวารสาร Seeds of Peace ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม-เมษายน 2548 ซึ่งเป็นวารสารภาษาอังกฤษนำมาวางจำหน่ายหน้าห้องอภิปราย ในวารสารดังกล่าวมีบทความเรื่อง SIAM of the Forgotten Monarch: The True Life Sequel to the King and the Land of Smile ที่เขียนโดยผู้ใช้นามแฝงว่า บี.พี. มีเนื้อหากล่าวถึงการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติที่ไปฟังการเสวนาได้ซื้อวารสารมาอ่านพบบทความดังกล่าว จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาและแจ้งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ มีการตั้งคณะทำงานสอบสวน ผลการสอบสวนพบว่าวารสารฉบับดังกล่าวนี้มิได้มีการจดแจ้งต่อนายทะเบียนการพิมพ์กรุงเทพมหานคร และข้อความในวารสารเข้าข่ายหมิ่นมาตรา 112 จึงได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เนื่องจากพิจารณาเห็นแล้วว่า จากคำให้การของพยานบุคคลจำนวนหลายคนที่อ่านบทความ แสดงความคิดเห็นไม่ยืนยันไปในทางเดียวกันว่า บทความดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบกับไม่มีพยานยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เขียนบทความ เป็นเพียงผู้เสนอขายวารสารที่ปรากฎบทความเท่านั้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ต้องหามีเจตนากระทำผิดตามข้อกล่าวหา 

คดีที่สอง เกิดจากกรณีที่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.50 สุลักษณ์ได้กล่าวที่อาคารศาลาพระราชทานปริญญาบัตรหลังเก่า ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาวันที่ 6 พ.ย.51 พ.ต.อ.คัชชา ธาตุศาตร์ รอง.ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น พร้อมกำลัง ได้จับกุมสุลักษณ์ ตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น เลขที่ 431 / 2551 ลงวันที่ 22 ก.ย.51 ในข้อหามาตรา 112 โดยบุกจับกุมที่บ้านพักในกรุงเทพฯ แล้วนำตัวไปจังหวัดขอนแก่น  สุลักษณ์ได้ยื่นขอประกันตัว โดยมี กิตติบดี ซึ่งเป็นคณะบดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ตำแหน่งประกันตัว สุลักษณ์ ยังไม่ทราบความคืบหน้าของคดี

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" 

ทั้งนี้มีเคยมีการดำเนินคดีด้วย ม.112 กับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ในอดีตแล้ว ที่ปรากฎเป็นข่าวคือในกรณีหมิ่นประมาท รัชกาลที่ 4 โดยมีรายละเอียดดังนี้

คำพิพากษาคดีหมิ่นฯอดีตกษัตริย์ ผิด ม.112

จำเลยกล่าวข้อความว่า "ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่เราคิดว่าเราไปแล้วเนี้ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชนเราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไป แล้วต้องเป็นเหมือนกับรัชกาลที่ 4 เราไม่เป็นครับท่าน ยุคนั้นหมดไปแล้ว แต่บ้านนี้เมืองนี้อาจจะมีอยู่บ้างบางส่วนนะครับ"

ศาลอาญาเห็นว่า ข้อความดังกล่าว "มีความหมายเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต เปรียบเทียบว่ายุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระมีการปกครองที่ไม่ดีทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 4 เสื่อมเสียพระเกียรติเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ...พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดลงให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี"

คำพิพากษาศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 1237/2550 (องค์คณะผู้พิพากษา : นายปรัชญา กำเหนิดฤทธิ์, นายณัฐกิตติ์ มฤคินทร์)

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า "ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้" ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 6374/2556 (องค์คณะผู้พิพากษา นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์, นายพศวัจณ์ กนกนาก)

ที่มา:เว็บไซต์ นิติราษฎร์ (ซึ่งขณะนี้ถูกกระทรวงดิจิทัลฯ ปิดกันการเข้าถึง เช่นเดียวกับคำพิพากษาฎีกาฉบับเต็ม http://www.enlightened-jurists.com/page/287 ที่ถูกปิดกันการเข้าถึงเช่นกัน)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท