Skip to main content
sharethis

เล่าเรื่องเสรีภาพการแสดงออกที่ติดลบในอาเซียน แนะรัฐเลิกใช้กฎหมายล้าสมัยอย่างยุยงปลุกปั่น กฎหมายหมิ่นฯ สังคมควรยอมรับความเห็นต่าง สังคมที่แข็งแรงต้องคุยกันได้ทุกเรื่อง เปรย รัฐบาลไม่เอาด้วยเพราะกลัวเสียอำนาจ เสนอเส้นแบ่งเฮทสปีชกับเสรีภาพการแสดงออก บทบาทเอกชนในโลกยุคอินเทอร์เน็ต

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิจารณ์การเมืองชื่อดังในข้อหา ม.112  ปมกล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวรและกรณียุทธหัตถี โดยกล่าวว่า การทรงกระทำยุทธหัตถีไม่มีจริง และมีอีกหลายถ้อยคำที่เข้าข่าย “หมิ่นเบื้องสูง”

คดีของ ส.ศิวรักษ์ เป็นเพียงหนึ่งเสี้ยวของการถูกกฎหมายควบคุมการแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยอย่างที่เป็นมาช้านาน หากขยับการมองในระดับภูมิภาคอาเซียน ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาภูมิภาคนี้ก็พบกับปรากฏการณ์ที่รัฐบาลจำกัดไม่ให้ประชาชนแสดงออกซึ่งความเห็นในด้านต่างๆ เราเห็นรัฐบาลกัมพูชาทยอยปิดสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหลายหัว เห็นการแสดงความคิดเห็นต่อชาวโรฮิงญาอย่างดุเดือดทั้งในอินเทอร์เน็ตและนอกอินเทอร์เน็ตจากกลุ่มพุทธหัวรุนแรง รวมถึงการจับกุมซีแลน ปาเลย์ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวสิงคโปร์โดยตำรวจสิงคโปร์หลังแสดงออกทางสัญลักษณ์รำลึกถึงการถูกควบคุมตัว 32 ปีโดยไม่ถูกตั้งข้อหาของอดีต ส.ส.สิงคโปร์ เชียะไทปอ

พระวีระธูปราศรัยโจมตีโรฮิงญา-เอ็นจีโอต่างชาติ ร้อง ร.บ. พม่าประกาศกฎอัยการศึกยะไข่ตอนเหนือ

ศิลปินถือกระจกสะท้อน 32 ปีการจองจำนักโทษการเมืองสิงคโปร์-ก่อนถูกรวบตัว

2 ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อจากกัมพูชาเล่าวิกฤติ รบ. ปิดสื่อ ห่วงต่อไปแตะต้องรัฐบาลไม่ได้

จากภาวะที่รัฐบาลในอาเซียนทยอยจัดการกับการแสดงออกของภาคพลเรือนอย่างต่อเนื่องจนอาจจะเรียกได้ตามภาษาข่าวกีฬาว่า ‘ท็อปฟอร์ม’ เหลือเกิน ทำให้มีคำถามเรื่องภาพรวมเสรีภาพการแสดงออกในภูมิภาค จุดเริ่มต้นในการสร้างภาวะที่เอื้อต่อการมีเสรีภาพการแสดงออก แนวทางการสื่อสารกับคนที่คิดว่าการปล่อยให้พูดอะไรก็ได้ก็รังแต่จะทำให้สังคมวุ่นวาย บทบาทของสหประชาชาติในเรื่องเหล่านี้ และคำถามต่อภาคเอกชนในการสร้างเสรีภาพการแสดงออกในยุคอินเทอร์เน็ตครองเมือง

ประชาไทได้รับเกียรติจาก ศ.เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติในประเด็นการสนับสนุนและปกป้องสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกและการแสดงความเห็น และศาสตราจารย์คลินิกในวิชากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ มาร่วมพูดคุยต่อประเด็นคำถามข้างต้น

สัมภาษณ์ David Kaye ผู้รายงานพิเศษองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก

สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกในอาเซียนเป็นอย่างไร

เดวิด เคย์

ในภาพรวม สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกของทั้งภูมิภาคอยู่ในระดับที่ต่ำ มีแรงกดดันจากรัฐบาลที่เลือกให้มีการแสดงออกหรือไม่แสดงออกอะไร รวมถึงการทำให้การการพูด การรายงานข่าวที่สื่อถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลกลายเป็นอาชญากรรม

สหประชาชาติทำหน้าที่สนับสนุนการมีเสรีภาพการแสดงออกอย่างไรบ้าง

หน่วยงานหลักในด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติคือคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) มีหน้าที่รับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต ความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการแต่งตั้งผู้รายงานพิเศษ เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ติดตามการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่างๆ ในโลก ผู้รายงานพิเศษมีอยู่หลายคน อย่างผมก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออก ผมติดต่อกับรัฐบาลโดยตรงเวลาที่มีข้อกังวลเรื่องการนำข้อบังคับด้านการปกป้องเสรีภาพการแสดงออกไปใช้ เราส่งจดหมาย ออกแถลงข่าวในกรณีที่เป็นเรื่องร้ายแรง นอกจากนั้นเรายังมีหน้าที่เยี่ยมเยือนประเทศต่างๆ ผ่านการเชิญของรัฐบาล การเยี่ยมแต่ละครั้งนานหนึ่งสัปดาห์ถึงสิบวัน ระหว่างการเยี่ยมเยือน พวกเราก็จะไปพบรัฐบาล นักกิจกรรม นักวิชาการ นักข่าว จากนั้นจะรายงานกับคณะมนตรีฯ สหประชาชาติเองก็ทำหน้าที่รายงานและติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลในประเด็นการคุ้มครองเสรีภาพด้านการแสดงออก

การทำงานจริงมีอุปสรรคบ้างไหม

การค้นหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นไม่ยาก สิ่งที่ยากคือการที่รัฐบาลในหลายประเทศสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นภัยต่อเสรีภาพการแสดงออก ผมคิดว่าแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะแพ้ภัยตนเองเพราะประเทศเหล่านั้นมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ ดูอย่างกรุงเทพสิ ที่ตอนนี้เป็นเมืองที่กำลังโตและมีชีวิตชีวา จะมองสิงคโปร์ในแบบเดียวกันก็ได้ ทั้งภูมิภาคกำลังมีการพัฒนา แต่เมื่อคุณไปปิดกั้นไม่ให้คนแสดงความเห็นในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือไปทำให้การวิพากษ์วิจารณ์กลายเป็นอาชญากรรมมันก็ทำให้คนคิดอะไรใหม่ มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและชะตากรรมของประเทศได้ยากขึ้น ผมคิดว่าการปิดกั้นเสรีภาพในการพูดมันอันตรายและเป็นเรื่องที่ผิดทั้งยังมีผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาด้วย เพราะกฎหมายสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของทุกคนในการได้รับและส่งต่อข้อมูลทั้งหลาย รวมถึงข้อมูลของรัฐบาลด้วย ถ้านักข่าว ฝ่ายค้านหรือคนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นยากหรือถูกทำให้หวาดกลัวที่จะให้ความเห็นเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจหรือการเมืองก็จะไปบ่อนทำลายการพัฒนาตัวเองของรัฐบาล หลักของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ก็ระบุถึงความสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เอาไว้เช่นกัน

มีความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรมในภูมิภาคนี้ที่อยากพูดถึงหรือเปล่า

ผมไม่คิดว่าตอนนี้เรามีความสำเร็จในภูมิภาคนี้มากนัก แม้ว่าจะมีพัฒนาการในด้านบวกบ้าง แต่ว่าภาพรวมก็ติดลบ ภูมิภาคนี้มีภาคประชาสังคมที่ร่ำรวย มีนักกิจกรรม นักข่าว กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เก่งๆ รวมถึงประชาชนที่กระตือรือร้นอยากมีส่วนร่วมซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีถ้ารัฐบาลจะลดภาวะปิดกั้นการแสดงออกที่ในความเป็นจริงไม่มี ตัวอย่างที่เราคิดว่าจะประสบความสำเร็จก็คือพม่า หลายปีที่แล้วการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองทำให้มีการเคลื่อนไหวในอินเทอร์เน็ตมาก มีเสรีภาพในการรับข่าวสารมากขึ้น แต่สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันคือการทำการวิพากษ์วิจารณ์ทหารเป็นเรื่องผิดกฎหมาย รัฐบาลได้บ่อนทำลายโอกาสในการทำสำเร็จไป

การถกเถียงเรื่องเส้นแบ่งระหว่างการพูดเพื่อสร้างความเกลียดชัง (เฮทสปีช) กับเสรีภาพการแสดงออกเดี๋ยวนี้ไปถึงไหนกันแล้ว

คุณจะห้ามไม่ให้มีการใช้เฮทสปีชได้ต่อเมื่อมันสร้างการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงและการมุ่งร้าย ต้องเป็นระดับนั้นถึงจะห้ามกันได้ ผมว่าสิ่งที่เราเห็นรอบโลกและในภูมิภาคนี้คือการวิพากษ์วิจารณ์ชุมชนอื่นอาจจะกลายเป็นเฮทสปีชได้ แต่นั่นควรจะจำกัดอยู่ในระดับอย่างที่บอกไป การปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงไม่มีที่ยืนในสังคมประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่นในพม่า เราเห็นการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงแต่ก็ไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำอะไรนอกไปจากห่วงภาพพจน์ของทหาร มากไปกว่าการปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยที่จะได้รับความปลอดภัยจากความรุนแรง

ในทางกลับกันพวกเขา (รัฐบาล) กลับไปจัดการการวิพากษ์วิจารณ์ทหาร จำกัดสิทธิการแสดงออกของชาวโรฮิงญาและไม่ทำอะไรกับกลุ่มสุดโต่งที่ปลุกปั่นให้เกลียดชังชาวโรฮิงญาเลย มันเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งและรัฐบาลก็ไม่ได้จริงจังกับปัญหาความเกลียดชังทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ตมากพอ

ภูมิภาคอาเซียนควรเริ่มต้นจากตรงไหนก่อน

 ทั้งไทยและมาเลเซียต่างมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความเคารพในตัวรัฐบาลและราชวงศ์อย่างลึกซึ้งโดยไม่เอาโทษกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน อย่างน้อยผมอยากให้รัฐบาลอดทนกับการเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวจากประชาชน หลังจากนั้นรัฐบาลสามารถเดินหน้าต่อด้วยการยกเลิกกฎหมายที่บ่อนทำลายการแสดงออกเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่นักข่าวรู้สึกปลอดภัยที่จะรายงานข่าวโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องปิดปากหรือถูกคุกคาม

ภูมิภาคนี้ควรเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ก้าวแรกคือการหยุดใช้กฎหมายที่ล้าสมัยดำเนินคดีกับประชาชน ยกตัวอย่างในประเทศมาเลเซียที่มีกฎหมายยุยงปลุกปั่น (Sedition acts) ไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้นำมาเลเซียบอกว่าจะยกเลิกกฎหมายนี้ แต่สุดท้ายก็นำมันมาใช้กับนักเขียนการ์ตูน บุคคลทั่วไป นักกฎหมายและนักศึกษา ส่วนในไทยก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทั้งไทยและมาเลเซียต่างมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความเคารพในตัวรัฐบาลและราชวงศ์อย่างลึกซึ้งโดยไม่เอาโทษกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน อย่างน้อยผมอยากให้รัฐบาลอดทนกับการเรียกร้องให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวจากประชาชน หลังจากนั้นรัฐบาลสามารถเดินหน้าต่อด้วยการยกเลิกกฎหมายที่บ่อนทำลายการแสดงออกเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่นักข่าวรู้สึกปลอดภัยที่จะรายงานข่าวโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้องปิดปากหรือถูกคุกคาม นอกจากนั้นยังสามารถสนับสนุนให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษากระตือรือร้นในการสร้างและพัฒนาสังคมอีกด้วย สรุปข้อเสนอสองข้อคือ หนึ่ง รัฐบาลในภูมิภาคนี้ควรหยุดดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความเห็น สอง ยกเลิกกฎหมายที่อนุญาตให้พวกเขาทำเรื่องดังกล่าวได้

มีแนวทางหรือวิธีการสื่อสารกับคนที่คิดว่าการแสดงออกอย่างเสรีนำมาซึ่งความวุ่นวายและการโต้เถียงกันไหม

การพูดคุยทำให้เกิดการโต้เถียงอยู่แล้ว แต่เราจะกลัวอะไรในเมื่อการถกเถียง การเห็นต่างเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความคิดที่ดีกว่า ถ้าการถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะต้องมีพื้นที่ร่วมกันมันก็ควรเป็นเรื่องของความต้องการในการสร้างสังคมสำหรับคนทุกคนอย่างไม่แบ่งแยก และความเห็นที่ไม่ตรงกันก็เป็นหนทางสู่แนวคิด หนทางที่จะทำให้เกิดสังคมแบบนั้น แต่ปัญหาที่พวกคุณมีตอนนี้คือมีรัฐบาลที่ต้องการอยู่ในอำนาจต่อ และอำนาจนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับการพัฒนาหรือสังคมที่เข้มแข็ง สังคมที่เข้มแข็งคือสังคมที่เปิดให้มีการถกเถียงความคิดทั้งที่เป็นและไม่เป็นประชาธิปไตย ให้ความคิดเหล่านั้นเติบโตไปพร้อมกันผ่านการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน การโต้เถียงเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่ว่ามันมักถูกมองจากรัฐบาลว่าเป็นตัวการที่บ่อนทำลายพวกเขาจากอำนาจที่มี

คนควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้แม้กระทั่งประเด็นศาสนาและความเชื่อ เพราะนั่นคือหนทางที่ปัจเจกชนและสังคมเติบโต ถ้าไม่มีสิทธิเหล่านั้นสังคมในภาพรวมก็จะอันตราย 

เวลาคุณคุยกันคุณไม่อยากพูดแค่ว่า ใช่ครับ เห็นด้วยครับ ขอบคุณครับ แต่ส่วนหนึ่งที่สังคมสามารถหาแนวคิดที่นำมาใช้แก้ปัญหาคือการปล่อยให้คนถกเถียงกัน บางครั้งก็เถียงกันหนัก แต่รัฐบาลควรสนับสนุนประชาชนให้มีการถกเถียง แน่นอนว่ารัฐบาลหนึ่งจะมีอำนาจไปตลอดไม่ได้ นั่นไม่ใช่สิ่งที่ประชาธิปไตยเป็น แต่รัฐบาลอาจจะพบว่ามันคือการทำสิ่งที่ดีให้กับประชาชน ประชาชนควรมีสิทธิในการค้นหาความเชื่อและความเป็นตัวของตัวเอง คนควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้แม้กระทั่งประเด็นศาสนาและความเชื่อ เพราะนั่นคือหนทางที่ปัจเจกชนและสังคมเติบโต ถ้าไม่มีสิทธิเหล่านั้นสังคมในภาพรวมก็จะอันตราย ขอให้ยอมรับการถกเถียง ยอมรับการโต้แย้ง แล้วเมื่อเวลาผ่านไปสังคมก็จะเห็นคุณูปการที่ใหญ่หลวง

ภาคส่วนเอกชนเหล่านี้มีบทบาทในการสร้างเสรีภาพการแสดงออกแค่ไหนในวันที่อินเทอร์เน็ตและธุรกิจโซเชียลมีเดียแพร่กระจายเครือข่ายไปทั่วโลก

ในภาพรวม อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลผ่านการค้นหาและพาตัวเองออกไปเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ปัญหามีอยู่สองข้อ หนึ่ง รัฐบาลพยายามปิดกั้นการแสดงออกในพื้นที่โซเชียลมีเดีย ประชาชนถูกดำเนินคดีจากการโพสท์เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ หรืออะไรก็ตามแต่ สอง ตัวบริษัทที่ควบคุมพื้นที่ดังกล่าวก็มีกฎของพวกเขาเองว่าผู้ใช้งานพูดอะไรได้หรือไม่ได้ บางครั้งกฎดังกล่าวก็ไม่ชัดเจน ความไม่ชัดเจนรวมไปถึงระบบการลบเนื้อหาโดยอัตโนมัติด้วย ปัจจัยทั้งสองสร้างสภาวะที่ผู้ใช้ไม่ค่อยแน่ใจว่าอะไรพูได้หรือไม่ได้ บริษัทที่ดูแลพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวจากการสอดส่องของรัฐรวมถึงการเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกด้วย

(ความเคลื่อนไหวในภาคเอกชน)ก็มีที่เริ่มไปบ้างแล้ว มีผู้ใช้งานเริ่มแสดงข้อกังวลให้กับทางเจ้าของพื้นที่ บริษัทจำเป็นที่จะต้องตอบสนองต่อข้อกังวลของผู้ใช้ ส่วนรัฐบาลเองก็ยกวาระเรื่องข่าวปลอมมา บริษัทจึงต้องรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการเซนเซอร์ข่าวหรือข้อมูลใดๆ พวกเรา (สหประชาชาติ) เองก็พยายามจะเข้ามามีส่วนในบทสนทนานี้โดยทำการศึกษาเรื่องความรับผิดชอบของโซเลียลมีเดียและบริษัทเครือข่ายค้นหาในประเด็นการควบคุมเนื้อหา เราหวังว่าจะมีรายงานในเรื่องนี้ออกมาในปีหน้าเพื่อสนับสนุนการถกเถียงในเรื่องนี้ บริษัทพบเจอปัญหาที่ค่อนข้างชัดเจนทั้งในทางภัยคุกคามจากทางรัฐบาล การสร้างข้อบังคับที่เหมาะสม และปกป้องสิทธิมนุษยชนของลูกค้า บริษัทเอกชนไม่สามารถ หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรจะเป็นหนึ่งในวงจรการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net