Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้และเครือข่ายหนุนรัฐบาลยกเลิกโทษประหารชีวิตตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในเวทีโลก เนื่องในวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ระบุไทยใกล้เป็นประเทศยกเลิกโทษประหารตามเกณฑ์ของ UN

10 ต.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมที่รณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิตแถลงสนับสนุนรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 เพื่อนำสู่การยกเลิกโทษประหารอย่างเป็นระบบในอนาคต ตลอดจนยึดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UPR) เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ว่าจะเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต

แถลงการณ์ฉบับนี้มีขึ้นเนื่องใน “วันยุติโทษประหารชีวิตสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ต.ค.ของทุกปี เครือข่ายรณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิตซึ่งนำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยืนยันว่าแนวความคิดที่อ้างว่าโทษประหารชีวิตสามารถช่วยป้องกันอาชญากรรมและคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัวได้นั้นไม่เป็นความจริง โดยปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่าโทษประหารชีวิตมีส่วนช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ งานวิจัยมากมายทั่วโลกพบว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม

ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งที่โหดร้าย ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับการประหารชีวิตเท่ากับรัฐส่งเสริมให้คนในสังคมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายกรณี

ทางเครือข่ายเห็นว่าการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตกับอาชญากรรมร้ายแรงเป็นโทษที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพเกือบทุกด้านของผู้กระทำผิด ซึ่งถือเป็นการลงโทษที่ได้สัดส่วนและสามารถป้องกันอาชญากรรมได้จริง นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้ประเทศไทยพักการใช้โทษประหารชีวิตเป็นบทลงโทษในคดีต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ประเทศไทยใกล้จะเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว เนื่องจากไม่มีการประหารชีวิตประชาชนติดต่อกันมาแล้วแปดปี โดยหากไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันครบ 10 ปี สหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งถือเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม : 

จากรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2559” (Death Sentences and Executions in 2015) ของแอมเนสตี้ระบุว่าปัจจุบันมี 141 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของโลกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว โดยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้ออกมาประกาศว่าการประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในศตวรรษที่ 21 และเมื่อปลายปี 2559 มี 117 ประเทศร่วมลงนามสนับสนุนข้อตกลงเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

ในประชาคมอาเซียน กัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภทแล้ว ส่วนลาว พม่า และบรูไน ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (ไม่มีการประหารชีวิตประชาชนมากกว่า 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามยังมีโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายและยังคงประหารชีวิตประชาชนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่

 

เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันยุติโทษประหารสากล

“เรียกร้องให้ประเทศไทยกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษสูงสุดตามกฎหมาย”

โดยที่สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารสากล “World Day Against the Death Penalty”  ปีนี้เป็นปีที่ 15 ที่นานาชาติต้องการให้โลกปลอดจากการลงโทษประหารชีวิต ขณะนี้ทั่วโลกมี 141 ประเทศ ที่ได้ยกเลิกโทษประหารในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ โดยหันมาใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษสูงสุดแทนการประหารชีวิต ส่วนประเทศไทยยังคงดำรงโทษประหารไว้ในทางกฎหมาย แม้ว่าจะไม่มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและไม่ได้มีการลงโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติมา 8 ปีแล้วก็ตาม

ในการประชุมร่วมกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร นำโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นพ้องกันว่าการแก้ปัญหาสังคมด้วยการลงโทษประหารผู้กระทำผิดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การดำรงไว้ซึ่งโทษประหารจะทำให้คนในสังคมเข้าใจผิดคิดว่าการใช้ความรุนแรงคือทางออกอย่างเดียวในการแก้ปัญหาอาชญากรรม และคิดว่าการประหารชีวิตสามารถสร้างความยุติธรรมให้ผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อของอาชญากรรม รวมทั้งจะสามารถป้องปรามการค้ายาเสพติด และอาชญากรรมอื่นๆได้

เครือข่ายฯ เชื่อว่าโทษประหารชีวิต เป็นการกระทำความรุนแรงที่โหดร้าย ป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรม และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับการประหารชีวิตเท่ากับรัฐส่งเสริมและสร้างความชอบธรรมให้สังคมใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาและเห็นว่าการใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตผู้กระทำผิดอาชญากรรมที่ร้ายแรงเป็นโทษที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพเกือบทุกด้านของผู้กระทำผิดถือเป็นการลงโทษที่สามารถป้องปรามอาชญากรรมและได้สัดส่วนกับความผิดอาญาทุกประเภทแล้วและหากใช้โทษจำคุกอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สังคมไทยตระหนักถึง คุณค่าแห่งชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่หันกลับไปใช้วิธีการรุนแรงได้อย่างแท้จริง

นอกจากนั้น เครือข่ายฯ เชื่อว่า ในความเป็นจริงทุกๆ สังคม ย่อมมีความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนไม่ว่าประเทศนั้นจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้านนิติวิทยาศาสตร์ หรือจะมีระบอบกฎหมายที่มีความรัดกุมในการคุ้มครองผู้กระทำผิดอย่างไรก็ตาม การใช้โทษประหารกับผู้บริสุทธิ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในกระบวนการแม้โดยไม่ตั้งใจถือว่าเป็นการฆ่าผู้บริสุทธิ์โดยเงื้อมมือของกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทยที่ผ่านมาโดยที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงโทษได้ภายหลัง ดังนั้นการเปลี่ยนจากโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมายและตุลาการสามารถเยียวยาแก้ไขความผิดพลาดซึ่งอาจจะมีขึ้นได้

ขณะเดียวกันประเทศไทยยังขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ ที่จะประกันการทำงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีความ โปร่งใส ไม่ลำเอียง ไม่ถูกแทรกแซง หรือไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม และชะตากรรมของผู้ถูกกล่าวหา ควรจะต้องมีการปฏิรูประบอบการดำเนินคดีโดยให้มีการตรวจสอบหรือถ่วงดุลในหลายขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด ดังที่เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์มาแล้ว

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตและในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 8 ปี ไทยไม่มีการประหารชีวิตในทางปฏิบัติ จึงเห็นด้วยว่ารัฐบาลไทย ควรจะกล้าเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ประเทศที่เลิกใช้โทษประหารโดยใช้ โทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

ด้วยเหตุผลข้างต้น เครือข่ายภาคประชาสังคมที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิตมีถ้อยแถลงดังนี้

1. สนับสนุนรัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรม ที่มีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อนำสู่การยกเลิกโทษประหารอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดให้มีการทบทวนโทษประหารชีวิตในความผิดต่างๆ การประกาศการพักใช้โทษประหารชีวิต และกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตทุกฐานความผิดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในปี พ.ศ. 2561 และเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำแผนดังกล่าวนำไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้สัมฤทธิผลตามกรอบเวลา

2. สนับสนุนประเทศไทยยืนยันพันธกรณีระหว่างประเทศตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและภายใต้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีในการคุ้มครองสิทธิในชีวิตของบุคคล และยืนยันคำมั่นที่รัฐบาลไทยให้ไว้กับนานาชาติที่ให้พิจารณาเปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเพื่อพิจารณารายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วไป (หรือกระบวนการUniversal Periodical Review) ในเดือนพฤษภาคม 2560 และกระตุ้นให้รัฐบาลโดยหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบได้ดำเนินการตามคำมั่นอย่างจริงจัง

3. สนับสนุนการพักใช้โทษประหารชีวิตและคาดหวังอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะดำเนินการพักใช้โทษประหารต่อไปทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ไทยได้รับการรับรองสถานะว่าเป็นประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (Moratorium)  เพื่อนำไปสู่การยกเลิกในทางกฎหมาย (Abolition) ในที่สุด

แถลง ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2560 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net