Skip to main content
sharethis

ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาพูดถึงประเด็นเรื่องชาวโรฮิงญาเป็นครั้งแรกในการกล่าวสุนทรพจน์พิธีจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยในกัมพูชา โดยชี้ว่าเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ยังวิจารณ์ประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีกรีซทำตัวเอาใจประชาชนก่อนเลือกตั้งทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็ทำแบบเดียวกัน และวิจารณ์ว่า 'นักการเมืองบางประเทศ' ยึดกุมอำนาจเอาไว้ ไม่ยอมทำตามสัญญา

ฮุนเซน ขณะกล่าวสุนทรพจน์ ในพิธีจบการศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อผู้ชำนาญการกัมพูชาเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2560 ที่มาภาพจาก FB: Samdech Hun Sen, Cambodian Prime Minister

จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. 2560 ฮุนเซนเคยกล่าวไว้ว่าทางกัมพูชาไม่เห็นด้วยกับการพยายามทำให้ประเด็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮังญากลายเป็นประเด็นระดับโลกและควรมองว่าเป็นปัญหาภายในพม่าโดยอ้างเรื่องหลักการ "ไม่แทรกแซง" ชาติใกล้เคียงของอาเซียน อย่างไรก็ตามในการกล่าวสุนทรพจน์ ที่พิธีจบการศึกษามหาวิทยาลัยเพื่อผู้ชำนาญการกัมพูชาเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมาเขาก็กล่าวต่างไปจากเดิม

ฮุนเซนกล่าวสุนทรพจน์ว่าในพม่ามีปัญหาที่เรียกว่า "โรฮิงญา" โดยที่ทางการพม่าเองไม่ยอมใช้คำว่าโรฮิงญาแต่ยืนยันจะเรียกมันว่าเป็นปัญหาชาว "เบงกาลี" ฮุนเซนบอกว่าปัญหาโรฮิงญาถือเป็นปัญหาผู้ลี้ภัยในระดับ "วิกฤตด้านมนุษยธรรม"

วิกฤตโรฮิงญาในครั้งนี้เกิดขึ้นเกิดขึ้นหลังจากที่กองทัพพม่าโต้ตอบการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธด้วยการใช้ความรุนแรงกับพลเรือน ทำให้หมู่บ้านของชาวโรฮิงญาถูกเผา มีผู้คนถูกข่มขืนและถูกยิงทำให้มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากหนีออกจากพม่าตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. เป็นต้นมา สหประชาชาติระบุว่า ถือเป็นตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ในขณะที่อองซานซูจีที่ถูกมองว่าเป็นผู้นำประชาธิปไตยในพม่ากลับไม่แสดงท่าทีต่อต้านการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในครั้งนี้จนทำให้เธอถูกริบเกียรติยศจากนานาชาติ ในการกล่าวสุนทรพจน์ของฮุนเซนถึงแม้ว่าจะไม่ได้พูดชื่ออองซานซูจีออกมาโดยตรงแต่เขาก็วิพากษ์วิจารณ์การนำของทางการพม่า

ฮุนเซนยังกล่าวถึง 'นักการเมืองบางประเทศ' เอาไว้ว่า "นักการเมืองในบางประเทศ ... ให้สัญญาไว้อย่างเต็มที่แต่สุดท้ายแล้วก็กลับยึดกุมอำนาจไว้กับตัว พวกเขาไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้"

"บางประเทศสัญญาว่าจะหยุดยั้งการเหยียดเชื้อชาติชนกลุ่มน้อยแต่ในตอนนี้ก็มีปัญหาด้านชาติพันธุ์และข้อตกลงหยุดยิงก่อนหน้านี้ล้มเหลวทำให้มีการสู้รบเกิดขึ้นอีกครั้ง" ฮุนเซนกล่าว

ฮุนเซนวิจารณ์ในเรื่องนี้ในวันถัดมาหลังจากที่เขาพบปะกับซูจีที่บรูไน มีการโพสต์รูปถ่ายการพบปะกันบนเพจเฟซบุ๊กของฮุนเซน โดยที่โฆษกการต่างประเทศของกัมพูชาปฏิเสธจะให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้เนื่องจากไม่ทราบเรื่องเนื้อหาสุนทรพจน์ของฮุนเซนและไม่รู้เรื่องพบปะซูจี ส่วนโฆษกของรัฐบาลก็บอกว่ายังไม่ทราบเรื่องที่ฮุนเซนพูดไว้เช่นกันโดยบอกว่ามันเป็น "เรื่องอ่อนไหวมาก" รวมถึงอ้างเรื่องการไม่ก้าวห่ายกันของประเทศอาเซียน

ส่วนฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าซูจีสมควรถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องนี้แต่ฮุนเซนเองก็เป็นคนที่เคยแนะนำให้ผู้นำเผด็จการทหารในยุคก่อนไม่ให้ตั้งสำนักงานของสหประชาชาติในพื้นที่ ถ้าหากมีการตั้งสำนักงานจะทำให้มีการช่วยแก้ปัญหาโรฮิงญาได้ง่ายขึ้น ส่วนสาเหตที่อุนเซนพูดถึงเรื่องนี้นั้นโรเบิร์ตสันมองว่าพวกผู้นำที่มักจะพูดพล่ามอย่างฮุนเซนก็มักจะพูดไหลไปถึงประเด็นอื่นๆ ได้เรื่อยๆ ทำให้เขาไม่ได้หวังอะไรมากที่ฮุนเซนพูดถึงโรฮิงญา

โรเบิร์ตสันยังกล่าวอีกว่ารัฐบาลกัมพูชาเองก็มีการเหยียดหรือกีดกันชาวเชื้อสายเวียดนามไร้รัฐที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาเช่นกันโดยกระทรวงกิจการภายในของกัมพูชาบอกว่าจะยกเลิกเอกสารรับรองสิทธิความเป็นพลเมืองของชาวเวียดนาม 70,000 คน โดยกล่าวหาว่าพวกเขามีเอกสารเท็จ ทำให้ฮุนเซนเองก็ทำตัวเหมือนที่เขากล่าวพาดพิงซูจีไว้เช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ฮุนเซนกล่าวพาดพิงถึงคือการกล่าววิจารณ์นายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ของกรีซ โดยกล่าวหาว่าซีปราสไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของประเทศได้และวิจารณ์เขาอีกว่าไม่ควรจะทำนโยบายแค่เอาใจคนเลือกตั้งแต่ควรจะคิดถึงผลระยะยาว

ถึงกระนั้นสื่อพนมเฟญโพสต์ก็ตั้งข้อสังเกตว่าตัวฮุนเซนเองก็พยายามหาเสียงด้วยการเพิ่มโบนัสเอาใจข้าราชการ ตำรวจ และทหาร รวมถึงแรงงานสิ่งทอในกัมพูชาที่เติมโตขึ้นทุกปีเช่นกัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยที่โฆษกของรัฐบาลกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้คือ "ภาระหน้าที่" ในการช่วยเหลือผู้คนแต่ไม่ใช่ "การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง"

หัวหน้าเอ็นจีโอเครือข่ายเพื่อความรับผิดชอบทางสังคมยินดีที่ฮุนเซนจะแก้ไขปัญหาช่วยเหลือผู้หญิงในแรงงานสิ่งทอแต่ก็อยากให้ขยายผลการไปถึงผู้หญิงที่ทำงานในสายบันเทิงที่มักจะถูกกีดกันเวลาที่พวกเธอตั้งครรภ์ด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Hun Sen chides Suu Kyi on Rohingya, Greece’s Tsipras on hasty campaign promises, Phnom Penh Post, 10-10-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net