Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2527 เวลาล่วงมากว่า 30 ปี แต่แนวคิดและวิธีวิทยายังสามารถอธิบายสังคมภาคเหนือได้อย่างลึกซึ้ง ท่ามกลางการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีข้อมูล และการเข้าถึงพื้นที่ได้ง่ายกว่าในอดีต แต่ทว่าการศึกษาประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรมล้านนา (ภาคเหนือ) ยังมีปริมาณที่จำกัด ซึ่งเราอาจถือเอางานชิ้นนี้เป็นหมุดหมายของการศึกษา และการกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งอาจจุดประกายให้เกิดการศึกษาแนวทางนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ผู้เขียนในเพิ่มบทความใหม่อีกสี่ชิ้น เพื่อให้เกิดการอธิบายประวัติศาสตร์สังคมภาคเหนือให้กว้างและลึกกว่าเดิม แต่กระนั้น หนังสือเล่มนี้วางอยู่บนฐานของการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา ที่มีความคิดและทฤษฎีบางอย่างอยู่เบื้องหลังการอธิบาย ซึ่งอาจไม่คุ้นเคยนักสำหรับประวัติศาสตร์บางสำนัก ทั้งที่ก็ผ่านมากว่า 30 ปี


ปกหน้า

หนังสือเล่มนี้มีสองส่วนที่อาจต่อกัน หรือไม่ต่อกัน แล้วแต่ว่าผู้อ่านแต่ละคนจะใช้แว่นชนิดใดในการมอง

ในส่วนแรกงานชิ้นนี้ผู้ถึงตำนาน แล้วสร้างประวัติศาสตร์สังคมผ่านตำนาน อ.อานันท์ กาญจนพันธุ์ เสนอว่าตำนานไม่ใช้ข้อเท็จจริง หรือความจริง แต่คือ วิธีคิด การไปค้นหาความจริงจากตำนานเลยไม่สามารถหาได้ ซึ่งแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ที่อ่านตำนานเพื่อหาข้อเท็จจริง จึงเห็นว่าตำนานเป็นสิ่งที่หาแก่นสารไม่ได้  อ. อานันท์ เสนอว่า [2]“เอกสารประเภทตำนานเหล่านี้แม้จะสร้างภาพอดีตของล้านนาให้อุดมไปด้วยรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ แต่เนื่องจากลักษณะของตำนานผสมผสานเอาเรื่องราวที่เป็นอภินิหารและความเชื่อในนิยายปรัมปราเข้าไว้มาก ทำให้ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าที่ควรในฐานะเป็นเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แท้ที่จริงนักประวัติศาสตร์ล้านนาในปัจจุบันอ่านตำนานเพียงเพื่อจะค้นเอารายละเอียดของเหตุการณ์โดยปราศจากความเข้าใจในความหมาย วัตถุประสงค์และลักษณะความคิดพื้นฐานที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตำนาน จึงไม่อาจเห็นคุณค่าของตำนานได้ ตำนานนั้นมีลักษณะเป็นผลิตผลของจินตนาการที่เกิดจากความคิดและความเชื่อที่ต้องการความเข้าใจแบบหนึ่งโดยเฉพาะแตกต่างจากปัจจุบัน เพราะการแสดงออกของตำนานมักจะเป็นไปในรูปของสัญลักษณ์ ที่สร้างขึ้นมาจากลักษณะความคิดในสังคม ดังนั้นการที่จะเข้าใจหรือ “แปล” สัญลักษณ์นั้นๆได้จำเป็นจะต้องสนใจลักษณะความคิดและระบบคุณค่าของสังคมล้านนาซึ่งเปรียบเสมือน “ไวยากรณ์” หรือสื่อช่วยให้เข้าใจภาษาของสังคมการทำความเข้าใจกับ “ไวยากรณ์” ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสัญลักษณ์ของตำนานเท่ากับเปิดโอกาสให้สามารถอ่านตำนานจากทัศนะหรือภาษาของตำนานได้เอง

...เนื้อหาของตำนานไม่อาจจะแยกออกจากลักษณะความคิดพื้นฐานของผู้เขียนตำนานนั้น (Content และ form) ก่อนที่จะดึงเอาเนื้อหาของตำนานมาสร้างประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์จึงควรระลึกถึงคำถามที่ควรถามเอกสารอันเป็นหลักฐานของเขาอยู่เสมอว่า ทำไมจึงมีผู้เขียนเอกสารนั้น และทำไมเขาจึงเขียนเช่นนั้น คำตอบที่ได้จะเป็นแนวทางในการวิเคราะห์เนื้อหาของเอกสารนั้น ทำให้ทราบความหมายที่แท้จริงของเนื้อหา ...” (อานันท์ 2560 บทที่ 3 ในเล่มนี้)

นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้พยายามทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของชุมชนล้านนาตั้งแต่อดีต ผ่านเรื่องเล่าของพระญาเจือง ในฐานะวีรบุรุษร่วมของคนไท ลาว กินอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบัน รวมถึงการอธิบายความสัมพันธ์ตำนานพระญาเจืองผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ที่เป็นต้นกำเนิดของเมืองในอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป

ดังนั้น ตำนานในความหมายของ อ.อานันท์ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง หรือความจริงที่จะไปค้นหาอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่คือ วิธีคิด ที่สะท้อนโลกทัศน์ ชีวทัศน์ จักวาลทัศน์ และบริบทของยุคสมัยที่มีการเขียน แก้ เปลี่ยนตำนานนั้น ๆ เราจึงไม่อาจมองตำนานแบบทื่อ ๆ ได้

ส่วนที่สองของหนังสือเล่มนี้ อ.อานันท์ ให้พื้นที่มากที่สุด เพราะส่วนหนึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ในระดับปริญญาเอก [3] และเป็นงานที่อาจารย์ให้ความสนใจหลังจากศึกษาปริญญาเอกแล้ว โดย อ. อานันท์ต้องการที่จะค้นหาความสัมพันธ์ทางการผลิตผ่านสำนักคิดแบบมาร์กซิสต์ [4]  ที่อาจารย์ใช้เป็นกรอบคิดในการมอง ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมล้านนาหลายประการด้วยกัน


ปกหลัง

ประการแรก อาจารย์พบว่าความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนแรงงานและกลไกของการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรในพื้นที่ปลูกข้าวในภาคเหนือของประเทศไทย ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าที่ดิน ผู้เช่า ชาวนาเล็ก และกลาง ท่ามกลางการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมภาคเหนือ โดย อ. อานันท์ อธิบายให้เห็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ คือ เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่จำนวนน้อยได้กลายมาเป็นเกษตรกรนายทุน เกษตรกรบางส่วนต้องศูนย์เสียที่ดินและถูกขับไล่ออกจากที่ดินและกลายมาเป็นแรงงานรับจ้างอิสระ ความซับซ้อนที่หลากหลายของการจัดการในการผูกมัดแรงงานได้ปรากฏขึ้น มีการเกิดขึ้นของเกษตรนายทุนที่มีข้อบังคับที่หลากหลายและสามารถทำให้พวกเขามีความพยายามมากขึ้นที่จะประสบความสำเร็จในการควบคุมแรงงานของผู้เช่าที่ดินและควบคุมแรงงานรับจ้าง

ที่ดิน แรงงาน ถูกทำให้อยู่ในระบบตลาด สามารถซื้อขายได้อย่างไม่มีการควบคุม แม้ว่านโยบายของรัฐที่ออกมาจะเป็นการย่นระยะให้ทุนและเทคโนโลยีไหล่บ่าเข้าในพื้นที่ชนบท รวมถึงความพยายามของชาวบ้านที่ยากจนในการยื้อที่ดินที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยในการยังชีพ เกษตรกรปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กันภายในชุมชน ด้านหนึ่งเป็นการต่อสู้ที่ชุมนุมเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของผู้เช่าที่ดินและชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินในจังหวัดเชียงใหม่และทั่วประเทศในกลางทศวรรษ 1970 (2513) และในระดับท้องถิ่นมีการเคลื่อนไหวเรื่องค่าจ้าง และท่ามกลางการเคลื่อนไหวสองเรื่องนั้น นพมามาสู่การสร้างองค์กรและความสัมพันธ์ในชุมชน

ประการที่สอง ความเคลื่อนไหวนี้เกิดในช่วงเวลาที่มีเสรีภาพทางการเมือง จาก พ.ศ. 2516 – พ.ศ.2519 เกิด “สหพันธ์ชาวไร่ชาวนาแห่งประเทศไทย” รัฐบาลจึงเห็นชอบให้ผ่านเรื่องเช่าที่ดิน คือสัญญาเช่าจะมีระยะเวลา 6 ปี การจ่ายเงินค่าเช่า ผู้เช่าต้องจ่ายเป็นประจำทุกปีโดยไม่สนใจผลผลิตที่ได้และจำกัดการแบ่งให้เช่าของที่ดินให้มากที่สุดของครึ่งหนึ่งของผลผลิต นำมาสู่การตั้ง “กลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกัน” ซึ่งรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ 27 หมู่บ้านการรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นผลมาจากการมีสหพันธ์ฯ หลังจากไม่มีสหพันธ์ฯ ก็ไม่มีการต่อสู้เรื่องกฎหมายการควบคุมการใช้ที่ดิน ประสบการณ์ที่เป็นแบบอย่างขององค์กรที่ต่อต้านโดยผู้เช่า เกษตรกรที่ยากจน เกษตรกรไร้ที่ดินในเชียงใหม่ ไม่ได้หายไปไหนแต่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินในภายหลัง และเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเวลาต่อมา

ประการที่สาม การเกิดชนชั้นของเกษตรกรนายทุน ในปี ค.ศ.1980 (พ.ศ.2523) เจ้าของพื้นที่ปลูกข้าวที่มีระบบชลประทานในหมู่บ้านมีแนวโน้มที่จะเป็นชาวบ้านที่ร่ำรวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของชนชั้นเกษตรกรนายทุน เกษตรกรนายทุนเป็นคนกลุ่มหนึ่งในจำนวนไม่กี่คน ควบคุมพื้นที่ปลูกข้าวที่มีการชลประทานขนาดใหญ่รวมถึงความสัมพันธ์ของการมีเครือข่ายอย่างกว้างขวางกับผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นและอำนาจ

ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ภาครัฐได้นำนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนจากธนาคารโลกมาใช้แทนที่จะลงมือเรื่องการปฏิรูปที่ดิน นโยบายของธนาคารโลกได้ก่อให้เกิดปัญหาการเช่าที่นา การไร้ที่ดินทำกิน และรัฐบาลไทยเองก็มุ่งเพียงแต่ที่จะถ่ายโอนเรื่องเทคโนโลยีและทุนเข้ามาในชนบท นโยบายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เกษตรกรอยู่ติดกับที่ดินในฐานะที่เป็นทรัพยากรของค่าแรงราคาถูก สำหรับการผลิตอาหารต้นทุนต่ำ และสินค้าการเกษตรอื่น ๆ มีนโยบายหลัก ๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือ เช่น นโยบายเงินผัน ที่สนับสนุนโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนโยบายทำนองนี้ก็ได้สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน และไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้

ประการที่สี่ ระบบทุนนิยมได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ของการผลิต และทำให้เกิดแรงงานรับจ้าง ผ่านค่าจ้างแรงงานในภาคการเกษตร แทนการจัดความสัมพันธ์แรงงานที่เคยทำมาในอดีต จึงถูกทำให้กลายเป็นการไม่มีอำนาจในการต่อรอง เนื่องจากกลัวว่าจะไม่มีใครจ้างงาน ทำให้มีแรงงานรับจ้างมากขึ้นทั้งที่อยู่ในหมู่บ้านและไปรับจ้างนอกพื้นที่ เช่นไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ บางส่วนที่เป็นลูกของคนมีฐานะจะออกไปเรียนหนังสือ ชาวนากลางจึงหางานทำอยู่บ้าน

การแลกเปลี่ยนแรงงานได้เปลี่ยนแปลงไป โดยการเอามื้อเอาวันจะทำเฉพาะช่วงการถอนกล้า ดำนา ซึ่งต้องใช้แรงงาน ขณะที่ในช่วงเก็บเกี่ยวจะไม่มีการเอามื้อ แต่ชาวนารวยจะใช้การจ้างงานแทนซึ่งจะได้เปรียบในการใช้แรงงาน การแลกเปลี่ยนแรงงานที่จะความสัมพันธ์ของคนในลักษณะเอามื้อเอาวัน จึงเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขในระบบการผลิต ที่การถือครองปัจจัยการผลิตได้เปลี่ยนไปสู้เจ้าของที่ดิน และเกิดการปรับเปลี่ยนสถานภาพจากผู้เช่าที่ มาเป็นผู้รับจ่ายแทน ส่วนเจ้าของที่ดินกลายเป็นนายทุนที่ดินในการจ่ายและดูแลผลผลิต

การเปลี่ยนระบบการแลกเปรียบแรงงานที่พบในพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างใหม่ คือ จ้างร้อยถอน เป็นการจ้างแบบไม่ใช้เงิน แต่ให้เป็นผลผลิตตอบแทนโดยจะมีการตกลงกันในการให้ค่าตอบแทนในการทำงานในพื้นที่ในร้อยละเท่าไร ซึ่งเจ้าของนาจะให้กับผู้ที่มาช่วยทำนา โดยจะคิดในอัตราที่เทียบกับค่าจ้างต่อวันเท่าไร และนำไปคำนวณกับค่าข้าวในช่วงปีนั้นว่ามีราคาเท่าไร และจ่ายเป็นข้าวตามจำนวนที่มาใช้แรงงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นของการปรับตัวของชาวนา

ประการที่ห้า เผยให้เห็นถึงปริมาณการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนในความสัมพันธ์ทางการผลิตและยุทธศาสตร์ของการเพิ่มผลผลิตและการผลิตเพื่อยังชีพ การปลูกพืช ปีละ 3 ครั้ง ที่ใช้ทุนมาก และเริ่มมีการใช้เครื่องจักรเพื่อการเกษตรนั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วลักษณะที่ปรากฏของบริบททั้งหมดนี้ รวมถึงการเข้าใกล้รุกเข้าไปในท้องถิ่น การลดลงของอัตราการเพิ่มประชากร และการอพยพออกนอกพื้นที่ มิติทางการเมืองก็มีความสำคัญ รวมถึงอัตราพิเศษทางการเงินจากรัฐ และการสนับสนุนทางด้านกฎหมายสำหรับเจ้าของที่ดินที่มีฐานะกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการจัดการที่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ความหลากหลายของการทำสัญญา ขึ้นอยู่กับพืชที่ปลูก สถานะทางเครือญาติ และผู้ว่าจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นการจัดโครงสร้าง หรือความสัมพันธ์ใหม่ของผู้คนในชนบทภาคเหนือ

ประการที่หก คนที่อยู่ของความสัมพันธ์ทางการผลิตนี้ได้รับผลของความเปลี่ยนแปลง แตกต่างตามผลประโยชน์ ข้อตกลง และอำนาจที่ไม่เท่ากัน นำมาสู่การต้านทาน ความขัดแย้ง ต่อรอง และผสานประโยชน์  และฉายให้เห็นชีวิตหมู่บ้านภาคเหนือ ในฐานะการต่อสู้ทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่น การควบคุมแรงงานการมีเครือข่าย เป็นปฏิบัติการของอำนาจและการควบคุมทางสังคมผ่านชีวิตของผู้คนธรรมดา

ในระยะที่ชาวบ้านต้องพบกับกระแสไหลบ่าเข้ามาของทุนและการผลิตเพื่อการค้าอย่างเข้มข้นใน ชาวบ้านไม่ได้เป็นฝ่ายตั้งรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการผลิตแบบเดิม แต่ชาวบ้านเองก็ได้มีการต่อสู้ ขัดแย้งในการใช้ที่ดิน แรงงาน เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับระบบตลาดและรัฐในลักษณะต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน

แม้หนังสือเล่มนี้จะให้พื้นที่ต่อการถกเถียงเรื่องการเข้าสู่ระบบตลาด และการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมภาคเหนือ แต่ในส่วนของบทที่ 1, 10, 11 และ 12 ที่เพิ่มมาใหม่ในการพิมพ์ครั้งนี้ อ.อานันท์ พยายามถกเถียงและฉายภาพให้เห็นถึงโครงสร้างของระบบทุนนิยมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชนบทภาคเหนือ ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้พยายามทำให้เห็นพลังของระบบทุนนิยม ที่สำนักอื่น ๆ มักปฏิเสธและเชื่อว่าชุมชนสามารถเลี้ยงตนเองได้ [5] (บทที่ 10, 11) แต่ อ.อานันท์ เสนอว่าชุมชน ผู้คนไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวและหยุดนิ่ง ทั้งยังมีความขัดแย้งอย่างเข้มข้นในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยน รวมถึงการที่ อ. อานันท์ พยายามอธิบายว่าการเกิดทุนนิยมไม่ได้เกิดลอย ๆ หรือเกิดบนฐานของสุญญากาศ แต่เกิดภายใต้เงื่อนไขของวัฒนธรรมเดิม หรือระบบอุถัมภ์ที่กลุ่มทุนและระบบทุนนิยมเกิดใหม่ใช้เป็นเครื่องมือทำให้ระบบทำงาน ผ่านระบบการผูกขาดทุน แรงงาน และการจัดการ (บทที่ 11) ซึ่งเราจะเห็นว่าในปัจจุบันความสัมพันธ์แบบนั้นก็ยังคงทำงานอยู่ และยิ่งจะเข้มข้นขึ้นด้วย

ในส่วนของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อ.อานันท์ พยายามจะทบทวนและเสนอว่าประวัติศาสตร์ถิ่น คือ การศึกษาความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นและเวลา ไม่ใช่การศึกษาที่ผูกโยงกับหน่วยที่ใหญ่กว่าอย่างชาติ แล้วท้องถิ่นเป็นแค่ติ่ง การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องอาศัยความสัมพันธ์ในหลายระดับเพื่อเข้าพื้นที่ เวลา และผู้คน รวมถึงการศึกษาล้านนาคดีก็ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ บริบทในหลายระดับ ไม่ควรยึดติดกับคู่ตรงข้ามซึ่งจะทำให้เราตกอยู่ภายใต้กับดักที่ไม่สามารถอธิบายอะไรได้ (บทที่ 1 และ 12)

ท้ายที่สุดหนังสือเล่มนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนาเข้าสู่การค้าของภาคเกษตรกรรมในภาคเหนือ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐกิจของกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ที่นำแนวความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมเกษตรของ Mare Bloch [6] แนวความคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบกรมสิทธิ์ และการถือครองที่ดินของ Max Weber [7] ผสมกับการศึกษาด้านมานุษยวิทยาเศรษฐกิจสำนักมาร์กซิสต์ที่ เน้นความสัมพันธ์ทางการผลิต และกระบวนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบทุนนิยม ทั้งนี้เพื่อได้แย้งว่าแนวการศึกษาหมู่บ้านไทยที่มักจะให้ภาพของหมู่บ้านในเชิงอุดมคติว่ามีความเป็นอิสระ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระแสจากการพัฒนาของรัฐหรือจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ได้เข้ามาบ่อนทำลายความเป็นชุมชนของชนบทลง รวมทั้งได้เข้ามาทำลายเศรษฐกิจในชุมชนที่เป็นการผลิตแบบยังชีพของชุมชนลงซึ่งการมองลักษณะดังกล่าวจะทำให้มองหมู่บ้านที่มีลักษณะหยุดนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวภายในด้วยตนเอง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดล้วนมาจากกระแสภายนอก และที่สำคัญคือ การให้ความสำคัญกับปฏิบัติการของผู้คน ที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้โครงสร้าง แต่มีความเป็นผู้กระทำการในฐานะมนุษย์ด้วย

หนังสือเล่มนี้จะมีประโยชน์ตอเมื่อเกิดการถกเถียงและวิพากษ์ เพื่อให้เกิดความคิดและวิธีวิทยาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการให้เกิดวิวาทะ เพื่อให้แวดวงทางวิชาการก้าวหน้า ซึ่งต้องเกิดจากความเห็นที่แตกต่างหลากหลายมากกว่าเห็นไปแนวทางเดียวกันหมด
 

เชิงอรรถ

[1] คำนำเสนอในการพิมพ์ครั้งที่ 2 ครั้งแรกเขียนโดย อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ดูในตัวเล่ม

[2] Anan Ganjanapan.  (1976).  Early Lan Na Thai historiography : an analysis of the fifteen and sixteenth century chronicles.  New York : Cornell University.

[3] Anan Ganjanapan.  (1984).  The Partial Commercialization of Rice Production in  Northern Thailand (1900-1981).   Ph.D. Dissertation, Cornell University, USA.

[4] ดูเพิ่มใน, Giddens, Anthony.  (1971).  Capitalism and modern social theory : an analysis of the writings of Marx, Durkheim and Max Weber.  Cambridge [Eng.] : Cambridge University Press.

[5] อานันท์ กาญจนพันธุ์.  (2539).  สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝันของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา โครงการศึกษา "เมืองไทยในความใฝ่ฝันของนักคิดอาวุโส".  กรุงเทพฯ:  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

[6] Marc Bloch.  (1966).  French Rural History: An Essay on Its Basic Characteristics.  Univ. of California Press,

[7] Calavan, Micheal M.  (1977).  Decisions Against Nature : An Anthropological Study of Agriculture in Northern Thailand, Center for Southeast Asian Studies, Northern IIINOIS univ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net