Skip to main content
sharethis

วิเคราะห์คำสั่งมหาเถรฯ ก้าวแรกปฏิรูปพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์ หรือแค่เป้าหมายทางการเมือง ป้องปรามการวิพากษ์วิจารณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ปฏิรูปคำสอนเพื่อตอบสนองสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยยังไม่เกิด

กรณีเงินทอนที่มีรายชื่อพระชั้นผู้ใหญ่ 4 รูปตกเป็นผู้ต้องสงสัย ส่งแรงสะเทือนต่อมหาเถรสมาคมและสถาบันสงฆ์โดยรวม จากนั้นไม่นานตามมาด้วยการจับพระมหาอภิชาติ ปุณณจันโท จากวัดดอกสร้อย อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา มาทำการสึกที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐจับพระมหาอภิชาติสึกกลางพรรษาผ่านไปเพียง 10 วัน วันที่30 กันยายน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก มีคำสั่งที่ 1/2560 เรื่องให้พระสังฆาธิการตรวจสอบพฤติกรรมและลงโทษพระภิกษุสามเณรในปกครอง ตามมาติดหนังสือของพระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธัมโม) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เรื่อง ห้ามติดแผ่นป้ายโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล และเทวรูปในที่ต่างๆ ซึ่งพอจะสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

1.ห้ามมิให้ประพฤติเสียหายหรือไม่เหมาะสม เช่น การใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ไม่เหมาะสม การแสดงพฤติกรรมไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด เป็นต้น

2.ห้ามวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เหมาะสม หรือส่อยั่วยุ ปลุกปั่น ก้าวร้าว ที่อาจกระทบความมั่นคงต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

3.ห้ามติดแผ่นป้ายโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล เทวรูป และอวดอ้างอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ

4.ภิกษุ สามเณร ต้องประพฤติตนตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดและเผยแพร่หลักธรรมที่ถูกต้องชัดเจน

ตามมาด้วยการนำร่องให้มีการทำบัญชีวัดแบบใหม่ เหล่านี้ดูเหมือนเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องขององค์กรสงฆ์เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างหรือไม่? หรือนี่คือก้าวแรกๆ ของการปฏิรูปพุทธศาสนาและสถาบันสงฆ์?

นัยทางการเมืองของการสึกพระมหาอภิชาติและคำสั่งเจ้าคณะ

มุมมองของชาญณรงค์ บุญหนุน จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สนามจันทร์ อธิบายกับประชาไทว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมีการคุยกันในระดับบนของมหาเถรสมาคมกับทางฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปพุทธศาสนา โดยที่ในวงการสงฆ์ระดับมหาเถรสมาคมก็พยายามตอบรับการปฏิรูปอยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ชาญณรงค์ แนวคิดเบื้องหลังคำสั่งที่ออกมาอาจต้องการหวังผลทางการเมืองมากกว่า

“ผมคิดว่าปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ออกคำสั่งนี้ คือเป้าหมายเรื่องการวิจารณ์สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มากกว่า คืออาจต้องการคุมพุทธอิสระและพระหัวเสรีทั้งหลายที่มีผลต่อมหาเถรสมาคมด้วย แล้วแนวโน้มบางส่วนพระกลุ่มนั้นอาจจะไม่ได้พูดตรงๆ แต่พระสายประชาธิปไตยก็มีอยู่ อาจโพสต์อะไรที่ไม่ชอบทหาร

“ส่วนกรณีพระอภิชาติ ทหารน่าจะต้องการจัดการเพราะเวลาพระข้างนอกพูดอะไรแรงๆ มันกระทบกระเทือนถึงกลุ่มคนที่พยายามเชื่อมตนเองกับชุมชนมุสลิม ซึ่งทำให้เขาอยู่ยากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เป็นผลกระเทือนให้ฝ่ายนโยบายออกมาจัดการกับอดีตพระมหาอภิชาติหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ โดยส่วนใหญ่พระเห็นด้วยกับอดีตพระมหาอภิชาติที่ออกมาพูดแบบนั้น แต่ตัวพระผู้ใหญ่เองอาจจะไม่กล้าทำอะไรตรงๆ”

แม้ในกรณีอดีตพระมหาอภิชาติจะเป็นความต้องการของฝ่ายบ้านเมือง แต่กรณีนี้กับการออกคำสั่งก็มีความเชื่อมโยงกันในแง่ที่ต้องการป้องปรามการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ที่จะกระทบกระเทือน ทั้งต่อรัฐบาลและองค์กรสงฆ์

ข้าราชการสงฆ์

ชาญณรงค์ขยายความอีกว่า ในความเป็นจริงแล้วคณะสงฆ์ไทยไม่ค่อยเป็นเอกภาพและมีความอ่อนแอสูงในแง่การปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายปกครอง หมายความว่าพระมักปฏิบัติตามที่ฝ่ายรัฐต้องการเสมอ

"เขาจะมองเฉพาะส่วนที่เป็นปัจจัยภายนอกที่มากระทบ ไม่ได้มองการปฏิรูปในแบบที่ก้าวหน้า ปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ปรับตัวให้เป็นประชาธิปไตย ปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมที่ก้าวไปไกลกว่าจะผูกติดกับจารีตประเพณีเก่าๆ ผมคิดว่าการตีความคำสอนในระดับที่ก้าวหน้าขนาดนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยองค์กรสงฆ์แน่ๆ"

“กรณีที่ให้พระอภิชาตสึก ข้างบนเขาไม่ได้มีคำสั่งอะไรเป็นพิเศษในแง่ว่าให้สึกหรือไม่ให้สึก คนที่จะสึกจริงๆ ก็คือเจ้าคณะในเขตนั้นๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจได้โดยตรง ทีนี้พระที่ทำอะไรพวกนี้ เราก็จะเห็นว่าไม่ค่อยมีข้อโต้แย้งเวลาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาขอให้สึกพระไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ยกเว้นเป็นพวกที่ใหญ่โตจริงๆ ก็อาจเล่นพลังภายในกัน เช่น ในฝั่งธรรมยุติก็จะมีการจัดการภายในอีกแบบ แต่ถ้าเป็นฝั่งมหานิกายก็ตามสบาย พอทหารขอให้สึกพระก็ไม่เคยใช้หลักของพระธรรมวินัยเข้าไปจัดการ ตัวพระที่อยู่ในสายอำนาจก็ไม่ได้ถามข้างบน แค่เชื่อฟังเจ้าหน้าที่รัฐ”

อาจกล่าวได้ว่า พระสงฆ์คือส่วนหนึ่งของรัฐและระบบราชการไทย

ปฏิรูป?

ไม่ว่าคำสั่งที่ออกมาจะมีเป้าประสงค์แอบแฝงใดๆ อยู่บ้างก็ตาม ถึงกระนั้นก็เป็นกระแสให้พูดถึงพอสมควรในทางที่ดีว่า องค์กรสงฆ์กำลังขยับตัวเพื่อปฏิรูป หลังจากที่ปล่อยให้เรื่องฉาวโฉ่หมักหมมมาเนิ่นนาน แต่คงต้องตรวจสอบกันต่อไป อย่างกรณีห้ามขายวัตถุมงคลนั้นจะเป็นจริงได้แค่ไหน หรือคำถามที่ใหญ่กว่าคือบรรดาคำสั่งเหล่านั้นคือการปฏิรูปพุทธศาสนาและองค์กรสงฆ์จริงหรือไม่

“จริงๆ มันแค่กวาดพื้น ซึ่งจะสะอาดเรียบร้อยหรือเปล่าไม่รู้ ปฏิรูปจริงๆ คงเป็นอีกแนวหนึ่ง พูดง่ายๆ ของพวกนี้คือเปลือก ผมคิดว่าเมื่อพูดถึงการปฏิรูปคงมีหลายขั้นตอนพอสมควร แต่ส่วนหนึ่งเขาคงคิดได้ประมาณนี้ อันดับแรกคือจัดการกับสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุด เช่น วัดวาอาราม เหมือนเริ่มจากสิ่งที่เห็นง่ายสุด

“เขาอาจคิดว่าเวลามีคนวิจารณ์ออกสื่อ มันทำให้เกิดความไม่มั่นคงต่อพุทธศาสนาหรือกรณีการโพสต์ภาพต่างๆ มันก็สั่นคลอน เป็นภัยต่อความมั่นคงของพุทธศาสนา หัวใจหลักอย่างหนึ่งคือการคิดถึงสถาบันพุทธศาสนาโดยตรง แต่เขาจะมองเฉพาะส่วนที่เป็นปัจจัยภายนอกที่มากระทบ ไม่ได้มองการปฏิรูปในแบบที่ก้าวหน้า ปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ปรับตัวให้เป็นประชาธิปไตย ปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมที่ก้าวไปไกลกว่าจะผูกติดกับจารีตประเพณีเก่าๆ ผมคิดว่าการตีความคำสอนในระดับที่ก้าวหน้าขนาดนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยองค์กรสงฆ์แน่ๆ

“แม้แต่กลุ่มที่ต้องการปฏิรูปที่ทำงานกับรัฐบาล ผมก็คิดว่าไม่ไปถึงจุดนั้น แค่ต้องการกลับไปหาจารีตดั้งเดิม วัดป่าสมัยโบราณ พูดง่ายๆ คือกลับไปสู่ความสะอาด สว่าง สงบ ในแบบที่ตัวเองฝัน เพราะฉะนั้นวิธีคิดเรื่องการปฏิรูปของเขา มันมีข้อจำกัดเยอะ”

การปฏิรูปพุทธศาสนาและองค์กรสงฆ์ ชาญณรงค์มองว่าคือการตีความคำสอนให้ตอบสนองต่อสังคมแบบใหม่ เช่น ปฏิรูปให้คณะสงฆ์ตอบสนองต่อสังคมประชาธิปไตย แต่กรณีที่เกิดขึ้นคือการตอบสนองความต้องการของรัฐหรืออารมณ์ความรู้สึกของประชาชน

ทำไม คสช. ต้องการคุมองค์กรสงฆ์

คำถามที่น่าสนใจที่ซุกอยู่อีกชั้นหนึ่งคือ ทำไมรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องเข้ามาวุ่นวายกับองค์กรสงฆ์ ชาญณรงค์วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพระกับการเมืองว่า

“ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิดการประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง ประเด็นการเมืองมีส่วนเยอะ เพราะชาวบ้านที่เลือกพรรคไทยรักไทยคืออีสานกับเหนือเยอะที่สุด นัยที่น่าสนใจคือคำสั่งออกจากเจ้าคณะหนตะวันออกซึ่งคลุมอีสานและภาคกลางที่เป็นสายมหานิกายส่วนใหญ่ สายนี้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร ถึงแม้เขาไม่คิดก้าวหน้าไปถึงระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ก็มีความเห็นใจพรรคเพื่อไทยเพราะไปเชื่อมสัมพันธ์กับชาวบ้านอีกทีหนึ่ง พระกลุ่มมหานิกายเป็นพระกลุ่มชาวบ้านที่มาจากต่างจังหวัด จากชาวไร่ชาวนา

“ผมคิดว่ากรณีนี้ส่งผลกระเทือนถึงการเมือง เพราะในช่วงที่มีการประท้วงตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มันมีอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง ความคิดคนในระดับนั้นเปลี่ยนพอสมควร แล้วมีผลกระทบต่อพระในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายของมหาจุฬาฯ ที่กระจายไปทุกพื้นที่ในประเทศไทย เป็นสายที่แข็ง ถ้ามองในแง่ความเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายระหว่างพระสงฆ์ด้วยกัน สายมหาจุฬาฯ ค่อนข้างครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นศูนย์กลาง คนที่ไปเป็นเจ้าคณะ ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะจังหวัดลงไป ส่วนหนึ่งคือกลุ่มที่เคยศึกษาในระบบการศึกษาของมหาจุฬาฯ”

และนี่เป็นเหตุผลที่ชาญณรงค์มองว่า เป็นปัจจัยที่ทำให้ คสช. ไม่อาจอยู่เฉย ต้องการเข้ามาควบคุมสถาบันสงฆ์โดยนำเรื่องการปฏิรูปเป็นข้ออ้าง

ในโลกที่หลายสิ่งอย่างเปลี่ยนแปลงจากสังคมจารีตไปมากมาย การปฏิรูปพุทธศาสนาที่แท้จริงอาจมิได้หมายถึงการออกคำสั่งห้าม แต่น่าจะเป็นดังที่ชาญณรงค์กล่าว คือการตีความคำสอนให้สอดรับและตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย อย่างกรณีการห้ามบวชภิกษุณีก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด

ทั้งนี้ยังไม่รวมการเคลื่อนไหวของนักวิชาการบางกลุ่มที่ต้องการให้แยกรัฐออกจากศาสนา เพื่อปลดล็อกการที่สถาบันสงฆ์เป็นมือไม้ของรัฐและระบบราชการดังที่เป็นอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net