Skip to main content
sharethis

ชี้สาเหตุมาจากการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเคดิตมาก ขาดรายได้เนื่องจากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ ฯลฯ

13 ต.ค.2560 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 สำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,191 ตัวอย่าง วันที่ 26 ก.ย. -10 ต.ค. 2560 ว่า ครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซ้ำเดิม 30% พบว่า มีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ 8.9% ซึ่งมีสัดส่วนต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่เริ่มทำสำรวจ และมีคนเป็นหนี้ 91.1% ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปีก่อนซึ่งมียอดหนี้ 298,005 บาท เพิ่มขึ้น 20.2% ปีนี้ในแง่ยอดหนี้สูงสุดรอบ 10 ปี แต่การขยายตัวต่ำสุดรอบ 10 ปี แบ่งสัดส่วนยอดหนี้เป็นในระบบ 74.60% และนอกระบบ 26.40%

“สาเหตุที่ยอดหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะอันดับแรกมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รองลงมารายได้ลดลง ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเคดิตมาก ขาดรายได้เนื่องจากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ และมีหนี้จากการพนันบอลเล็กน้อย” เสาวณีย์ กล่าว

เสาวณีย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ก่อหนี้ อันดับแรกมี 23.3% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, รองลงมา 21.9% ซื้อยานพาหนะ, 11.9% ชำระหนี้เก่า, 10.6% ลงทุนประกอบอาชีพ, 10.6% ซื้อที่อยู่อาศัย และ 8.8% เพื่อการศึกษา จะเห็นว่ายังกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตามรายได้ที่ไม่พอรายจ่าย แต่มีการนำไปใช้หนี้เก่าด้วย เป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ในอนาคตจะลดลง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพยังอยู่ระดับต่ำ ปกติควรจะอยู่ระดับ 20-40% สะท้อนเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่

เสาวณีย์ กล่าวว่า สำหรับการผ่อนชำระเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 15,438 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.69% จากปีก่อน แบ่งเป็นการชำระหนี้ในระบบ 14,032 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 24.41% ชำระหนี้นอกระบบ 5,512 บาทต่อเดือน ลดลง 46.33% ซึ่งนับว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ผลจากมาตรการภาครัฐที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การขูดรีดนอกระบบลดลง และครัวเรือนมีการปรับตัว ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปี 2560 พบว่า 20.7% ไม่เคยมีปัญหา อีก 79.3% เคยมีปัญหา เนื่องจากราคาสินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์อุทกภัยต่างๆ รายได้ลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น

เสาวนีย์ กล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่าง 70.7% ระบุว่าภายใน 1 ปีนับจากปัจจุบันไม่มีความต้องการกู้เพิ่ม อีก 29.3% มีความต้องการกู้เพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการกู้ในระบบ เพื่อนำไปใช้จ่ายทั่วไป ชำระหนี้เก่า ซื้อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ บ้าน เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ/อาชีพ และจ่ายบัตรเครดิต เป็นต้น นอกจากนี้ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีหลังจากนี้ โอกาสที่จะประสบปัญหาการชำระหนี้ พบว่า 4.5% ไม่มีเลย, 43% น้อย, 36.8% ปานกลาง และ 15.8% มาก สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่มองใน 1 ปีข้างหน้า ที่เศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจของครัวเรือนน่าเป็นห่วงในระดับที่น้อย เป็นสัญญาณที่ดีที่จะก่อหนี้น้อยลง สามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น ตามเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นด้วย

เสาวณีย์ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน เช่น ลดค่าครองชีพ ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน อย่างค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุม ช่วยลดอัตราเงินกู้ มีการส่งเสริมรายได้และอาชีพ ดำเนินการและจัดการเรื่องการลงทะเบียนคนจน จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ ลดข้อจำกัดเข้าถึงแหล่งทุน ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ และไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net