Skip to main content
sharethis

กระทรวงแรงงานย้ำ งานขายของหน้าร้านยังเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำ

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาวและเมียนมาลักลอบเข้ามาขายอาหารผักและผลไม้ในตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานีว่ามีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เนื่องจากเป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกเว้นบทลงโทษตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 นอกจากนี้ การที่แรงงานต่างด้าวขายผักและผลไม้ เป็นการขายของหน้าร้าน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 39 อาชีพงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ใหม่ ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนนายจ้างมิให้จ้างคนต่างด้าวขายของหน้าร้าน เนื่องจากยังไม่ได้รับการยกเว้นแต่อย่างใด และยังคงเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น จึงขอให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นแรงงานต่างด้าวทำงานที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงาน ขอให้แจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วน 1694

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 8/10/2560

ก.แรงงานเผยข้อเรียกร้องค่าจ้าง 712 บาท เรียกได้แต่ไม่มีคนจ้าง

นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในคณะกรรมการค่าจ้าง ให้พิจารณาปรับอัตราค่าจ้างด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งมีผู้แทนทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และราชการ ฝ่ายละ5 คน และยังมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่จะให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้าง โดยกระทรวงแรงงานมีแนวคิดว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือในการปกป้องแรงงานแรกเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อมิให้แรงงานแรกเข้าทำงานถูกปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไม่ถูกต้อง หรือจ่ายค่าจ้างที่ต่ำจากที่ควรจะเป็น ประกอบกับคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งมีตัวแทนของฝ่ายลูกจ้างนั่งอยู่ด้วย สามารถชี้แจงความต้องการของฝ่ายลูกจ้างได้ทุกประเด็น เพื่อให้คณะกรรมการท่านอื่นๆ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลเหตุผล โดยที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถเข้าไปชี้นำ หรือแทรกแซงให้เป็นอย่างอื่นได้

“สำหรับการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 712 บาท ของ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ผู้นำกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นั้น หากมองในมุมกลับของผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการผลิต การลงทุน และภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว และเป็นช่วงเวลาของการจูงใจให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจที่จะมาลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อโอกาสในการจ้างงานก็จะสูงมากขึ้นไปตามลำดับด้วยนั้น การเรียกร้องค่าจ้างดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนคิดอย่างไร ผลดีหรือผลเสียเกิดขึ้นกับใคร “เรียกได้ แต่ไม่มีคนจ้าง” เหมือนกับตั้งราคาขายสินค้าไว้สูง แต่ไม่มีคนซื้อ จึงเป็นการเรียกร้องที่ไม่มีประโยชน์” นายวิวัฒน์ กล่าว

นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานยังคงผลักดันให้แรงงานไทยได้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป เพื่อรองรับการผลิตที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ และค่าจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งรัดจัดทำหลักสูตรและเปิดรับให้แรงงานไทยมีโอกาสและทางเลือกที่จะพัฒนาฝีมือของตนเองให้มีความพร้อมและมีมาตรฐานฝีมือ เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้กับแรงงานเอง ดังนั้นค่าจ้างที่จะได้รับก็ต้องสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ให้การรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานไปแล้วกว่า 68 สาขาอาชีพ ได้ค่าจ้างสูงสุดถึง 815 บาท/วัน และภายในปีงบประมาณ 2561 จะให้การรับรองเพิ่มขึ้นอีกกว่า 16 สาขาอาชีพ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 10/10/2560

เวิลด์แบงก์จี้อาเซียนปรับปรุงเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะต่ำ

ธนาคารโลก เรียกร้องให้สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ปรับปรุงการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะต่ำในภูมิภาค ขณะที่ระบุว่า อาเซียนมีอัตราการอพยพของแรงงานในภูมิภาคมากกกว่าภูมิภาคอื่นๆในโลก

“ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน การอพยพของแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนการอพยพของแรงงานในภูมิภาคอื่นๆของโลกได้ลดน้อยลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา” รายงานของโนาคารโลก ระบุ

ทั้งนี้ ธนาคารโลก ออกรายงานระบุว่า ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ถือเป็นศูนย์กลางของแรงงานที่อพยพมาจากประเทศอื่นๆในอาเซียน

รายงาน “Migrating to Opportunity” ระบุว่า การอพยพของแรงงานภายในภูมิภาคอาเซียน ได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างปี 2538-2558 ซึ่งได้ทำให้ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์เปิดรับแรงงานอพยพจำนวน 6.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 96% ของแรงงานอพยพทั้งหมดในอาเซียน

รายงานระบุด้วยว่า ไทยรองรับแรงงานอพยพจำนวนรวม 3.75 ล้านคนจากเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ขณะที่มาเลเซียรองรับแรงงานอพยพจำนวน 1.48 ล้านคน ส่วนสิงคโปร์รองรับแรงงานอพยพจำนวน 1.28 ล้านคน

รายงานยังระบุด้วยว่า ชาวกัมพูชาจำนวน 805,272 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 95% ของแรงงานอพยพจากกัมพูชา ได้ไปยังประเทศไทยเพื่อหางานทำในภาคการเกษตร การก่อสร้าง และการผลิต

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/10/2560

บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์วายเทคเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากทำงานสหภาพแรงงาน

โรงงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของญี่ปุ่นใช้วิธีลงโทษขั้นรุนแรงกับหลังจากคนงานก่อตั้งสหภาพแรงงาน

บริษัทได้สอดส่องคนงานผ่านกล้องวงจรปิด การสุ่มตรวจสารเสพย์ติด การเลิกจ้างและข่มขู่ให้ลาออก และฟ้องข้อกล่าวหมื่นประมาทต่อประธานสหภาพแรงงานจากการที่ใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียโพสต์ข้อความ

บริษัทยามาชิตะ รับเบอร์ จากประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าของโรงงานยานยนต์ในปราจีนบุรี ซึ่งมีพนักงานประมาณ 2,000 คน ผลิตท่อยาง ท่อเครื่องยนต์ กันชน กันกระแทก ให้กับแบรนด์ไดฮัทสึ ซูซุกิ ซันโย และอีกหลายๆบริษัท มีทั้งหมด 2 โรงงานในปราจีนบุรี เปิดขึ้นในปี 2540 และ 2556 ตามลำดับ

โรงงานในปราจีนบุรีเป็นส่วนหนึ่งของสวนอุตสาหกรรมที่มีบริษัทในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกันจำนวนมาก และที่นั่นยังไม่มีการยอมรับสหภาพแรงงาน แต่ก็มีการจัดการประท้วงและผละงานของคนงานเพื่อประท้วงต่อสภาพการทำงาน

สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) สมาชิกของอินดัสทรีออลล์ ได้ช่วยเหลือคนงานให้ก่อตั้งสหภาพแรงงานขึ้น

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 จากความไม่พอใจของคนงานที่ไม่ได้รับโบนัสตามที่นายจ้างสัญญา และสถานการณ์ก็ได้ยกระดับขึ้นหลังจากที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทใช้กำลังโดยบันดาลโทสะต่อคนงาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และพนักงานรักษาความปลอดภัยเข้ามาเพื่อจัดการกับสถานการณ์

คนงาน 7 คน ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนการเจรจา และได้จดทะเบียนสหภาพอย่างเป็นทางการ ชื่อว่า สหภาพแรงงานชิ้นส่วนรถยนต์แห่งปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 และได้มีการรับสมาชิกเพิ่ม รวมถึงแจ้งต่อบริษัทเพื่อรับทราบ

การตอบโต้อย่างทันทีของบริษัทคือการแยกสมาชิกสร.จากคนงานคนอื่นๆ โดยการจัดให้เข้างานกะดึก คนงานประมาณ 90 คน ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงถูกเรียกประชุมและให้เซ็นต์ลาออก ซึ่งเป็นการ “ทำลายความสัมพันธ์ในการทำงาน”

หลังจากที่คนงานปฏิเสธ บริษัทได้กดดันสมาชิกสร. 32 คนให้เซ็นต์ลาออกโดยอ้างการปรับโครงสร้าง คนงานถูกเสนอเงินให้ลาออกและขู่ว่าจะถูกไล่ออกหากไม่ยอมรับข้อเสนอ

แม้ว่าคนงาน 22 คน จะยอมรับข้อเสนอจากทางบริษัท แต่สร.ก็ได้ยื่นร้องเรียนถึงคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ชี้ขาด แต่บริษัทก็ยังเพิ่มความกดดันต่อสร. โดยเสนอสินบนให้ประธานเพื่อทำการสลายสหภาพแรงงาน มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อบันทึกภาพสมาชิกสร. และการสุ่มตรวจสารเสพย์ติดของสมาชิกสร.

บริษัทยังมีความพยายามที่จะติดสินบนต่อสมาชิกสร.เพื่อผลักดันให้คนอื่นๆลาออก แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทจึงเพิ่มเงินในการเพื่อให้ลาออกถึง 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 200,000 บาท ต่อคน ซึ่งมีคนงาน 4 คน รับข้อเสนอและลาออกไป

ในจุดนี้ ครส.ได้ออกคำสั่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนงาน โดยสั่งให้บริษัทรับคนงานกลับเข้าทำงาน แต่บริษัทก็ไม่ได้ทำตาม และได้ยื่นอุทรณ์ต่อคำสั่งครส.

นายเรืองศักดิ์ คล้ายมาลา ประธานสร.ชิ้นส่วนรถยนต์แห่งปราจีนบุรี ได้ถูกย้ายงานจากตำแหน่งซุปเปอร์ไวเซอร์ มาทำงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า หลังจากเขาได้ร้องเรียนไปยังครส. บริษัทก็ได้ฟ้องหมิ่นประมาทจากการที่เขาโพสต์ข้อความในโซเชี่ยลมีเดีย และจากนั้นก็เลิกจ้างเขาโดยอ้างเหตุว่าเขาถูกฟ้องคดีอาญา

บริษัทยังได้ฟ้องร้องหมิ่นประมาทต่อนักวิชากรผู้ซึ่งเขียนบทความวิจารณ์การกระทำของบริษัท

อินดัสทรีออลล์ ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทยามาชิตะ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแม่(ยามาชิตะ) แทรกแซงเหตุการณ์นี้

เลขาธิการใหญ่อินดัสทรีออลล์ วอลเตอร์ ซานเชส กล่าวว่า “อินดัสทรีออลล์เรียกร้องให้บริษัทยามาชิตะรับเบอร์เข้าแทรกแซงเหตุการณ์ในบริษัทวายเทคอย่างเร่งด่วน เพื่อทำโครงสร้างที่จำเป็นต่อการเจรจาและความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและสร. และให้ความร่วมมือกับครส.อย่างเต็มที่ในกระบวนการไกล่เกลี่ย และทำให้มั่นใจว่าสิทธิพื้นฐานของคนงานจะได้รับการยอมรับ”

ในปี 2558 อินดัสทรีออลล์ได้มีการยื่นข้อร้องเรียนถึง ILO ต่อความล้มเหลวในการดูแลมาตรฐานแรงงานของประเทศไทย

ที่มา: Confederation of Industrial Labour of Thailand, 10/10/2560

เผยรอบ 9 เดือน แรงงานไทยส่งเงินกลับประเทศร่วม 9.5 หมื่นล้านบาท

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากสถิติแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศพบว่า จำนวนแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศประจำปี 2560 ตั้งแต่มกราคม-กันยายน มีจำนวนทั้งสิ้น 90,277 คน จำแนกตามวิธีการเดินทางที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ 1.ไปทำงานผ่านบริษัทจัดหางานที่จดทะเบียนเป็นผู้รับอนุญาตจัดหางานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 22,148 คน 2.ไปทำงานโดยการจัดส่งของกรมการจัดหางาน เป็นบริการของรัฐที่ส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ นอกจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น จำนวน 9,260 คน 3.การแจ้งเดินทางไปทำงานด้วยตนเอง จำนวน 6,922 คน 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 7,344 คน และ 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ จำนวน 3,246 คน

ทั้งนี้ มีผู้เดินทางกลับไปทำงานในต่างประเทศ(Re-entry) จำนวน 41,357 คน โดยเดินทางไปประเทศไต้หวันมากที่สุด จำนวน 26,839 คน รองลงมาเป็นสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 9,989 คน ญี่ปุ่นจำนวน 6,863 คน อิสราเอล จำนวน 6,017 คน และมาเลเซีย จำนวน 5,159 คน โดยสามารถสร้างรายได้ส่งเงินกลับประเทศไทยโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2560 เป็นเงิน 94,174 ล้านบาท

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า คนหางานที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ สามารถขอคำแนะนำ ตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางาน หรือติดตามข้อมูลการรับสมัครไปทำงานต่างประเทศได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: VoiceTV, 12/10/2560

คนไทยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉียด 3 แสน สูงสุดรอบ 10 ปี

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 สำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,191 ตัวอย่าง วันที่ 26 ก.ย. -10 ต.ค. 2560 ว่า ครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซ้ำเดิม 30% พบว่า มีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ 8.9% ซึ่งมีสัดส่วนต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่เริ่มทำสำรวจ และมีคนเป็นหนี้ 91.1% ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปีก่อนซึ่งมียอดหนี้ 298,005 บาท เพิ่มขึ้น 20.2% ปีนี้ในแง่ยอดหนี้สูงสุดรอบ 10 ปี แต่การขยายตัวต่ำสุดรอบ 10 ปี แบ่งสัดส่วนยอดหนี้เป็นในระบบ 74.60% และนอกระบบ 26.40%

“สาเหตุที่ยอดหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะอันดับแรกมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รองลงมารายได้ลดลง ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเคดิตมาก ขาดรายได้เนื่องจากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ และมีหนี้จากการพนันบอลเล็กน้อย”นางเสาวณีย์กล่าว

นางเสาวณีย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่วัตถุประสงค์ที่ก่อหนี้ อันดับแรกมี 23.3% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, รองลงมา 21.9% ซื้อยานพาหนะ, 11.9% ชำระหนี้เก่า, 10.6% ลงทุนประกอบอาชีพ, 10.6% ซื้อที่อยู่อาศัย และ 8.8% เพื่อการศึกษา จะเห็นว่ายังกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ตามรายได้ที่ไม่พอรายจ่าย แต่มีการนำไปใช้หนี้เก่าด้วยเป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ในอนาคตจะลดลง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพยังอยู่ระดับต่ำ ปกติควรจะอยู่ระดับ 20-40% สะท้อนเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า สำหรับการผ่อนชำระเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 15,438 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3.69% จากปีก่อน แบ่งเป็นการชำระหนี้ในระบบ 14,032 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 24.41% ชำระหนี้นอกระบบ 5,512 บาทต่อเดือน ลดลง 46.33% ซึ่งนับว่าลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ผลจากมาตรการภาครัฐที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ การขูดรีดนอกระบบลดลง และครัวเรือนมีการปรับตัว ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในรอบปี 2560 พบว่า 20.7% ไม่เคยมีปัญหา อีก 79.3% เคยมีปัญหา เนื่องจากราคาสินค้ามีราคาแพง เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์อุทกภัยต่างๆ รายได้ลดลงและค่าครองชีพสูงขึ้น

นางเสาวนีย์ กล่าวอีกว่า กลุ่มตัวอย่าง 70.7% ระบุว่าภายใน 1 ปีนับจากปัจจุบันไม่มีความต้องการกู้เพิ่ม อีก 29.3% มีความต้องการกู้เพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการกู้ในระบบ เพื่อนำไปใช้จ่ายทั่วไป ชำระหนี้เก่า ซื้อทรัพทย์สิน เช่น รถยนต์ บ้าน เพื่อลงทุนประกอบธุรกิจ/อาชีพ และจ่ายบัตรเครดิต เป็นต้น นอกจากนี้ภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีหลังจากนี้ โอกาสที่จะประสบปัญหาการชำระหนี้ พบว่า 4.5% ไม่มีเลย, 43% น้อย, 36.8% ปานกลาง และ 15.8% มาก สอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่มองใน 1 ปีข้างหน้า ที่เศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจของครัวเรือนน่าเป็นห่วงในระดับที่น้อย เป็นสัญญาณที่ดีที่จะก่อหนี้น้อยลง สามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น ตามเศรษฐกิจที่จะดีขึ้นด้วย

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างมีข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลควรเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชน เช่น ลดค่าครองชีพ ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน อย่างค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุม ช่วยลดอัตราเงินกู้ มีการส่งเสริมรายได้และอาชีพ ดำเนินการและจัดการเรื่องการลงทะเบียนคนจน จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ ลดข้อจำกัดเข้าถึงแหล่งทุน ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้

นางเสาวณีย์ กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะและพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีกลุ่มตัวอย่าง 87.2% ไม่ได้รับสิทธิ อีก 12.8% ได้รับสิทธิ ซึ่งแบ่งเป็น 55% มีเงินในบัตร 300 บาท และ 45% มีเงิน 200 บาท กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าบัตรดังกล่าวยังลดค่าใช้จ่ายได้น้อย และส่วนใหญ่ 72.5% ระบุว่าเรื่องบัตรนี้ไม่ส่งผลต่อการลดปัญหาความยากจน

นอกจากนี้ กว่า 50% ระบุว่าไม่ส่งผลต่อบรรยากาศเศรษฐกิจโดยรวม และบรรยากาศเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่มีถึง 29.5% ระบุคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาการใช้บัตร ได้แก่ ร้านค้าที่เข้าร่วมมีสินค้าไม่ครอบคลุม ร้านค้ามีน้อย ร้านค้ายังไม่มีความชำนาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะ ระบบการรูดบัตรยังไม่มีเสถียรภาพ และร้านค้าที่เข้าร่วมอยู่ไกลจากบ้านมาก

ที่มา: ข่าวสด, 12/10/2560

'นายจ้าง'ปูทาง'กยศ.'หักเงินเดือนผู้กู้ยืมปีหน้า

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ. ได้ลงนามในบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือกับ นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้าง แห่งประเทศไทย ในการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมให้องค์กรนายจ้างภาคเอกชนทั้งที่เป็นสมาชิกของสภาองค์การนายจ้างและองค์กรนายจ้างทั่วไปทราบถึงภาระหน้าที่ วิธีการ ขั้นตอน ความรับผิดชอบ และกฎหมาย กฎระเบียบ อื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้องค์กรนายจ้างหักเงินเดือนผู้กู้ยืม

ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือจากองค์กร นายจ้างภาคเอกชน เพื่อตรวจสอบสถานะความเป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนของพนักงานหรือลูกจ้างที่อยู่ในสังกัด รวมถึงร่วมทำการประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตาม พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรนายจ้าง

สำหรับการหักเงินเดือนผู้กู้ยืมจะเริ่มได้ภายในปี 2561 เพราะปัจจุบันองค์กรนายจ้างส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ รายละเอียดการหักเงินเดือน โดยกองทุนจะเริ่มต้นเดินสายชี้แจงผู้ประกอบการทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคกลาง โดยร่วมกับ สภาองค์การนายจ้างแห่ง ประเทศไทย มีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการทั่วประเทศ จำนวนกว่า 1,000 แห่ง โดยเฉพาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีพนักงานประมาณ 4-5 แสนคน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560-มกราคม 2561

นอกจากนี้ กยศ.เตรียมเดินหน้าเชื่อมระบบ กับกรมสรรพากร ในการรับชำระหนี้ลูกหนี้ กยศ. จากองค์กรนายจ้าง คาดว่าจะเริ่มหักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ. ทั้งรายเก่า และใหม่เป็นรายเดือน คาดเริ่มได้ ในไตรมาส 1 ปี 2561 โดยกยศ.จะเชื่อมระบบกับ กรมสรรพากร แล้วให้กรมสรรพากรจะเชื่อมระบบกับ นายจ้าง หากนายจ้างไม่หักเงินเดือนนำส่ง นายจ้างจะต้องรับภาระจ่ายหนี้แทนลูกหนี้ กยศ. โดยสิทธิในการหักเงินเดือนของ กยศ. ตาม พ.ร.บ. ลูกหนี้ จะต้องถูกหักเงินภาษีรายได้ให้กรมสรรพากรก่อน รองลงมาคือประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต่อมาเป็น กยศ. ก่อนที่จะสามารถหักเงินเดือนเพื่อใช้ให้สถาบันการเงินได้

สำหรับปัจจุบัน กองทุนมีผู้กู้ยืม 5.28 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท มีลูกหนี้ที่ค้างชำระอยู่ประมาณ 2 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท และมีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างฟ้องร้อง 1.2 ล้านราย คิดเป็นวงเงิน 1 แสนล้านบาท

ที่มา: แนวหน้า, 13/10/2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net