Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่าในสังคมมนุษย์ช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา สีผิวจะถูกโยงกับเรื่องเชื้อชาติ รวมถึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้เหยียดเชื้อชาติสีผิวด้วย อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า กลุ่มยีนของมนุษย์ที่ส่งผลให้คนมีสีผิวต่างกันนั้นเกิดขึ้นในแอฟริกาตั้งแต่ก่อนการวิวัฒนาการ 300,000 ปีที่แล้วเสียอีก และมีหลายกลุ่มยีนที่กระจายข้ามพรมแดนทวีปไปทั่วโลก

ที่มาภาพจาก: pixabay

16 ต.ค. 2560 ซาราห์ เอ ทิชคอฟฟ์ เป็นนักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย เธอและเพื่อนร่วมงานเพิ่งเผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับพันธุกรรมมนุษย์และสีผิวเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา งานวิจัยของเธอสั่นคลอนความเชื่อเดิมๆ ของคนทั่วไปที่ว่าสีผิวนั้นเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งแยกเชื้อชาติได้

"ถ้าคุณถามใครสักคนบนท้องถนนว่า 'อะไรคือความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ' พวกเขามักจะบอกว่าเป็นสีผิว" ทิชคอฟฟ์กล่าว แต่งานวิจัยของเธอซึ่งทำการสำรวจยีนสีผิวของผู้คนจำนวนมากในแอฟริกาแสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น

นักวิจัยระบุว่าว่ามีกลุ่มยีนหรือจีโนมของมนุษย์ที่ทำให้สีผิวของคนคล้ำขึ้นหรือขาวขึ้น และจีโนมนี้ก็มีอยู่ในหลากเชื้อสายทั่วโลก เช่น จีโนมตัวหนึ่งทำให้คนผิวขาวขึ้นมีอยู่ทั้งในชาวยุโรปและในสังคมล่าสัตว์ที่บอตสวานา(ประเทศในแอฟริกาใต้) กลุ่มยีนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสีผิวเหล่านี้มีอยู่ในบรรพบุรุษของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนหน้าการวิวัฒนาการในแอฟริกาเมื่อ 300,000 ปีที่แล้ว

ทิชคอฟฟ์กล่าวว่าการค้นพบนี้ทำให้ไม่สามารถอาศัยข้ออ้างทางชีววิทยามาแบ่งแยกคนด้วยเชื้อชาติได้อีกต่อไป

ในทางชีววิทยา สิ่งที่ทำให้สีผิวของคนต่างกันคือจำนวนและชนิดโมเลกุลของสารสี (pigment) ที่มีอยู่ในส่วนที่เรียกว่าเมลาโนโซม (melanosomes) ในเซลล์พิเศษของผิวหนัง

ทีมวิจัยของทิชคอฟฟ์ศึกษาเรื่องยีนที่ทำให้เกิดการสร้างสารสีเหล่านี้โดยพบว่าประชาชนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวยุโรปจะมีการผ่าเหล่าของยีนที่เรียกว่า SLC24A5 ที่ทำให้เซลล์มีสารสีน้อยลงจนทำให้มีผิวสีซีดลง และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกถ้าชาวยุโรปแทบทั้งหมดจะมียีนนี้หรือยีนที่ใกล้เคียงกันนี้อยู่ในตัว

ทิชคอฟฟ์ผู้ศึกษาพันธุกรรมในแอฟริกามาเป็นเวลายาวนานพบว่าในแอฟริกามีผู้คนหลากหลายสีผิวมากเนื่องจากมีความหลากหลายทางพันธุกรรม พวกเธอศึกษากลุ่มตัวอย่าง 1,570 คน จากเอธิโอเปีย ทาร์ซาเนีย และบอตสวานา พบว่าความหลากหลายของพันธุกรรมมีส่วนร้อยละ 29 ในการทำให้สีผิวแตกต่างกันออกไป ในส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือยังศึกษาไม่พบว่าทำไม

การค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ยังนำมาสู่คำตอบที่ว่ายีนที่ทำให้สีผิวผู้คนแตกต่างกันเหล่านี้มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ พวกเขาพบว่ามันย้อนยุคไปได้ไกลมาก เช่น ยีนจำพวกที่ทำให้เกิดสีผิวที่ขวากว่าที่พบทั้งในชาวยุโรปและบอตสวานาค้นย้อนไปได้ไกลถึง 900,000 ปีที่แล้ว ก่อนกำเนิดสปีชีส์มนุษย์ปัจจุบันอย่างโฮโม เซเปียนส์เสียอีก 

ในยุคนั้นก็มียีนผิวขาวกว่าและผิวดำกว่าปะปนกันไปจนทำให้เกิดกลุ่มยีนที่หลากหลาย นั่นรวมถึงกลุ่มมนุษย์นีแอนเดอทาลที่สูญพันธ์ไปราว 40,000 ปีแล้ว โดยที่ช่วงหนึ่งนีแอนเดอทาลเคยแบ่งแยกตัวเองเดินทางออกไปทางยุโรปและเอเชียตะวันออกทำให้เกิดการผสมข้ามพันธ์กับโฮโม เซเปียนส์ ทำให้มนุษย์ปัจจุบันยังคงมีดีเอ็นเอของนีแอนเดอทาล รวมถึงกลุ่มยีนที่กำหนดสีผิวด้วย ทำให้นักวิจัยสรุปได้อีกว่านีแอนเดอทาลก็มีสีผิวหลายแบบเช่นกัน

แน่นอนว่าสีผิวของผู้คนก็มีหลายแบบไม่ว่าจะเป็นผิวสีน้ำตาลแบบเอเชียใต้ ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี สีซีดตกกระแบบไอร์แลนด์ นักวิจัยสงสัยว่าปริมาณแสงแดดในแต่ละพื้นที่ก็มีผลกับการปรับสีผิวของคน เช่นคนคล้ำกว่าผิวจะป้องกันแสงอัลตราไวโอเล็ตได้ดีแต่คนที่อยู่ในที่แดดน้อยมีผิวขาวกว่าเพื่อให้รับวิตามินดีจากแสงอาทิตย์ได้มากพอ

แต่ทว่าถึงแม้หลักฐานด้านพันธุกรรมจะสนับสนุนทฤษฎีข้างต้น แต่ก็มีความซับซ้อนบางอย่างอยู่เหมือนกัน ตรงที่คนบางพื้นที่ไม่ได้มีสีผิวตามสภาพภูมิอากาศแต่เป็นไปตามยีนของบรรพบุรุษพวกเขาที่มาจากที่อื่น ขณะเดียวกันคนผิวขาวซึ่งจัดเป็นแค่กลุ่มหนึ่งในพื้นที่เอเชียกับยุโรปก็มีบรรพบุรุษมาจากแอฟริกาเหมือนกันแต่ก็มียีนบางส่วนที่ทำให้ผิวขาวกว่า เป็นไปได้ว่ามาจากการผสมข้ามพันธ์กับมนุษย์นีแอนเดอทาลทำให้ได้ยีนสีผิวจากนีแอนเดอทาลมาด้วย

กลุ่มยีนบางประเภทอย่าง SLC24A5 ที่ปรากฏมากในยุโรปเพื่งมีขึ้นเมื่อราวปี 29,000 ที่ผ่านมา และกระจายตัวไปทั่วเมื่อราวไม่กี่พันปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งกลุ่มยีนนี้ไม่มีเพียงแค่ในยุโรปเท่านั้นยังปรากฏในประชากรผิวขาวกว่าในแอฟริกาที่น่าจะมาจากการอพยพของชาวนาในเอเชียตะวันตกเข้าสู่แอฟริกาตะวันออกและมีการแต่งงานข้ามรุ่นกันหลายรุ่นจนกลุ่มยีนนี้เริ่มแพร่หลาย

นีนา ยาบลอนสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านสีผิวจจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตทกล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ "ทำให้เกิดความชื่นชมในการผสมผสานของพันธุกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนไปมาตลอดในช่วงตลอดระยะเวลาการวิวัฒนาการของมนุษย์"

 

เรียบเรียงจาก

Genes for Skin Color Rebut Dated Notions of Race, Researchers Say, New York Times, 12-10-2017

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net