Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

พอจะจับกระแสอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้อยู่ไม่ใช่น้อย หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศเงื่อนเวลาในโรดแมปว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และมีการเลือกตั้งในปีหน้า (หลังจากประกาศว่าจะไม่พูดเรื่องการเมือง หนึ่งวันก่อนนั้น?)

สื่อมวลชนไทยก็พากันตีปี๊บกันใหญ่ แล้วก็เริ่มตั้งคำถามว่าตกลงที่ประกาศนั้นจะ “จริง” หรือจะ “เลื่อนไปอีก” เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ที่เคยมีการประกาศมาก่อน แล้วก็เลื่อนมาหลายครั้ง

คำถามที่ไม่มีใครสนใจจะถามก็คือ ทำไมถึงมีการประกาศการเลือกตั้งในช่วงนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันกระแสสังคมนั้นยังอยู่ที่เรื่องของการตั้งคำถามว่าจะเปิดให้พรรคการเมืองนั้นมีกิจกรรมทางการเมืองอย่างเปิดเผยและเป็นทางการเมื่อไหร่ และระบอบรัฐประหารนี้เพิ่งปฏิเสธเสียงแข็งว่ายังไม่ใช่ช่วงนี้

สังคมไทยวันนี้จึงมีพฤติกรรมการเสพสื่อแบบใหม่ นั่นก็คือ เสพสื่อกระแสหลักในฐานะกระบอกเสียงของรัฐบาล และเสพสื่อโซเชียลในฐานะการตั้งคำถามและการเสนอคำตอบให้กับสังคม และก็หันมาเสพสื่อกระแสหลักอีกทีว่าจะตีพิมพ์ข้อมูลอะไรจากสื่อโซเชียลที่เรายังไม่ได้อ่านบ้าง (ตกลงสื่อกระแสหลักก็ทำหน้าที่เหมือนเดิม คือแทบจะไม่ได้ทำอะไร ฮ่าๆ)

ก่อนจะเข้าเรื่องการประกาศวันเลือกตั้ง อยากจะเปิดประเด็นที่สำคัญก่อนว่า การเปิดให้พรรคการเมืองนั้นทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นทางการ มีความสำคัญกว่าที่ปรากฏในหน้าสื่อและในกระแสสังคม

อย่าเพิ่งไปมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแค่นักการเมืองเรียกร้องเลยครับ เพราะถ้าเรามองแค่นี้เราจะไม่สามารถก้าวกลับสู่ประชาธิปไตย และทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งได้เลย

เพราะเรายังมองว่า การเลือกตั้งและประชาธิปไตยเป็นแค่เรื่องของนักการเมือง

และถ้าเรามองแค่นี้เราก็จะตกอยู่ในวาทกรรมของระบอบรัฐประหาร และระบอบคนดีนักปฏิรูปที่มองว่านักการเมืองเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตยและความสงบของบ้านเมือง

สิ่งที่เราควรจะมองก็คือ การเปิดให้มีการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของนักการเมืองเดิมที่จะทำงาน หรือสถาปนาเครือข่ายของเขา

แต่เป็นเรื่องที่ทำให้สังคมนั้นมีความเสรี และทำให้คนหน้าใหม่ๆ มีจินตนาการทางการเมือง และมีแรงบันดาลใจทางการเมืองที่จะเข้ามาจัดทำกิจกรรมทางการเมือง

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของการเปิดเสรีทางการเมือง ซึ่งรวมไปถึงการเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทุกภาคส่วน

เราจะได้ไม่มีแต่นักการเมืองสองแบบ คือแบบนักการเมืองเดิมที่สถาปนาเครือข่ายทางการเมืองกับชาวบ้าน และมีนักการเมืองแบบที่ไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนักการเมือง แต่ผูกตัวติดกับระบอบรัฐประหารตามคณะกรรมการต่างๆ ร่วมสิบปี

รัฐบาลรัฐประหารชุดนี้มีปัญหาในการทำความเข้าใจเรื่องเสรีภาพทางการเมืองมาโดยตลอดในเรื่องนี้ มีความเชื่อว่าตนเองจะสร้างความสำเร็จรูปทางการเมืองชุดหนึ่งแล้วจึงเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ยอมรับว่าการสร้างสรรค์สำนึกทางการเมืองต้องใช้เวลา และไม่ได้มาจากความสำเร็จรูปและความหวังดีแต่เพียงเท่านั้น

คำถามที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่า ประเทศไทยจะต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะมีพรรคการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เข้มแข็ง และยิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นนานไปโดยไม่ให้พรรคการเมืองนั้นมีกิจกรรมที่เป็นทางการ เราจะมีพรรคใหม่ๆ ที่เป็นทางเลือกได้อย่างไร และถ้าเราไม่มีเสรีภาพทางการเมือง เราจะเริ่มคิดถึงทางเลือกใหม่ๆ ได้อย่างไร

ระบอบประชาธิปไตยคือการร่วมกันคิด และแข่งขันกันให้มีทางเลือกใหม่ๆ ไม่ใช่คิดให้เขา 20 ปีโดยแทบจะไม่มีความชอบธรรมอะไรรองรับแบบที่เป็นอยู่

ย้ำว่าสูตรพื้นฐานสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่ยังพอรับกันอยู่ในโลก ก็คือการเปิดเสรีทางการเมืองต้องมาก่อน จากนั้นก็การเลือกตั้ง แล้วก็การทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่นเป็นกฎกติกาเดียวในสังคม ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปสถาบันทางการเมืองทั้งหลายมากกว่าแค่การปฏิรูปการเลือกตั้ง

ทีนี้มาเข้าเรื่องของการประกาศวันเลือกตั้งบ้าง ผมคิดว่าเรื่องนี้มีนัยสำคัญ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นการพูดหลังจากที่ไปสหรัฐอเมริกา เพราะจากการจับสัญญาณการพบปะกันกับประธานาธิบดีสหรัฐในรอบนี้ แทบจะไม่ได้มีสัญญาณกดดันทางการเมืองอย่างจริงจัง

อย่างน้อยถ้าพยายามจะดูจากกิจกรรมของทูตและสถานทูตสหรัฐในประเทศไทยในรอบหลัง และดูกิจกรรมการถอนตัวของสหรัฐออกจากกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างกัมพูชา เช่น การปิดสำนักข่าวทางเลือกของกัมพูชา และการไม่ได้กดดันฮุน เซน อย่างเป็นเรื่องเป็นราวหลังจากที่ฮุน เซน ไล่บดขยี้ทางการเมืองกับฝ่ายค้านอย่างเมามันในเดือนที่ผ่านมา จนฝ่ายค้านหนีออกนอกประเทศไปหลายคน ว่ากันว่านี่คือส่วนหนึ่งของการเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้าหลังจากที่รอบที่แล้วฮุน เซน เพลี่ยงพล้ำคะแนนเสียงหายไปเยอะ ดังนั้นเรื่องที่ว่าสหรัฐนั้นกดดันไทยน่าจะไม่ใช่

สุดท้ายผมคิดว่าคงไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจล่ะครับ (จะให้วิเคราะห์ไปในทางอื่นคงต้องมีข้อมูลที่ยืนยันได้ซึ่งหาไม่ได้ครับ) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ไม่ตก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีฝีมือนะครับ วิจารณ์แบบนั้นอาจจะไม่แฟร์

สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือ โครงสร้างระบบเศรษฐกิจของไทยในวันนี้อาจจะไม่เหมาะกับการอยู่กับระบบเผด็จการ และระบบราชการเป็นใหญ่เหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปมากกว่า แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะมีปัญหากับการเมืองผูกขาดของทักษิณและเครือข่าย และในความเชื่อว่า หากทำลายทักษิณและเครือข่ายลงได้ ทุนต่างๆ จะทำงานได้มากขึ้น และเมื่อเราเห็นระบบประชารัฐแล้วสิ่งที่เป็นอันตรายไม่ใช่น้อยก็คือ ระบอบเผด็จการแบบที่ขอให้นายทุนใหญ่มาเป็นพวกและเป็นพี่เลี้ยงนั้นกลับสร้างแรงตึงเครียดระหว่างประชาชนกับทุนใหญ่ตามไปด้วย กำไรอาจจะได้ แต่ภาพลักษณ์และศักดิ์ศรีนั้นเริ่มเป็นปัญหา ในระบอบประชาธิปไตยนั้นนายทุนและธุรกิจมักถูกวิจารณ์ แต่ในระบอบเผด็จการ ทุนเหล่านั้นเวลาที่ถูกวิจารณ์นั้น บ่อยครั้งอาจถูกวิจารณ์ในฐานะเป็นหุ่นฟางเพราะคนในระบอบนั้นวิจารณ์สิ่งอื่นไม่ได้

ส่วนเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเผด็จการนั้น เราก็สัมผัสกันได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาและพัฒนาทฤษฎีอย่างเป็นระบบ แน่นอนว่าเราอยู่ได้ในสังคมเผด็จการ แต่ถามว่าแบบแผนการใช้จ่ายและความคาดหวังทางเศรษฐกิจของระบบเผด็จการนั้นอาจจะไม่เหมือนกับระบอบประชาธิปไตย

ไม่นับเรื่องของการลงทุนจากต่างชาติที่มีเงื่อนไขมากมายในการลงทุนในสังคมเผด็จการ

ดังนั้นการประกาศการเลือกตั้งน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่วนจะส่งผลดีต่อประชาธิปไตยในระยะยาวจริงไหมนั้นก็ต้องว่ากันไป ยิ่งการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่ได้มีเสรีภาพ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเลือกตั้งที่ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง แต่หมายถึงบรรยากาศทางการเมืองที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นนั้นมันจะเป็นคุณต่อการตั้งมั่นของประชาธิปไตยในระยะยาวแค่ไหน เรื่องนี้ไม่ใช่แค่จะจัดการการซื้อเสียงอย่างไร หรือการกำหนดคุณสมบัติของพรรคและผู้สมัคร หรือจะมีการเลือกตั้งระบบไหนดี แต่หมายถึงบรรยากาศของเสรีภาพทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งมากกว่า

มีอยู่ 4 เรื่องที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษเมื่อจะทำความเข้าใจว่า การเลือกตั้งในรอบนี้จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้ไหม

1.การเลือกตั้งในรอบนี้ยังเกิดขึ้นในเงื่อนไขของการอยู่ในสังคมเผด็จการ และเป็นเผด็จการทหารที่ยุติการเลือกตั้งและการเมืองประชาธิปไตยแบบเดิมลง ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบสังคมประชาธิปไตยที่อาจมีมิติเผด็จการบางส่วน ดังนั้นคนที่ร่างกฎเกณฑ์และสืบสานอำนาจต่อก็ยังเป็นบรรดาคนที่ได้เปรียบในระบอบเผด็จการที่ดำรงอยู่

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้พูดในแง่ลบ แต่โดยทั่วไปแล้ว การเลือกตั้งไม่ว่าจะในระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตยนั้นรัฐบาลเดิมมักจะได้เปรียบในการเลือกตั้ง

ส่วนผู้ที่สนใจความสัมพันธ์ของระบอบเผด็จการกับการเลือกตั้ง เชิญอ่านงานเก่าของผมได้ที่ “เผด็จการกับการเลือกตั้ง” (มติชนรายวันฉบับวันที่ 23 พ.ค.2560)

2.เราต้องทำความเข้าใจว่า ประชาชนจะใช้ระบบวิธีคิดอะไรในการไปเลือกตั้ง เขาจะเปิดเผยความต้องการจริงในการเลือกตั้งได้ไหม หรือเขาจะคิดคำนวณแล้วพบว่า เขาควรจะเปลี่ยนทางเลือกและความยึดถือในพรรคการเมืองของเขา เพื่อให้เขาได้รับสิ่งที่เข้าต้องการได้

เรามักจะมีคติแบบโลกสวยว่า การเลือกตั้ง คือการแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน หรือไม่ก็มองว่า การเลือกตั้งคือการที่ประชาชนถูกจูงจมูกจากนักการเมือง

ขณะที่งานวิจัยทางรัฐศาสตร์นั้น เสนอให้เราเห็นใน 2 เรื่องสำคัญ

หนึ่งคือ การเลือกตั้งนั้นบางครั้งเป็นเรื่องของการเลือกตามยุทธศาสตร์ของผู้ลงคะแนน เขาอาจไม่ได้เลือกตามที่เขาต้องการจริง แต่เขาเลือกตามเงื่อนไขที่เขาคำนวณแล้วว่าจะได้ประโยชน์ที่สุด

สองคือ การเลือกตั้งนั้นอาจไม่ใช่เรื่องอันงดงามทางอุดมการณ์ แต่อาจเป็นเรื่องของการคาดคำนวณของผู้เลือกเพื่อทำให้เขาสามารถแย่งชิงทรัพยากรของรัฐมาไว้ในพื้นที่ของเขาให้ได้มากที่สุด

3.เราต้องทำความเข้าใจตัวฝ่ายค้านว่า จะมีส่วนทำให้ประชาธิปไตยนั้นตั้งมั่นและยั่งยืนได้แค่ไหน ซึ่งในกรณีของการเลือกตั้งในรอบนี้ เราต้องพิจารณาทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ด้วย

ในกระบวนการศึกษาการเลือกตั้งในสังคมเผด็จการนั้น บ่อยครั้งเราพบว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นเพราะฝ่ายเผด็จการเองต้องการสร้างเงื่อนไขเชิงสถาบันให้เกิดการแบ่งปันอำนาจกันระหว่างเผด็จการกับผู้นำทางการเมืองกลุ่มต่างๆ

ขณะที่ในอุดมคตินั้น การเลือกตั้งในสังคมเผด็จการคือการที่ประชาชนเลือกผู้ปกครอง แต่ในเผด็จการนั้นผู้ปกครองสร้างระบบเลือกตั้งเพื่อแบ่งปันอำนาจกันกับชนชั้นนำต่างๆ ซึ่งในแง่นี้ฝ่ายค้านก็ถูกนับรวมเป็นชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งเช่นกัน

ฝ่ายค้านก็มีทางเลือก เช่น จะร่วมสังฆกรรมด้วย หรือจะปฏิเสธการเข้าร่วมในโครงสร้างอำนาจนั้น

ลองคิดใหม่ว่า ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไทยปฏิเสธไม่เข้าร่วมเลือกตั้งดูบ้าง จะส่งผลให้การเมืองเปลี่ยนไปอย่างไร หรือประชาธิปัตย์ยังไม่เข้าร่วมเลือกตั้งอีกสักครั้ง?

4.เราต้องพิจารณาโครงสร้างแวดล้อมระบบเลือกตั้งในรอบนี้้ โดยเฉพาะตัวกรรมการการเลือกตั้ง และสื่อมวลชน สิ่งที่จะต้องมีเพิ่มเติมจากนั้น คือระบบประชาสังคมและเครือข่ายการติดตามการเลือกตั้งที่จะคอยประสานและกดดันไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสื่อมวลชน เพื่อให้การเลือกตั้งมีมากกว่าเรื่องของตัวกระบวนการในช่วงหาเสียงและวันเลือกตั้ง แต่หมายถึงการพิจารณาและติดตามประเด็นในเรื่องของการเลือกตั้ง ที่มากกว่าเรื่องเทคนิคและเงื่อนไขคุณสมบัติตามกฎหมาย

แน่นอนว่าการเริ่มมีความชัดเจนในการจะนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งนั้นย่อมเป็นเรื่องดี แต่สังคมเองต้องมีความพร้อมที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งมากขึ้น ไม่ใช่รอแค่กฎหมายลูกไม่กี่ตัวที่จะคลอดในไม่นานนี้ และยิ่งเมื่อบรรยากาศของการประกอบสร้างโครงสร้างทางการเมืองในรอบนี้ไม่ค่อยได้นับรวมเสียงของประชาชนเข้าไปมากนัก ประชาชนก็ยิ่งจะต้องเริ่มคิดเริ่มวางแผนในการรับมือกับการเลือกตั้งในรอบนี้ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นั่นแหละครับ

ไม่งั้นการเลือกตั้งในรอบนี้นอกจากจะไม่เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้ว การเลือกตั้งในรอบนี้จะเป็นเพียงแค่การแบ่งอำนาจกันของเผด็จการใหม่กับชนชั้นนำที่เคยมีอำนาจในประชาธิปไตยแบบเดิมเท่านั้นเอง



หมายเหตุสำหรับงานวิจัยในเรื่องการเลือกตั้งในสังคมเผด็จการ อาจศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Jennifer Ganshi and Elen Lust-Okar. 2009. Election Under Authoritarianism. Annual Review of Political Science. 403-422

 

ที่มา: matichon.co.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net