Skip to main content
sharethis

เสวนาเปิดตัวเว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชี้ว่าการทำฐานข้อมูล 6 ตุลาในที่สุดเมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นจะถูกใช้ประโยชน์ ธงชัย วินิจจะกูล ย้ำว่าแม้จะไม่ได้เห็นความยุติธรรมในระยะนี้ แต่สิ่งที่ทำได้คือความหวังของคนในอนาคต รวมทั้งการทำให้สังคมพูดคุยกันได้ทุกด้าน เพื่อทำให้สังคมมีวุฒิภาวะ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่อาคารอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ร่วมกับ โครงการบันทึก 6 ตุลา จัดกิจกรรมโครงการสัมมนา "เผชิญความอยุติธรรมด้วยการบันทึกประวัติศาสตร์" เปิดตัวเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” [www.doct6.com] ในฐานะแหล่งข้อมูลออนไลน์ ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลและเพื่อการค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา

กิจกรรมเปิดตัวเว็บไซต์ดังกล่าวยังมีการเสวนาหัวข้อ “บันทึกข้อมูลเพื่อทวงความยุติธรรม” วิทยากรประกอบด้วย ธงชัย วินิจจะกูล สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น (IDE-Jetro, Japan) พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรอมฎอน ปันจอร์ จาก Deep South Watch ดำเนินการเสวนาโดยเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในต่างประเทศมีการจัดตั้งที่บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงมีมาก โดยกระแสอันหนึ่งของนักจดหมายเหตุหรือนักเก็บข้อมูลก็คือเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงของรัฐ โดยเฉพาะอาชญากรรมของรัฐ หลายกรณีสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ มีการรวบรวมและค้นหาความจริงมาเป็นเวลา 20 ปี แล้ว ซึ่งช่วงนั้นคนอาจไม่มีความหวังเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปการเมืองเปลี่ยน ข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นก็กลับมาใช้ประโยชน์

พวงทอง ชี้ด้วยว่า สังคมไทยอยู่ได้กับความอิหลักอิเหลื่อ เราจัดการได้ดีภายใต้ความคลุมเครือ ภาวะแบบนี้มันมีราคา สิ่งที่ชัดคือ มันเกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด แต่จากประสบการณ์หลายสังคม ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์มันสำคัญ มันทำให้สังคมได้เรียนรู้เหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ความรุนแรง โดยไม่ติดอยู่กับมายาคติ โดยเฉพาะข้อมูลการละเมิดนั้น หากไม่เก็บขึ้นมามันก็จะหาย สังคมไทยอยู่ในจุดที่น่าจะคิดอย่างจริงๆ ที่จะต้องมีแหล่งข้อมูลที่รวบรวม

รอมฎอน ปันจอร์ เสนอแนะด้วยว่า อยากให้พยายามให้มองรอบด้าน รวมทั้งมองในประเด็นการเปลี่ยนปลงทางการเมืองในศูนย์กลางประเทศในช่วงนั้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรอบนอกอย่างไร เพื่อนำไปสู่ความจริงที่รอบด้านขึ้น

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการพูดถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ธงชัย วินิจจะกูล ย้ำว่า ต่อให้เรารังเกียจว่าหลายคนกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความเข้าใจผิด แต่ก็ห้ามไม่ได้ ในทางกลับกันการพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้อดีตนั้นไม่ตาย ดังนั้นโดยภาพรวมในสังคมควรส่งเสริมให้คนพูดไป รวมทั้งพูดผิดๆ ด้วย เพราะเราไม่กลัวว่าคนจะเขียนประวัติศาสตร์อย่างไร

สำหรับการแสวงหาความยุติธรรมจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ธงชัย มองว่าจะไม่ได้เห็นความยุติธรรมในระยะนี้ แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือความหวังของคนในอนาคต ดังนั้นเราจึงต้องเก็บเอกสารข้อมูลเอาไว้ เพราะอนาคตอาจเห็นความยุติธรรมได้ในระยะยาว รวมทั้งต้องทำให้สังคมเราพูดกันทุกด้าน เพื่อให้คนในสังคมเติบโตมีวุฒิภาวะ

สำหรับเหตุผลในการสร้างเว็บนี้ ธงชัย กล่าวว่า เกิดขึ้นเพื่อ หนึ่ง ความยุติธรรม และสอง รู้สึกผิด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถตามญาติตามคนที่เกี่ยวข้องไม่ได้มาก จึงอยากทำและเก็บเป็นหลักฐานไว้

“มีความอยุติธรรมอีกมาก หากเราสู้ไม่ได้หมด อย่างน้อยที่สุดก็แบมันออกมา ตอนนี้พูดไม่ได้ก็เตรียมแบในอนาคต” ธงชัย กล่าว พร้อมย้ำด้วยว่าตนไม่เคยรังเกียจเลยกับคนที่กัดไม่ปล่อย คนกัดไม่ปล่อยบางที่ก็น่าเบื่อ แต่คนกัดไม่ปล่อยมีประโยชน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net