Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ประชาสังคม คือพื้นที่ที่เป็นการรวมตัวของภาคประชาชน หรือองค์กร ที่มีแนวคิดและทัศนคิร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการการจัดการเรื่องต่าง ๆ  ร่วมกัน หรือเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล สร้างเอกลักษณ์และความเห็นร่วมกัน ผลักดันแนวคิดหรือนโยบายบางอย่างร่วมกัน เพื่อเพิ่มพูนหรือพิทักษ์ผลประโยชน์ของสังคม

โดยหลักการแล้วภาคประชาสังคมเป็นภาคที่แยกออกมาจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจ และเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่มีเป้าหมายในการเข้ามาควบคุมการกำหนดนโยบายของรัฐ ดังนั้นในคำจำกัดความนี้พรรคการเมืองจึงไม่ใช่ประชาสังคม เพราะพรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์ที่จะเข้ามาบริหารประเทศหรือเข้ามาควบคุมการกำหนดนโยบายของประเทศ

การให้ความสำคัญกับประชาสังคมในเวทีระหว่างประเทศ หมายความถึงการให้ความสำคัญกับตัวแสดงในระดับหน่วยย่อยของสังคม ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของประชาคมโลกมีความยุติธรรมและมีความชอบธรรมมากขึ้น 

ในความหมายที่กว้างที่สุดที่เราจะนำมาใช้ศึกษาเรื่อง “ประชาสังคมกับบทบาทในเวทีระหว่างประทเศ” นั้นเราจะให้ความหมายว่าประชาสังคมคือ พื้นที่ที่อยู่นอกรัฐบาล ครอบครัว และ ตลาด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ “ปัจเจกบุคคล”และ “องค์กรที่มีความสนใจร่วมกัน” ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ตัวอย่างขององค์กรประชาสังคมในปัจจุบัน เช่น กลุ่มชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน การเคลื่อนไหวทางสังคม สหภาพแรงงาน กลุ่มเชื้อชาติดั้งเดิม องค์กรการกุศล องค์กรทางศาสนาหรือความเชื่อสื่อมวลชนแวดวงการศึกษา กลุ่มคนพลัดถิ่น ที่ปรึกษา สถาบันศึกษาวิจัย สมาคมวิชาชีพ และมูลนิธิต่างๆ

ในอดีตประชาสังคมมีบทบาทเคลื่อนไหวอยู่ภายในรัฐ แต่โลกาภิวัตน์ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของการจัดการการปกครองโลกในรูปแบบใหม่ โดยเปิดพื้นที่ให้กับตัวแสดงใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non state actor) ที่สนใจการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดและดำเนินนโยบายของรัฐ ควบคู่ไปกับการขยายตัวของตัวแสดงที่เป็นบรรษัทข้ามชาติและตัวแสดงที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งตัวแสดงที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ เหล่านั้น

โดยปัจจุบันองค์กรประชาสังคม มีช่องทางอย่างเป็นทางการในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการการกำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นการช่วยทำให้ช่องว่างระหว่างรัฐบาลและประชาชนเข้ามาใกล้ชิดมากขึ้น  รัฐบาลประเทศออสเตรเลีย และประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เคยเชิญองค์กรประชาสังคมเข้าไปนั่งอยู่ในเวทีของสหประชาชาติในฐานะตัวแทนของประเทศ นอกจากนี้ภาคประชาสังคมหลายองค์กรมีที่นั่งของตัวเองในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเช่นพรรคสมัชชาแห่งชาติอาฟริกา (The African National Congress-ANC), คณะกรรมการการชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross) และ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (The Palestine Liberation Organization) เป็นต้น

มุมมองทางทฤษฎีที่มีความแตกต่างกันตีความบทบาทของประชาสังคมโลกไว้แตกต่างกัน เช่น กลุ่มเสรีนิยมมองประชาสังคมโลกไว้ว่า ช่วยส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย โดยเป็นการให้แนวทางจากล่างขึ้นบนเพื่อให้การจัดการปกครองโลกมีประสิทธิภาพและมีความชอบธรรม เพราะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง กลุ่มสัจนิยม ตีความประชาสังคมว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้โดยประเทศมหาอำนาจเพื่อที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ  ด้วยเหตุนี้กลุ่มสัจนิยุมจึงมองกลุ่มประชาสังคมโลกไว้ว่าเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจ ส่วนกลุ่มมาร์กซิสม์ มองประชาสังคมโลกในฐานะพลังทางการเมืองที่สามารถท้าทายระเบียบที่วางรากฐานอยู่ในสังคม ส่วนบางกลุ่มก็มองข้ามแนวคิดประชาสังคมโลกว่าเป็นแนวคิดที่มาจากโลกตะวันตกซึ่งไม่สามารถนำมาประยุกต์กับสังคมตะวันออก หรือสังคมที่ยังไม่ทันสมัยว่าไม่สามารถแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างครอบครัวรัฐและตลาดเหมือนอย่างสังคมตะวันตกได้

อะไรคือสิ่งที่ส่งผลต่อการขยายตัวของประชาสังคมโลก

1)  สภาพแวดล้อมใหม่ที่มาจากโลกาภิวัตน์

โลกาภิวัตน์ได้เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมใหม่ที่ทำให้กิจกรรมต่างๆของประชาสังคมสามารถขยายตัวไปได้อย่างกว้างขวางและมีพลังมากขึ้น องค์กรประชาสังคมหลายองค์กรได้สร้างเครือข่ายข้ามชาติ และได้ทำงานในระดับระหว่างประเทศเพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นที่ประจักษ์ชัดงานเครือข่ายข้ามชาติอาจจะเป็นงานถาวรที่เชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประชาสังคมหลายกลุ่มที่มีฐานอยู่ที่หลายๆประเทศและมีประเด็นในระดับโลกที่เฉพาะเจาะจงเช่นโครงการ

นอกจากนี้ กระแสโลกาภิวัตน์ได้เชื่อมโยงประชาชนในที่ต่าง ๆ ให้รับรู้สภาวะต่างๆ  ร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะการแพร่กระจายของอินเตอร์เน็ต และการแพร่กระจายของวัฒนธรรมของโลก ได้ทำให้กลุ่มประชาสังคมโลกในหลายๆบริเวณของโลกสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นต่างๆในการทำงานร่วมกันซึ่งได้ทำให้กลุ่มประชาสังคมที่อยู่ในหลากหลายบริเวณของโลกได้เพิ่มความรู้ทักษะและแนวทางในการต่อรองทางการเมืองเพื่อที่พวกเขาจะได้มีบทบาทในสังคมมากขึ้น ซึ่งได้สร้างความรู้สึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกลุ่มประชาสังคมที่ทำงานแบบเดียวกันในหลายๆบริเวณของโลกซึ่งได้ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเป็นพวกเดียวกันที่ต้องการรถผลกระทบด้านลบที่มาจากโลกาภิวัตน์

2) การลดการผูกขาดจากภาครัฐ และเพิ่มบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ก่อนหน้าที่จะมีการแพร่กระจายของโลกาภิวัตน์การตัดสินใจของรัฐได้ผูกขาดไว้ที่รัฐบาล และ องค์กรระหว่างประเทศที่มีรัฐบาลเป็นสมาชิกหลัก  แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ โลกาภิวัตน์ได้ทำให้การจัดการการปกครองโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยการบริหารการปกครองเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่มีหลายชั้น (multi layer) ในการกำหนดนโยบายหรือกำหนดการตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้ในการตัดสินใจในนโยบายต่างๆของรัฐจึงไม่ใช่การตัดสินใจที่มาจากคำสั่งโดยตรงของผู้มีอำนาจรัฐหรือผู้บริหารประเทศเท่านั้น แต่การบริหารการปกครองได้กลายเป็นการตัดสินใจที่จะต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ประชาสังคมเท่านั้นที่เป็นองค์กรที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐ แต่ยังมีตัวแสดงอื่นๆ อีก เช่น เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ องค์กรระหว่างประเทศ ท้องถิ่น สื่อมวลชนและชุมชน ที่เข้าไปเจรจาต่อรองเพื่อให้ผลประโยชน์ของกลุ่มของตนได้รับพื้นที่ในเวทีนโยบายสาธารณะ เช่นองค์กรเพื่อสตรีหลายองค์กรที่พยายามเข้าไปมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของสหภาพยุโรป หรือสหภาพแรงงานหลายแห่งพยายามเข้าไปมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และองค์การการค้าโลก

ในช่วงปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ประเทศต่างๆได้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานของรัฐในกิจการบางอย่างให้เป็นเอกชน (Privatisation) ซึ่งได้ทำให้รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรที่บริหารจัดการโดยรัฐหลายหลายแห่งได้ถูกขายไปยังบริษัทเอกชน ด้วยเหตุนี้ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบยุโรปตะวันตก บทบาทของรัฐในกิจการสาธารณะจึงลดน้อยลงไปโดยปริยาย ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ประชาสังคมได้มีบทบาทมากขึ้นในการเข้าร่วมกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ หรือแนวทางการทำงาน ของกิจการต่างๆเหล่านั้น โดยองค์กรหลายๆองค์กรของรัฐได้ให้ประชาสังคมได้นำหลายๆนโยบายไปทำเอง เช่นกลุ่มประเทศ OECD ได้ให้เงินผ่านประชาสังคม หรือองค์กรพัฒนาเอกชนให้ไปทำงานต่างๆให้กับรัฐ

3) บทบาทที่มากขึ้นของภาคประชาสังคมในองค์การระหว่างประเทศ

องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรให้การสนับสนุนประชาสังคมโลกในกระบวนการตัดสินใจระหว่างประเทศเช่นในปี พ.ศ. 2535 ในการประชุม UN Earth Summit ที่นคร Rio de Janeiro ได้มีช่องทางและวิธีการในการทำให้กลุ่มประชาสังคมต่างๆพบปะกันและสร้างเครือข่ายระหว่างกัน นอกจากนี้สหภาพยุโรปที่ได้ใช้วิธีการเดียวกันกับการประชุม UN Earth Summit ในการบูรณาการประชาสังคมกลุ่มต่างๆเข้าไว้ในกลไกการบริหารของรัฐ ในปัจจุบันองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กรได้จัดทำกลไกที่มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพกับประชาสังคม  ซึ่งการที่องค์กรระหว่างประเทศได้มีพื้นที่ให้กับประชาสังคมโลกได้ทำให้องค์กรระหว่างประเทศเหล่านั้นมีความชอบธรรมมากขึ้นในการนำเสนอนโยบายของตน

ตัวแทนจากภาคประชาสังคมมีพื้นที่ในระดับนานาชาติมากขึ้น  เช่น สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature and Natural Resources หรือ World Conservative Union - IUCN) ให้พื้นที่ภาคประชาสังคมในการเข้าไปเป็นตัวแทนเจรจาต่อรองกับตัวแทนรัฐบาล โดยประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก 83 ประเทศ ตัวแทนรัฐบาล 108 กลุ่ม และมีองค์กรภาคประชาสังคมในองค์กรนี้ถึง 766 กลุ่ม  นอกจากนี้ในที่สำนักงานกิจการการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disarmament Affairs -UNODA) ยังให้บทบาทและเห็นคุณค่าขององค์กรภาคประชาสังคมในการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์  (UNODA, 2017) โดยการทำรายงานบทบาทของภาคประชาสังคมที่มีส่วนในการลดอาวุธ นอกจากนี้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora-CITES) ยังได้กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ปี พ.ศ. 2551-2563 ในความพยายามที่จะต้องขยายบทบาทในความร่วมมือกับภาคประชาสังคม (CITES, 2017) และ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees) ที่เห็นความสำคัญมากขึ้นในการเพิ่มบทบาทกับภาคประชาสังคม (UNNGLS, 2017)

สรุป

ในยุคปัจจุบัน ประชาสังคมกลายไปเป็นตัวแสดงที่ทวีความสำคัญมากขึ้นในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยกลายไปเป็นตัวแสดงมีความสำคัญและมีอิทธิพลมากขึ้นในเรื่องการกำหนดแนวทางในการสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ แนวปฏิบัติระหว่างประเทศ และการติดต่อกันทางการทูต นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการติดตามและนำประเด็นระดับโลกไปปฏิบัติอยู่หลายประเด็น ตั้งแต่การค้า การพัฒนา การลดความยากจน การส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การส่งเสริมสันติภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการส่งเสริมความมั่นคง บทบาทต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เองทำให้เวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะละเลยไม่ให้ความสำคัญกับ "ประชาสังคมโลก" ไม่ได้เลย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net