Skip to main content
sharethis

ญี่ปุ่นเคยพยายามปฏิรูปเมื่อนานมาแล้วให้ระบบการเมืองมีการแข่งขันที่สูสีระหว่างสองพรรคใหญ่ แต่ทว่าผลการเลือกตั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่าพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี นำโดยชินโซ อาเบะ ยังคงครองอำนาจในญี่ปุ่นได้แม้จะมีเรื่องอื้อฉาว ทำให้มีการวิเคราะห์ว่าอะไรทำให้ฝ่ายค้านในญี่ปุ่นไม่สามารถขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สูสีได้ และพรรคซ้ายกลางที่เพิ่งจัดตั้งใหม่และคว้าที่นั่งมาได้พอสมควรในครั้งนี้จะเป็นความหวังหรือไม่

ย่านชิบูยะในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (ที่มาของภาพประกอบ: IQremix/Wikipedia)

27 ต.ค. 2560 จากการเลือกตั้งญี่ปุ่นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ชินโซ อาเบะ จากพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพีคว้าชัยมาอีกหนึ่งสมัย โดยที่การเลือกตั้งล่าสุดนี้เป็นการยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่อย่างเร่งด่วนซึ่งอาเบะอ้างว่าเพราะต้องการ "อาณัติจากประชาชน" อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่าชัยชนะอีกครั้งของอาเบะแสดงให้เห็นปัญหาของการเมืองญี่ปุ่นในแง่ทีมีพรรคการเมืองเดียวทรงอิทธิพลมากเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคต่อระบบแบบ "สองพรรคการเมือง"

ถึงแม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสาเหตุที่อาเบะจัดเลือกตั้งด่วนเป็นเพราะต้องการกลบเรื่องอื้อฉาวของเขาและภรรยาที่ถูกกล่าวหาเรื่องการใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง รวมถึงเรื่องอื้อฉาวกรณีโรงเรียนอนุบาลขวาจัด จนมีการวิเคราะห์ว่าพวกเขาอาจจะเสียที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจากกรณีอื้อฉาวเหล่านี้ แต่กระนั้นพรรคแอลดีพีก็ยังคงกุมชัยชนะเอาไว้ได้โดยชนะที่นั่งในสภาถึง 284 ที่นั่ง ลดลงจากเดิม 6 ที่นั่ง ในทางตรงกันข้ามพรรคฝ่ายค้านหลักของญี่ปุ่นอย่างมินชินโตหรือพรรคดีพีกลับมีปัญหาจนเกิดการแตกแยกช่วงก่อนเลือกตั้ง

โทชิยะ ทากะฮาชิ ผู้ช่วยศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโชอินวิเคราะห์ว่าผลการเลือกตั้งในครั้งนี้สะท้อนว่าความพยายามทำให้เกิดระบบ "สองพรรคการเมือง" ในญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงการเมืองที่มีสองพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคขับเคี่ยวกันนั้นกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนับตั้งแต่ที่มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2536

ก่อนหน้านั้นช่วงก่อนปี 2533 การเมืองของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวครอบงำมาโดยตลอดคือพรรคแอลดีพี ในยุคนั้นเคยมีพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่นที่มักจะได้ที่นั่งในสภาครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนของพรรคแอลดีพีแต่ก็ไม่สามารถท้าทายอำนาจแอลดีพีได้เพราะไม่มีสามารถตกลงกันทางอุดมการณ์กับพรรคอื่นในเชิงปฏิบัติได้ แต่ในสมัยนั้นเองแอลดีพีก็เคยมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันจึงมีการพยายามปรับเปลี่ยนระบบเพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลได้อย่างราบรื่น

ทากะฮาชิกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งเสริมให้เกิดพรรคใหญ่สองพรรคโดยหวังว่าจะทำให้ประชาธิปไตยในญี่ปุ่นเป็นไปในทางที่ดี จนกระทั่งในปี 2552 พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น (มินชูโต) หรือดีพี ก็ชนะการเลือกตั้ง แต่พวกเขาอยู่ได้ 3 ปีก็ทำให้ประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นจนกระทั่งแอลดีพีกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ตัวพรรคดีพีเองยังมีปัญหาภาพลักษณ์เพราะพวกเขาปล่อยให้ผู้นำเก่าๆ ที่เสียเครดิตตั้งแต่สมัยเป็นรัฐบาลยังคงดำรงตำแหน่งที่สำคัญในพรรคต่อไป แม้ว่าประชาชนจะไม่พอใจก็ตาม

นั้นทำให้เมื่อไม่นานมานี้มีการแยกตัวออกจากพรรคดีพีไปตั้งพรรคใหม่โดยเซย์จิ มาเอะฮาระ พาผู้สมัครลงเลือกตั้งออกไปตั้งพรรคใหม่ชื่อ 'คิโบโนะโต' หรือ 'พรรคแห่งความหวัง' ด้วยความหวังจะคว้าชัยการเลือกตั้งจากแอลดีพี แต่พรรคใหม่นี้กลับสูญเสียความเชื่อมั่นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ยูริโกะ โคอิเกะ หัวหน้าพรรคกีดกันไม่ให้กลุ่มซ้ายกลางจากพรรคดีพีที่ไม่เชื่อในแนวทางอนุรักษ์นิยมของโคอิเกะเข้าร่วมด้วย อีกทั้งแนวทางของโคอิเกะยังคล้ายกับแอลดีพีมากทั้งเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงในแนวทางอนุรักษ์นิยม

อย่างไรก็ตามฝ่ายซ้ายกลางจากดีพีเมื่อถูกกีดกันจากพรรคแห่งความหวังก็ไปตั้งพรรคใหม่ชื่อ 'พรรคริคเคนมินชูโต' หรือซีดีพี นำโดยยูกิโอะ เอดะโนะ ที่มีแนวทางต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการอนุญาตปฏิบัติการนอกอาณาเขตของกองกำลังป้องกันตนเอง (SDF) ส่งเสริมการพักใช้พลังงานนิวเคลียร์ชั่วคราว สนับสนุนการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ระงับแผนการขึ้นภาษีบริโภค และส่งเสริมการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

การเลือกตั้งญี่ปุ่นครั้งล่าสุดมีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งราวร้อยละ 53.68 จากผู้มีสิทธิทั้งหมด พรรคริคเคนมินชูโตที่มีแนวทางซ้ายกลางได้รับคะแนนโหวตความนิยมร้อยละ 19.88 ในการเลือกตั้งล่าสุดเทียบกับพรรคแอลดีพีที่ได้ร้อยละ 33.28 แต่ริคเคนมินชูโตก็ได้ที่นั่งในสภาก็ 55 ที่นั่ง เทียบกับแอลดีพีที่ได้ 284 ที่นั่ง ส่วนพรรคของโคอิเกะได้ไป 50 ที่นั่ง สภาพเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศแนวทางสองพรรคการเมืองที่ขับเคี่ยวอย่างสูสี

ทากะฮาชิประเมินถึงสาเหตุที่การเมืองในญี่ปุ่นเป็นแบบสองพรรคไม่สำเร็จเพราะว่า ประการแรก พวกเขาพยายามปฏิรูปการเลือกตั้งโดยอาศัยระบบแบบของเวสต์มินสเตอร์ แต่ระบบแบบนี้ไม่ได้สะท้อนวิถีปฏิบัติทางการเมือง หรือสะท้อนวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในสังคมหรือเศรษฐกิจญี่ปุ่นเลย เช่น พรรคดีพีมีโครงสร้างการจัดตั้งที่อ่อนแอเมื่อเทียบกับแอลดีพี พวกเขาเน้นการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพแรงงานมากแต่ฐานเสียงในภาคส่วนอื่นๆ ยังอ่อนแรง

ประการที่สองทากะฮามิมองว่าการเลือกตั้งในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังขึ้นอยู่กับความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อพรรคแอลดีพีในช่วงนั้นๆ มากกว่าจะเลือกเพราะแนวทางนโยบาย ในญี่ปุ่นมีกลุ่มคนที่ลงคะแนนแบบไม่เน้นยึดมั่นต่อพรรคใดราวร้อยละ 30-50 คนกลุ่มนี้เคยเลือกพรรคดีพีเพียงเพราะว่าไม่พอใจพรรคแอลดีพีในช่วงปี 2552 พรรคการเมืองอื่นๆ ที่กำเนิดมาจากการวิพากษ์วิจารณ์แอลดีพีก้มาได้ชั่วคราวแล้วก็หายไป พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนมากช่วงที่มีกระแสต่อต้านแอลดีพีมาก แต่ก็ไม่มีพัฒนาการที่ทำให้เกิดพรรคฝ่ายค้านที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นแกนหลักได้

ประการที่สาม ทากะฮามิระบุว่าการอภิปรายระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านในญี่ปุ่นไม่ค่อยเป็นไปในแบบที่ทั้งสองฝ่ายเท่ากัน ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลแอลดีพีกับโคเมย์โตะมักจะเป็นฝ่ายชี้แจงข้อวิจารณ์ไปในทางเดียว

ทากะฮามิมองว่าถึงแม้แอลดีพีจะได้เป็นรัฐบาลต่อไปแต่ก็ใช่ว่าชาวญี่ปุ่นจะพอใจในการเมืองญี่ปุ่นในปัจจุบัน เพราะจากความคิดเห็นของประชาชนแล้วพวกเขาดูระมัดระวังสงวนท่าทีมากกว่าเวลาพูดถึงพรรคแอลดีพี ทากะฮามิจึงเสนอว่าผู้กำหนดนโยบายควรรับฟังความไม่พอใจของประชาชนมากขึ้นและพยายามสร้างระบบการเมืองที่เอื้อให้มีการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองอีกครั้ง

ในบทบรรณาธิการของอีสต์เอเชียฟอรัมระบุถึงสาเหตุอีกแง่หนึ่งที่อาเบะรีบสั่งจัดเลือกตั้งด่วนเพราะต้องการสกัดผู้ที่ท้าทายเขาจากภายในพรรค รวมถึงกังวลเรื่องที่โคอิเกะเริ่มแสดงสัญญาณให้เห็นว่าเธอได้รับคะแนนนิยมจากชาวโตเกียวมากขึ้นและอาจจะมีแผนการท้าทายอาเบะในระดับประเทศในอนาคต ทำให้อาเบะต้องรีบจัดการเลือกตั้งระดับประเทศเสียตั้งแต่ตอนนี้

อย่างไรก็ตาม ออเรเลีย จอร์จ มุลแกน จากมหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาธ์เวลส์ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองญี่ปุ่นหลายเล่มกลับมองว่าญี่ปุ่นมีโอกาสจะกลายเป็นระบบสองพรรคการเมืองขับเคี่ยวกันได้ถ้าหากพรรคฝ่ายค้านมีจุดยืนของตัวเอง เขามองว่าพรรคริคเคนมินชูโตที่มีแนวทางซ้ายกลางมีศักยภาพในการกลายเป็นฝ่ายค้านกระแสหลักได้เพราะมีจุดยืนให้กับฝ่ายซ้ายกลางอย่างชัดเจน

 

เรียบเรียงจาก

Roadblocks to establishing a two-party political system in Japan, East Asia Forum, 24-10-2017
Japan’s elusive dream of ‘contestable party politics’,
East Asia Forum, 23-10-2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Constitutional_Democratic_Party_of_Japan

https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_general_election,_2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net