‘ผู้หญิง’ ติดโผ 100 ‘นักกีฬา’ ทำรายได้สูงสุดปี 2560 แค่คนเดียว

ช่องว่างรายได้ชาย-หญิงในวงการกีฬายังห่างกันลิบลับ 100 อันดับนักกีฬาที่ทำรายได้สูงสุดปี 2560 มีนักเทนนิสหญิงติดอันดับคนเดียว แต่ก็มีความก้าวหน้าอยู่บ้างเมื่อสมาคมฟุตบอลนอร์เวย์จะให้เงินอัดฉีดทีมชาติทั้งชายและหญิงเท่ากัน พบภาพผู้หญิงใน ‘วงการกีฬาไทย’ ขายความน่ารัก-เซ็กซี่ หรือในบทบาทที่คอย 'แคร์' หนุ่มนักกีฬาของตน

‘เซเรนา วิลเลียม’ คือนักกีฬาหญิงคนเดียวที่สามารถยืนหยัดอยู่ในลิสต์นักกีฬาที่ทำรายได้สูงสุดของปี 2560 ตามการจัดอันดับของฟอร์บส์ ที่มาภาพประกอบ: facebook.com/SerenaWilliams

29 ต.ค. 2560 จากการ จัดอันดับนักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดปี 2560 (The World's Highest-Paid Athletes 2017 RANKING) ของ forbes.com พบว่านักกีฬาชายมีรายได้สูงสุดในการจัดอันดับนี้ถึง 99 คน และมีผู้หญิงติดอันดับแค่คนเดียวเท่านั้น

ซึ่งหนึ่งเดียวคนนั้นก็คือนักเทนนิสอย่าง ‘เซเรนา วิลเลียม’ ที่ติดอยู่ในอันดับที่ 51 เธอทำรายได้รวม 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ค่าเหนื่อย-เงินรางวัลการแข่งขัน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจากรายได้อื่น ๆ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในการจัดอันดับในครั้งก่อน (2016 RANKING) วิลเลียมอยู่อันดับที่ 40 รายได้รวมต่อปีที่ 28.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ในการจัดอันดับครั้งก่อนยังมีมาเรีย ชาราโปวา อยู่ในอันดับที่ 88 มีรายได้รวมต่อปีที่ 21.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ส่วนอันดับ 1 ของนักกีฬาที่ทำเงินได้มากที่สุดในปี 2560 นี้ยังคงเป็นคริสเตียโน โรนัลโด ที่ทำเงินได้ถึง 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนักเทนนิสที่ทำเงินได้มากที่สุดคือโรเจอร์ เฟเดเรอร์ อยู่ในอันดับ 4 ของการจัดอันดับ โดยทำเงินได้ 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กีฬาเทนนิสที่ถือว่าให้ความสำคัญเรื่องเงินรางวัลที่เท่าเทียมทางเพศ การจัดอันดับล่าสุดของฟอร์บส์ก็พบว่านักกีฬาที่ทำเงินสูงสุด 100 อันดับแรกมีนักเทนนิสแค่ 6 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 1 คน ใกล้เคียงกับสถานการณ์ของกีฬาแบดมินตันที่ 5 อันดับนักแบดมินตันที่ทำเงินได้สูงสุดเป็นชาย 4 คน และหญิง 1 คน (แต่ไม่มีนักกีฬาแบดมินตันติดอันดับของฟอร์บส์) แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้วพบว่าอุตสาหกรรมกีฬาอาชีพส่วนใหญ่ค่าจ้าง เงินรางวัล และค่าตอบแทนของนักกีฬาหญิงยังไม่สามารถเทียบกับผู้ชายได้ (อ่านเพิ่มเติม: ช่องว่างค่าตอบแทนในเกมกีฬา ‘หญิง vs ชาย’)

ค่าแรงและรายได้ ที่ต่างกัน

เนื่องจากมูลค่าทางการตลาดรวมของการแข่งขันบาสเกตบอลหญิง (WNBA) ในสหรัฐฯ มีน้อยกว่าการแข่งขันของผู้ชาย (NBA) ส่งผลให้ช่องว่างค่าแรงของผู้หญิงและผู้ชายในกีฬานี้มีสูงด้วยเช่นกัน ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

โดยเฉลี่ยแล้วจากการทำงานทุกอาชีพในสหรัฐฯ พบว่าผู้หญิงจะมีรายได้เพียงร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับผู้ชาย แต่สำหรับนักกีฬาอาชีพนั้นสัดส่วนจะห่างกว่านี้มาก จากการรวบรวมข้อมูลของภาควิชาการจัดการกีฬา มหาวิทยาลัยอะเดลฟี (Adelphi University) พบตัวอย่างเช่น นักบาสเกตบอลหญิงจะมีรายได้เพียงร้อยละ 1.6 เมื่อเปรียบเทียบกับที่นักบาสเกตบอลชาย, นักกอล์ฟหญิงมีรายได้เพียงร้อยละ 16.6 เมื่อเปรียบเทียบกับที่นักกอล์ฟชาย, นักเทนนิสหญิงมีรายได้เพียงร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับนักเทนนิสชาย และนักฟุตบอลหญิงมีรายได้เพียงร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับนักฟุตบอลชาย เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากการแข่งขันกีฬาหลาย ๆ ชนิดก็จะเห็นช่องว่างทางรายได้ของชายและหญิงชัดเจน ทั้งนี้เป็นเพราะกีฬาในหลายชนิดที่การแข่งขันประเภทชายได้รับความนิยมมากว่าของผู้หญิง ทำให้เงินสนับสนุนจากหลากหลายทางมุ่งสนับสนุนไปที่การแข่งขันประเภทชายมากกว่า และต้นสังกัดทีมกีฬาต่าง ๆ สามารถจ่ายค่าแรงนักกีฬาชายได้มากกว่านักกีฬาหญิง

ตามที่ sports.vice.com เคยรายงานไว้เมื่อปี 2558 ว่านักบาสเกตบอลในลีก NBA ได้รับค่าจ้างร่วมกันเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าทางการตลาดรวมของลีก แต่ในลีกบาสเกตบอลของผู้หญิงอย่าง WNBA กลับได้ค่าจ้างรวมกันคิดเป็นเพียงร้อยละ 33 ของมูลค่ารวมของลีก ซึ่งลีก WNBA นั้นมีมูลค่าต่ำว่าลีก NBA อยู่หลายเท่าตัว (พิจารณาแค่จากมูลค่าการถ่ายทอดสดพบว่า NBA มีถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วน WNBA มีแค่ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการถ่ายทอดสด NBA ) ‘ไดอานา เทาราซี’ นักบาสเกตบอลหญิงที่ได้ค่าจ้างมากที่สุดใน WNBA อยู่ที่ 107,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนนักกีฬาบาสเกตบอลชายที่ได้รับค่าจ้างมากที่สุดใน NBA คือ ‘โคบี ไบรอัน’ ได้รับที่ 23.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าจ้างที่เทาราซีได้รับนั้นสามารถจ้างนักบาสเกตบอลชายในลีก NBA ที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดได้เพียง 198 นาทีเท่านั้น ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยของนักบาสเกตบอลชายใน NBA อยู่ที่ 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ส่วนนักบาสเกตบอลหญิงใน WNBA อยู่ที่เพียง 72,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

กีฬากอล์ฟเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ความต่างด้านเงินรางวัลในการแข่งขันของชายและหญิงเหลื่อมล้ำกันอยู่สูงมาก โดยการแข่งขัน PGA ของนักกอล์ฟชายมีเงินรางวัลรวมสูงถึง 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 ซึ่งสูงกว่าการแข่งขัน LPGA ของผู้หญิงถึง 5 เท่า โดยเงินรางวัลรวมของ LPGA ปี 2558 มีแค่ 61.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้นักกอล์ฟชายใน PGA มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 973,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนนักกอล์ฟหญิงใน LPGA มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 162,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

กีฬาการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมอย่าง UFC นักกีฬาฝ่ายหญิงมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 25,487 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนนักกีฬาชายอยู่ที่ 61,691 ดอลลาร์สหรัฐฯ, กีฬาคริกเกต ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกให้เงินรางวัลแก่ทีมแชมป์โลกชายที่ 3.975 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนแชมป์โลกทีมหญิงได้เพียง 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนกีฬาที่สหรัฐฯ เป็นแชมป์โลกอย่าง ‘ฟุตบอล(หญิง)’ ก็มีช่องว่างทางรายได้สูงเช่นกัน นักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ ถึงกับเคยออกมารณรงค์ 'เล่นเท่ากัน ค่าจ้างเท่ากัน' (Equal Play, Equal Pay) เพราะว่าทีมฟุตบอลหญิงของสหรัฐฯ ได้รับค่าตอบแทนเพียง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการที่พวกเธอคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อปี 2558 (พวกเธอคือทีมที่เก่งที่สุดในโลกเมื่อคว้าแชมป์โลกมาแล้ว 3 ครั้ง ในปี 2534, 2542, 2558) ส่วนทีมชายที่ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายเมื่อปี 2557 กลับได้ค่าตอบแทนรวมสูงถึง 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หนำซ้ำฟุตบอลโลกปี 2561 ที่จะถึงนี้ทีมชายก็ยังไม่ผ่านรอบคัดเลือก) (อ่านเพิ่มเติม: ฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ รณรงค์จ่ายค่าจ้างเท่าเทียมกับทีมฟุตบอลชาย)

‘ภาพของผู้หญิง’ ใน ‘สื่อกีฬา’

'มาดามเดียร์' วทันยา วงษ์โอภาสี อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี (ทีมชาย) ผู้สร้างความฮือฮาให้กับวงการฟุตบอลเมื่อไม่นานมานี้  ที่มาภาพ: facebook.com/dear.watanya.wongopasi

ดร.ทิฆัมพร เอี่ยมเรไร ภาควิชานิเทศศาสตร์, มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยเขียนบทความเกี่ยวกับภาพของผู้หญิงบนสื่อกีฬา โดยระบุเอาไว้ว่าแม้ภาพของผู้หญิงในโลกของการกีฬาโดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่า น่าจะดีขึ้นจากผลงานสร้างชื่อเสียงในหลายระดับ และก็มีผู้หญิงในหลากหลายอาชีพเข้ามาเกี่ยวข้องกับกีฬาทั้งในระดับบริหาร เช่น 'มาดามแป้ง' หรือ 'มาดามเดียร์' หรือในระดับผู้เล่นที่มีความสำเร็จมากมายในระดับโลก และระดับภูมิภาค

แต่โดยรวมแล้วภาพที่ปรากฏในสื่อกีฬากลับยังดูเหมือนว่าไม่ได้เปลี่ยนไปเลย พบว่าการจัดวาง 'ภาพผู้หญิง' ที่ปรากฏบนพื้นที่สื่อกีฬายังถูกจัดวางให้มีฐานะ 'เป็นรอง' ผู้ชายในเกือบทุก ๆ เรื่อง จากตัวอย่างการศึกษาในโลกตะวันตกนิตยสารกีฬาชื่อดังของโลกอย่าง Sports Illustrated และ ESPN รวมไปถึงเวลาออกอากาศ (airtime) ของรายการกีฬาระดับโลกทั้งในอเมริกา และในยุโรป เช่น รายการ Sportscenter พบว่ากว่า ร้อยละ 90 เป็นเรื่องของนักกีฬาชาย แต่จัดเวลาให้ไม่ถึงร้อยละ 10 ในการนำเสนอเกี่ยวกับนักกีฬาหญิง หนำซ้ำการเสนอภาพนักกีฬาหญิงในแบบที่ไม่ใช่คุณลักษณะของการเป็นนักกีฬา เช่น นักกีฬาสาวที่ได้ขึ้นปกนิตยสารกีฬามักจะถูกกำหนดให้โพสท่า (poses) สวยงามแลดูเซ็กซี่ นำไปรีทัช ถูกจับแต่งเติม หรือหนักกว่านั้นคือให้สวมใส่เสื้อผ้า และเลือกสถานที่ถ่ายทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับกีฬาเลย ที่สำคัญหลายภาพที่ปรากฏ สาวนักกีฬาถูกนำเสนอในแบบที่ดู ‘โป๊นิด ๆ’ (soft pornographic) เพื่อโชว์บางอย่างในเรือนร่าง

เช่นเดียวกับกรณีของไทยในปัจจุบัน ที่สื่อกีฬาของไทยมักนำเสนอภาพผู้หญิงไทยในแวดวงกีฬาวนเวียนอยู่กับประเด็นความสวยความงาม ความน่ารัก ความเซ็กซี่ หรือในบทบาทของการเป็นแฟน เป็นเมีย หรือเป็นแม่ที่คอย 'แคร์' หนุ่มนักกีฬาของตน แม้แต่ภาพนักมวยไทยหญิงบางคนที่มีชื่อเสียงก็ได้รับความสนใจเพียงเพราะเธอมีหน้าตาเรือนร่างที่สะสวยตาม 'ค่านิยมหญิงสาว' ในกระแสหลักของสังคม

 

ทีมฟุตบอลนอร์เวย์ ชาย-หญิง อีกหนึ่งความพยายามให้ค่าตอบแทนเท่ากัน

จากการรายงานของ independent.co.uk เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาระบุว่าสมาคมฟุตบอลนอร์เวย์ได้ประกาศว่าในปี 2018 สมาคมจะให้เงินสนับสนุนแก่ทีมฟุตบอลทีมชาติทั้งหญิงและชายเท่ากัน หลังจากที่ทีมฟุตบอลชายตกลงจะตัดเงินสนับสนุนของตนเองออกส่วนหนึ่งเพื่อนำไปเพิ่มให้ทีมหญิงเพื่อให้ทั้งสองทีมได้รับเงินสนับสนุนที่เท่าเทียมกัน โดยทั้งสองทีมจะได้รับทีมละ 6 ล้านโครเนอร์ (ประมาณ 5,700,000 ยูโร) ต่างจากประกาศการเงินฉบับเก่าที่ทีมชายได้รับ 6.55 ล้านอยู่ที่ ส่วนทีมหญิงอยู่ที่เพียง 3.1 ล้านโครเนอร์ ซึ่งหากมองผลงานในการแข่งขันระดับนานาชาติเป็นทีมหญิงที่ทำผลงานได้ดีกว่าทีมชายในหลาย ๆ ครั้ง โดยทีมฟุตบอลหญิงนอร์เวย์เคยเป็นแชมป์โลกเมื่อปี 2538 และปัจจุบันทีมฟุตบอลหญิงของนอร์เวย์รั้งอันดับที่ 14 ตามการจัดอันดับของ FIFA ส่วนทีมชายอยู่ในอันดับที่  58 (ข้อมูล ณ 28 ต.ค. 2560)

สมาคมนักกีฬานอร์เวย์ (Norske Idrettsutøveres Sentralorganisasjon หรือ NISO) ระบุว่านอร์เวย์กำลังเป็นผู้บุกเบิกเรื่องค่าตอบแทนที่เท่าเทียมระหว่างชายหญิงจากเกมกีฬาในภูมิภาคนี้อีกด้วย ส่วนกัปตันทีมชาติฟุตบอลชายอย่าง สเตฟาน โยฮันเซน ระบุว่านี่คือสิ่งที่ควรจะเป็น พวกเราต้องผลักดันให้ฟุตบอลของนอร์เวย์ก้าวไปข้างหน้า และผู้หญิงก็มีความสำคัญเท่ากันกับผู้ชาย 

 

ที่มาข้อมูล

A LOOK AT MALE AND FEMALE PROFESSIONAL ATHLETE SALARIES (sportsmanagement.adelphi.edu, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28/10/2017)
Basketball’s Gender Wage Gap Is Even Worse Than You Think (sports. vice.com, 12/8/2015)
Norway men's national team takes wage cut so players paid same as women's side (independent.co.uk, 7/10/2017)
The World's Highest-Paid Athletes 2017 RANKING (forbes.com, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28/10/2017)
Which Sports Have The Largest And Smallest Pay Gaps? (Andrew Brennan, forbes.com, 5/5/2016)
คอลัมน์: ขอคิดด้วยคน: 'ภาพ'สตรีบนพื้นที่สื่อกีฬา (ดร.ทิฆัมพร เอี่ยมเรไร, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันที่ 21/9/2560)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท