Skip to main content
sharethis
ประวิตร ระบุยังไม่มีแนวคิดปลดล็อคพรรคการเมือง ต้องรอการพิจารณาจากนายกฯ 'เพื่อไทย' จี้ คสช.เลิกถ่วงเวลา 'ชาติไทยพัฒนา' ระบุถึงเวลาแล้ว

แฟ้มภาพ (เฟซบุ๊ก  Wassana Nanuam )

30 ต.ค.2560 จากกรณีตามเงื่อนไขของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น พรรคการเมืองต้องเช็คชื่อจำนวนสมาชิกพรรค พร้อมกับการเลือกผู้บริหารพรรค กำหนดนโยบาย และตัดสินว่าจะส่งใครลงเลือกตั้ง ที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 5 ม.ค.2561 ต่อด้วยการรีเซตผู้บริหารพรรค เลือกหัวหน้าพรรคใหม่ ก่อนจะกำหนดนโยบายพรรค และประกาศอุดมการณ์พรรคให้ประชาชนทราบ ซึ่งต้องเสร็จภายใน 5 เม.ย. 2561 และเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง ประมาณการวันลงคะแนนเลือกตั้งอยู่ในช่วงเดือนพ.ย. ถึง ธ.ค.2561 จนทำให้หลายพรรคการเมืองออกมาเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปลดล็อคให้สามารถจัดกิจกรรมและประชุมได้นั้น

ประวิตร ระบุยังไม่มีแนวคิดปลดล็อค

วันนี้ (30 ต.ค.60) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า คสช. ยังไม่มีแนวคิดปลดล็อคพรรคการเมือง แม้กลุ่มการเมืองจะออกมาทวงสัญญา  เพราะยังไม่ได้ประชุมหารือ และเพิ่งจะเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และยังมีกลุ่มก่อความวุ่นวายอยู่ อย่างไรก็ตามจะต้องรอการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี แต่ในวันพรุ่งนี้ไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคสช.

พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกระแสข่าวการปรับครม. ตนไม่ทราบ ไม่มีสัญญาณ ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี และตนไม่จำเป็นต้องให้ข้อเสนอแนะ  ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหมถือว่ามีความพอใจในการทำงาน

เพื่อไทย จี้ คสช.เลิกถ่วงเวลา

ขณะที่ สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าคสช. ควรเลิกถ่วงเวลาในการปลดล็อคพรรคการเมืองได้แล้ว ไม่อย่างนั้น เราอาจเห็นพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมากต้องสูญพันธ์หรืออาจถูกยุบพรรค เพราะขาดคุณสมบัติในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กและมีระบบไม่แข็งแรง เนื่องจากอาจไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ 2560 เช่น การเพิ่มจำนวนสมาชิก การเพิ่มเงินทุนประเดิมพรรค และการเพิ่มสาขาพรรคตามจำนวนขั้นต่ำที่ ก.ม. กำหนด ซึ่งต้องดำเนินการผ่านที่ประชุมพรรค และต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค 60 ซึ่งเป็นวันที่ พรป. ว่าด้วยพรรคการเมืองดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้ พรรคการเมืองเก่ามีเวลาดำเนินการเหลือแค่ 157 วัน เท่านั้น ไม่ถึง 180 วัน ด้วยซ้ำ และจะยิ่งนับถอยหลังลงไปเรื่อย ๆ ทุกวัน แต่ คสช. กลับทำเป็นเฉยเรื่องปลดล็อคพรรคการเมือง เหมือนกับจงใจให้พรรคการเมืองทำงานไม่ทัน ไหนยังจะต้องเผื่อเวลาให้ กกต. ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่อีก ไม่ทราบว่าพวกท่านต้องการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดเป็นพิเศษหรือไม่ เพราะสื่อมวลชนโจษจันหนาหูเหลือเกินว่า คสช. กำลังแอบตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่นั้น กฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องเงื่อนเวลา 180 วันเอาไว้ ย่อมได้ประโยชน์ในกรณีนี้ 

อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า เรื่องนี้สะท้อนว่า คสช. และ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่จริงใจในการคืนอำนาจให้ประชาชนและไม่จริงจังกับการปฏิบัติตามโร้ดแม็ป ทั้ง ๆ ที่ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ รัฐบาลและ คสช. จึงไม่ควรพูดจาส่งเดชในเรื่องโร้ดแม็ป ที่สำคัญ พวกท่านควรหยุดโทษคนอื่นเสียทีว่าเป็นต้นตอของปัญหาทางการเมือง เพราะตัวเองก็เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเหมือนกัน จึงถือว่ามีส่วนก่อปัญหาในบ้านเมืองด้วย อย่ามาทำเป็นลืมหรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แถมพวกท่านยังได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะฉวยโอกาสยึดอำนาจโดยอ้างเรื่องความขัดแย้ง แต่พอเข้ามาบริหารประเทศ ก็ไม่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาความเดือดร้อน ทำให้ประชาชนมีความอดอยากปากแห้ง และมีความทุกข์มากกว่าในอดีตเสียอีก จงอย่าทำผิดซ้ำซาก เหมือนที่แอบผลาญงบประมาณแผ่นดินเพื่อจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วที่มีราคาแพงเกินความจำเป็น ในขณะที่ประชาชนทั้งประเทศกำลังรัดเข็มขัดและบ้านเรือนราษฎรหลายจังหวัดยังจมอยู่ใต้น้ำซึ่งท่วมสูงจนมิดหลังคาบ้าน โดยที่รัฐบาลช่วยอะไรไม่ได้ แต่พอเป็นเรื่องผลประโยชน์ของนายทุน รัฐบาลกลับมีปัญญาแอบประกาศใช้ ม.44 ยกเว้นการบังคับใช้ก.ม. ผังเมือง ใน 3 จังหวัดชายทะเลภาคตะวันออกที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง ๆ ที่ นักวิชาการและสื่อมวลชนคัดค้านเพราะกลัวว่า อาจเปิดช่องให้นายทุนเข้าไปสูบผลประโยชน์ทางทะเลของชาติและทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเนื่องจากไม่มี ก.ม. ควบคุมอีกแล้ว เป็นต้น

สาธิต ชี้หากให้อดีต ส.ส.ร่วมร่าง ก.ม.ลูกจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น

สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของพรรคต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยเรื่อง ส.ว. และ ส.ส. ภายหลังที่มีการปลดล็อคพรรคการเมืองแล้ว ว่า ก็คงจะทำได้แค่ส่งความเห็นของพรรคไปยัง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความเห็นในการจัดทำ พ.ร.ป.ฉบับต่างๆ ในนามส่วนตัวมาโดยตลอด โดยเฉพาะในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากให้เราไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ก็คงจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น เพราะว่าอดีต ส.ส.ก็ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แต่ทางกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมาย เขามองว่าพวกเราเป็นนักการเมือง กลัวว่าเข้าไปแล้วจะไปร่างกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้กฎหมายที่ผ่านมายังไม่สมบูรณ์เพราะเป็นแนวคิดในเชิงทฤษฎี แต่พอออกมาในทางปฏิบัตินั้นจะเป็นปัญหามากกว่า ดังนั้นก็จะมีเพียงแค่ไม่กี่ความเห็นของทางพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ได้รับการตอบสนองและถูกนำไปเขียนเป็นกฎหมาย

ชาติไทยพัฒนา จี้ปลดล็อค

ขณะที่เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ว่า ถึงเวลาปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้แล้ว เพราะร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศในราชกิจจาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 60 ซึ่งก็จะครบกำหนดเดือนแล้ว จากที่กำหนด 180 วันก็จะเหลือเพียง 150 วัน ทำให้พรรคการเมืองเสียโอกาสไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าพรรคการเมืองไม่สามารถทำอะไรได้เลยจะทำอย่างไร เป็นห่วงโดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมาก ต้องส่งจดหมายไปให้สมาชิกพรรคกว่าจะตอบกลับมา และต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)รับรองอีก ต้องใช้วเลาในการดำเนินการทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่ากลัวว่าหากเปิดให้บรรดาพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้วจะทำให้การบริหารงานของรัฐบาลมีปัญหา หรือยุ่งยาก รัฐบาลก็สามารถบริหารประเทศต่อไปได้

 

เรียบเรียงจาก  สำนักข่าวไทย ครอบครัวข่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ Voice TV และคมชัดลึกออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net