เปิดตัวเมือง กิน คน: คุณค่าผังเมือง แนวคิดผู้บริหาร ภาวะลูกเมียน้อยของท้องถิ่น

เข้าใจผังเมืองในฐานะรัฐธรรมนูญของท้องถิ่นและการเมืองของเมืองเมื่อคนกินกันเพื่อมีชีวิตที่ดี “กรุงเทพฯ เป็นการปกครองที่ล้าหลังที่สุดในประเทศไทย” กับทัศนคติผู้บริหาร โครงสร้างอำนาจที่ไม่ให้ค่าการมีส่วนร่วม สะท้อนภาวะลูกเมียน้อยของการปกครองท้องถิ่นและผังเมืองผ่านเรื่องผู้ว่าฯ แต่งตั้ง และกำแพงเมืองเชียงใหม่

จากซ้ายไปขวา: วสันต์ เหลืองประภัสร์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นิรมล กุลศรีสมบัติ ธเนศวร์ เจริญเมือง ส่วนทวิดา กมลเวชชได้รับการนำเสนอผ่านวิดีโอ

เมื่อ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา มีงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เมือง กิน คน แถลงการณ์ว่าด้วยเรื่องนคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมืองและสุขภาวะของไทย” เขียนโดย  ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ศ.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ทวิดา กมลเวชช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบและพัฒนาเมือง (UDDC) ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานจัดขึ้นที่ห้อง 103 อาคาร 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เข้าใจผังเมืองในฐานะรัฐธรรมนูญของท้องถิ่นและการเมืองของเมืองเมื่อคนกินกันเพื่อมีชีวิตที่ดี

พิชญ์กล่าวว่า ผู้คนพบหลักสูตรที่ผมเรียนมาเคยอธิบายคำๆ หนึ่งที่ผมหยิบมาใช้ เขาพูดว่าผังเมืองคือรัฐธรรมนูญของท้องถิ่น ผังเมืองคือกระบวนการจัดสรรอำนาจในท้องถิ่น ไม่ใช่ผังสี โซนนิ่งเป็นเพียงผลสะท้อนการต่อรองทางอำนาจของคนในท้องถิ่น ไม่ใช่มีเทวดามาสร้างให้คุณ แต่มันคือผลของการคุยกัน ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ทั้งการเมืองชาติและท้องถิ่นมันแก้ไม่ได้หรอก ถ้าอยากอธิบายให้คนไทยฟังเข้าใจว่าผังเมืองคืออะไร ผมอธิบายให้มันง่าย ผังเมืองคือหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เป็นจิตวิญญาณของเมืองที่จะหลอมรวมใจรวมกัน ไม่ใช่กระดาษ มันคือสิ่งที่จะปกป้องคุณจากภัยอันตราย เป็นสิ่งหลับตาดูแล้วรู้ว่ามันมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ในเมือง ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะแก้ไขเมื่อไหร่ก็ได้เพราะคุณมีอำนาจหรือมีเงิน ถ้าไปยกเลิกผังเมืองง่ายๆ มันเจ็บปวดเพราะมันทำลายวิญญาณของชุมชน มันทำลายชีวิตคุณ ผังเมืองไม่ใช่แค่เรื่องทางเทคนิคหรือแฟชั่นที่มาตามเวลา เช่นวันนี้พูดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) วันต่อไปพูดเรื่องการคืนกลับ (Resilience) แต่ในแต่ละยุคผังเมืองมันคือจุดหลอมรวมจิตวิญญาณ ถ้าไม่มีจุดนี้ยึดมั่น คุณจะร่างรัฐธรรมนูญทำไม

ผมว่าการเมืองของเมือง (urban politics)มันขนานไปกับเรื่องการศึกษาท้องถิ่น แต่เวลาเราพูดเรื่องท้องถิ่นเราจะไปโฟกัสที่กรอบกฎหมาย หน้าที่ ระบบราชการ ผมชวนคิดเรื่องเมืองเพราะมันเป็นอีกมุมหนึ่งของการปกครองท้องถิ่นที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องความเหมือนแบบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่นต้องศึกษาทั้งโครงสร้างอำนาจ การบริหารและธรรมชาติของพื้นที่ที่ต่างกันไป การเมืองของเมืองในโลกนี้คุยกันเรื่องการใช้อำนาจในเมือง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเชิงโครงสร้าง อำนาจเชิงอคติในชนชั้น สีผิว เพศ ไม่ใช่แค่เทคนิคการบริหารเมือง แต่เรียนเพื่อสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ ให้มองว่าถ้าทำอะไรในจุดหนึ่งแล้วมันจะไปสะเทือนกับชีวิตคนอื่นมากแค่ไหน

ผมอยากจะขยับไปอธิบายว่า ถ้าเราจะพัฒนาประชาธิปไตย เราจะต้องขยายความจากการปกครองของเสียงข้างมากไปสู่สิ่งที่สำคัญคือการตัดสินใจร่วมกัน (Collective decision making) ไม่ใช่การปกครองโดยคนบ้าคลั่ง สิ่งที่ประชาธิปไตยมีเหนือกว่าปกครองทุกแบบคือความเป็นกลุ่มก้อน ถ้าคุณเชื่อว่าเรารวมกันแล้วเราแก้ปัญหาได้คุณก็ต้องไปสู่ประชาธิปไตย เพราะไม่ว่าจะเป็นราชานักปราชญ์ จอมอหังการ์หรือการปกครองแบบชนชั้นสูง ไม่ใช่การตัดสินใจร่วมกันในระดับใหญ่ ศิลปะในการทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมกันก็คือประชาธิปไตย ถ้าคุณศรัทธาในการตัดสินใจแบบรวมหมู่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยมีส่วนร่วมแบบผู้ใหญ่ลีเรียกชาวบ้านมาพบ สิ่งที่เห็นในการเมืองระดับเมืองคือการตัดสินใจแบบรวมหมู่ ไม่ใช่การปกครองเสียงข้างมาก แล้วการตัดสินใจรวมหมู่มันจะไปตอบโจทย์รากฐานของประชาธิปไตยคือสิ่งที่เรียกว่าการปกครองตนเอง สิ่งที่ท้าทายคือเราจะปกครองตนเองอย่างไร ถ้าคุณต้องการปกครองตนเอง เชื่อว่ามากหัวดีกว่าหัวเดียวคุณก็ต้องเดินไปกับประชาธิปไตยแล้วสร้างสถาบันอะไรให้ประชาธิปไตยมันทำงานได้ บิ๊กดาตาของคุณมีไว้ให้กูเกิลเอาข้อมูลของคุณไปขาย หรือมีไว้ให้คุณสามารถตัดสินใจแบบรวมหมู่ได้ มันต้องมีตัวเราเข้าไปอยู่ในนั้น แล้วฐานของประชาธิปไตยต้องคือการปกครองตนเอง เหมือนกับตอนเป็นเด็กที่เราบอกพ่อแม่เราว่าผมโตแล้ว ผมจะปกครองตัวเอง เราเรียนการปกครองท้องถิ่นเราไม่เน้นคำว่าการปกครองท้องถิ่นด้วยตัวเองเลย ดังนั้นการเถียงเรื่องกระจายอำนาจมันเถียงกันไม่จบหรอก เพราะมันคือการย้ายอำนาจไปมา อำนาจในการปกครองมันต้องผลิตอำนาจเอง ข้อมูลใหม่ๆ มันทำให้เราผลิตอำนาจเองได้ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

เมือง กิน คนเริ่มจากเรื่องสุขภาวะเมือง เวลาพูดถึงเมืองที่มีสุขภาวะแล้วคุณพูดถึงใคร ผมพยายามอธิบายว่า เมือง กิน คนเป็นชื่อที่เรียงกันสามคำ คือคำว่า เมือง กิน คน สิ่งสำคัญเวลาเรียนรู้เรื่องเมืองคือการกินชีวิตกันในเมือง คำนี้พีฒนาจากทฤษฎีฝ่ายซ้ายว่าด้วยวิภาษวิธี (dialectic) มนุษย์สัมพันธ์กับคนอื่นและมีชีวิตที่ดีได้ด้วยการกินชีวิตคนอื่น แล้วการกินในพื้นที่หนึ่งๆ มันมีรูปแบบอย่างไร เรานั่งในห้องแอร์เย็นๆ แล้วเราเห็นใจคนที่ร้อนไหม เราอยากได้เมืองที่สวยแล้วเราต้องขับไล่คนจำนวนหนึ่งออกจากเมืองไหม ทำอย่างไรเราจะออกแบบเมืองที่เราอยู่ด้วยกันได้

“กรุงเทพฯ เป็นการปกครองที่ล้าหลังที่สุดในประเทศไทย” กับทัศนคติผู้บริหาร โครงสร้างอำนาจที่ไม่ให้ค่าการมีส่วนร่วม

พิชญ์กล่าวว่า ปัญหาของ กทม. มีสองข้อ หนึ่ง การทำงานเต็มที่ไม่สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ เขามีปัญหากับการสื่อสารกับประชาชนว่าทำอะไรบ้าง ปัญหาที่สองคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำได้เท่านั้น โครงสร้าง กทม. คือการปกครองท้องถิ่นที่ล้าหลังที่สุดในประเทศไทยจากแต่เดิมเคยเป็นที่ๆ ก้าวหน้าที่สุด แต่ตอนนี้ก้าวหน้าอันเดียวคือมีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่ล้าหลังคือเขตทั้ง 50 เขตไม่มีภาระความรับผิดชอบกับประชาชนเลย ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ กทม. คือเขต ถ้าไม่รื้อระบบเขตก็ไม่สามารถพัฒนา กทม. และประชาธิปไตยของประเทศได้ ผมยกตัวอย่างเรื่องน้ำท่วม บ้านผมน้ำท่วมผมยังไม่รู้เลยว่า ผอ. เขตบางนาเป็นใคร ประเด็นคือ ข้ามจากลาซาลไปแบริ่ง น้ำท่วมเท่ากันแต่ผมเห็นรถเทศบาลออกไปประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบว่าน้ำท่วมครับ ขอโทษนะครับ จะรีบทำให้น้ำลงภายในกี่วันๆ ออกมาให้ด่าจริงๆ เพราะรู้ว่าทำอะไรไม่ได้ ผมยังไม่เคยรู้เลยว่าตัวแทนสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) บ้านผมเป็นใคร และ ส.ข. ไม่มีอำนาจอะไรเลย เขตไม่มีความรับผิดกับประชาชนเลย ถ้าเทียบกับเทศบาลที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า

นิรมลเล่าถึงโครงการยานนาวา ริเวอร์ฟรอนท์ ที่มีวัตถุประสงค์ให้พื้นที่ริมน้ำตั้งแต่สะพานกรุงธนบุรีถึงกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สาธารณะ เราเจอพื้นที่หนึ่งคือยานนาวา แถวๆ รถไฟฟ้า BTS ตากสิน ความยาวประมาณ 1 กม. เป็นจุดๆ เดียวที่รถ รางและเรือมาต่อกัน มีโรงเรียน โรงแรม และชุมชนแออัดที่สุดแห่งหนึ่งของ กทม. เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ที่เจ้าของจำนวนร้อยละ 85 เป็นศาสนสถาน หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่เป็นพื้นที่กลางเมืองและเป็นพื้นที่ริมน้ำแต่ก็ไม่มีพื้นที่ทางกายภาพให้คนมาคุยกัน จึงเริ่มมีเวิร์คชอปเมื่อปี 2556 มีการหยั่งเสียงแล้วพบว่ามติส่วนมากเห็นด้วยที่จะพัฒนาพื้นที่ จึงค่อยๆ มีการประชุมเจ้าของที่ดิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายก็มีการตั้งทีมงานพัฒนาพื้นที่ริมน้ำตามที่ทุกคนตกลงกันได้อย่างฉันทามติจากเจ้าของที่ดินและคนที่เกี่ยวข้องในปี 2558 เส้นทาง 1 กม. มีการออกแบบตามความสอดคล้องกับเจ้าของที่ดินแต่ละราย

แต่หลังจากที่เราบรรลุข้อตกลงกับเจ้าของที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการก็หยุดชะงัก เพราะ กทม. ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลที่มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ 14 กม. ทาง กทม. เลยให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าวมากกว่า ทำให้โครงการของเราเป็นดาวค้างฟ้า แม้จะเดินหน้าจนถึงขั้นได้ฉันทามติแล้ว โครงการยานนาวาตอนนี้ก็ยังหยุดนิ่งอยู่ กทม. ให้น้ำหนักกับโครงการของรัฐบาลมากกว่า เลยย้อนกลับมาที่ประเด็นที่พิชญ์และธเนศพูดไว้ คือ เวลาคนมองว่า กทม. สภาพแย่ ไม่น่าอยู่ ไม่ใช่ว่าเพราะประชากรไม่ตื่นตัว แม้เราจะมีพื้นที่ให้คนออกมาต่อรอง มีส่วนร่วมแล้วแต่โครงสร้างอำนาจไม่เอื้อ ผลมันจึงไม่เกิด

นิรมลยังได้กล่าวว่าตนเรียนการออกแบบพื้นที่ทางกายภาพเป็นหลัก ยิ่งทำงานที่่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDC) ยิ่งเห็นบริบทประเทศของเราก็ยังไม่เห็นมรดกในการบริหารจัดการเมืองที่ดี ถ้าเราไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้ โอกาสการสร้างกายภาพเมืองที่ฝันกันมันยากมาก เวลาเราทำผังแต่ละผัง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เราจะถามเสมอว่าเราทำไปให้ใคร เรื่องที่พิชญ์บอกเรื่องโครงสร้างอำนาจก็พยายามเข้าใจว่าในพื้นที่นี้ใครมีและไม่มีอำนาจ แล้วเราจะทำให้คนไม่มีอำนาจมีพื้นที่ในการต่อรองได้อย่างไร

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสมีขนาดเมืองเล็กกว่ากรุงเทพฯ 15 เท่า แต่แบ่งย่อยเป็นเขตการปกครองเยอะมาก มีการเลือกตั้งสองระดับทั้งนายกเทศมนตรีปารีสและระดับเขต กรุงโตเกียวเองในปี 80 ก็เห็นว่ามหานครโตเกียวใหญ่เกินกว่าที่ผู้ว่าคนเดียวจะปกครองหมด จึงมีการซอยย่อยเป็นเขตพิเศษ แต่ของกรุงเทพฯ เขตทั้ง 50 เขตเป็นเหมือนส่วนท้องถิ่นที่รอคำสั่งจากผู้ว่าฯ กทม. เพียงคนเดียว หน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นของปารีสก็ครบเครื่องตามมาตรฐาน คือมีหน้าที่พัฒนาเมือง สร้างสรรค์คุณภาพแวดล้อมเมืองและพัฒนาพื้นที่สาธารณะ นอกจากนั้นอาจมีอะไรที่เป็นเชิงรูก เช่น พัฒนา ฟื้นฟูพื้นที่ที่ยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ ช่วงหนึ่งปารีสทำการสำรวจพบว่าด้านตะวันตกมี การเคหะเพื่อสังคม (social housing) ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด เพราะเป็นพื้นที่คนรวย ทางเมืองปารีสจึงมีนโยบายที่จะไปแทรกแซงเขต 16 ในปารีส ปรากฏว่าคนประท้วงกันจนเป็นข่าวใหญ่โตเพราะคนรวยไม่อยากให้คนจนมาอยู่ในเขตของตน นายกเทศมนตรีเขต 16 ให้สัมภาษณ์ว่าเขตจะฟ้องเมืองกลับโทษฐานจัดนโยบายขัดกับคนในพื้นที่ วิธีคิดแบบนี้มันไม่มีในสมการของคนในกรุงเทพหรือแม้แต่เมืองไหนก็ตาม

สะท้อนภาวะลูกเมียน้อยของการปกครองท้องถิ่นและผังเมืองผ่านเรื่องผู้ว่าฯ แต่งตั้ง และกำแพงเมืองเชียงใหม่

ธเนศวร์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่สุดในเล่มนี้คือเมืองเป็นที่อยู่ของคน ทุกเรื่องของเราเกี่ยวพันกันไปหมด เช่นประโยชน์ของหนึ่งที่ก็ไปกระทบกระเทือนคนอื่นด้วย ปัญหาน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นผลของความใช้ไม่ได้ของระบบผังเมือง เราต้องการพื้นที่เรียบๆ เราก็ถม เรากลัวน้ำจะท่วมเราก็ถมให้สูงขึ้นไปอีก ที่บ้านผมที่เชียงใหม่ การขยายบ้านและเขตราชการรอบดอยสุเทพทำให้ร่องน้ำและลำห้วยกว่า 70 กว่าลำห้วยถูกปิดด้วยเหตุผลนานัปการ พอฝนตกลงมาเยอะๆ มันก็ไหลสู่ที่ต่ำที่สุดก็เลยกลายเป็นคลองระบายน้ำขนาดใหญ่บนถนนสุเทพและหลายๆ จุด

ทำไมสิ่งที่พิชญ์พูดในหนังสือว่าเมืองมันเหมือนจะไม่มีกิจกรรมเรื่องกินเรื่องอยู่ เหมือนจะเอาของชนบทมากินตลอด ก็ศูนย์อำนาจที่เกิดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็ล้วนเกิดมาจากเมืองทั้งนั้น มนุษย์เริ่มต้นรวมตัวกันก่อน สร้างบ้านเมือง สร้างกำแพง ชาวนากระจอกๆ ให้ออกไปอยู่ข้างนอก เราไม่ได้ความสำคัญ ที่ผ่านมาความเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจมากมันกระจุกที่เมือง ที่ผ่านมาเราสังเกตจะพบว่า ที่ผ่านมา ในการศึกษาระดับอุดมศึกษา เราศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์เมืองไหม เรามีวิชาประวัติศาสตร์ไทย แต่เรามีวิชาประวัติศาสตร์ปักษ์ใต้ สงขลา ขอนแก่น อีสานไหม ถ้ามีก็น่าจะช่วยให้คนเข้าใจท้องถิ่นได้มากขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของผังเมือง เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ผมก็เสนอว่า การปกครองท้องถิ่นหรือการปกครองเมือง การบริหารจัดการท้องถิ่นคือมรดกที่สำคัญของโลก นี่คือสิ่งที่เราต้องเสนอขึ้นมาว่า เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันแล้วสร้างระบบบริหารที่ดี มันจึงเป็นระบบที่สำคัญ ผังเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญแต่เราให้ความสำคัญน้อย ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ควรเป็นที่ๆ สงบและดีที่สุดในเมืองกลายเป็นที่ตั้งของโรงแรมราคาถูกที่สุด คำถามคือทำอย่างไรกับกระบวนการผังเมืองจนทำให้พื้นที่ที่ดีที่สุดของเมืองเป็นพื้นที่โรงแรมราคาถูกที่สุด

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังกล่าวว่า การที่เราไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นใครที่ไหนในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ไม่มีปัจจัยมากระแทกสังคมไทยให้เราตระหนักว่าอะไรคือปัญหา พอตะวันตกเข้ามาพัฒนาในแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ เราก็กลายเป็นเมืองที่โตขึ้น แต่รัฐที่กลัวสูญเสียที่ดินและรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป เมื่อคอมมิวนิสต์บุกก็หวาดกลัวคอมมิวนิสต์อีก รวบอำนาจสู่ส่วนกลาง เขม็งเกลียวมากขึ้นด้วยการเอาอำนาจส่วนภูมิภาคมาครอบส่วนท้องถิ่นเอาไว้อีกที การทับซ้อนของอำนาจระหว่างภูมิภาคกับท้องถิ่นก็แบ่งกันอย่างที่เห็นในเวลานี้ ก็แบ่งแยกกันไป แย่งชิงกันมา ระบบการศึกษาไม่ให้ความรู้เรื่องท้องถิ่น แต่ถ้าไม่ให้อำนาจเขาลงมาดูแลจริงๆ ยังให้คนที่อื่นมาเป็นผู้ว่าฯ ไม่นานเท่าไหร่แล้วก็ย้าย ในเมื่อคนอื่นมาทำให้เราหมดแล้วเราก็อยู่ๆ ของเราไป

อีกเรื่องคือ ยังไม่เคยเห็นบทบาทของกลุ่มธุรกิจมาพูดเรื่องสิทธิการปกครองตนเองของท้องถิ่นอย่างจริงจัง ความคิดอันนี้ก็คงเปลี่ยนไปเยอะ มีคนจำนวนมากขึ้นที่อยากมีส่วนตรงนี้ สมัยที่รณรงค์เรื่องขอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่เชียงใหม่เมื่อสิบปีกว่าปีก่อนก็โดนตัวแทนกระทรวงมหาดไทยบอกว่าไม่ได้ เพราะเชียงใหม่ติดกับพม่า กลัวว่าจะมีคนหาเสียงแล้วชูนโยบายแยกตัวไปอยู่กับพม่า เราก็ถอยให้สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานีเริ่มก่อน แต่จนบัดนี้ก็ไม่มี

เมื่อมีผู้ว่าฯ กทม. แบบเลือกตั้งเมื่อปี 2522 ก็ไม่มีการเรียกร้องให้มี แต่คิดว่าเป็นเพราะไปดูงานจากต่างประเทศแล้วพบว่ามีผู้ว่าฯ ที่เข้มแข็ง มาจากการเลือกตั้ง แต่ในต่างจังหวัดที่อยากได้ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งกลับไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท