Skip to main content
sharethis

46 องค์กรเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ร้องใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังเนื่องจากเป็นหญิงสูงอายุผู้กระทำผิด ยกกรณี 'สุภาพ คำแหล้' คดีบุกรุกป่าฯ หวังเป็นแนวนโยบาย ย้ำหลายคนทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพังของผู้กระทำนั้น แต่มีองค์ประกอบทางสังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ 

สุภาพ คำแหล้
 
3 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสายของวันนี้ที่สำนักงานประธานศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 46 องค์กร ยื่นหนังสือถึง ชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังเนื่องจากเป็นหญิงสูงอายุผู้กระทำผิด จากกรณีศาลฎีกาพิพากษา จำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา สุภาพ คำแหล้ หญิงสูงอายุวัย 67 ปี   เมื่อวันที่ 27  ก.ค.ที่ผ่านมา คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม  เมื่อวันที่  1 ก.ค. 2554  ร่วมกับ เด่น คำแหล้ สามีของสุภาพ ซึ่ง เด่น ผู้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน ที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2559 
 
คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า อรนุช ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงปกป้องที่ดินทำกิน และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เปิดเผยว่า สุภาพเป็นราษฎรที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและถูกศาลพิพากษาจำคุก ซึ่งมีอายุมากแล้ว แต่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยกรณีหญิงในที่คุมขัง ให้พิจารณามาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังและแก้ไขสาเหตุรากเหง้าของการกระทำผิดกฎหมายของผู้หญิง และข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง จึงมายื่นหนังสือเพื่อให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาบทลงโทษทางเลือกแทนการจำคุก มีความจำเป็นที่น่าจะพิจารณาทบทวนการลงโทษผู้สูงอายุที่มิใช่คดีอุกฉกรรจ์ คดีที่ สุภาพ ได้รับเป็นคดีเชิงนโยบายและเป็นคดีที่ถูกละเมิดสิทธิ อาจจะใช้บทลงโทษทางเลือกอื่นๆ เช่น การทำงานสาธารณะในชุมชนหรือบำเพ็ญประโยชน์ เพราะสำหรับผู้สูงอายุ เรื่องสุขภาพและจิตใจมีผลพอสมควร
 
อรนุช กล่าวถึงความเป็นมาของคดีนี้ว่า กรณีพิพาทเกิดตั้งแต่ปี 2554 ที่ชุมชนโคกยาว นายเด่นและนางสุภาพได้ตกเป็นจำเลย ชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวน และมีกระบวนการแก้ไขปัญหามาหลายรัฐบาล ซึ่งหลังจากที่ถูกจับดำเนินคดี นายเด่นและนางสุภาพได้ต่อสู้คดี จนศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้น  แต่สภาพความเป็นจริงนายเด่นถูกทำให้หายไปและเสียชีวิต สุภาพถูกจับกุมคุมขังและไม่มีบุตร สิ่งที่เป็นภาระคือไม่มีผู้ดูแลบ้าน ไม่มีใครช่วยเหลือนอกจากคนในชุมชน เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากนางสุภาพอยู่มาก่อน ส่วนกรณีนายเด่นนั้น ผลการพิสูจน์ดีเอ็นเอออกมาแล้วว่าวัตถุพยานที่พบคือนายเด่นเสียชีวิตแล้ว แต่สถานะยังเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดี เป็นความไม่เป็นธรรม 
 
ความคืบหน้าคดีของ เด่นที่ถูกอุ้มหาย อรนุช เปิดเผยว่า ยังไม่มีความคืบหน้า ตำรวจพยายามสรุปไปว่าถูกสัตว์ป่าทำร้าย ทางเครือข่ายฯ ก็มองว่าไม่ใช่แน่นอน เพราะวัตถุพยานและข้อสังเกตพบว่ามีข้อสงสัยมากมาย เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องติดตาม เราได้ประสานกับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ก็บอกว่าต้องมีการสืบค้นสืบสวนหาวัตถุพยานเพิ่มขึ้นอีก เพราะเราพบชิ้นส่วนของกะโหลกอย่างเดียว แต่ชิ้นส่วนอื่นยังไม่เจอ จึงเป็นไปไม่ได้ที่บอกว่าสัตว์ป่าทำร้าย
 
ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม ปานจิตต์ แก้วสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ กล่าวถึงการยื่นข้อเรียกร้องในวันนี้ ศาลฎีกามีผู้แทนฝ่ายกฎหมายและระเบียบมารับข้อเรียกร้อง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะว่า ศาลจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาและทำความเข้าใจกรณีอื่นๆ เพราะว่าบางครั้งศาลไม่มีข้อมูลทั้งหมดในการพิจารณา โดยตัวแทนจะนำข้อเรียกร้องนี้ไปส่งต่อยังประธานศาลฎีกา พร้อมทั้งมีคณะที่จะพิจารณาเนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะถูกบันทึกลงไปในคดีนี้ด้วย จะเป็นข้อมูลการทำงานของศาลต่อไป 
 
เนื่องจากคดี สุภาพ ถึงที่สุดแล้ว ปานจิตต์ กล่าวว่า เรื่องการปรับลดโทษ ทางผู้รับเรื่อง แจ้งว่า อาจไม่สามารถก้าวล้ำในการพิพากษาไปได้แล้ว แต่ให้ทางเรายื่นทางกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาเป็นแนวนโยบายการขอลดโทษหรือหาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การคุมขัง พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะในช่วงระหว่างดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นต้นถึงฎีกา ทนายความสามารถที่จะยื่นเรื่องขอบรรเทาโทษไปได้ตลอดด้วย 
 
ปานจิตต์ อธิบายถึงข้อเรียกร้องลงโทษอื่นนอกจากคุมขังว่า การกระทำความผิดไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพังของผู้กระทำนั้น แต่มีองค์ประกอบทางสังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ มันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ข้อกำหนดกรุงเทพเช่นกัน โดยใช้ทางเลือกโดยการดูแลโดยชุมชน มีพื้นที่ที่จะให้ผู้หญิงไม่ถูกคุมขังในเรือนจำ รวมทั้งการคุมประพฤติ เป็นต้น
 
ปานจิตต์ กล่าวย้ำด้วยว่า ไม่ได้เรียกร้องเฉพาะ สุภาพ แต่จะรณรงค์ต่อเนื่องโดยหวังให้เป็นแนวนโยบายของกระบวนการยุติธรรมในอนาคต ทั้งหญิงและชาย โดยหวังว่าศาลจะนำการลงโทษอื่นมาพิจารณาได้หากเข้าเงื่อนไขความผิดจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม หรือความไม่เป็นธรรม ตามหลักการสิทธิมนุษยชน 
 

หนังสือถึงประธานศาลฎีกา : 

 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net