'สหภาพแรงงานพิพัฒน์-นายจ้าง' เซ็นข้อตกลงปรับสภาพการจ้างแล้ว หลังเจรจากว่า 2 เดือน

สหภาพแรงงานพิพัฒน์ฯ-นายจ้าง ร่วมลงนามในข้อตกลงการปรับสภาพการจ้างแล้ว บริษัทยอมขึ้นเงินประจำปี เงินค่ารองเท้า ฯลฯ แต่ไม่ยอม ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งที่ยื่นมาหลายปี นักสหภาพเผยยุครัฐบาลทหารเคลื่อนไหวยาก

7 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (7 พ.ย.60) เมื่อเวลา 11.50 น.ที่สํานักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรปราการ ตัวแทนสหภาพแรงงานกิจการปั่น-ทอแห่งประเทศไทย(พิพัฒนสัมพันธ์) กับนายจ้าง ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการปรับสภาพการจ้างงาน หลังสหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเรียกร้องปรับสภาพการจ้างงานและพิพาทแรงงานกว่า 2 เดือน

เซีย จำปาทอง อายุ 46 ปี ประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องที่ยื่นมีจำนวน 13 ข้อ โดยบริษัทยอมตกลง ประกอบด้วย เงินขึ้นประจำปี เงินค่ารองเท้า ที่เรียกร้องให้จ่ายเป็นเงินแทนการจ่ายเป็นรองเท้า เรื่องค่าพาหนะกรณีพนักงานลาออกงานและเกษียณอายุ เงินของขวัญปีใหม่และเงินค่ากะที่ได้เพิ่มมา

สำหรับข้อเรียกร้องที่ยื่นแล้วไม่ได้รับการปรับปรุงนั้น เซีย กล่าวว่าคือ การตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ถือเป็นหัวใจของการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสหภาพการจ้างงานในครั้งนี้ และยื่นมาหลายครั้งแล้ว นอกจากนี้ข้อที่ไม่ได้รับการปรับปรุงคือ การเพิ่มโบนัส และการรับคนงานเหมาค่าแรงเป็นคนงานประจำ

การยื่นข้อเรียกร้องเพื่อปรับสภาพการจ้างงานของสหภาพแรงงานกิจการปั่น-ทอแห่งประเทศไทย(พิพัฒนสัมพันธ์)นั้น ประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าวว่าจะยื่น 2 ปีต่อครั้ง แต่ครั้งหลังสุดนั้นตกลงกันตั้งแต่ปี 57 โดยที่ปี 59 ซึ่งครบอายุข้อตกลง แต่มติที่ประชุมสหภาพแรงงานตกลงกันว่าจะไม่ยื่นข้อเรียกร้องในปีนั้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่ดี นายจ้างมีการปิดเครื่องจักรบางส่วน แต่เมื่อขึ้นปีนี้ (60) ที่ประชุมใหญ่ของสหภาพมีมติให้ยื่นข้อเรียกร้อง เพราะสถานการณ์โดยรวมของบริษัทดีขึ้น มีการเปิดเครื่องจักร มีโอที จึงให้คณะกรรมการสหภาพยื่นข้อเรียกร้อง

สำหรับการยื่นข้อเรียกร้องและเจรจาครั้งนี้ ประธานสหภาพแรงงานฯ กล่าวว่า ใช้เวลานานมากเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ยื่นข้อเรียกร้องตั้งแต่ 23 ส.ค.60 เจรจาทวิภาคี 8 ครั้ง และเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ก็แจ้งพิพาทแรงงาน จึงเจรจาที่ สนง.สวัสดิการฯ อีก 6 ครั้ง

สำหรับยุครัฐบาลทหารนี้ เชีย กล่าวว่า การชุมนุมเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่ที่สหภาพฯ เรานั้นจะถือว่าเป็นการชุมนุมก็ได้หรือเป็นการมารอฟังคำชี้แจงก็ได้ เนื่องจากพวกตนไม่ได้ชุมนุมอย่างเป็นทางการมาก เมื่อสมาชิกมารอหลายคนก็ใช้โทรโข่งและเครื่องเสียงเล็กแจ้งสมาชิก โดยใช้พื้นที่ของสโมสรในโรงงานชี้แจง

เซีย ซึ่งทำงานสหภาพแรงงานมากว่า 20 ปี และยังเป็นกรรมการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความสำคัญของการมีสหภาพแรงงานว่า สหภาพจะทำหน้าที่แทนคนงานในการแสวงหาผลประโยชน์และคุ้มครองผลประโยชน์ของคนงาน โดยนายจ้างส่วนมากจะไม่ได้จัดให้กับคนงาน ดังนั้นเมื่อมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแล้ว สหภาพก็จะทำหน้าที่ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้คนงานมีค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น โดยทั่วไปแล้วโรงงานที่มีสหภาพแรงงานจะมีสวัสดิการที่ดีกว่าโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน

อย่างไรก็ตามการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เซีย เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองและกลุ่มพยายามเข้าไปจัดตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานอื่นๆ ว่า เมื่อไหร่ที่นายจ้างทราบว่ามีการเตรียมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน นายจ้างก็จะเลิกจ้างคนที่เป็นแกนนำที่จัดตั้งสหภาพ

ประธานสหภาพฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ สหภาพแรงงานกิจการปั่น-ทอแห่งประเทศไทย(พิพัฒนสัมพันธ์) ด้วยว่า ตั้งอยู่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ได้รับการจดทะเบียนตั้งแต่ 2518 คือตั้งแต่มี พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ใหม่ๆ ปัจจุบันมีสมาชิก 307 คน เป็นลูกจ้างบริษัทพิพัฒนกิจเท็กซ์ไทล์ จํากัด นอกจากคนงานประจำแล้ว ในโรงงานยังมีบริษัทเหมาค่าแรง 2 บริษัท โดยที่ 1 บริษัทเป็นแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นคนงานรวมประมาณ 500 คน สำหรับข้อตกลงสภาพการจ้างนั้นบางข้อครอบคลุมคนงานเหมาค่าแรงส่วนหนึ่งด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท