Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 

“…นักหนังสือพิมพ์นั้นก็เหมือนคนผู้ถือสาสตราวุธอยู่ในมือ คนถืออาวุธที่มีเกียรติยศจำเป็นต้องมีจรรยาและธรรมะในการใช้อาวุธ นักหนังสือพิมพ์ก็เช่นเดียวกัน มีปากกาเปนอาวุธ จะใช้ปากกาเปนคุณและโทษแก่ผู้ใดย่อมจะใช้โดยมีจรรยาและธรรมะ ตามที่รับนับถือกันในวงการหนังสือพิมพ์ที่มีอารยะธรรม นักหนังสือพิมพ์ใดใช้ปากกาของตนโดยปราศจากจรรยาและธรรมะก็เป็นผู้ไร้เกียรติยศ และเป็นผู้ทำลายเกียรติยศของวงการหนังสือพิมพ์ส่วนรวม...”

กุหลาบ สายประดิษฐ์

คำกล่าวของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา นักคิดและนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในสังคมไทย สะท้อนให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนนั้นเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น  ความดีหรือความไม่ดีทั้งหลายจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากสื่อ แต่เกิดขึ้นจาก “คน” ที่ทำงานด้านสื่อ และยิ่งสื่อมีผลกระทบต่อสังคมมากเท่าไหร่ คนที่ทำงานด้านสื่อก็ยิ่งต้องตระหนักในการทำหน้าที่และจริยธรรมการสื่อสารมวลชนมากขึ้นเท่านั้น

หากเรายอมรับ เปาโล เฟรเร (Paulo Freire) ที่เคยพูดในทางศึกษาศาสตร์ไว้ว่า “ครูคือผู้กระทำทางการเมืองแทนรัฐ” ได้ เราก็อาจจะพูดในทางการสื่อสารมวลชนว่า “นักสื่อสารคือผู้ประกอบสร้างทางการเมือง” ได้ด้วย จากวิธีคิดของ แมค ลูแอ้น (Marshall McLuhan) ที่ว่า “ Medium is the message ”

ผมในฐานะนักศึกษาการสื่อสารมวลชน ย่อมรู้และตระหนักดีว่า การสื่อสารเป็นเครื่องมือทางการเมือง และยุคหนึ่งของไทยเคยเป็นวิชาในคณะรัฐศาสตร์ด้วยซ้ำ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่า การที่จะศึกษาวิชาการสื่อสารมวลชนจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิชาทางการเมืองด้วย และการจะบรรลุเป้าหมายของการศึกษาการสื่อสารมวลชนได้นั้น ต้องตระหนักให้ได้ว่า “สาร” ไม่สามารถอยู่ได้หรือแพร่สู่มวลชนได้ด้วยตัวของมันเอง ฉะนั้น “นักสื่อสาร” จะต้องพึงระลึกเสมอว่าตนนั้นกำลังกระทำทางการเมืองอยู่

การที่จะศึกษาทำความเข้าใจการสื่อสารมวลชนที่ผ่านๆ มา เพื่อทำความเข้าใจการสื่อสารมวลชนในปัจจุบันนั้น กรณีศึกษาจึงเป็นกรณีทางการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น กรณีสงครามโลกครั้งที่ 1 กรณีการโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์ หรือแม้แต่กรณีการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย เป็นต้น

การหยิบประสบการณ์ร่วมในชั้นเรียนมาทำความเข้าใจ เทียบเคียง หรืออธิบายกระบวนการและทฤษฎีการสื่อสารมวลชนจึงสำคัญมาก พอๆ กับการเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ในวงการการผลิตสื่อ

ในคาบเรียนวิชาทฤษฎีการสื่อสารมวลชน (Theories of Mass Communication) อาจารย์ท่านหนึ่งสอนเรื่องผู้รับสารที่กลายเป็นผู้นำทางความคิด (opinion leaders) ในการส่งต่อข้อมูล เลยยกกรณีศึกษา “การเลือกตั้ง” เป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นประสบการณ์ร่วมในชั้นเรียน อาจารย์ท่านนั้นถามขึ้นมาว่า “...มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าตอนคุณอายุ 18 แล้วได้เลือกตั้งครั้งแรก พวกคุณจะเลือกพรรคการเมืองตามพ่อแม่ ใช่หรือไม่…” นั้นแหละคือการทำให้ผู้รับสารกลายเป็น opinion leaders แล้วส่งต่อข้อมูล เป็นการสื่อสารบุคคลที่ทรงประสิทธิภาพ

คำถามธรรมดาๆ แต่กลับทำให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลายสิบคน เงียบกริบ ตอบคำถามไม่ได้ว่า ใช่ หรือ ไม่ มีนักศึกษาคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึงตอนนี้ ยังไม่เคยเลือกตั้งเลย”

ผมเองก็ตกอยู่ในภวังค์นี้เช่นกัน ตอนนี้อายุ 22 อย่าว่าแต่การเลือกตั้งระดับชาติเลย ระดับท้องถิ่นผมก็ยังไม่เคยได้เลือกเลยสักครั้งครับ (หลังจาก พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ก็แช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา) ผมจับปากกาในคูหาครั้งแรกและครั้งเดียวก็ตอนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งก็ไม่ใช่การเลือกตั้งที่จะต้องใช้ความต้องการทางนโยบายในการเลือกตัดสินใจอนาคตของตัวเองเลย

จากเหตุการณ์เล็กๆ ในชั้นเรียน สะท้อนปัญหาทางการเมืองระดับชาติ ผมเลยถือโอกาสได้ทบทวนว่าเราเลือกตั้งครั้งสุดท้ายกันเมื่อไหร่? ถ้าจะนับตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศ ครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปครั้งที่ 27 และเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ต่อต้านขัดขวางการเลือกตั้งทำให้บางท้องที่ของกรุงเทพฯและภาคใต้ ไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศแบบไม่เป็นทางการในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประมาณ 20 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 45.84 เท่านั้น หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งประเทศ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประกาศให้มีการลงคะแนนอีกครั้ง (การเลือกตั้งชดเชย) ในวันที่ 1-2 มีนาคม 2557 แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดให้เลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่สามารถเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั่วประเทศได้ภายในวันเดียวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง และเมื่อพระราชกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย และถูกเพิกถอนหลังจาก กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์วิชากฎหมายสื่อสารมวลชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่า ควรยกเลิกการเลือกตั้ง

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ออกมาชี้แจงถึงแนวปฏิบัติภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ (หรือเสมือนไม่เคยเกิดขึ้น) แต่ถือว่าการเลือกตั้งได้เกิดขึ้นแล้ว 1 ครั้ง

เราจะนับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นการเลือกตั้งหรือไม่ ผมและเพื่อนร่วมยุคสมัยก็ไม่ได้เข้าคูหาเลือกตั้งอยู่ดี ไม่ใช่เพราะขาดจิตสำนึกทางการเมืองแต่อย่างใด กลับเป็นเพราะเข้าไปใช้สิทธิ์ในคูหาไม่ได้ต่างหาก ทำให้ผมไม่สามารถตอบคำถามอาจารย์ในคาบเรียนวิชาทฤษฏีการสื่อสารมวลชน (Theories of mass communication) ได้ว่า รสชาติของการเลือกตั้งเป็นเช่นไร

หากนับกลับไปถึงการเลือกตั้งก่อนหน้าอีกครั้ง ก็คือเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ตอนนั้นผมก็ยังไม่สามารถมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ แต่ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเราอายุ 18 ปี และมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ในปี 2554 ตอนนี้เราก็จะอายุ 24 ปี น่าสนใจที่ว่า 7 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเราไม่เคยได้เลือกตั้งเลย

ทั้งๆ ที่ผ่านมาเหมือนจะได้เลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้เลือกสักที เพราะรัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ย้อนกลับไปตั้งแต่ คสช. ทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ เราก็ได้ยินคำว่า “โรดแม็ป” เรื่อยมา ซึ่งในโรดแม็ปที่ว่าก็ได้ระบุถึงการเลือกตั้งไว้ว่าจะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2560 แต่พอเดือนกุมภาพันธุ์ 2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ก็ออกมาแถลงว่าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นปี 2561

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือว่า เราจะได้เห็น “ราคาค่างวดแห่งสัจจะ” ทุกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเดินทางไปเยือนอารยะประเทศหรือพบผู้นำสำคัญระดับโลก เพราะเหมือนนายกรัฐมนตรีจะรับปากและประกาศการเลือกตั้งอยู่เนื่องๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่พูดเลย เช่น ต้นปี 2558 นายกเดินทางเยือนญี่ปุ่นและพูดคุยกับ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2559 แต่พอมาช่วงปลายปีเดียวกันนั้น นายกไปพบ บัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นกลางปี 2560 สุดท้ายก็ไม่ได้ทำตามคำพูดแต่อย่างใด

และล่าสุดนายกเดินทางไปเยือนทำเนียบขาวพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พล.อ.ประยุทธ ก็ได้พูดคุยกับคนไทยในสหรัฐว่าการเลือกตั้งจะประกาศในเดือนพฤศจิกายน 2561 จากนั้นนับอีก 150 วัน ก็จะเป็นวันเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งก็หมายความว่าลองคำนวณดูแล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2562

จาก “ราค่าค่างวดแห่งสัจจะ” ที่เสียไป ไม่มีอะไรจะรับรองได้เลยว่าเราจะได้เลือกตั้งกันเมื่อไหร่ จะถูกเลื่อนอย่างง่ายดายอีกหรือไม่ ผมก็ได้แต่ภาวนาไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ ไปเยือนที่ไหนหรือเข้าพบใครอีก กลัวว่าจะเสียสัจจะไปมากกว่านี้

เมื่อได้ทบทวนตัวเองแล้ว ผมก็ได้คำตอบว่าทำไมถึงอยากเลือกตั้ง คงเป็นเพราะอยากมีส่วนร่วมทำหน้าที่พลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจากผลการเลือกตั้ง ประชาชนอย่างผมไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร หรือวิธีการใดก็แล้วแต่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และที่สำคัญที่สุดก็เพื่อตัดสินใจอนาคตของเป็นเทศเองบนทางเลือกใหม่ๆ

ผมจึงอยากให้ความต้องการในการ “อยากเลือกตั้ง” ของผมเหล่านี้ เป็นข้อเสนอถึงรัฐบาลเพื่อเดินหน้าประเทศไทยต่ออย่างเป็นธรรมว่า ประการแรก พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กลไกทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป และเพื่อรับผิดชอบต่อการทำรัฐประหารที่ผ่านมา (ยอมรับผิดอย่างกล้าหาญให้สมกับเป็นชายชาติทหารอย่างที่กล่าวอ้างเรื่อยมา) มีการจัดเลือกตั้งโดยเร็ว และเปิดให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในขณะที่นักศึกษาการสื่อสารอย่างผมและเพื่อน กำลังจะออกไปใช้กระบี่ทำภารกิจ แต่เรากลับไม่ได้ฝึกฝนวิทยายุทธ์ในการใช้กระบี่เลย มิหนำซ้ำเรายังไม่เคยได้จับกระบี่เลยสักครั้ง ทั้งๆ ที่กำลังจะเรียนจบอยู่แล้ว คำถามก็คือว่า เราจะฝึก “คน” อย่างไรในยุคนี้ ยุคที่ความไม่ปกติเป็นปกติไปเสียแล้ว


 

อ้างอิง
กุหลาบ สายประดิษฐ์. มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ. กรงเทพมหานคร : สำนักงานคณะอนุกรรมการฝ่าย ประสานงานโครงการ 100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) , 2548.

นันทนา นันทวโรภาส. สื่อสารการเมือง: ทฤษฏีและการประยุกต์ใช้. กรุงเทพมหานคร :  สำนักพิมพ์แมสมีเดีย, 2549.
Griffin Emory A. A first look at communication theory. Boston : McGraw-Hill, 2006

เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย (Nontawat Machai) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / สมาชิกกลุ่มลานยิ้ม (LANYIM creative group)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net