Skip to main content
sharethis

เปิดประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์-คู่ขนานประชุมผู้นำอาเซียน ด้านประธานผู้จัดการประชุมคาดหวังให้รัฐบาลชาติอาเซียนเห็นความสำคัญภาคประชาชน สถาปนาการมีส่วนร่วมให้เป็นสถาบัน ตั้งเป้าผลักดัน 5 ประเด็น 1) สิทธิ 2) การคุ้มครองทางสังคม 3) สันติและความมั่นคง 4) ย้ายถิ่น และ 5) การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม วอนรัฐบาลอาเซียนทบทวนหลักการไม่แทรกแซง เพื่อจะได้แก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนกันได้

พิธีเปิดเวทีประชุมภาคประชาชนสังคมอาเซียน ACSC/APF2017

11 พ.ย. 2560 เมื่อ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ ดิลิมาน มีการจัดพิธีเปิดเวทีประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนขึ้น (ASEAN Civil Society Conference/ASEAN People Forum: ACSC/APF) โดยงานประชุมจะมีไปจนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2560 นี้ มีภาคประชาสังคมจากทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงประเทศติมอร์ เลสเต เข้าร่วมงานในพิธีเปิดจำนวนหลายร้อยคน

เจเลน แพคลาริน ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน

เจเลน แพคลาริน ประธานคณะกรรมการอำนวยการกล่าวกับประชาไทว่า คณะกรรมการอำนวยการมีความมุ่งหวังให้รัฐบาลอาเซียนสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมให้เกิดขึ้นในลักษณะการสถาปนาให้เป็นสถาบัน และยังมุ่งผลักดันประเด็นทั้งห้าที่จะไดู้พูดคุยกันในที่ประชุมให้เป็นพื้นที่ที่ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในอาเซียนได้

“พวกเราหวังว่าการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายจากภาคประชาสังคมจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอาเซียน”

“พวกเราหวังว่าประเด็นปัญหาที่เราได้เสนอไปห้าประเด็น ได้แก่เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การพัฒนา การย้ายถิ่น งานสังคมสงเคราะห์และประเด็นสันติภาพและความมั่นคงจะได้รับการพิจารณาจากส่วนของรัฐบาลอาเซียน ท้ายที่สุด เราหวังว่ารัฐบาลอาเซียนจะมองเห็นความพยายามของเวทีประชาชนอาเซียนในเรื่องการหลอมรวมประชาชนด้วยกัน”

ต่อประเด็นปัญหาที่เธอกังวลที่สุดในฐานะที่อาเซียนก่อตั้งมาถึงครึ่งศตวรรษแล้ว เป็นปัญหาในเชิงหลักการใหญ่ว่าด้วยหลักการชาติสมาชิกไม่แทรกแซงกิจการภายในชาติสมาชิกอื่น

“พวกเราต้องการให้อาเซียนทบทวนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิกอื่นเพราะว่าตัวหลักการมันไปขัดขวางไม่ให้ชาติสมาชิกอาเซียนเข้าไปดูการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ทั่วภูมิภาค ถึงแม้ว่าเราจะเห็นแล้วว่ามีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคจำนวนมาก แต่ถ้าประเทศคุณไม่ได้ตอบสนองกับปัญหานี้ แล้วคุณจะหันหน้าไปพึ่งใครถ้าไม่ใช่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ดังนั้น ทางที่ง่ายที่สุดคือเราต้องจัดการเรื่องนี้ในภูมิภาคกันเอง เราหวังว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะกลายเป็นปัญหาที่อาเซียนเห็นว่าสำคัญ” เจเลนกล่าว

พิธีเปิดเวทีประชุมภาคประชาชนสังคมอาเซียน ACSC/APF2017

เวทีภาคประชาชน หรือเวทีภาคประชาสังคมอาเซียนได้รับการริเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะมีข้อครหาว่าเวทีความร่วมมืออาเซียนเป็นเวทีความร่วมมือของรัฐบาลเท่านั้น ในช่วงแรกเริ่มเป็นการประชุมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประชาชน

ต่อมาในปี 2549 ในปีที่มาเลเซียเป็นเลขาธิการอาเซียน จึงได้มีการจัดตั้งเวทีภาคประชาชนอาเซียนในลักษณะที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยปรกติ ในการประชุมทุกปี แต่ละชาติจะส่งตัวแทนภาคประชาชนไปกล่าวแถลงการณ์กับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน แต่ในปีนี้จะไม่มี เพราะว่าเลยรอบการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนรอบแรกมาแล้ว โดยในรอบต่อไปจะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนร่วมกับชาติอื่น (อาเซียนพลัส)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net