Skip to main content
sharethis

จัดหางานจังหวัดลำพูน แจ้งผู้ที่จะเดินทางไปทำงานนวดสปาในคาซัคสถาน เสี่ยงถูกนายจ้างเอาเปรียบ

นางพรปวีณ์ วิชิต จัดหางานจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ว่า สถานการณ์การจ้างแรงงานไทยไปทำงานในธุรกิจนวดสปาในคาซัคสถานนับวันจะเกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น โดยฝ่ายนายจ้างเป็นผู้ละเมิดสัญญาแรงงานถูกนายจ้างเอาเปรียบโดยจ่ายค่าจ้างล่าช้า ให้ทำงานเกินเวลาและไม่ได้รับค่าจ้างเวลา ซึ่งแรงงานไทย ไม่ได้แจ้งการเดินทางต่อกรมจัดหางาน การจ้างงานจึงไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยที่เดินทางมาทำงานในประเทศคาซัคสถาน ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 48 (คนหางานเดินทางด้วยตนเอง) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัสตานา ได้กำหนดแนวทางการรับรองสัญญาจ้างงาน ดังนี้

1.นายจ้างหรือลูกจ้างส่งร้างสัญญาจ้างงาน 3 ภาษา (รัสเซีย อังกฤษ และไทย) มายังสถานเอกอัครราชทูต ทั้งนี้ นายข้างจะต้องจัดส่งหนังสือจดทะเบียนของบริษัท สำเนาใบอนุญาตในการจ้างแรงงานต่างชาติ สำเนาหนังสือเดินทางของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งรับรองสัญญาถูกต้องมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ประกอบพิจารณา 2. สถานเอกอัครราชทูตฯ จะตรวจร่างสัญญาจ้างงาน โดยพิจารณาสาระสำคัญของสัญญาฯ ให้เป็นตามที่กฎหมายท้องถิ่นกำหนดและมีข้อระบุชัดเจน 3. กรณีสถานเอกอัครราชทูตฯ ตรวจสอบสัญญาจ้างงานแล้ว จะแจ้งให้นายจ้างและลูกจ้างทราบ ระยะเวลาการตรวจสอบเอกสารเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง 4.เจ้าหน้าที่กงสุลมีอำนาจในการปฏิเสธการรับรองสัญญาจ้างงาน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าสาระสำคัญในเอกสารดังกล่าวมีข้อความแสดงนัยการเอาเปรียบแรงงานไทย 5.ลูกจ้างและนายจ้างควรเซ็นชื่อกำกับในสัญญาจ้างงานทุกแผ่น

สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำพูน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานในประเทศคาซัคสถานทราบ และขอให้แจ้งการเดินทางเข้าไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อกรมการจัดหางาน หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดลำพูน โทรศัพท์ 053-525543-4 หรือสายด่วน 1694

ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่, 6/11/2560

นิด้าโพล เผย 57% ประชาชนไม่เห็นด้วย เก็บประกันสังคมเพิ่ม

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมดูท่าจะ ‘เรียกแขก’ ได้มากพอสมควร จากการปรับเปลี่ยนนโยบายต่าง ๆ แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปไม่น้อย ตั้งแต่การขยายอายุรับบำนาญชราภาพ และล่าสุดกับการเพิ่มอัตราการเก็บเงินค่าประกันสังคม สูงสุด 1,000 บาท/เดือน แม้ว่านโยบายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาเบรกก่อนแล้วว่าปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่แนวคิดยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรทั้งสิ้น แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมได้ไม่น้อย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ข้อเสนอการเก็บเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่” ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่ใช้ประกันสังคมทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแบบใหม่ พบว่า 57% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการเคยได้ยินหรือรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมแบบใหม่ของสำนักงานประกันสังคมหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 50.84% ระบุว่า เคยได้ยิน/เคยรับรู้ และ 49.16% ระบุว่า ไม่เคยได้ยิน/ไม่เคยรับรู้

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจะเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 57.00% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจ่ายเท่าเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่อยากจ่ายเพิ่ม เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่ค่อยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม และถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นแต่การให้บริการก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร รองลงมา 23.50% ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เหมาะสมและสอดคล้องกับฐานเงินเดือนที่ปรับขึ้น และ 19.50% ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนหากต้องจ่ายเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้นแล้ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด พบว่า 15.35% ระบุว่า ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นมาก 19.74% ระบุว่า ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก 34.37% ระบุว่า ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อย 25.58% ระบุว่า ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเลย และ 4.96% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงว่าอยากให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสวัสดิการในเรื่องใดบ้าง หลังจากการเรียกเก็บเงินค่าประกันสังคมเพิ่มขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 19.65% ระบุว่า เงินค่ารักษาพยาบาล รองลงมา 14.38% ระบุว่า เงินบำเหน็จชราภาพ 12.77% ระบุว่า เงินทดแทนจากการว่างงาน 10.66% ระบุว่า เงินทดแทนจากการเลิกจ้างหรือลาออก 8.85% ระบุว่า เงินสงเคราะห์บุตร 8.46% ระบุว่า เงินค่าคลอดบุตร 8.22% ระบุว่า เงินทดแทนกรณี ทุพพลภาพ 8.08% ระบุว่า เงินทดแทนกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต 7.94% ระบุว่า เงินค่าทำศพ 0.26% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่ต้องเพิ่มสวัสดิการ เนื่องจากทุกอย่างดีอยู่แล้ว และ 0.73% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเก็บเงินค่าประกันสังคมเพิ่มจะถูกเบรกไปแล้ว แต่ด้านการขยายอายุรับบำนาญชราภาพ ยังคงเดินหน้าต่อ โดยยังอยู่ระหว่างการรับฟังข้อเสนอแนะ รวมทั้งความคิดเห็นต่าง ๆ จากนายจ้าง/ลูกจ้าง/ ผู้ประกันตน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องเกี่ยวกับบำนาญชราภาพในระบบประกันสังคม เพื่อให้ได้แนวทางในการจัดทำระบบบำนาญสำหรับผู้ประกันตนซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดรวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีวัยเกษียณ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็น และดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม

ที่มา: นิด้าโพลล์, 6/11/2560

เสนอปรับวิธีจ้าง “แรงงานประมง” เป็นเงินเดือนขั้นต่ำ 12,000 บาท จูงใจคนไทยทำงานแทนต่างด้าว

ก.แรงงาน หารือสมาคมและผู้ประกอบการประมง ปรับวิธีจ้างงานเป็นแบบจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำ12,000บาท จ่ายผ่านธนาคาร มีประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันสังคม จูงใจให้แรงงานไทยทำงานภาคประมง หลังใบอนุญาตทำงาน “ต่างด้าว” หมดอายุ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และ พม่า ในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำได้หมดอายุในวันที่1 พ.ย.2560ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องจัดหาแรงงานมาทดแทน โดยกระทรวงแรงงานได้มีการหารือกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการประมง และผู้ที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงสภาพการจ้างและการทำงาน พร้อมจัดสวัสดิการทุกรูปแบบให้กับแรงงานในภาคประมง เพื่อจูงใจให้แรงงานไทยหันมาทำงานในกิจการประมงทะเล ซึ่งตกลงจะจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเป็นรายเดือนขั้นต่ำเดือนละ12,000บาท จ่ายผ่านธนาคาร พร้อมกับจัดสวัสดิการด้านที่พัก อาหาร การรักษาพยาบาล ประกันสุขภาพ ประกันสังคม รวมทั้งประกันชีวิตและประกันอุบัติเหตุให้กับแรงงานภาคประมง สำหรับคนงานที่มีประสบการณ์ก็จะได้ค่าจ้างมากขึ้นตามข้อตกลงในแต่ละราย โดยจะต้องมีการทำสัญญาจ้างที่กำหนดอัตราค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแรงงาน

นายอนุรักษ์กล่าวอีกว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางการไทยจะไปเจรจาการนำเข้าแรงงานภาคประมงกับทางการพม่า แบบรัฐต่อรัฐ (GtoG)ซึ่งแรงงานต่างด้าวก็จะได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเช่นเดียวกันกับแรงงานไทยด้วย และขอเชิญชวนแรงงานไทยมาทำประมง เพราะได้มีการปรับสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานไทยมีรายได้ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงในชีวิตการทำงาน และไม่ต้องใช้ชีวิตบนท้องทะเลในต่างแดน หากท่านใดสนใจสามารถติดต่อรายละเอียดหรือสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่1 - 10หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: กรมการจัดหางาน, 7/11/2560

เผย คสช.เร่งพิสูจน์ต่างด้าวให้เสร็จ มี.ค. 2561

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคสช.เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้หารือเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 49/2560 ในการพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว ซึ่งที่ประชุม คสช. เคยมีมติมาก่อนหน้านี้ และได้มีการดำเนินการระยะหนึ่งแล้ว ในเรื่องการพิสูจน์อัตลักษณ์ของแรงงานต่างด้าว โดยการสแกนม่านตา ซึ่งมีความแม่นยำถึง 1 ต่อ 1 ล้าน

นอกจากนี้ ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 49/2560 ยังมีการตั้งคณะกรรมการพิจาณาการเก็บข้อมูลพิสูจน์ตัวบุคคลของแรงงานต่างด้าว เพื่อตรวจสอบอัตลักษณ์ของแรงงานต่างด้าว เริ่มจากแรงงานประมง และแรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ในพื้นที่ติดทะเล อาทิ จ.กระบี่ จ.จันทบุรี จ.ชุมพร และจ.ตราด โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 พล.ท.สรรเสริญ ยืนยัน กระแสข่าวที่มีการย้ายอธิบดีกรมการจัดหางาน เนื่องจากขัดขวางการจัดซื้อเรื่องสแกนม่านตา ไม่เป็นความจริง

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 7/11/2560

ครม.ปลดล็อคจ่ายเงินเด็กแรกเกิดนอกระบบประกันสังคม 3,770 ราย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบรายงานผลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปี 2559 โดยมีการลงทะเบียนเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดยมีผู้มาลงทะเบียนทั้งสิ้น 371,657 คน คิดเป็นร้อยละ 184.83 จากเป้าหมาย 200,000 คน ซึ่งมีผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ปีงบประมาณ 2559 ที่ได้รับ 282,987,600 บาท เบิกจ่ายจริง 277,924,600 บาท มีผู้มาลงทะเบียนและมีสิทธิ์ทั้งหมด 118,327 คน มีผู้ได้รับเงิน 90,261 คน

ขณะที่ปีงบประมาณ 2560 ได้รับงบประมาณ 1,939,484,000 บาท เบิกจ่ายจริง 1,117,617,400 บาท มีผู้ลงทะเบียนและมีสิทธิ์ทั้งหมด 278,322 คน มีผู้ได้รับเงิน 228,122 คน

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดต้องเป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เนื่องจากการรับลงทะเบียนและตรวจสอบสิทธิ์มีผู้ได้รับสิทธิ์ประกันสังคม ส่งผลให้มีการระงับการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 3,770 คน

สำนักงานประกันสังคมชี้แจงว่า เงินสงเคราะห์บุตรมีหลักเกณฑ์การจ่ายให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 ปี และจะมีการตรวจสอบภายในระยะเวลา 3 ปี ว่าผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคมครบ 12 เดือนหรือไม่ หากไม่ครบสำนักงานประกันสงคมจะตัดสิทธิ์

สำหรับผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพ สำนักงานประกันสังคมจะระงับการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร ซึ่งจะใช้เวลาตรวจสอบข้อมูลกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน 3 เดือน และผู้ยื่นคำขอเงินสงเคราะห์บุตรกับสำนักงานประกันสังคมสามารถยื่นคำขอภายใน 2 ปี จึงทำให้เกิดความล่าช้า

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 7/11/2560

ญาติวอนช่วยแรงงานไทย หนีวีซ่าร์ทำงานญี่ปุ่น ป่วยไตวาย

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ว่ามีผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Thanakorn Jaisuksakuldee ได้โพสข้อความระบุใจความสำคัญว่า ขอความช่วยเหลือแรงงานไทย ชาว จ.อุดรธานี ที่ไปทำงานที่ญี่ปุ่นแบบผิดกฎหมาย กับภรรยาชาวอุดรธานีเช่นกัน แต่ทั้งคู่ได้เข้ามอบตัวกับทางกองตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น เพื่อขอกลับบ้าน แต่เกิดป่วยไตวายกะทันหัน ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา แต่แรงงานรายนี้ไม่มีสิทธิในการรักษาตัว ต้องเสียเงินค่ารักษากับทางโรงพยาบาลในญี่ปุ่น สัปดาห์ละ 150,000 บาท โดยผู้โพสระบุขอความช่วยเหลือจากผู้ที่อ่านโพสคนละเล็กละน้อย ทราบชื่อแรงงานไทยว่า นายสันติ สนสายสิงห์ อายุ 40 ปี ชาว จ.อุดรธานี

โดยผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 41 หมู่ 8 บ้านถ่อนน้อย ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี บ้านของนายสันติ พบนางสมคิด พระศรีอิน อายุ 43 ปี ญาติผู้พี่ของนายสันติฯ ที่กำลังเตรียมทำข้าวหลามกับญาติ ๆ ที่เป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน และพูดคุยเรื่องของนายสันติฯ ที่กำลังรอความช่วยเหลืออยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

นางสมคิด พระศรีอิน เล่าว่า นายสันติ ลูกพี่ลูกน้องที่สนิทกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งพ่อแม่ของนายสันติฯ เสียชีวิตไปแล้ว ได้หลบหนีเข้าไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นแบบผิดกฎหมาย เพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว โดยไปได้ประมาณ 3-4 ปี เงินที่ได้ก็ส่งกลับมาใช้หนี้ ที่เป็นค่านายหน้าและค่าเดินทางประมาณ 5 แสนบาท แต่ครั้งแรกโดนหลอกไปทำงาน ไม่สามารถติดต่อได้ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นก็ได้ติดต่อพูดคุยกัน และบอกจะไปทำงานก่อสร้าง ก็ส่งเงินมาใช้หนี้เดือนละ 2-3 หมื่น จนเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว นายสันติฯ ได้ชวนภรรยาไปทำงานด้วย เป็นงานเกษตร แต่ทำที่ไหนตนไม่ทราบ จนช่วงกลางเดือนตุลาคม น้องชายบอกว่าจะกลับบ้าน เพราะรายได้ไม่ได้ดีอย่างที่หวัง จึงพากันเข้ามอบตัวกับทางกองตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น

“แต่กฎหมายของญี่ปุ่น ต้องให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองเข้ารายงานตัว 3 ครั้ง จึงจะได้กลับ ซึ่งน้องชายมีกำหนดกลับประเทศไทยในวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่เมื่อมารายงานตัวครั้งที่ 2 น้องชายเกิดป่วยกระทันหัน ทำให้ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หมอบอกว่าเป็นไตวายเฉียบพลัน ซึ่งทางภรรยาของน้องชายโทรศัพท์มาบอก ทางญาติเมื่อทราบข่าวก็พากันเป็นห่วง แต่ภรรยาน้องชายบอกว่าเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล มีค่าใช้จ่ายแพงมากอาทิตย์ละประมาณ 5 แสนเยน หรือประมาณ 150,000 บาท และทางภรรยาน้องชายบอกว่า ตอนนี้ไม่มีเงินเลย เพราะจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินที่จะกลับประเทศไทยไปแล้ว 2 คน 70,000 บาท แต่ก็ไม่ได้บินกลับตามกำหนดเสียค่าตั๋วฟรี จนมีเพื่อนคนไทยในญี่ปุ่นที่เห็นใจจึงโพสต์ลงโซเซียลให้ช่วยเหลือ”

นางสมคิด บอกอีกว่า ทางบ้านเรามีฐานะยากจน ตอนนี้ได้ไปกู้เงินจากคุณครูที่เคยสอนหนังสือตนและนายสันติฯมาก่อน เป็นเงิน 150,000 บาท โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 บาท เพื่อส่งไปช่วยเหลือค่ารักษาน้องชายงวดแรก ซึ่งงวดที่ 2 จะครบในวันศุกร์นี้ ยังไม่รู้ว่าจะหาเงินที่ไหนส่งไปให้อีก 150,000 บาท ซึ่งตอนนี้อาการดีขึ้น แต่ยังต้องฟอกไต อยากขอความเมตตาผู้ที่มีจิตเป็นกุศล ช่วยค่ารักษาน้องชาย หากมีผู้ใจบุญอยาจะช่วย และสามารถนำน้องชายและภรรยากลับมาเมืองไทยได้ ก็ขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง

นางยุทธศาสตร์ ทูลกลาง นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า (ทางโทรศัพท์) ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว และเตรียมที่จะเดินทางเข้าไปพบกับทางญาติของแรงงานคนดังกล่าว เบื้องต้นทราบว่าเป็นการเข้าไปทำงานแบบผิดกฏหมาย ที่จะไม่สามารถช่วยเหลือได้ โดยทาง สนง.จัดหางานจังหวัด จะเข้าไปให้คำแนะนำกับทางญาติของแรงงานทั้ง 2 คน ในการประสานกับทางกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจะส่งตัวทั้ง 2 คนกลับมา

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/11/2560

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรียกร้องให้ถอดบางมาตราในร่างพระราชบัญญัติการพัฒนารัฐวิสาหกิจ หวั่นนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

แม้ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แล้วก็ตาม แต่ยังมีประเด็นที่ถกเถียง โดยเฉพาะการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ มาถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ 11 แห่ง ซึ่งถือทรัพย์สินรวมกว่า 6 ล้านล้านบาท ที่อาจเปิดช่องรัฐวิสาหกิจผูกขาดมากกว่าเดิม หรือ นำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ประเด็นดังกล่าว ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ได้ชี้แจงในเวทีเสวนา "อนาคตรัฐวิสาหกิจไทยกับร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ" ที่จัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ โดยระบุว่า บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ไม่มีอำนาจด้านนโยบาย หรือ มีอำนาจเหนือกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อย

พร้อมย้ำร่างกฎหมาย ยังเพิ่มเงื่อนไขและกระบวนการการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของ สคร. ก่อน ทั้งในแง่การแปรรูปไปเป็นบริษัทเอกชน หรือ การลดสัดส่วนอำนาจ จากเดิมที่ใช้เพียงมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้ง การดำเนินโครงการใดๆ ของรัฐวิสาหกิจ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ มีการแยกบัญชี และมีผู้รับผิดชอบ

โดยนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงความโปร่งใส ที่ สคร. เน้นย้ำในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ว่าควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน รวมทั้งความซ้ำซ้อนของคณะกรรมการที่ไม่ควรนั่งอยู่ในคณะกรรมการชุดอื่น เพื่อกระจายอำนาจในการตัดสินใจ

ขณะที่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยังไม่น่าห่วงเท่ากับการที่รัฐวิสาหกิจจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อมาแข่งขันกับบริษัทแม่

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการเสวนา กลุ่มผู้เข้าร่วมงานที่มาจาก สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ชูป้ายข้อความ "ถอน" พร้อมตะโกนคำว่า "ถอน" รวม 3 ครั้ง เพื่อส่งสัญญาณให้ถอนบางมาตรา เช่น โครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่อาจมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงในอนาคต หรือ การตีความในบางประเด็นที่อาจเป็นช่องให้สามารถแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้

ที่มา: TNN, 10/11/2560

ไทยบังคับใช้กฎหมายแรงงานข้ามชาติฯ รุนแรงเกินควร อาจส่งผลแรงงานขาดแคลน

การเสวนาเพื่อร่วมหาทางแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ในวันพฤหัสบดี ใน “การมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคม และองค์กรภาคธุรกิจ ในการยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ค้ามนุษย์ และการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตัวแทนภาคประชาสังคม เครือข่ายแรงงาน สมาคมผู้เหมาจ้างแรงงาน ฝ่ายการเมือง และผู้สนใจเข้าร่วมฟังกว่า 20 คน

โดยในการเสวนา ได้มีการหยิบยกปัญหาแรงงานที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เพื่อหาทางออกร่วมกัน และเสนอให้รัฐบาลช่วยแก้ไข

นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานกรรมการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ยกประเด็นปัญหาแรงงานเด็ก แรงงานบังคับหรือค้ามนุษย์ และการจัดการแรงงานข้ามชาติ เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไข หากต้องการให้สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่มองว่ารุนแรงเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ และไทยขาดแคลนแรงงาน

“พ.ร.ก.ประกาศออกมาเพิ่มโทษนายจ้างสูงมาก ถ้าโทษน้อยไป กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าโทษหนักไป คนก็แตกตื่น กฎหมายก็บังคับใช้ไม่ได้ โทษต้องกลางๆ หลักการกฎหมายทั่วไป ผู้ที่ควบคุมบังคับต้องปรับมากกว่าผู้ที่อยู่ใต้การควบคุมบังคับ ปัจจุบันนี้ ไปเอาโทษของนายจ้างออก จะให้ลูกจ้างออกติดคุกคนเดียว ไปเพิ่มโทษในการปรับนายจ้างเป็นหลักแสน ผิดหลักเกณฑ์กฎหมายทั้งหมดเลย มันต้องดึงกลับมาให้ตามหลักเกณฑ์ให้สมดุล” นายสุรพงษ์กล่าว

ด้านนายสุรชัย มีนทุน ชาวเมียนมาจากเครือข่ายแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในประเทศไทย กล่าวในมุมมองของแรงงานข้ามชาติว่า การนำเข้าแรงงานแบบเอ็มโอยู อาจสร้างความลำบากให้กับแรงงานต่างด้าว หากแรงงานต่างด้าวคนนั้นได้นายจ้างที่ไม่ตรงตามความต้องการ ซึ่งแรงงานจะไม่สามารถเปลี่ยนงานระหว่างที่อยู่ในประเทศไทยได้เอง สร้างความยุ่งยาก เป็นต้นเหตุของปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย

“การทำเอ็มโอยูไม่อิสระ ถ้าผมเซ็นสัญญากับคุณสุรชัย 2 ปี ผมออกไม่ได้ จะออกได้เมื่อ นายจ้างตาย บริษัทโดนปิด ทารุณกรรม และผิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มันก็ไม่อิสระ โดยที่ไม่รู้กฎหมายบางคนก็หนีจากที่ไม่ดี หัวหน้าดุด่า จะไปอยู่กับที่อื่นก็ไม่ได้ นายหน้าก็ติดต่อไม่ได้ ทำยังไง ก็ต้องกลับบ้าน กลับไปเอ็มโอยู เซ็นสัญญาใหม่ แล้วก็กลับมา” นายสุรชัยกล่าว

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางการโดยเน้นที่การผลักดันแรงงานต่างด้าวเข้าสู่การประกันสังคม เพราะเชื่อว่า แนวทางในการเก็บข้อมูลที่มีการแก้ไขให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอด ทำให้ติดตามแรงงาน และดูแลได้ง่ายกว่าการใช้บัตรสีชมพู

“เสนอ 4 แนวทาง คือ 1.การทำเอ็มโอยูเป็นการแก้ไขแรงงานต่างด้าวที่ไม่ตรงจุด 2.ควรหยุดการพึ่งพาต่างชาติ ลดขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติรายบุคคล เปลี่ยนให้มีการลงทะเบียนให้ครบถ้วน แล้วรวบรวมข้อมูลเป็นก้อนเดียวส่งไปยังประเทศต้นทาง เพื่อให้ประเทศต้นทางยืนยันตัวตน หากมีแรงงานไม่ได้รับการยืนยันตัวตน จะต้องหามาตรการผลักดันกลับประเทศ” นายอรรถวิชช์กล่าว

“3.นายจ้างต้องนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด เพื่อให้มีกลไกการตรวจสอบข้อมูลแรงงานต่างด้าว และ 4.การให้สัญชาติลูกของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งเด็กที่จะเป็นปัญหาหนัก คือกลุ่มที่เกิดจากแรงงานเถื่อน แรงงานชั่วคราว ถึงแม้จะแจ้งเกิดได้ แต่เขาจะเป็นคนพูดภาษาบ้านเกิดไม่ได้ ทำให้กลับประเทศไม่ได้ หากไม่รอบคอบ ต่อไปจะเป็นปัญหาความมั่นคง” นายอรรถวิชช์กล่าวเพิ่มเติม

นายศักดิ์ชัย ธรรมปรีชาถาวร นายกสมาคมการค้าผู้นำเข้า และให้บริการแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า การเพ่งเล็งว่า ผู้นำเข้าแรงงาน หรือผู้ทำธุรกิจเหมาจ้างแรงงาน เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานในประเทศไทยไม่ถูกต้องนัก รัฐต้องร่วมกับภาคเอกชนเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ แทนที่จะกล่าวโทษผู้ใด

“กฎหมายล่าสุดที่ออกมา เพราะเขามองพวกผมเป็นจำเลย มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการค้ามนุษย์ ไปไหนก็เจอต่างด้าว เจอกันหมดแล้ว ถ้าจะต้องโทษ ก็ต้องโทษมาตรการของรัฐเอง ที่หละหลวมเองที่ปล่อยให้เขาทะลักเข้ามา ทำยังไงให้แรงงานที่หลุดมาแล้ว พ้นสภาพจากการเป็นแรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ การถูกรัฐเอารัดเอาเปรียบให้ได้ นั่นต่างหาก ส่วนวิธีการก็ต้องมาว่ากันใหม่” นายศักดิ์ชัยกล่าว

พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ฉบับใหม่) ถูกประกาศใช้วันที่ 22 มิถุนายน 2560 ส่งผลให้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากเกรงกลัวได้รับโทษ จากบทลงโทษที่มีความรุนแรงมาก ทั้งโทษจำคุก และโทษปรับ เช่น

ผู้ใดรับต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือ รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือ รับคน ต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับ 400,000-800,000 บาท ต่อคน หรือ คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000 -100,000 บาท

หลังจากเกิดปัญหาแรงงานเดินทางกลับประเทศ และการเรียกร้องจากนายจ้าง 5 มกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 สั่งผ่อนผันการบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ โดยให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และจะกลับมาบังคับใช้ใหม่อีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2561

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถิติล่าสุดถึงปี 2559 ว่ามีคนต่างด้าวชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 1,067,410 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ติดตามอายุน้อยกว่า 18 ปี จำนวน 22,807 คน

ที่มา: เบนาร์นิวส์, 10/11/2560

จ๊อบส์ดีบีเผยผลสำรวจท็อป10 องค์กรในฝัน

นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เว็บไซต์หางานชั้นนำของเอเชีย กล่าวว่า บริษัทสำรวจผู้หางานในประเด็นเกี่ยวกับองค์กรที่ต้องการร่วมงานและปัจจัยสนับสนุนให้อยากร่วมงาน ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรที่อยากร่วมงานมากที่สุด ตามด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ขณะที่ กูเกิล ประเทศไทย อยู่อันดับที่ 3 ซึ่ง ขยับขึ้นจากปีที่แล้ว 1 อันดับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด อันดับ 4

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค อันดับที่ 5 และเป็นการไต่ขึ้นมาจากอันดับรองสุดท้ายในปีที่แล้ว ส่วนอันดับ 6 เป็นของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อันดับที่ 7 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อันดับที่ 8 บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด อันดับที่ 9 และ สุดท้ายเป็นของบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

หากเปรียบเทียบจากผลสำรวจระดับภูมิภาคยังชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกยังคงติดอันดับบริษัทในฝันและมีสัดส่วนเท่ากับบริษัทท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลยังติดอันดับต้น ๆ ของทุกประเทศ โดยกูเกิลติดลำดับ 1 ในฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ ติดลำดับที่ 3 ในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อันดับที่ 4 ในเวียดนาม และธุรกิจสินค้าอุปโภค-บริโภคชั้นนำของโลกยังติดอันดับ 1 ใน 10 ขณะที่บริษัทท้องถิ่นที่ติดอันดับต้น ๆ ของแต่ละประเทศยังคงเป็นธุรกิจโทรคมนาคม ธนาคาร และกลุ่มบริษัทในเครือต่าง ๆ

“บริษัทที่พนักงานอยากร่วมงานทั้ง 10 อันดับ ยังคงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว อันเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในองค์กร ภาพลักษณ์ รวมทั้งการพัฒนาและขยายองค์กรสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค”

นางนพวรรณกล่าวว่าคนไทยระบุปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกบริษัท คือความก้าวหน้าในอาชีพ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่มีความยืดหยุ่น รวมถึง สภาพแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลของนายจ้างและอุปนิสัยของเพื่อนร่วมงาน

ขณะที่นักศึกษาจบใหม่มองไปที่การที่บริษัทให้โอกาสเติบโตในอาชีพ การมีทีมบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพมีความเป็นผู้นำ และโอกาสในการได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์

สำหรับกลุ่มตัวอย่างแบ่งตามช่วงอายุได้แก่ ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปหรือกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์7%อายุระหว่าง 34-49 ปีหรือเจน เอ็กซ์49%ระหว่าง 26-33 ปี หรือเจน วาย27%และ18-25 ปี หรือเจน แซด16%

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/11/2560

เตือน! ระวังถูกหลอกไปทำงานนวดในรัฐกาตาร์ หลังพบนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา ว่าขณะนี้คนไทยใช้ช่องทางที่รัฐกาตาร์ผ่อนคลายเรื่องการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อไปทำงานในร้านนวด (แฝงบริการทางเพศ) โดยไม่ผ่านการรับรองสัญญาจ้างจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา หรือกระทรวงแรงงานประเทศไทย และเมื่อไปทำงานแล้วประสบปัญหาได้รับค่าจ้างไม่เป็นไปตามที่ตกลงกับนายจ้างก่อนเดินทาง จึงเดินทางไปร้องเรียนที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา เพื่อขอเดินทางกลับ ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานนวดในรัฐกาตาร์อย่าหลงเชื่อการชักชวนจากสาย/นายหน้า หรือสื่อต่าง ๆ ว่าจะมีรายได้สูง และหากเกิดปัญหานายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮาจะไม่สามารถช่วยเหลือหรือคุ้มครองคนไทยได้ เนื่องจากรัฐกาตาร์มีกฎหมายควบคุมแรงงานชาวต่างชาติที่ต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างก่อนจึงจะเดินทางออกนอกรัฐกาตาร์ได้อย่างไรก็ตาม หากประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทรศัพท์ 02-245-6708 – 9 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 11/11/2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net