Skip to main content
sharethis
จากข่าวเรื่องที่ทางการจีนกำลังวางแผนระบบ 'ให้คะแนน' ประชาชนของตัวเอง ฟังดูเหมือนฝันร้ายจากนิยายวิทยาศาสตร์ดิสโทเปีย แต่ในยุคสมัยที่ข้อมูลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตถูกเก็บอย่างกว้างขวางบวกกับรัฐบาลอำนาจนิยมที่มองประชาชนเป็น 'เด็กๆ' แบบจีนแล้ว ก็น่าประเมินว่าแผนการนี้จะสร้างหายนะต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือแม้กระทั่งหายนะต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปหรือไม่
11 พ.ย. 2560 ทางการจีนมีแผนออกระบบที่เรียกว่า 'ระบบเครดิตทางสังคม' ภายในปี 2563 ซึ่งเป็นระบบการให้คะแนนประชาชนกว่า 1,300 ล้านคนในประเทศ 
 
คะแนนดังกล่าวคือคะแนนที่จะระบุว่ารัฐบาลเชื่อถือประชาชนคนนั้นมากขนาดไหน มีการวัดคะแนนพวกนี้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ในโลกออนไลน์ของแต่ละบุคคล นั่นหมายความว่าถ้าหากคุณซื้อของบางอย่างที่รัฐบาลไม่ชอบ หรือเล่นเกมมากเกินไปหน่อย รัฐบาลก็อาจจะหาเรื่องลดคะแนนคุณได้ 
 
ระบบการตรวจสอบเรื่องพวกนี้ง่ายขึ้นในยุคสมัย 'บิ๊กเดตา' ที่บรรษัทไอทีใหญ่ๆ มักจะเก็บข้อมูลการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ของผู้คนบนโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อหาเหตุทางการค้า แต่ในคราวนี้รัฐบาลจีนกำลังจะนำมาใช้กับการให้คะแนนตัวบุคคลซึ่งอาจจะส่งผลต่อชีวิตส่วนตัวของพวกเขา อย่างการพิจารณาเข้าเรียนที่ใด หรือการจะได้ทำงานที่ใดด้วย หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างจะมีคนยอมเป็นแฟนด้วยหรือไม่ถ้าหากพวกเขามีคะแนนเท่านี้
 
แผนการนี้มีระบุอยู่ในเอกสารของคณะรัฐมนตรีเผยแพร่ออกมาในปี 2557 ทางการจีนอ้างว่าพวกเขาต้องการสร้างวัฒนธรรมแห่ง 'ความจริงใจ' แต่หลายคนไม่มองเช่นนั้น 
 
โจฮัน เลเกอควิสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตจีนจากสถาบันกิจการนานาชาติสวีเดนกล่าวว่าโครงการที่ทะเยอทะยานเช่นนี้มีลักษณะแบบเผด็จการจอมสอดส่องแบบในนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์ อีกคนหนึ่งที่วิจารณ์ในเรื่องนี้คือโรเกียร์ ครีมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจีนจากสถาบันโวลเลนโฮเวนของมหาวิทยาลัยไลเดน เขาศึกษาแผนการของรัฐบาลจีนในเรื่องนี้จากภาษาจีนแล้วแปลออกมาโดยเปรียบเทียบว่ามันเหมือนกับการเป็นผู้รีวิวให้คะแนนอะไรสักอย่างเช่นร้านอาหาร แต่ในคราวนี้มันเป็น 'รัฐพี่เลี้ยง' ที่จะมารีวิวและคอยเฝ้าดูประชาชนตัวเอง
 
แผนการสอดส่องและให้คะแนนที่จะมีขึ้นในปี 2563 เช่นนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนเลือกไม่ได้ว่าอยากจะให้มีหรือไม่ ทางการจีนออกใบอนุญาตให้กับบริษัทเอกชน 8 แห่ง ในการออกแบบระบบและอัลกอริทึมเพื่อสร้างระบบการให้คะแนน แน่นอนว่ามีบริษัทเอกชนไอทียักษ์ใหญ่ของจีนอย่างเทนเซนต์และอาลีบาบารวมอยู่ด้วย
 
บริษัทเหล่านี้เป็นเจ้าของระบบเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กในอินเทอร์เน็ตจีน รวมถึงบริการการซื้อขายออนไลน์อย่างอาลีเพย์ที่ไม่เพียงแค่ใช้ซื้อขายสินค้าเท่านั้นยังนำมาใช้ซื้อบริการ จ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ซื้อตั๋วภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งการถ่ายโอนเงินสดด้วย บรรษัทเซซามีเครดิตเจ้าของโปรแกรมเรียกใช้บริการโดยสารอย่าง Didi Chuxing และเว็บไซต์หาคู่ Baihe ที่ใหญ่ที่สุดในจีนก็เข้าร่วมด้วย เสมือนว่าเป็นแหล่งรวมการเก็บข้อมูลออนไลน์ของผู้คนจำนวนมากในระดับที่เรียกว่า 'บิ๊กเดตา' เตรียมพร้อมไว้แล้วสำหรับระบบให้คะแนน
 
ผู้อำนวยการเทคโนโลยีของเซซามีเครดิตยอมรับว่าจะมีการให้หรือลดคะแนนประชาชนแม้กระทั่งกับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น จำนวนชั่วโมงของการเล่นเกม ตัดสินคนจากของที่ซื้อ เช่น ซื้อผ้าอ้อม น่าจะเป็นคนเป็นพ่อแม่และอาจจะได้คะแนนความดูดีมีความรับผิดชอบ หรือแม้กระทั่งประเภทของเพื่อนที่คบในโลกออนไลน์ ลักษณะการปฏิสัมพันธ์ รวมถึงการโพสต์ถึงรัฐบาลในแง่บวกหรือไม่ มีการพูดเรื่องที่รัฐบาลไม่ชอบอย่างกรณีสังหารประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อาลีบาบาพยายามแก้ข่าวตรงจุดนี้ว่าคนที่พูดอะไรในแง่ลบก็จะไม่กระทบกับคะแนนของพวกเขา (แต่ก็เป็นข้ออ้างที่พิสูจน์ไม่ได้เพราะอัลกอริทึมที่พวกเขาใช้คำนวณเป็นความลับ)
 
สิ่งที่น่าแปลกใจคือเหตุใดในช่วงที่มีการทดสอบระบบถึงมีคนจำนวนมากยอมอาสาเข้าไปทดสอบระบบการให้คะแนนนี้ สื่อ Wired ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเพราะ "เอกสิทธิ์พิเศษ" ที่นำมาล่อใจ เช่นถ้าทำคะแนนได้มากพอจะได้รับเงินช้อปปิ้งออนไลน์ได้ในจำนวนที่กำหนด คะแนนสูงกว่านั้นจะสามารถเช่ารถยนต์ได้โดยไม่ต้องมัดจำ หรือแม้กระทั่งสามารถนำไปใช้กับวีไอพีเช็คอินที่สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่งได้ นอกจากนี้ คนที่ได้คะแนนสูงมากๆ ยังกลายเป็นประดับสถานะทางสังคมได้ด้วย เช่นมีคนจำนวนเกือบ 100,000 คน อวดคะแนนตัวเองในโซเชียลมีเดีย Weibo อีกทั้งยังส่งผลต่อการเดทด้วย ในแง่ที่ว่าถ้าใครมีคะแนนสูงกว่า โปรไฟล์ของพวกเขาจะกลายเป็นที่รับรู้มากกว่าในเว็บไซต์เดทอย่าง Baihe
 
ระบบแบบนี้บวกกับการสอดแนมจากรัฐบาลจีนมีโอกาสที่จะทำให้ประชาชนพยายามเซนเซอร์กันเองหรือไม่ก็ขายเพื่อน ขายพ่อแม่พี่น้องของตัวเองให้รัฐบาล และ Wired ยังประเมินว่ามันเอื้อให้มี "การซื้อขายคะแนนกันในตลาดมืด" ได้ด้วย แบบเดียวกับที่มีการซื้อไลก์หรือผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย และถ้าหากระบบความปลอดภัยไม่ดีพอก็เสี่ยงต่อแฮกเกอร์ (แม้กระทั่งแฮกเกอร์จจากรัฐบาลเอง) จะเข้าไปขโมยหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้
 
Wired ระบุอีกว่าระบบใหม่นี้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในแบบที่เจ้าเล่ห์ของจีน "...แทนการพยายามบังคับให้เกิดเสถียรภาพหรือการยอมตามด้วยวิธีใช้ไม้เรียวและขู่ให้กลัว รัฐบาลกำลังพยายามเปลี่ยนความเชื่อฟังให้กลายเป็นเกมการแข่งขัน"
 
ถึงแม้ทางเซซามีเครดิตจะบอกว่าในตอนนี้ยังไม่มีการลงโทษใดๆ กับผู้คะแนนน้อยระบบแบบดังกล่าวก็เอื้อต่อการสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นโดยมาจากการกีดกันคนที่คะแนนน้อยและให้อภิสิทธิ์ต่างๆ แก่คนที่คะแนนมาก เพราะคนคะแนนน้อยอาจจะถูกกีดกันจากการเข้าถึงการงาน การเช่าซื้อสินค้า การกู้ยืม หรือแม้กระทั่งถูกกีดกันจากเรื่องในชีวิตประจำวันอย่างการเข้าถึงร้านอาหารหรือการได้รับความเร็วอินเทอร์เน็ตช้าลง
 
สิ่งที่เป็นฝันร้ายของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนไม่เพียงแค่เรื่องที่ว่าพวกเขาจะถูกลดคะแนนด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการพูดถึงสุขภาพของตัวเองเท่านั้น แต่ยังมาจากระบบอัลกอริทึมที่ใช้มีความแข็งกระด้างแบบไม่สนใจบริบทใดๆ ได้ด้วย เช่นถ้าหากว่าใครคนหนึ่งเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลทำให้ชำระค่าน้ำค่าไฟช้า พวกเขาก็จะถูกลดคะแนนโดยที่ไม่ได้มองบริบทเลยว่าเหตุใดพวกเขาถึงมีข้อจำกัดทำให้จ่ายค่าน้ำค่าไฟช้า นั่นทำให้ระบบอัลกอริทึมนี้ขัดแย้งและไม่ได้สะท้อนการใช้ชีวิตจริงของผู้คน แต่มันกลับถูกนำมากำหนดชีวิตของผู้คน
 
Wired ระบุว่าระบบนี้อาจจะคล้ายรัฐเผด็จการสอดส่องประชาชนแบบนิยาย 1984 ผสมกับการทดลองทางจิตใจแบบวางเงื่อนไขของพาฟลอฟ แต่พวกเขาก็ระบุว่าระบบเครดิตแบบนี้เองก็ถูกนำมาใช้กับการเงินในโลกตะวันตกมานานแล้ว ต่างกันตรงที่ทางการจีนนำมาใช้กับพฤติกรรมประชาชนทั่วไปทุกคนและยึดกุมการตีความในเรื่อง 'ความเชื่อมั่น' ไว้กับรัฐบาลกลางเอง มีข้ออ้างอีกอย่างหนึ่ในระบบนี้คือการอ้างว่าจะสามารถดึงคนที่เคยถูกทิ้งจากระบบเครดิตแบบดั้งเดิมให้เข้ามาอยู่ในระบบเครดิตของรัฐบาลได้
 
แต่ทว่าการกำหนดคุณค่าว่าสิ่งใดดีหรือสิ่งใดไม่ดีก็กลายเป็นคำถามในทางปรัชญาอีก และจะไว้ใจให้รัฐบาลจีนมากำหนดคุณค่าเอาเองได้จริงหรือ หวังชูชิน จากสำนักงานปรัชญาและสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยแคปปิตอลนอร์มัลในจีนได้รับเลือกจากรัฐบาลในการพัฒนาระบบที่เรียกว่า 'ระบบความเชื่อมั่นศรัทธาทางสังคมของจีน' โดยระบุว่าคนที่มีความเชื่อมั่นในแนวคิดแบบสังคมนิยมจะปฏิบัติตาม 'มาตรฐานศีลธรรม' ของพวกเขาได้ดีกว่า กระนั้นมันก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าจะเกิดการลำเอียงเล่นพรรคเล่นพวกขึ้น เช่น กลุ่มข้าราชการจะได้รับคะแนนมากกว่าจากระบบแบบนี้หรือไม่ และประชาชนจะคิดอย่างไรถ้ามีพฤติกรรมแย่ๆ ของคนบางกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์มากกว่ามาลดคะแนนของพวกเขา
 
ในส่วนของคำถามเรื่องการเก็บข้อมูลผู้คนแบบเหวี่ยงแห มีผู้มองว่าหรือจริงๆ แล้วอนาคตทางอินเทอร์เน็ตของผู้คนทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตกต่างก็หลีกเลี่ยงจากการถูกดักเก็บข้อมูลหรือถูกสอดแนมไม่ได้เลย เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเปิดโปงครั้งใหญ่เกี่ยวกับโครงการสอดแนมของหน่วยงานความมั่นคงรัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษ เควิน เคลลี ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อธิบายว่าความสำคัญอยู่ตรงที่การสอดแนมเหล่านี้ควรจะถูกนำออกมาให้ประชาชนรับรู้ว่าระบบของพวกมันเป็นอย่างไร และสุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องของความโปร่งใสที่ฝ่ายประชาชนเองควรจะจับตามองฝ่ายรัฐได้ด้วย
 
จนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครทราบว่าระบบให้คะแนนของจีนจะเปลี่ยนวัฒนธรรมของพวกเขาไปอย่างไร เปลี่ยนชีวิตทางสังคมและการเงินของพวกเขาไปแค่ไหน ความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกทำลายไปมากเพียงใด (จากที่แย่พออยู่แล้วในจีน) ประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจึงต้องมีการเฝ้าระวังในเรื่องนี้
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Big data meets Big Brother as China moves to rate its citizens, Wired, 21-10-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net