มธ.เผยงานวิจัย การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศ

เผยงานวิจัย 'การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศ' ชี้ความเปราะบางที่จะถูกกระทำด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมยังมีอยู่มาก แนะทางออกของปัญหาทั้งภาคการศึกษา สื่อมวลชน และทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง 

อดิศร จันทรสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะทำงานวิจัย

13 พ.ย. 2560 รายงานข่าวจาก คณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งว่า ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก คนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (SOGI) ทำให้กลุ่มเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ และผู้มีสภาวะทางเพศกำกวม (LGBTI) ถูกแบ่งแยก เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ทางสังคม และมีความเปราะบางที่จะถูกกระทำด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ถูกเลือกปฏิบัติ และถูกจำกัดโอกาสในการใช้ชีวิต ข้อเสียเปรียบเหล่านี้ไม่เพียงจำกัดการได้ใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เขาควรมี แต่ยังเป็นการปล้นศักดิ์ศรีของพวกเขาไปด้วย

กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) จึงร่วมกับ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท Love Frankie ทำการวิจัยเรื่อง “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย” เพื่อหาข้อมูลเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกแบ่งแยกทางเศรษฐกิจของบุคคลกลุ่ม LGBTI ในประเทศ ทั้งในรูปแบบเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากกลุ่มเป้าหมายที่ขยายกว้างทั้งในเชิงภูมิภาค อายุ เพศสภาพ เพศวิถี การศึกษา สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ระบุความท้าทาย โอกาส และเปิดเผยประสบการณ์ของคนกลุ่ม LGBTI เปรียบเทียบมุมมองทัศนคติและพฤติกรรมกับกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (Non – LGBTI) ในประสบการณ์ทางด้านต่าง ๆ เพื่อนำเรื่องราวของพวกเขามาเผยแพร่ให้สังคมได้รับทราบ สร้างความเข้าใจ ปรับเปลี่ยน ให้การช่วยเหลือ และนำมาพัฒนาเป็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ผลส่วนหนึ่งจากข้อมูลแบบสอบถามเชิงปริมาณที่มีผู้ให้คำตอบกว่า 3,502 ท่าน พบว่า บุคคลกลุ่ม LGBTI มีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติมากถึง 46% คนข้ามเพศถูกปฏิเสธงานเพราะเพศสภาพและเพศวิถีถึง 77% และคนข้ามเพศเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือล้อเลียนในที่ทำงาน 40% ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งกลุ่ม LGBTI และ Non – LGBTI มีการรับรู้เรื่องกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศน้อย

อดิศร จันทรสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะทำงานวิจัยได้เล่าผลจากการสำรวจเชิงคุณภาพว่า ปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บุคคลกลุ่ม LGBTI ส่วนใหญ่มองว่าการถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันเป็นผลมาจากความผิดของพวกเขาเองที่เกิดมาแตกต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งสิ่งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือสังคมมีรากฐานกรอบความคิดการให้ค่าความเป็นหญิงและชายที่แข็งตัว เพราะฉะนั้นอะไรที่เบี่ยงเบนไปก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้นหลายคนในสังคมยังมองว่า การที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในการทำงานบางอาชีพ เช่น ช่างเสริมสวย ช่างแต่งหน้า หรือนักแสดง/นักเต้นในสถานบันเทิง ก็เป็นสิ่งที่ดีพออยู่แล้ว และอาจถือได้ว่าเป็นการความก้าวหน้าของสังคมด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้มองความเป็นจริงว่า คนกลุ่มนี้ควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะสามารถเลือกประกอบอาชีพใดก็ตามที่พวกเขามีความรู้ความสามารถเพียงพอ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของมนุษยชนที่พึงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ถูกประเมินตัดสินจากเพศของตนดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนั้น อดิศร ยังให้มุมมองว่าการจะทำให้สังคมยอมรับในเรื่องเหล่านี้ได้ เราต้องการพื้นที่สาธารณะที่จะนำเสนอภาพกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในชีวิตประจำวันที่อยู่ร่วมในสังคมเป็นปกติทั่วไป โดยไม่กักขังเขาไว้ในกรอบคุณลักษณะที่สุดโต่งบางอย่าง  ในขณะเดียวกันเราต้องทำให้เรื่องนี้อยู่ในระบบการศึกษามาตั้งแต่ชั้นอนุบาล โดยเราต้องสอนเด็กๆ ให้รู้จักและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย มีความเคารพในเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมถึง สีผิว เชื้อชาติ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เขาทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อไหร่ที่เขาเห็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เขาจะต้องรู้สึกทุกข์ร้อน ออกมาช่วยเหลือ ป้องกัน และเป็นปากเสียงให้แก่ผู้ถูกกระทำ อย่างที่คณะฯ และที่โรงเรียนสาธิตจะมีวิชาที่สอนเนื้อหาเรื่องความแตกต่างหลากหลายเช่นกัน เพื่อเป็นพื้นที่ในการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้เรียน รวมทั้งยังจัดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้อาจารย์และนักเรียนนักศึกษาปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในความหลากหลายดังกล่าวด้วย

ข้อมูลจากการสำรวจเพื่อทำวิจัย “การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTI ในประเทศไทย” คงได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ในสังคมของเรายังมีการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อกัน ซึ่งหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาไม่ได้เป็นของนักการศึกษา ผู้ออกนโยบาย หรือนักสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้ความเคารพและยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ถึงจะทำให้สังคมเราก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีคุณภาพและมีความเท่าเทียมระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันั

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท