Skip to main content
sharethis

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ชี้ภัยเงียบจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย เสี่ยงเกิดภาวะเซลล์สมองตาย สมองเสื่อม และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นโรคอัลไซเมอร์ ย้ำผู้ป่วยโรคหัวใจควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อหัวใจและสมอง

สิริพร ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. 

14 พ.ย.2560 รายงานข่าวจากสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า สิริพร ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และศาสตราจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ จากหน่วยสรีรวิทยาระบบประสาท ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงภัยเงียบต่อสมองในโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่คนทั่วโลกเป็นกันมากขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก ในประเทศไทยโรคดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุดใกล้เคียงกับการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุและโรคมะเร็ง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน หรือบางรายอาจเกิดจากการอุดตันเฉียบพลัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ อาการของผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายจะเจ็บแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง และอาจเจ็บร้าวไปที่คอหรือขากรรไกรหรือไหล่ซ้ายได้ บางคนอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ และอาจมีอาการคลื่นไส้ หน้ามืด ใจสั่น หอบเหนื่อยร่วมด้วย โดยมีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของการเกิดโรค เช่น โรคความดันโลหิตและไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความเครียด การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ วัยหลังหมดประจำเดือน และผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเราต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระบุเพิ่มเติมว่าการมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดนั้น นอกจากจะเป็นภาวะที่มีความอันตรายถึงชีวิตแล้ว อาจจะไม่มีใครคาดถึงว่ามีภัยร้ายที่แอบแฝงอยู่ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นั่นคือ มีผลกระทบต่อสมองด้วย จากการศึกษาของคณะผู้วิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่าหลังจากมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแล้วเกิดมีเลือดกลับมาเลี้ยงใหม่นั้น จะทำให้เกิดมีภาวะเครียดออกซิเดชันหรือมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้นในสมองเพิ่มขึ้น ทำให้เซลล์สมองตาย รวมกับมีการสะสมของเบต้าอะไมลอยด์ (beta-amyloid, Aβ) เพิ่มขึ้นในสมอง ซึ่งเป็นพยาธิสภาพที่มีลักษณะคล้ายโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นในสมอง

“จะเห็นได้ว่าการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียเฉพาะแต่ที่หัวใจเท่านั้น แต่ยังมีภัยร้ายที่ซ่อนอยู่กับสมองอีกด้วย เพราะจะทำให้เกิดภาวะเซลล์สมองตาย สมองเสื่อม ได้เช่นกัน ดังนั้นการดูแลสุขภาพตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ถ้าเป็นโรคหัวใจแล้วก็ควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทั้งหัวใจและสมอง” สิริพร กล่าวสรุป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net