นิธิ เอียวศรีวงศ์: อพยพในประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประวัติหรือเรื่องราวของคนส่วนใหญ่ในเผ่าใดเผ่าหนึ่ง ที่พูดภาษาเดียวกันหรือใกล้กัน อพยพเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่ง ไปตั้งภูมิลำเนาอีกที่หนึ่ง มีอยู่มากในหมู่ชาวยุโรปหรืออินโดยุโรป บางครั้งก็เป็นการย้ายภูมิลำเนาไปไกลจากแหล่งเดิมจนทำให้กลายเป็นคนละภูมิอากาศและภูมิประเทศไปโดยสิ้นเชิงทีเดียว

เรื่องอพยพโยกย้ายในความจำของชาวตะวันตก เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาถึงสมัยประวัติศาสตร์ จนดูเป็นปรกติธรรมดา

ว่ากันว่าพวกกรีกเดิมมีภูมิลำเนาอยู่ฝั่งเอเชียไมเนอร์ ขยับย้ายไปตั้งบ้านเมืองอยู่ในแหลมบอลข่าน จากนั้นก็กระจายไปตามเกาะแก่งและชายฝั่งอีกหลายแห่งบนคาบสมุทรอิตาลี ไล่มาถึงการตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์, อเมริกาเหนือและใต้ รวมถึงแอฟริกาใต้และออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ทั้งหมดนี้ต้องรวมเอาการอพยพคืนถิ่นของพวกยิวภายใต้การนำของโมเสสด้วย แม้ไม่ใช่ชาวยุโรป แต่เรื่องดังกล่าวเป็นที่นับถือในหมู่ฝรั่งมานาน

อาจเป็นเพราะการอพยพโยกย้ายฝังลึกอยู่ในจินตนาการเกี่ยวกับอดีตของคนตะวันตก บวกกับความก้าวหน้าทางวิชาการด้านภาษาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้นักวิชาการของระบบอาณานิคมสามารถเห็นความเชื่อมโยงระหว่างชนชาติต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งอาจตั้งภูมิลำเนาอยู่ห่างไกลกันสุดกู่ คำอธิบายว่าทำไมคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นญาติกันทางภาษาได้ จึงมักเป็นเรื่องการอพยพเคลื่อนย้ายอย่างใหญ่อยู่บ่อยๆ

ผมไม่ได้หมายความว่าการอพยพเคลื่อนย้ายเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงนะครับ อาจเกิดขึ้นจริงก็ได้ โดยเฉพาะในหมู่พวกอินโดยุโรปและเซมิติก เพราะอาชีพดั้งเดิมของคนเหล่านี้คือการล่าสัตว์ขนาดใหญ่ (ไม่ใช่จิ้งกุ่ง, แมงอีนูน, กะปอมและกระรอก หรือหอย กุ้ง ปลา) และการเลี้ยงสัตว์ โดยอาชีพก็ต้องอพยพเคลื่อนย้ายเป็นประจำอยู่แล้ว

แต่ที่น่าประหลาดก็คือ ในตำนานต้นกำเนิดของคนเอเชียโดยส่วนใหญ่มักไม่มีการอพยพโยกย้ายมากนัก ชาติพันธุ์เอเชียโดยส่วนใหญ่คิดว่าตัวก็อยู่ของตัวมาในดินแดนที่กลายเป็นประเทศชาติในปัจจุบัน ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะเราไม่มีความรู้ด้านภาษาศาสตร์, โบราณคดี และชาติพันธุ์วรรณนาเท่าฝรั่งก็ได้ แต่ผมคิดว่าเหตุผลที่สำคัญกว่าอยู่ตรงที่ว่า รัฐในเอเชียไม่ได้นิยามความเป็นพลเมืองหรือข้าราษฎรของตนจากชาติพันธุ์ ฮ่องเต้จีนนั้นรู้อยู่เต็มอกว่า ราษฎรทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีคือชาวพื้นเมืองที่ถูกกลืนเป็นจีนในภายหลัง แต่เขายอมรับอารยธรรมจีนไม่ต่างจากชาวฮั่นในลุ่มน้ำเหลือง ดังนั้น เขาก็เป็นราษฎรของฮ่องเต้เท่ากัน

รัฐชาติสมัยใหม่ที่เริ่มในตะวันตกก่อนต่างหาก ที่เอาเชื้อชาติไปผูกกับความเป็นพลเมือง กลายเป็นธุระของข้าราชการอาณานิคมที่ต้องรายงานว่าใครเป็น “เชื้อชาติ” อะไร และเป็นญาติกับ “เชื้อชาติ” อะไรอีกบ้าง รวมทั้งคาดเดาว่าใครอพยพมาจากบ้านเดิมที่ไหน และด้วยเหตุดังนั้น บ้านเดิมของคนเอเชียจึงต้องอยู่ที่อื่น ไม่ใช่บ้านที่ตัวอยู่ทั้งนั้น มอญ-เขมรน่าจะมาจากอินเดีย เพราะยังมีคนที่เรียกว่ามุณฑ์ พูดภาษาที่เนื่องกับภาษามอญที่นั่น (ทำไมไม่คิดกลับกันว่าพวกมุณฑ์ต่างหาก ที่อพยพจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังอินเดีย ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน) ว่ากันว่า บ้านเดิมของมลายู-อินโดนีเซีย, พม่า และไทย ต่างมีบ้านเดิมอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศจีน แล้วก็อพยพเคลื่อนย้ายลงมาแย่งบ้านคนอื่นเขาอยู่ในเวลาต่อมา

แต่ก็ดังที่กล่าวแล้วว่า ส่วนใหญ่ของตำนานกำเนิดคน, กำเนิดรัฐ, หรือกำเนิดสังคมของคนเอเชีย ไม่ได้กล่าวถึงการอพยพ ก็อยู่ต่อๆ กันมาในที่ซึ่งอยู่ในปัจจุบัน

ผมเข้าใจว่า ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีคนอยู่สองพวกเท่านั้นที่มีตำนานเกี่ยวกับการอพยพจากที่อื่น เข้ามาอยู่ในบ้านที่ตัวอยู่ปัจจุบัน

พวกแรกที่ผมไม่แน่ใจนักว่าใช่ก็คือชาวชวา-บาหลี เล่าถึงบรรพบุรุษที่เป็นเทพจากทะเล ซึ่งแปลว่ามาจากนอกเกาะ แต่ตำนานอย่างนี้จะบอกว่าเกี่ยวกับการอพยพก็ไม่ค่อยชัดนัก เพราะในหมู่ประชาชนออสโตรนีเชียน-โพลีนีเชียน อีกฝั่งโพ้นของทะเลคือที่อยู่ของบรรพบุรุษ ตำนานอาจจะบอกเพียงว่า คนที่นำความเจริญมาให้ก็คือผีบรรพบุรุษเท่านั้นเองก็ได้

พวกที่สองซึ่งผมมั่นใจมากกว่าก็คือพวกไท-ไต-ไทย-ลาวนี่แหละ ตำนานของคนกลุ่มนี้ล้วนเป็นเรื่องของการอพยพทั้งนั้น บางกลุ่มบอกปีได้เลยว่า กษัตริย์องค์นั้นองค์นี้ยกทัพข้ามภูเขาปาดไก่ในปีอะไร ตำนานขุนบรมของล้านช้าง ก็อ้างกำเนิดที่นาน้อยอ้อยหนูในเวียดนามปัจจุบัน ซ้ำยังพูดถึงเรื่องส่งลูกส่งหลานไปเที่ยวครองเมืองโน้นเมืองนี้กว้างใหญ่ไพศาลออกไป เช่นเดียวกับตำนานเมืองของพวกไทในสิบสองจุไท ก็เต็มไปด้วยเรื่องการยกทัพไปเที่ยวชิงเมืองของคนอื่น หรือตั้งเมืองใหม่ขยายออกไป

พงศาวดารเหนือหรือตำนานอีกเรื่องหนึ่ง พูดถึงการอพยพโยกย้ายของเจ้านายเมืองเชียงแสนลงมาแถบกำแพงเพชร แล้วลูกหลานก็เลยมาตั้งเมืองอยุธยา กลายเป็นคนไทยภาคกลาง คนอีสานมีตำนานท้องถิ่นเล่าถึงการอพยพโยกย้ายมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไม่นานมานี้เอง มีแต่คนภาคใต้เท่านั้นที่ไม่มีตำนานเรื่องอพยพโยกย้าย

ทั้งหมดนี้ ผมอยากให้เอาไปเปรียบกับพม่าและเวียดนาม ซึ่งตำนานและสำนึกทางประวัติศาสตร์ของเขาคืออยู่ที่นั่นตลอดมา ไม่ได้อพยพมาจากไหนทั้งสิ้น

ตํานานและพงศาวดารพม่าเล่าถึงประชาชนหลากหลายจำพวกที่อยู่ในลุ่มอิระวดีตอนกลางร่วมกับชาวพม่า แต่ไม่ได้บอกว่าชาวพม่ามาจากไหน มีแต่ราชวงศ์ของพม่าเท่านั้นที่ไม่ใช่คนพื้นถิ่น แต่เป็นศากยวงศ์จากอินเดีย หลบหนีความยุ่งยากทางการเมืองเข้ามาตั้งบ้านเมืองเหนือประชาชนพื้นเมืองในพม่า ไม่ใช่เฉพาะแต่ราชวงศ์แรกเท่านั้นนะครับ ทุกราชวงศ์สืบมาจนถึงราชวงศ์กอนบอง ซึ่งเขียนพระราชพงศาวดารใหม่เพื่อชี้ว่า พระเจ้าอลองพญาก็เป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์พุกาม ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากศากยวงศ์เหมือนกัน

พระเจ้าแผ่นดินพม่าจึงประกาศชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับข้าราษฎรของพระองค์ และเป็นกลุ่มเดียวในสังคมพม่าที่มีตำนานการอพยพโยกย้าย ส่วนประชาชนชาวพม่าล้วนอยู่ในพื้นที่ตลอดมา แม้มีหลากหลายกลุ่มในสมัยพุกาม แต่ก็ผสมปนเปกันจนกลายเป็นพม่าไปหมดแล้ว

การจัดองค์กรทางสังคมของพม่าวางอยู่บนการจัดกลุ่มคนไว้ในกลุ่มตระกูล ชีวิตจะได้ดีหรือตกยากก็ขึ้นอยู่กับชะตากรรมของสมาชิกในกลุ่มตระกูลของตัว บางกลุ่มตระกูลอาจมีสมาชิกไม่มาก เป็นหนึ่งในกลุ่มตระกูลของหมู่บ้าน บางกลุ่มตระกูลอาจใหญ่ครอบคลุมคนทั้งหมู่บ้าน หรือทั้งตำบล หรือหลายๆ ตำบลไปทั่วอาณาเขตของเมืองใหญ่ไปเลย แม้ไม่บังคับเด็ดขาด แต่ถือเป็นธรรมเนียมว่า คนควรเลือกหาคู่จากคนในกลุ่มตระกูลเดียวกัน (แน่นอนไม่ใช่พี่น้องร่วมท้องหรือร่วมพ่อเดียวกัน ยกเว้นกษัตริย์) (ดู Thant Myint U, The Making of Modern Burma)

นี่เป็นเหตุผลให้คนพม่ายิ่งรู้สึกถึงความต่างระหว่างตนเองกับเจ้านายอย่างมาก เพราะนอกจากร่วมวงศ์พระพุทธเจ้าแล้ว ยังสืบสาโลหิตในกลุ่มตระกูลที่นับเป็นราชตระกูลเสียอีก (อย่างน้อยโดยทฤษฎี) เป็นทั้งคนละชนชั้น และคนละชาติพันธุ์

ตํานานของเวียดนามก็เช่นเดียวกัน จะว่าประชาชนเวียดนามคือชาวเยว่ ซึ่งเคยอยู่ใต้แม่น้ำแยงซีมาทางตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้ แต่คำนี้ไม่มีความหมายอะไร เพราะจีนใช้เรียกคนที่ไม่ใช่ฮั่นในตอนใต้ทั่วไปหมด เยว่จึงรวมคนไม่รู้จะกี่ชาติกี่ภาษา ที่อยู่คนละกลุ่มตระกูลภาษาก็ถูกเรียกเยว่เหมือนกัน เช่น บรรพบุรุษของคนเวียดนามพูดภาษาในกลุ่มออสโตเอเชียติคเหมือนมอญ-เขมร บรรพบุรุษไทยพูดภาษาในกลุ่มตระกูลไท-กะได แต่ต่างถูกจีนเรียกรวมๆ ว่าเยว่หมด

พวกเยว่ที่อยู่ในกวางสี-กวางตุ้ง-ฮกเกี้ยน เคยขับไล่อำนาจจีนออกไปแล้วสถาปนาอาณาจักรของตนเองขึ้น บางครั้งเจ้าประจำถิ่นในเวียดนามก็ยอมขึ้นต่ออาณาจักรของเยว่ในจีน บางครั้งก็ไม่ยอม สมัครใจจะสวามิภักดิ์จีนต่อไป แต่ในที่สุดแล้วจีนก็ผนวกเอาทั้งกวางสี-กวางตุ้ง-ฮกเกี้ยนและตังเกี๋ยหรือลุ่มน้ำแดง-ดำเข้าไว้ในจีนหมด

ตำนานกำเนิดเวียดนามพูดถึงการร่วมวงศ์ของเทพจากภูเขาและเทพจากทะเล แต่ก็ไม่ได้ส่อเรื่องราวของการอพยพมากไปกว่าการรวมกันของพลังอำนาจในเขตภูเขาด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และลุ่มแม่น้ำแดงตอนล่างซึ่งติดทะเล อันเป็นแก่นของเรื่องต้นกำเนิดประชาชาติเวียดนาม

เมื่อเปรียบเทียบตำนานของพวกไทในสิบสองจุไทกับของเวียดนามแล้ว ตำนานของพวกไทเต็มไปด้วยเรื่องของการอพยพเคลื่อนย้ายของชนชั้นปกครอง ในขณะที่ตำนานของเวียดนามไม่ปรากฏ ยกเว้นการขยายตัวของจีน เข้าไปตั้งเมืองใหม่เพิ่มมากขึ้นในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง เพราะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่จีนนำเข้ามา เมื่อเวียดนามขับไล่อำนาจจีนออกไปได้ หว่างเด๊ของเวียดนามก็ย้ายเมืองหลวงมาสร้างที่ธังลงหรือฮานอยปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าศูนย์อำนาจของเวียดนามขยับจากเขตลาดเขาลงมาอยู่บนพื้นราบใกล้ทะเล และศูนย์อำนาจของรัฐในเวียดนามก็จะตั้งอยู่ในทำเลเช่นนี้สืบมาจนปัจจุบัน เป็นเรื่องของการขยับศูนย์อำนาจมากกว่าอพยพโยกย้าย (Keith W. Taylor, The Birth of Vietnam)

โดยสรุปก็คือคนไทยเป็นพวกเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายเป็นเรื่องใหญ่ในความทรงจำ ในขณะที่คนเวียด, คนเขมร, คนพม่า, คนกะเหรี่ยง, คนมอญ (ที่ยังอยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี) ไม่มีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับการอพยพโยกย้ายมาจากที่อื่นเลย

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า ทั้งนี้ว่ากันตามตำนานและความเชื่อนะครับ ไม่ใช่ความเห็นของนักวิชาการที่มองจากภาษาศาสตร์และชาติพันธุ์วรรณนา

อย่างไรก็ตาม แม้แต่การอพยพโยกย้ายของพวกไท-ไต-ไทย-ลาวที่ปรากฏในตำนาน ก็ไม่ใช่การอพยพโยกย้ายประชากรจำนวนมากๆ จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง แต่เป็นการเคลื่อนย้ายของชนชั้นนำ ซึ่งมักมีอำนาจทางการเมืองที่ตั้งมั่นอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งแล้วหนุนหลัง (เช่น เมืองของพระราชบิดา) ซ้ำที่ใหม่ซึ่งเคลื่อนย้ายไปก็หาได้เป็นป่าดงพงพีซึ่งไม่มีใครอยู่ไม่ แต่เป็นถิ่นที่อยู่หรือเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศน์เพื่อการดำรงชีพของคนกลุ่มอื่นอยู่แล้ว และน่าจะมีจำนวนประชากรมากกว่าพวกที่อพยพไป แต่เนื่องจากความเหนือกว่าสองด้านของพวกไทย คือเทคโนโลยีการเกษตรอย่างหนึ่ง และการจัดกำลังทัพอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ในที่สุดคนพื้นเมืองก็เลือกจะเข้ามาอยู่ใน “ระบบ” สังคมและการเมืองของพวกไทย กลายเป็นข้าไพร่ของเจ้าไทย ยึดถืออัตลักษณ์อย่างเดียวกับพวกที่อพยพลงมา

ภาพการอพยพของตำนานเหล่านี้ ตรงกับทฤษฎีเกี่ยวกับการอพยพของนักวิชาการรุ่นใหม่ มากกว่าภาพของการหลั่งไหลเป็นสายน้ำที่ต่อเนื่องกันอย่างไม่หยุดหย่อนอย่างภาพการอพยพของนักวิชาการรุ่นก่อน

ถึงรัฐหรือสังคมที่ไม่ได้อพยพมาจากไหน ก็ไม่ต่างกันในแง่นี้ เพราะดินแดนที่เป็นเอเชียอาคเนย์นั้นมีคนเดินผ่านไปมา และตั้งรกรากหากินอยู่หลายพวกหลายเผ่ามาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วแต่ใครจะมองเห็น “ช่องว่าง” (niche) ทางนิเวศที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของตัว เมื่อชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรืออพยพโยกย้ายมาจากไหน สามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองขึ้นได้ โดยเฉพาะรับเอาอารยธรรมจากภายนอกที่เหนือกว่าไว้ได้มาก ก็จะทำให้คนพื้นถิ่นเดิมอีกหลายเผ่าหลายพันธุ์ ค่อยๆ รับวัฒนธรรมของชนชั้นนำ จนกลายเป็นพวกเดียวกันไปในที่สุด

จึงไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นที่ถูกนักวิชาการเรียกว่า “ร้อยพ่อพันแม่” พม่าและเวียดนาม (เป็นอย่างน้อย) ก็เหมือนกัน ทั้งนี้ ยังไม่นับการอพยพเข้าของคนจากเกือบทั่วโลกในสมัยประวัติศาสตร์ ที่ยังทิ้งเชื้อสายของตนไว้ในสังคมทั้งสามของอุษาคเนย์

สำนึกหรือความทรงจำที่ต่างกันระหว่างคนไทย, คนเวียดนาม และคนพม่าในเรื่องนี้ ทำให้เกิดความต่างอะไรหรือไม่ในทัศนคติทางการเมือง (หรือเศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม) ของคนสามพวกนี้ ผมตอบไม่ได้

แต่มีความแตกต่างระหว่างรัฐทั้งสามในเรื่องท่าทีต่อเพื่อนบ้าน ผมคิดว่ามีแต่ไทยเท่านั้นที่ระแวงเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นพม่าทางตะวันตกหรือเวียดนามทางตะวันออก ในขณะที่ทั้งพม่าและเวียดนามไม่ระแวงไทยเหมือนอย่างที่ไทยระแวงสองชาตินั้น จะว่าเพราะประวัติศาสตร์ที่เคยทำสงครามกันมา ก็ถ้าอย่างนั้นสงครามในประวัติศาสตร์ก็น่าจะสร้างความระแวงให้พม่าและเวียดนามเหมือนกัน

สองชาตินั้นระแวงเพื่อนบ้านเหมือนกันคือระแวงจีน เพราะทั้งสองชาติเคยถูกรุกรานและยึดครองจากจีนมาหลายครั้งหลายหนในอดีต และถึงอย่างไรใครที่มีพรมแดนติดกับยักษ์ใหญ่อย่างจีน ก็คงไม่สบายใจนักอยู่ดี อย่างเดียวกับที่กัมพูชาและลาวย่อมระแวงทั้งไทยและเวียดนามเหมือนกัน

แต่ความแตกต่างดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากความทรงจำที่ต่างกันว่า ไทยรู้สึกเป็นคนแปลกหน้าในบ้านตนเอง ในขณะที่สองชาตินั้นรู้สึกเป็นเจ้าบ้านเต็มตัว ใช่หรือไม่ ผมไม่ทราบ

 

ที่มา: www.matichonweekly.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท