รัฐประหารทำคนจน ภาคประชาชนแนะรัฐหยุดออกนโยบายสงเคราะห์คนจน เพื่อเอื้อนายทุน

ภาคประชาสังคมวิพากษ์รัฐบาลอ้างเงินไม่พอ แต่ลดแลกแจกแถมเอื้อนายทุน ทำสูญเงินกว่า 200,000 ล้านบาท แต่ยอดคนจนกลับเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2560 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ จัดเวทียุทธศาสตร์ประชาสังคมขับเคลื่อนสวัสดิการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่โรงแรมบลิสตัน สุวรรณ ปาร์ค วิว

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าไปสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิต มุ่งการเติบโตทางตัวเลขเศรษฐกิจด้วยมาตรการลดภาษี ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อแลกกับการจ้างคน 55,000 คน หรือรัฐยอมเสียรายได้ 5 ล้านบาทเพื่อจ้างคนเพียง 1 คน ซึ่งการลดแลกแจกแถมแบบที่รัฐกำลังทำอยู่นี้ ไม่ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่ดีกินดีขึ้น แทนที่จะลดความเหลื่อมล้ำ กลับยิ่งตอกย้ำถ่างความยากจนให้มากขึ้น เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นกลับกระจุกตัวกับคนที่มีเงินอยู่แล้วให้รวยยิ่งขึ้น

สุรีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อนำตัวเลขรายได้ที่รัฐสูญเสียไปจากการลดภาษีให้นักลงทุน รวมกับตัวเลขที่รัฐใช้จัดสวัสดิการที่หลากหลาย ซ้ำซ้อนกันไปมา หากนำมาจัดสรรบริหารแบบมืออาชีพ และเป็นธรรม เชื่อได้ว่ารัฐมีเงินพอที่จะนำมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้ แต่ทุกวันนี้รัฐมักจะอ้างว่าเงินไม่พอ จึงต้องเลือกจัดสวัสดิการให้เฉพาะคนจนเท่านั้น ในขณะที่สวัสดิการของคนบางกลุ่ม เช่น บำนาญข้าราชการ ซึ่งมีคนเพียง 6 - 7 แสนคน ใช้เงินกว่า 200,000 ล้านบาท เทียบกับงบเบี้ยยังชีพ ที่จ่ายให้คน 8 ล้านคน รัฐกลับจัดงบให้เพียง 64,700 ล้านบาท

ด้านระนอง ซุ้นสุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า การแจกเงินให้คนจน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจนช่วยเหลือได้เพียงชั่วคราว ต่อให้ลูกจ้างทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด คนจนก็ไม่มีเงินพอที่จะใช้จ่าย ซึ่งบัตรคนจนเพียงเข้ามาเติมในส่วนที่ไม่พอได้บ้างเท่านั้น ทั้งยังไม่รวมระบบการจัดการ ที่ยิ่งแบ่งแยกคนจนคนรวยให้ชัดเจนมากขึ้น คือ ขณะที่รัฐมุ่งลดภาษีให้นายทุน ค่าแรงของลูกจ้างเท่าเดิม แต่ค่าครองชีพกลับเพิ่มสูงขึ้น 

“หากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารต้องการให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้จริง รัฐต้องเลิกอุ้มคนรวย เลิกการสงเคราะห์ครั้งคราวที่พุ่งเป้าแค่คนบางกลุ่ม แต่ต้องสร้างหลักประกันทางรายได้ที่มั่นคงให้กับประชาชน ทั้งในแบบการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า เช่น การมีบำนาญพื้นฐานให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมและเพียงพอต่อการยังชีพ” ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ให้ความเห็น

ชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพเป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนของการบริหารงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐ โดยทุกวันนี้ประเทศไทยจ่ายค่าสวัสดิการรักษาพยาบาลกว่า 80,000 ล้านบาทให้กับกลุ่มข้าราชการที่มีเพียง 4 - 5 ล้านคน ในขณะที่บัตรทองต้องดูแลคนถึง 49 ล้านคน มีเงินใช้เพียง 140,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในประกันสังคมเป็นคนเพียงกลุ่มเดียว ที่ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบเป็นค่ารักษาพยาบาล หากรัฐบาลนำเงินที่กระจัดกระจายเหล่านี้ มาจัดการร่วมกันใหม่ จะทำให้ประชาชนทุกคน มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน รวมทั้งมีอำนาจต่อรองในการไปพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ทั้งของรัฐและเอกชน ให้มีคุณภาพมากขึ้น

จุติอร รัตนอมรเวช ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค ให้ความเห็นว่า บัตรคนจนนั้นแยกคนจนออกจากคนจน เพราะมีปัญหาตั้งแต่การขึ้นทะเบียน ที่ไม่สามารถเลือกได้จริงว่าใครจน ใครไม่จน เห็นได้ชัดจากมีคนจำนวนหนึ่งที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 30,000 บาท แต่กลับไม่สามารถไปขึ้นทะเบียนคนจนได้ เพียงเพราะมีชื่อร่วมเปิดบัญชีของกลุ่ม 
“ลุงดำ ซึ่งเป็นคนไร้บ้าน และมีรายได้ไม่แน่นอน รวมๆ แล้วรายได้ของแกต่ำกว่าเกณฑ์ แต่เนื่องจากเครือข่ายคนไร้บ้านร่วมกันเปิดบัญชี เพื่อทำโครงการช่วยเหลือกันเองและมีการระดมทุนมาทำงาน ผลปรากฏว่าลุงดำไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนคนจนเพราะมีชื่อในบัญชีดังกล่าว” จุติอร กล่าว

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เรียกร้องให้รัฐบาล

1.หยุดนโยบายอุ้มคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่แล้ว และหยุดแยกคนจนออกจากคนเฉียดจน แต่ต้องจัดระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าให้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนจน คนรวย 

2.นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต้องไม่เน้นตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว โดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้ศึกษาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่รัฐบาลไทยร่วมลงนามกับประเทศสมาชิกอื่นๆ กว่า 170 ประเทศ ว่าต้องขจัดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ และสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าให้ทุกคน เพราะประเทศไทยจะไม่มีทางพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ถ้าไม่แก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ดี เครือข่ายประชาชนฯ จะจัดทำรายงานของภาคประชาสังคมคู่ขนานไปกับรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาครัฐเสนอต่อสหประชาชาติ (UN) ต่อไป รวมถึงจะเตรียมตัวสู่การเลือกตั้ง ด้วยการเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองว่า ต้องเห็นหัวคนจน และให้แรงงานที่ไม่มีนายจ้างต้องได้รับการยกระดับค่าแรง

จากรายงานของสภาพัฒน์ การสำรวจความยากจน โดยเทียบกับเส้นความยากจน (ที่ 2,920 บาท/คน/เดือน) พบว่าในระหว่างปี 2558-2559 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน (เกือบหนึ่งล้านคน) จากเดิมมีจำนวนคนจน 4.847 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มเป็น 5.810 ล้านคน ในปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้น 20% จากจำนวนคนจนในปี 2558)

ในจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งล้านคน แยกเป็น คนจนในเมืองเพิ่มขึ้น 436,000 คน (หรือเพิ่มขึ้นถึง 24% ของจำนวนคนจนในเมืองในปี 2558) และคนจนในชนบทเพิ่มขึ้น 527,000 คน (หรือเพิ่มขึ้น 17% ของจำนวนคนจนในชนบทปี 2558)

ถ้ามองในแง่สัดส่วนความยากจนพบว่า สัดส่วนของคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.21% (หรือมีคนจน 7 คนในประชากร 100 คน) เป็น 8.61%

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท