Skip to main content
sharethis

แจง ปิดเขื่อนแม้น้ำสูงกว่าเกณฑ์ ไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ อนุกรรมการไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ เรียกร้องเปิด-ปิดเขื่อนตามข้อตกลงปี 2558 ยกเลิกการปิดเขื่อน ปลดผู้ว่าฯ - รองผู้ว่าฯ ปลัดรับหนังสือแทนผู้ว่าฯ แล้ว จะส่งให้สำนักนายกฯ ต่อไป 35 องค์กร - นักวิชาการ - นักกิจกรรมลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์

กฤษกรณ์ ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลส่งมอบหนังสือให้กับปลัด จ.อุบลราชธานีที่มารับแทนตัวผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นจะส่งแฟกซ์ให้กับสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป (ที่มา: กฤษกร ศิลารักษ์)

สืบเนื่องจากวันที่ 19 พ.ย. 2560 ปราโมทย์ ธัญพืช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ทำพิธีปิดประตูเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จาก 3 อำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

กลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลได้ออกแถลงการณ์ในประเด็นการปิดเขื่อนเพื่อชี้แจงว่าการตัดสินใจปิดเขื่อนขัดกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่ได้กำหนดไว้ ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการปิดเขื่อนปากมูล ย้าย ผวจ. อุบลราชธานี และรอง ผวจ. อุบลราชธานี และให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยต่างๆ ที่เกี่วข้องให้ดำเนินการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลตามเกณฑืที่ได้ตกลงกันแล้วเมื่อปี 2558 อย่างเร่งด่วน ลงท้ายด้วยองค์กรและกลุ่มบุคคลที่ลงชื่อสนับสนุน ดังนี้

ที่ สคจ. 046 /2560

20 พฤศจิกายน 2560

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)

เรื่อง การละเมิดข้อตกลงการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล

ความเดิม : นับตั้งแต่รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาบริหารประเทศ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ได้ทำการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อนปากมูลมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ขื้น โดยคณะกรรมการอำนวยการ ฯ ได้ประชุมและมีมติ กำหนดเกณฑ์ การบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ดังนี้

1.เกณฑ์การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ตามรายละเอียดดังนี้

1.1 เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 เกินกว่า 500 cms (cms หมายถึง ลบ.ม./วินาที)

1.2 หรือ ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 ตั้งแต่ 107 ม.รทก (เมตร.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง)

1.3 หรือ ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำห้วยสะคาม ตั้งแต่ 95 ม.รทก (เมตร.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง)

2. เกณฑ์การปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ตามรายละเอียดดังนี้

2.1 เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 ต่ำกว่า 100 cms (cms หมายถึง ลบ.ม./วินาที)

2.2 หรือ ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 ต่ำกว่า 107 ม.รทก (เมตร.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง)

โดยหลักเกณฑ์ การบริหารจัดการน้ำนี้ เป็นการผลักดันของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี คนก่อน ซึ่งทางสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากไม่สามารถโน้มน้าวให้กรรมการในที่ประชุมเห็นด้วยได้ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จึงต้องยอมรับมติที่ประชุมของคณะกรรมการอำนวยการ ฯ ที่กำหนดให้เกณฑ์ ดังกล่าวเป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล และจากนั้นเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำดังกล่าว ได้ถูกน้ำมาใช้ในการบริหารเขื่อนปากมูลนับตั้งแต่ปี 2558 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมารับตำแหน่งใหม่ (รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560) ได้เรียกประชุมอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อทำการปิดประตูเขื่อนปากมูล และในครั้งนั้นสมัชชาคนจนก็ได้ทำการคัดค้านการประชุม แต่ผู้วาฯเดินหน้าการประชุม แต่ไม่มีมติใดๆ แต่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้มีหนังสือด่วนที่สุด เรียกประชุมอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ครั้งที่ 5/2560 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี (เป็นการเรียกประชุมครั้งที่ 2 ในรอบหนึ่งเดือน) ซึ่งเป็นการประชุมที่มีการนัดหมายอย่างกระชั้นชิด และเร่งรีบ เพื่อให้ปิดประตูเขื่อนปากมูล ซึ่งไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดังนี้

1. เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 ต่ำกว่า 100 cms (cms หมายถึง ลบ.ม./วินาที) ขณะที่ข้อเท็จจริงคือ อัตราการไหลของน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 อยู่ที่อัตรา อยู่ที่ 1,431 cms สูงกว่าเกณฑ์ อยู่ที่ 1,331 cms (ข้อมูลระดับและปริมาณน้ำ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560)

2. หรือ ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 ต่ำกว่า 107 ม.รทก (เมตร.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ขณะที่ข้อเท็จจริงคือ ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M 7 อยู่ที่ 110.25 ม.รทก สูงกว่าเกณฑ์ อยู่ 3.25 ม.รทก.(ข้อมูลระดับและปริมาณน้ำ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560)

ที่สำคัญ การดำเนินการของคณะอนุกรรมการ ฯ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่มีความผิดหลายประการ ดังนี้

  1. คณะอนุกรรมการ ฯ ถูกแต่งตั้งขึ้นมานั้น ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ใด ใด ต่อการปิด – เปิดประตูเขื่อนปากมูล มีหน้าที่เพียงแค่ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สำหรับเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการ ฯ (กรรมการชุดใหญ่) เพื่อมีมติให้ดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ต่อไป โดยเฉพาะการปิด – เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล

  2. ละเมิดเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ปี 2558 ที่ได้ตกลงกันไว้

  3. ฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการอำนวยการฯ อย่างรุนแรง ที่ระบุไว้ในอำนาจหน้าที่ข้อที่ 1 ที่ให้ยึดหลักเกณฑ์ปี 2558 มาเป็นแนวทางปฏิบัติ

  4. ฝ่าฝืน มติ คณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ระบุว่า การดำเนินการเกี่ยวกับเขื่อนปากมูล จะต้องมีการหารือผู้เดือดร้อน

ดังนั้นพฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่เรียกประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ถึง 2 ครั้ง ในเวลาไล่เลี่ยกัน และยังมีการลงมติที่ขัดกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ได้กำหนดไว้นั้น สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และบุคคลที่มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายฉบับนี้ ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ดำเนินการ ดังนี้

  1. ให้รัฐบาลมีคำสั่ง ให้จังหวัดอุบลราชธานี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทสไทย (กฟผ.) ยกเลิกการปิดประตูเขื่อนปากมูล โดยเร็ว

  2. ให้รัฐบาลย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายสฤษดิ์ วิฑูรย์) และรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายปราโมทย์ ธัญพืช) เนื่องจากทำผิดหลายประการ

  3. ให้รัฐบาลสั่งการไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลตามเกณฑ์ ปี 2558 ที่ได้ตกลงร่วมกันอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันควรเร่งเยียวยาความเสียหายให้กับชาวบ้าน โดยเร่งด่วนด้วย

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล เครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และบุคคลที่มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายฉบับนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านปากมูน (สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล) ที่ได้รับมานานกว่า 25 ปี ด้วยการเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ลุล่วง และเป็นรูปธรรม

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

เชื่อมั่นในพลังประชาชน

รายชื่อเครือข่ายและบุคคลที่ร่วมลงชื่อ

  1. สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

  2. สลัมสี่ภาค

  3. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

  4. สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

  5. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

  6. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

  7. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม (สสธ.)

  8. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

  9. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

  10. กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

  11. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

  12. เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์

  13. กลุ่มรัก บขส.ขอนแก่น

  14. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี

  15. องค์กรรักษ์ต้นน้ำตำบลตะแพน จังหวัดพัทลุง

  16. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จังหวัดพัทลุง

  17. ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จังหวัดพัทลุง

  18. ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนวิถีไท

  19. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอ่างลำพอกและโบราณสถาน ต.ยาง อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์

  20. เครือข่ายเกษตรเกษตรบึงปากเขื่อน

  21. ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม

  22. กลุ่มเครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติ (IEANA)

  23. ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน

  24. คณะกรรมการชาวบ้านฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน (ชชช.)

  25. มูลนิธิศักยภาพชุมชน

  26. มูลนิธิส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

  27. มูลนิธิเอ็มพลัส

  28. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

  29. อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ

  30. อาจารย์วสันต์ พานิช อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ / ทนายความ

  31. นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการ

  32. นายชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการ

  33. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการ

  34. นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนปฏิรูปสังคมและการเมือง

  35. คุณศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา นักกิจกรรมด้านแรงงาน

**************

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net