Skip to main content
sharethis

24 พ.ย. 2560 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) รายงานว่า วานนี้ ทนายความอาสา มสพ. ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยยื่นต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ เพื่อขอให้ลดโทษแก่จำเลยชาวกัมพูชา 9 คน ซึ่งถูกพิพากษาให้จำคุกหกปี ในข้อหาปลอม และใช้หนังสือเดินทางปลอม  และปลอมและใช้ตราประทับคนเข้าเมืองปลอม ทั้งนี้ทนายความ มสพ. เห็นว่า เนื่องจากจำเลยทั้ง 9 คนมีการศึกษาน้อย ตกเป็นเหยื่อขบวนการนายหน้าค้าแรงงานและปลอมแปลงเอกสาร และไม่มีทนายความให้การช่วยเหลือแนะนำให้คำปรึกษาตั้งแต่ต้น จึงรับสารภาพต่อข้อหาดังกล่าวโดยขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้

สำหรับรายละเอียดดี มสพ. รายงานด้วยว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2560  แรงงานชาวกัมพูชา จำนวน 10 คน เป็นชาย 5 คน หญิง 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสุรินทร์จับกุม เนื่องจากได้นำหนังสือเดินทางและวีซ่าปลอมมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ที่จุดผ่านแดนถาวรช่องจอม ตำบลด่าน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาต่อแรงงานทั้งหมดว่า ปลอมและใช้หนังสือเดินทางปลอม และปลอมและใช้ตราประทับคนเข้าเมืองปลอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(15) , 296/8 , 296/13 และ 91 ต่อมาในวันที่ 24 ก.ค. 2560 ศาลจังหวัดสุรินทร์ ตัดสินจำคุกแรงงานทั้งหมดโดยเรียงกระทงลงโทษ กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 12 ปี แต่จากการที่แรงงานให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกแรงงานทั้ง 10 คน คนละ 6 ปี

หลังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ญาติจำเลยในกัมพูชาได้ติดต่อสมาคมสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งกัมพูชา หรือชื่อย่อว่า ADHOC เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยญาติยืนยันว่าจำเลยทุกคนเป็นเหยื่อของขบวนการค้าแรงงานและปลอมแปลงเอกสาร หลังถูกจับกุมได้รับการแจ้งและเข้าใจว่าหากรับสารภาพแล้วจะได้รับการปล่อยตัวให้กลับประเทศกัมพูชา แต่กลับปรากฎว่าต้องรับโทษจำคุกถึง 6 ปี  ADHOC จึงได้ติดต่อมายัง มสพ. เพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมาย โดยจำเลย 9 คน ได้ขอให้ทนายความอาสาจาก มสพ. ช่วยเหลือในคดี

ทนายความอาสาจาก มสพ. ได้ประสานความช่วยเหลือจากประธานสภาทนายความจังหวัดสุรินทร์ และได้ทราบข้อเท็จจริงจากจำเลยทั้งหมดว่าพวกตนได้ติดต่อนายหน้าที่คนรู้จักแนะนำกันมาเพื่อเดินทางมาทำงานในประเทศไทย โดยนายหน้าได้จัดทำเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทางให้ เสียค่าใช้จ่ายคนละ 2,500 บาท โดยเข้าใจว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้อง

"ในกัมพูชา เป็นเรื่องธรรมดามากที่ชาวบ้านในชนบทจะจ่ายเงินให้นายหน้าช่วยทำพาสปอร์ตให้ ชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษาน้อยไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าพาสปอร์ตคืออะไร อย่าว่าแต่แยกแยะได้หรือไม่ระหว่างพาสปอร์ตจริงกับพาสปอร์ตปลอม หน่วยงานรัฐยังสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ให้กับผู้คนไม่พอ  ถ้าเปรียบเทียบกับนายหน้าผิดกฎหมายที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง โฆษณาเสนอบริการตัวเอง และใช้ภาษาที่ง่ายๆ” ชาน โสกุนเทีย เจ้าหน้าที่สมาคม ADHOC สนับสนุนคำกล่าวของจำเลย

มสพ. รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในชั้นสืบสวน จำเลยเข้าใจว่าตนได้ให้การสารภาพในข้อหาใช้เอกสารปลอม แต่ไม่ใช่รับสารภาพในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร แต่ที่ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาปลอมแปลงเอกสารด้วยนั้นอาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เนื่องจากไม่มีทนายความให้คำปรึกษาอย่างแท้จริง ไม่เข้าใจภาษาไทย และมีปัญหาในการแปล นอกจากนี้ ทนายความ มสพ. ยังพบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อได้อีกว่ามีจำเลย 3 คน เป็นเด็ก มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในวันที่ถูกจับ ซึ่งควรจะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการของศาลเยาวชนและครอบครัว ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ใหญ่ จึงไม่สอดคล้องกับทั้งกฎหมายไทย และพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ สำหรับขบวนการนายหน้าที่จำเลยทั้งหมดตกเป็นเหยื่อนั้น ญาติของจำเลยยืนยันว่ายังคงลอยนวลพ้นผิดและหลอกลวงชาวกัมพูชาต่อไป โดยทั้งเจ้าหน้าที่ไทยและกัมพูชาไม่ได้จับกุมกลุ่มบุคคลดังกล่าวมาดำเนินคดีแต่อย่างใด  

“คดีนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งรัฐบาลประเทศต้นทางอย่างกัมพูชา และรัฐบาลประเทศปลายทางอย่างไทยยังคงต้องทำงานหนักเพื่อให้วาระ ‘การเคลื่อนย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย’ (safe migration) ซึ่งเป็นวาระภายใต้ปฎิญญาร่วมของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และในระดับอาเซียนนั้น มีความหมายอย่างแท้จริงกับชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลข่าวสารข้อมูลเชิงนโยบาย สำหรับชาวบ้านทั่วไป นายหน้าคือแหล่งข้อมูลหลักที่เข้าถึงได้ และเข้าใจได้ หากต้องการย้ายถิ่นไปทำงานประเทศอื่น” ชลธิชา ตั้งวรมงคล  ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมของ มสพ. กล่าว

สำหรับกรณีเด็กสามคนที่ตกเป็นจำเลย และขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดสุรินทร์ร่วมกับผู้ใหญ่ อันเกิดจากการสอบสวนและดำเนินคดีที่ผิดพลาดของทางราชการนั้น มสพ. จะขอให้ทางราชการปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net