Skip to main content
sharethis
“หมอศักดิ์ชัย” แจงทิศทางบริหาร “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561” เน้นปรับปรุงการบริหารจัดการที่เป็นอุปสรรค เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่าใช้จ่ายเงินกองทุน มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิประโยชน์อย่างครอบคลุมและทั่วถึง พร้อมประเดิมปีแรกจัดงบ 240 ล้านบาท หนุน “คลินิกหมอครอบครัว” จัดบริการเชิงรุกให้กับประชาชน
 
25 พ.ย. 2560 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561ว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ ปี 2561 ได้รับจัดสรรจำนวน 171,373.67 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากรผู้มีสิทธิ 48.797 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 5,600 ล้านบาท หรือ 3% แยกเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 156,019.62 ล้านบาท และงบเพิ่มเติมดูแลเฉพาะกลุ่ม จำนวน 15,354.04 ล้านบาท อาทิ บริการผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี บริการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย บริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง บริการโรคเรื้อรัง เป็นต้น ทั้งนี้ภาพรวมการบริหารค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังคงเดิมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา และปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในบางรายการเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการบริหาร ดังกล่าวข้างต้น สำหรับงบเหมาจ่ายรายหัวหลังหักเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐอยู่ที่จำนวน 111,179.08 ล้านบาท
 
โดยในปีนี้ มีการบริการที่มุ่งเน้น ได้แก่ บริการตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับประชาชนสิทธิบัตรทอง อายุ 50-70 ปี และกลุ่มเสี่ยง เช่น มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น งบประมาณ 111,306 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซี ใช้งบประมาณ 67.32 ล้านบาท เน้นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีสิทธิประโยชน์ยารักษาไวรัสตับเอกเสบอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการคัดกรองเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยา
 
นอกจากนี้ในปีนี้ยังได้ยังปรับรูปแบบการจ่ายบริการตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) เพื่อรองรับประชาชนที่เจ็บป่วยวิกฤตและจำเป็นต้องเข้ารับบริการ รพ.เอกชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบที่อยู่ใกล้ที่สุด จากเดิมเป็นการจ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis Related Groups: DRG) เป็นการจ่ายค่าใช้จ่ายตามรายการที่กำหนด Fee schedule โดย รพ.เอกชน ซึ่งในปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณที่ 218.53 ล้านบาท  
 
นพ.ศักดิชัย กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ ในส่วนของงบเพิ่มเติมเพื่อดูแลกลุ่มเฉพาะยังได้จัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ “คลินิกหมอครอบครัว” (Primary Care Cluster: PCC) ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการกำหนดงบประมาณนี้ เนื่องจากเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงบริการระดับปฐมภูมิ จำเป็นต้องมีการจัดสรรงบเพื่อสนับสนุน โดยรูปแบบการบริหารแยกเป็น 2 ส่วน คือ เขต กทม. และนอกเขต กทม. โดยมีการคัดเลือกหน่วยบริการเข้าร่วม PCC ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ทีมหมอครอบครัวจัดบริการเชิงรุกเพิ่มขึ้น  
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนหลักเกณฑ์เบิกจ่ายที่ปรับเปลี่ยนไปจากปี 2560 อาทิ การปรับช่วงเวลาข้อมูลการเบิกจ่ายโดยใช้ข้อมูลประชากร ณ เดือนเมษายน 2560 เป็นตัวแทนการจ่ายเพื่อให้สามารถจ่ายเงินไปยังหน่วยบริการได้รวดเร็วขึ้น เพิ่มการเบิกจ่ายตามศักยภาพหน่วยบริการต้นแบบสำหรับบริการการแพทย์แผนไทย การปรับหลักเกณฑ์เบิกจ่ายกรณีผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery : ODS) โดยร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการ กำกับ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผล การปรับตามแนวทางประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกคำสั่งโดย คสช.ที่ 37/2559
 
พร้อมกันนี้ในปี 2561 ยังได้ปรับการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. ตามแนวทางที่ กระทรวงสาธารณสุขเสนอ กล่าวคือ ให้มีการกันเงิน 300 ล้านบาท สำหรับบริหารจัดการระดับประเทศ/เขต/จังหวัด กันเงินไม่เกิน 700 ล้านบาท เพื่อปรับเกลี่ยตามรายรับของหน่วยบริการ, การปรับเกลี่ยงบให้ความสำคัญหน่วยบริการโดยเฉพาะพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และที่ต้องติดตามสถานะทางการเงินอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้แนวการจ่ายนี้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องมาจากปี 2560 ซึ่งผลจากการประเมินการจัดสรร พบว่าจำนวนโรงพยาบาลที่มีวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ลดลงอย่างชัดเจน เป็นต้น   
 
“นโยบายและแนวทางการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2561 นี้ เป็นผลมาจากการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากการปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แล้ว การบริหารกองทุนต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และบรรลุเป้าหมายในการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net