Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หากมีโอกาสได้ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษาบ้านเราผ่านสื่อต่างๆ หลายท่านคงได้ทราบกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการศึกษาของไทยจากนักศึกษา นักวิชาการ และปัญญาชนทั้งหลายผ่านสื่อต่างๆ แทบทุกวัน เสียงสะท้อนความตกต่ำของการศึกษาบ้านเราผ่านเข้ามาสู่การรับรู้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ค่อยเข้าใจรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับด้านลบของการศึกษาบ้านเราตามที่มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่ดูจากสภาพปัญหาของสังคมโดยรวมก็พอมองเห็นว่า สภาพปัญหาในสังคมส่วนหนึ่งได้บ่งชี้ปัญหาด้านการศึกษาบ้านเราด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในส่วนของสถาบันการศึกษาระดับสูง ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก (Academic Ranking of World Universities) โดยองค์กรจัดดับมหาวิทยาลัยโลกหลายองค์กรทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียได้แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยของไทยอยู่ในอันดับที่ห่างจากความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกค่อนข้างมากนับหลายร้อยอันดับ หรืออย่างการจัดอันดับโดยภาพรวม (Overall Ranking) ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียประจำปี มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยก็ยังอยู่สูงกว่าอันดับที่ 30 ทุกปี ซึ่งอันดับดังกล่าวนี้บอกอะไรได้หลายอย่างและไม่น่าจะใช่อันดับที่พึงพอใจ หากเราเห็นแย้งเรื่องการจัดอันดับก็สามารถตั้งข้อสงสัยในวิธีการจัดที่อาจมีเรื่องของผลประโยชน์บางอย่างเป็นตัวแปรทำให้การจัดอันดับคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดังจะเห็นได้จากผลการจัดอันดับของแต่ละองค์กรที่ไม่ตรงกัน นั่นอาจทำให้เราไม่สามารถเชื่อมั่นในความถูกต้องของผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกขององค์กรใดๆ ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อันดับมหาวิทยาลัยไทยที่จัดโดยองค์กรเหล่านี้อาจเป็นเพียงภาพลวงตา แต่สิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ สภาพความจริงที่สัมผัสรับรู้ได้ เพราะหากเรามองดูสภาพการศึกษาของบ้านเราโดยไม่เข้าข้างตัวเอง ก็ปฏิเสธได้ยากว่าอันดับของมหาวิทยาลัยไทยที่อยู่ห่างไกลจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของโลกหลายร้อยอันดับนั้นได้สะท้อนให้เห็นว่าระบบการจัดการด้านศึกษาของประเทศเรามีปัญหาจริง

ประเด็นคำถามก็คือ โลกก้าวหน้าไปทุกวัน  แต่ระบบการศึกษาของไทยเรากลับย่ำอยู่กับที่ และค่อนไปทางล้าหลังเมื่อเทียบกับการศึกษาของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ต้องพูดถึงการยกระดับก้าวขึ้นไปเทียบเคียงกับการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในเอเชียด้วยกัน หรืออย่างยุโรป และอเมริกา เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาของสยามประเทศ เราคงทราบดีว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาของชาติค่อนข้างมากโดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยเข้าสู่ยุค 4.0 การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีในกระทรวงศึกษาธิการล่าสุดด้วยเหตุผลว่าผลงานด้านการปฏิรูปการศึกษายังไม่เป็นที่น่าพอใจเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ความจริงข้อนี้ได้

หน่วยงานระดับประเทศที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของพลเมืองอย่างกระทรวงศึกษาธิการนั้นมีหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่วนหน่วยงานระดับรองๆ ลงที่มีหน้าที่นำนโยบายไปดำเนินการปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม คือ สถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน และระดับล่างๆ ลงไปได้แก่ วิทยาลัย โรงเรียนระดับมัธยม ประถม และอนุบาลตามลำดับ ที่มีภารกิจในการขับเคลื่อนการเรียนการสอนให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในนโยบายของกระทรวงที่รับผิดชอบ แต่เกิดอะไรขึ้นกับระบบการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทุกระดับ จึงทำให้การศึกษาไทยถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ

ปัญหาดังกล่าวใหญ่เกินกว่าที่คนเพียงคนเดียวจะมีสติปัญญาพอที่จะตอบได้ แต่การตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับสิ่งที่คิดว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการศึกษาไทยนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ และช่องทางที่เห็นว่าน่าจะช่วยให้คำตอบอะไรได้บ้างก็คือ การเปิดรั้วมหาวิทยาลัยของไทยเพื่อดูศักยภาพในทางสติปัญญา ความรู้ ความสามารถของผู้ที่เป็นอาจารย์สอนในสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นแหล่งให้การศึกษาวิชาความรู้ระดับสูงของชาติ ศักยภาพทางวิชาความรู้ของอาจารย์ที่ว่านี้เป็นคนละเรื่องกับวุฒิการศึกษา สถาบันที่เรียนจบมา หรือแม้กระทั่งตำแหน่งทางวิชาการ เพราะสิ่งเหล่านี้แค่บอกระดับวุฒิกับยี่ห้อสถาบันการศึกษา และประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนซึ่งจะว่าไปแล้วก็สำคัญอยู่เฉพาะในแง่ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานและหน้าตาของตัวเองเท่านั้น แต่ยังไม่ได้สะท้อนศักยภาพทางสติปัญญาอันเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การชื่นชมยกย่องอย่างแท้จริง ศักยภาพด้านวิชาความรู้ของผู้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถตรวจสอบและประเมินได้จากผลงานอันเป็นรูปธรรมของอาจารย์แต่ละท่าน นั่นคือ ผลงานทางวิชาการ เช่น ข้อเขียน หรือ บทความทางวิชาการ ตำราทางวิชาการ และงานวิจัยในสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญ  คุณภาพของผลงานเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพ ศักยภาพด้านความรู้ และความเชี่ยวชาญของอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ยิ่งเป็นอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการด้วยแล้ว ความคาดหวังในคุณภาพของผลงานดังกล่าวนี้ก็ย่อมสูงมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพของครูอาจารย์ให้สอดคล้องกับทิศทางการศึกษา 4.0 ที่มุ่งเน้นทักษะในการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นรูปธรรมออกสู่สังคมเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ และการแข่งขันกับนานาประเทศ

อย่างไรก็ดี ในด้านหนึ่ง เราก็ต้องยอมรับว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัย และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่ผลิตและเสนอผลงานทางวิชาการที่ดีมีคุณภาพออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบบทความทางวิชาการ ตำราที่เขียนเอง งานแปล รวมไปถึงงานวิจัยที่มีคุณค่าทางวิชาการสูงคู่ควรแก่การศึกษาและนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม หลายท่านมีชื่อเสียงจากการผลิตผลงานทางวิชาการคุณภาพในสาขาที่เชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ทั้งที่มีภาระงานสอนล้นมือ แต่ก็ยังอุตส่าห์เจียดเวลาค้นคว้าเขียนงานดีๆ ออกสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอ หลายท่านเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงทำงานด้านวิชาการเสนอข้อเขียนอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ให้ผู้คนได้เสพอาหารสมองอันทรงคุณค่าอยู่เป็นระยะๆ เชื่อว่าผู้คนในสังคมก็ได้ลิ้มชิมรสอาหารสมองชั้นเลิศจากผลงานของบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นครูอาจารย์เหล่านี้ด้วยความชื่นชม

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เรากลับพบว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยอีกจำนวนมากไม่ปรากฏผลงานที่เป็นรูปธรรมอะไรออกสู่สังคมภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยเลย ข้อเท็จจริงตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนแสดงให้เห็นว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก ประจำอยู่ในภาควิชาต่างๆ ในหลากหลายคณะละลานตาไปหมด แต่งกายดี บุคลิกดี สังเกตจากรูปถ่าย หลายๆ ท่านบ่งบอกความเป็นผู้มีรสนิยม ภาพลักษณ์บางคนค่อนไปทางไฮโซ ซึ่งการที่อาจารย์ทั้งหลายมีภาพลักษณ์เช่นนี้นั้นก็ไม่ได้เป็นความผิดปกติแต่อย่างใด อาจารย์ทุกมหาวิทยาลัยมีรูปภาพประกอบ ไม่ว่าจะเป็นภาพการบรรยายหน้าชั้นเรียน ภาพบรรยายนอกสถานที่ หรือภาพการนำนักศึกษาทำกิจกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงศักยภาพ ความรู้ และความสามารถของอาจารย์มหาวิทยาลัย

ในความเป็นจริง เราจะเห็นว่า ทักษะการสอนสามารถสื่อคุณภาพของคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่จะทำให้คุณภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยปรากฏได้ชัดเจนยิ่งกว่านั้นก็คือ งานเขียน ไม่ว่าจะเป็นบทความทางวิชาการ ตำราเรียน หรือ งานวิจัยต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะแสดงศักยภาพความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ท่านเหล่านั้นรับผิดชอบ จำนวนของผลงานก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ประเมินคุณภาพของเจ้าของผลงาน คุณภาพของผลงานนั้นต่างหากที่จะเป็นตัวประเมินคุณภาพของเจ้าของผลงานในตัวมันเอง

แต่ที่ผ่านมาเรายังพบว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากไม่ค่อยปรากฏผลงานทางวิชาการในรูปแบบของงานเขียนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ ปัญหาที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเขียนงานวิชาการกันน้อยนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นที่รับรู้และพูดถึงกันมานานแล้ว ในปัจจุบัน แม้จะมีระเบียบกำหนดให้อาจารย์มหาวิทยาลัยผลิตผลงานเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน แต่ดูเหมือนระเบียบดังกล่าวนี้ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จเท่าที่ควรในการผลักดันให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเร่งผลิตผลงาน การเขียนถึงปัญหาตรงนี้ก็เพื่อสะท้อนว่า สังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัยมองเห็นความสำคัญของการผลิตผลงานทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยในการที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผลงานที่ดีและมีคุณภาพของอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลายนั้นเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของการจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาและสื่อแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าด้านการศึกษาของชาติด้วย

อย่างไรก็ดี ภาระงานด้านการบรรยายหน้าชั้นเรียนและด้านการทำกิจกรรมเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบของอาจารย์มหาวิทยาลัยโดยตรงอยู่แล้ว และสิ่งเหล่านี้ก็มีรายละเอียดที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อม อาจารย์จำนวนไม่น้อยอาจมองว่า การทำหน้าที่ดังกล่าวนั้นเพียงพอที่จะบ่งชี้คุณสมบัติด้านความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในวิชาที่สอนของอาจารย์แต่ละท่านได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ข้อเรียกร้องให้ผลิตผลงานทางวิชาการจึงดูเหมือนเป็นการโยนภาระงานให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบมากขึ้น แต่หากจะว่าไปแล้ว ภาระการบรรยายให้นักศึกษาเข้าใจและการทำกิจกรรมเสริมหลักสูตรนั้นควรเป็นภาระงานพื้นฐานของผู้ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกแห่ง แต่ความรู้ความสามารถของอาจารย์มหาวิทยาลัยในสังคมสมัยใหม่ไม่ควรคับแคบอยู่แค่การบรรยายและการทำกิจกรรมภายในรั้วสถานศึกษาเท่านั้น สังคมภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยก็ควรได้ประโยชน์จากวิชาความรู้ของคนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย 

ยิ่งกว่านั้น นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกแห่งย่อมตระหนักดีถึงการทำหน้าที่ของอาจารย์ตามภาระงานสอนที่ได้รับมอบหมาย แต่คงไม่มีใครคาดหวังว่าการนั่งฟังอาจารย์บรรยายในชั้นเรียนแล้วจะได้รับความรู้เต็มที่ระดับที่เพียงพอต่อการสำเร็จปริญญาได้ ในที่สุดแล้ว การเพิ่มพูนความรู้ในสาขาวิชาจากแหล่งความรู้อื่นๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการศึกษาในทุกระดับชั้น การศึกษาหาความรู้เสริมความเข้าใจจากการอ่านงานเขียนของครูอาจารย์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลย การผลิตผลงานทางวิชาการในรูปแบบงานเขียน เช่น บทความวิชาการ ตำราวิชาการ และงานวิจัยในสาขาวิชาที่ตนเองเชี่ยวชาญนั้นจะเป็นผลดีโดยตรงต่อสถาบัน ต่ออาจารย์ผู้เป็นเจ้าของผลงาน และต่อการศึกษาเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาและสังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัยด้วย

ประเทศไทยเรานั้นอาจยังมีปัญหาในแง่ของประชาชนสนใจอ่านหนังสือในเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างต่ำ ซึ่งต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าปริมาณการอ่านหนังสือของพลเมืองมีส่วนต่อการประเมินทิศทางของประเทศว่ามีแนวโน้มของการพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า หรือลาดเอียงไปสู่ความล้าหลัง การที่ประชาชนคนไทยอ่านหนังสือกันน้อยนี้ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป แต่ไม่ใช่เหตุผลที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะนำมาใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ผลิตผลงานทางวิชาการ เพราะการผลิตงานเป็นผลงานที่เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่สอน ความก้าวหน้าทางความคิด และการมีคุณสมบัติใฝ่รู้ของผู้ที่เป็นครูอาจารย์ การบรรยายหน้าชั้นเรียนอาจบ่งชี้คุณสมบัติดังกล่าวนี้ได้ไม่ชัด วิชาความรู้จากการสอนการบรรยายหน้าชั้นเรียนของอาจารย์สิ้นสุดลงเมื่อปิดคลาส จะเหลืออยู่บ้างก็เฉพาะในความจำและในสมุดเลคเชอร์ของนิสิตนักศึกษาบางคนเท่านั้น แต่งานเขียนทางวิชาการที่ดีมีคุณภาพจะคงอยู่ให้นิสิตนักศึกษา และครูอาจารย์ท่านอื่นๆ ได้ศึกษาเป็นแบบอย่างอ้างอิง และเป็นแนวทางในการผลิตงานที่ดีมีคุณภาพออกสู่สังคมต่อไป

มีข้อควรเน้นย้ำตรงนี้ด้วยว่า การไม่ผลิตผลงานไม่ได้บ่งชี้ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศของเรานั้นไร้ความสามารถในการเขียนงานทางวิชาการ เพราะทุกท่านต่างผ่านการถูกฝึกอบรมด้านเขียนงานและการทำวิจัยมาแล้วตั้งแต่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพียงแต่ท่านอาจจะมีใจรักในการบรรยายและการทำกิจกรรมมากกว่าการผลิตผลงานทางวิชาการ แต่ความถนัดในการบรรยายหน้าชั้นเรียนและการทำกิจกรรมนั้นเป็นประโยชน์แก่นิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น สังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัยยังมองไม่เห็นผลงานที่แสดงความรู้ความสามารถทางวิชาการที่ควรมีควรได้จากบุคคลที่ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่รับเงินเดือนจากงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชน สังคมจึงคาดหวังจะได้เห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลายช่วยกันผลิตผลงานดีๆ ออกสู่สังคมตามความรู้ความสามารถ โดยที่นักศึกษา และประชาชนนอกรั้วมหาวิทยาลัยควรมีส่วนช่วยในการดึงศักยภาพด้านนี้ของอาจารย์ทั้งหลายให้ปรากฏออกมาอย่างเป็นรูปธรรม 

ช่องทางหนึ่งที่น่าจะช่วยผลักดันให้อาจารย์มหาวิทยาลัยแสดงความรู้ความสามารถผ่านงานเขียนก็คือ นักศึกษาที่นั่งฟังอาจารย์บรรยายช่วยกันตรวจสอบความรู้ของอาจารย์ผู้สอนอยู่เสมอ ซึ่งการตรวจสอบนี้สามารถทำได้ในหลายแนวทาง นอกจากจะทำผ่านการตั้งคำถามในชั้นเรียนและการประเมินอาจารย์ผู้บรรยายวิชาต่างๆ ในทุกภาคการศึกษาแล้ว ยังสามารถทำได้ผ่านการสอดส่องดูว่า อาจารย์ที่บรรยายหน้าชั้นอย่างชำนาญนั้นได้ผลิตงานเขียนอะไรสู่สังคมบ้าง ชื่อของอาจารย์ปรากฏผ่านงานเขียน เช่น บทความทางวิชาการ ตำราเรียน และงานวิจัยอะไรบ้างหรือไม่ นิสิตนักศึกษาทั้งหลายคงไม่ปฏิเสธว่า การได้นั่งเรียนกับอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง และอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้เองสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของนักศึกษาที่ปรารถนาจะเป็นครูอาจารย์ได้เกิดความขยันแข็งขันในการพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ประสบความสำเร็จในทางวิชาการต่อไปด้วย

ความคาดหวังของสังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัยจึงมีอยู่ว่า ผู้ทำหน้าที่ให้ความรู้ในฐานะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยควรเป็นผู้มีความกระตือรือร้น (active) ในการแสวงหาความรู้ ติดตามความก้าวหน้าในวงวิชาการ และพัฒนาองค์ความรู้อยู่เสมอ ซึ่งจะสะท้อนสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นผลงานทางวิชาการที่เป็นรูปธรรมอย่างบทความทางวิชาการ ตำรา และงานวิจัยด้านต่างๆ ให้สังคมในมหาวิทยาลัยและนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้ประจักษ์ ผลงานเหล่านี้มีสำคัญมากทั้งต่อตัวอาจารย์เจ้าของผลงานและต่อสถาบันการศึกษา  เพราะสิ่งเหล่านี้จะถูกนำไปประเมินความรู้ความสามารถของอาจารย์มหาวิทยาลัย และเป็นตัวชี้วัดคุณสมบัติของการเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีด้วย ผู้เขียนทราบว่า ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของโลกนั้น มีปัจจัยหลักๆ อยู่หลายอย่าง แต่สองอย่างในนั้นที่จะถูกนำไปใช้ในการประเมินก็คือ ชื่อเสียงทางวิชาการ (Academic reputation) และจำนวนงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้อ้างอิง (Citations per faculty) นั่นหมายความว่า ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกนั้นพิจารณาจากงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ได้รับการอ้างอิงทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เราไม่ได้ปฏิเสธว่า หน้าที่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยคือ การสอนในรายวิชาที่ได้รับมอบหมาย รวมไปถึงการทำกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ แต่เราต้องยอมรับว่า การผลิตผลงานทางวิชาการที่มีคุณภาพออกสู่สังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติเป็นภารกิจสำคัญที่อาจารย์มหาวิทยาลัยในสังคมโลกยุคปัจจุบันไม่ควรละเลย เพราะนอกจากนิสิตนักศึกษาและสังคมนอกรั้วมหาวิทยาลัยนั้นปรารถนาที่จะได้อ่านงานเขียนดีๆ และมีคุณภาพที่รังสรรค์ขึ้นโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ แล้ว ประเทศชาติยังต้องพึ่งพาชื่อเสียงทางวิชาการ งานวิจัยที่มีคุณภาพ และนวัตกรรมรูปแบบอื่นๆ ของบรรดาอาจารย์ทั้งหลายด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาคุณภาพของการศึกษาให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ และเพื่อยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยให้ก้าวไกลสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net