Skip to main content
sharethis

กรธ. ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. แล้ว รองประธาน สนช. ระบุจะเร่งพิจารณาทั้งสองฉบับให้เสร็จตามกำหนด 60 วัน ขณะที่ประธาน กรธ. เผยโล่งใจ เพราะที่ผ่านมากังวลว่าจะทำเสร็จไม่ทันตามกำหนดเวลา

28 พ.ย. 2560 ตัวแทนของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.). ให้กับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในการประชุมวันที่ 30 พ.ย. นี้ ซึ่งเป็น 2 ฉบับสุดท้ายที่ กรธ. ร่างขึ้น และพิจารณาเสร็จสิ้นตามกรอบเวลา 240 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่า จะนำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ เข้าที่ประชุม สนช. ในวันที่ 30 พ.ย. นี้  ส่วนการพิจารณากฎหมายลูกทั้งสองฉบับ จะใช้กรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องหารือในที่ประชุม วิปสนช. อีกครั้งว่าจะสามารถเป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจากหากใช้คณะเดียวดูแลทั้งสองฉบับ ภายใต้กรอบไม่ถึง 60 วัน ซึ่งจะเป็นภาระที่หนักเกินไป พร้อมย้ำว่า การพิจารณากฎหมายลูกเป็นไปตามกรอบเวลา ทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด คือ ภายในระยะเวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ กรธ. ส่งร่างให้ สนช.  ดังนั้น แม้ว่ามีเวลาน้อยก็ไม่สามารถขยายเวลาได้  และแม้ว่ามีความเห็นที่แตกต่างกันในร่างกฎหมายของตัวแทนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องในร่างกฎหมายที่จะต้องใช้เวลาในการพิจารณา ก็ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะนำมาขยายเวลาได้เช่นกัน

ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รู้สึกโล่งใจหลังจากที่ส่ง ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 2 ฉบับสุดท้ายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำไปพิจารณาต่อ เพราะที่ผ่านมากังวลว่าอาจจะไม่ทันตามกรอบเวลา และสนช.ได้แจ้งว่าอาจจะตั้งกรรมาธิการฯ แยก 2 ชุด ซึ่งส่วนตัวจะไม่ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาแล้ว

มีชัย กล่าวถึงการทำงานของกรธ.หลังจากนี้ ว่า จะมีกรธ. ส่วนหนึ่งต้องไปเป็นกรรมาธิการในชั้นสนช. ส่วนการนัดประชุมของกรธ.จะนัดเพียงสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อจัดทำรายงานการประชุมและติดตามกรรมาธิการฯ พิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับสุดท้าย

มีชัย กล่าวย้ำถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า เป็นไปตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว และทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย ส่วนการกำหนดเบอร์ผู้สมัครจะแยกตามเขต เพื่อให้ประชาชนพิจารณาทั้งคนและพรรค สำหรับการหาเสียง กกต.จะต้องปรับให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่มีเลือกตั้ง ส่วนการกำหนดโทษจะรุนแรงกว่าเดิม เช่นหากถูกจำคุก 1 ปี จะต้องถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี และลดหลั่นกันไป ส่วนผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้งจะถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิตและเป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่เชื่อมโยง ไม่ครอบคลุมพรรค

มีชัย กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า กรธ. กำหนดระบบเลือกตั้งให้เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสมเพราะคาดการณ์ผลการล่วงหน้าไว้แล้ว ว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากกรธ.กำหนดการเลือกตั้งวิธีนี้ เพื่อให้คะแนนของประชาชนมีความหมายมากที่สุด และ กรธ. ไม่มีผลคะแนนใด ๆ คำนวณล่วงหน้า ขณะที่ระบบการเลือกตั้ง ส.ว.ในระบบใหม่ ประชาชนทั่วไปจะมีบทบาทเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถเข้ามาร่วมทำหน้าที่ตรวจสอบได้

 

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย , เว็บข่าวรัฐสภา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net