Skip to main content
sharethis

ยูนิเซฟเปิดตัวหลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็กครั้งแรกในไทย หวังแก้ปัญหาการละเมิดเด็กและการกระทำรุนแรงต่อเด็กซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวลในปัจจุบันและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น

เว็บไซต์ www.thaichildprotection.com 

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รายงานว่า เปิดตัวหลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก (Child Protection e-learning) ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งแก้ปัญหาการละเมิดเด็กและการกระทำรุนแรงต่อเด็กซึ่งเป็นปัญหาที่น่ากังวลในปัจจุบันและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ที่เว็บไซต์ www.thaichildprotection.com พัฒนาโดยสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ มุ่งเน้นให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาการละเมิดเด็กและการกระทำรุนแรงต่อเด็ก และให้และ พ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก และผู้ปฏิบัติงานด้านคุ้มครองเด็กมีความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองเด็กมากขึ้น พร้อมมีทักษะในการป้องกันและรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่เด็กถูกกระทำรุนแรงหรือถูกละเมิด โดยหลักสูตรครอบคลุมสาระสำคัญหลายด้าน เช่น สภาพปัญหาในปัจจุบัน จิตวิทยาและการเลี้ยงดูเด็ก สาเหตุและผลกระทบของความรุนแรงต่อเด็ก การเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยง มาตรการ กลไกและข้อกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการฟื้นฟูเด็กและครอบครัว

องค์การยูนิเซฟฯ รายงานว่า ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงซึ่งเข้ามารับบริการในศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center – OSCC) มากถึง 11,000 คนในปี 2558 หรือคิดเป็น 30คนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ  โดยส่วนใหญ่ถูกกระทำโดยบุคคลใกล้ชิดที่เด็กรู้จัก

โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในประเทศไทย ทุกๆ ชั่วโมง มีเด็กอย่างน้อย 1 คนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิด ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านี้อีก เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และต้องเร่งแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป เราทุกคนล้วนมีบทบาทในการจัดการกับปัญหานี้ โดยเราต้องเข้าใจบทบาทของตนเอง และรู้วิธีปกป้องคุ้มครองเด็กเด็กจากการถูกละเมิดหรือถูกทำร้าย เริ่มตั้งแต่การสังเกตสัญญาณผิดปกติ การรายงานแจ้งเหตุ ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เด็กถูกละเมิดหรือถูกทำร้าย โดยทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ”

ดาวิน กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน สถานศึกษาของไทยยังไม่มีหลักสูตรเฉพาะด้านการคุ้มครองเด็ก ดังนั้น หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คนในสังคมและผู้ปฎิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าถึงความรู้และยกระดับการทำงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย ในเวลาที่สะดวกสำหรับผู้เรียน มีเทคนิคในการนำเสนอที่น่าสนใจ และผ่านการประมวลและคิดร่วมกันจากบทเรียนและประสบการณ์ของนักวิชาชีพสาขาต่าง ๆ

รายงานข่าวระบุอีว่า หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก ประกอบด้วย 11 หัวข้อหลัก ที่สามารถเลือกเรียนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับพื้นฐาน (สำหรับประชาชนทั่วไป) ระดับกลาง (สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลเด็ก) และระดับสูง (สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็ก) ในแต่ละบทจะมีการประเมินผลก่อนและหลังเรียน โดยผู้ที่ผ่านการประเมิน จะได้รับใบประกาศรับรอง ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาตสามารถนำใบประกาศรับรองการผ่านหลักสูตรนี้เสนอต่อสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เพื่อนับหน่วยคะแนนในการต่ออายุใบอนุญาตวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ได้ หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็กถูกพัฒนาขี้นมาในช่วงเวลาที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการคุ้มครองเด็ก  ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้การเห็นชอบเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการสร้างความเข้มแข็งของคนและกลไกรอบตัวเด็ก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net