Skip to main content
sharethis

สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีต ส.ส. หลายสมัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้ผลักดัน "ศุภชัย พานิชภักดิ์" นั่ง ผอ.ใหญ่ WTO 3 ปีสลับกับไมค์ มัวร์ และส่งทหารไทย-ฟิลิปปินส์ไปรักษาสันติภาพหลังติมอร์เลสเตได้รับเอกราช และอดีตเลขาธิการอาเซียนเสียชีวิตแล้วด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน รวมอายุ 68 ปี

สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ที่มา: Facebook/Surinofficial)

30 พ.ย. 2560 เมื่อเวลา 15.00 น. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสียชีวิตแล้ววันนี้จากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน โดยร่างอยู่ที่โรงพยาบาลรามคำแหง รวมอายุ 68 ปี 

อนึ่งสุรินทร์มีกำหนดไปเป็นประธานเปิดงาน Thailand Halal Assembly 2017 ที่ไบเทคบางนาในเวลา 14.00 น. แต่เกิดเจ็บหน้าอกและหมดสติ ทางครอบครัวจึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลรามคำแหง และชีวิตในเวลา 15.00 น.

สำหรับกำหนดการพิธีฝังศพสุรินทร์ พิศสุวรรณ ในวันที่ 1 ธ.ค. ตามที่เผยแพร่ในเพจของสุรินทร์ พิศสุวรรณ ระบุว่า จะประกอบพิธีที่มัสยิดท่าอิฐ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยในเวลา 12.00 น. เคลื่อนศพออกจากบ้านดารุ้ลอามาน ไปมัสยิดท่าอิฐ ต.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 14.30 น. พิธีละหมาดญานาซะฮ์ตามหลักศาสนาอิสลาม 14.45 น. พิธีฝังศพตามหลักศาสนาอิสลาม ณ สุสานมัสยิดท่าอิฐ (ที่อยู่)

โดยเจ้าภาพได้ระบุในหมายเหตุด้วยว่า "ท่านที่ประสงค์จะแสดงความเคารพ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ครอบครัวพิศสุวรรณขอความกรุณาท่านให้เดินทางมาที่บ้านดารุ้ลอามาน เลขที่ 57/40 หมู่ที่ 1 ซ.ท่าอิฐ (ซ.พิศสุวรรณ) ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี ในช่วงเช้า ไม่เกิน 10.00 น."

สำหรับประวัติของเขาในฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2492 เป็นคนบ้านตาล ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พ่อชื่อ ฮัจยี อิสมาแอล แม่ชื่อ ซอฟียะห์ พิศสุวรรณ เขาเป็นลูกชายคนโตจากทั้งหมด 11 คน มีคุณตาชื่อ ฮัจจียะโกบ พิศสุวรรณ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนปอเนอะบ้านตาลหรือ โรงเรียนประทีปศาสน์ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามของเอกชน ส่วนคุณตาทวดของ ดร.สุรินทร์ เป็นผู้บุกเบิกชุมชนมุสลิมใน จ.นครศรีธรรมราช ชื่อ อิหม่ามตูวันฆูอัลมัรฮูม ฮัจยีซิดฎิก พิศสุวรรณ ดร.สุรินทร์มีชื่อในภาษาอาหรับว่า อับดุลฮาลีม บินอิสมาแอล พิศสุวรรณ ซึ่งแปลว่า "ผู้มีจิตใจสุขุมเยือกเย็น โกรธยาก อภัยเร็ว"

ทั้งนี้สุรินทร์ สมรสกับ ฮัจยะห์อาอีซะฮ์ มีบุตรชาย 3 คน คือ มุฮัมหมัด ฟูอาคี พิศสุวรรณ, ฮุสนี พิศสุวรรณ และฟิกรี่ พิศสุวรรณ

ชีวิตการศึกษาของเขา จบชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดบ้านตาล อ.เมืองนครศรีธรรมราช จบชั้นมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนพรสวัสดิ์วิทยา, โรงเรียนเบญจมราชูทิศ และโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชปี

ปี 2515 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี  รัฐศาสตร์บัณฑิต (ปรัชญารัฐศาสตร์) (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา โดยก่อนหน้านี้เขาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลา 2 ปี

ปี 2517 จบการศึกษาปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ปี 2522 จบการศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเขาเริ่มอาชีพนักวิชาการในตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. 2518-2529

เขาเข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี 2529 โดยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ โดยตลอดชีวิตการทำงานการเมืองเขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้งระบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 8 สมัย

ในปี 2535 เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และในปี 2540 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลชวน 2

โดยเขาเป็นผู้รณรงค์หาเสียงและสนับสนุน ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ณ ขณะนั้นให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization; WTO) ซึ่งต้องแข่งกับ       ไมค์ มัวร์ อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุน สุดท้ายนำไปสู่ข้อเสนอของสุรินทร์ให้ผลัดกันเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WTO คนละ 3 ปี โดยให้ไมค์ มัวร์เป็นก่อนตามด้วยศุภชัย

นอกจากนี้หลังจากที่ติมอร์-เลสเตได้รับเอกราช ในปลายปี 2542 โคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และ บิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขอความช่วยเหลือให้ไทยเป็นแกนนำหลักในการรักษาสันติภาพที่ติมอร์-เลสเต โดยสุรินทร์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เจรจาของบประมาณสนับสนุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากญี่ปุ่น เพื่อส่งกองกำลังร่วมไทย-ฟิลิปปินส์จำนวน 3,400 นายไปรักษาสันติภาพที่ติมอร์-เลสเต

ในปี 2548 หลังการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548 ที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคไทยรักไทยเป็นครั้งที่ 2 บัญญัติ บรรทัดฐาน ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยสุรินทร์ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ในปี 2548 เขายังได้รับเลือกเป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติด้วย

ทั้งนี้หลังรัฐประหาร คมช. ในปี 2549 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และในปี 2551 เป็นวาระที่ไทยจะต้องเป็นเลขาธิการอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศเสนอชื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นเลขาธิการอาเซียน โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2551-2555

ในฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า สุรินทร์ มีส่วนสำคัญในการผลักดันในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้สัตยาบันต่อกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) จนแล้วเสร็จในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 และได้ประกาศใช้ในที่สุด นอกจากนี้แล้ว ดร.สุรินทร์ยังได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนทั้ง 10 ชาติตระหนักและรู้จักอาเซียนให้มากขึ้นอีกด้วย

อนึ่งในปลายปี 2556 ช่วงการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้ร่วมกับศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปราศรัยคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ลานหน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 (ฟังคำปราศรัย)

ขณะที่ในรอบปีมานี้ มักมีข่าวว่าสุรินทร์มีชื่อเป็นผู้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ด้วย

 

ชาวนาคาแสดงความไว้อาลัยสุรินทร์ ยกย่องเป็นผู้เข้าใจ "ความต้องการของชาวนาคา"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากจดหมายแสดงความไว้อาลัยจากผู้นำในชาติอาเซียนและทั่วโลกแล้ว เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนนาคาลิม D.G. Robert ได้ส่งจดหมายแสดงความไว้อาลัยการจากไปของสุรินทร์ พิศสุวรรณด้วย โดยในจดหมายกล่าวว่าสุรินทร์เป็นเพื่อนที่ดีของชาวนาคาและนับเป็นนักการเมืองที่มีชีวิตชีวา เป็นผู้ที่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงต่อสิทธิทางการเมืองของประชาชนชาวนาคา เข้าใจความเรียกร้องต้องการของชาวนาคา ตลอดจนสนับสนุนกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลอินเดียและประชาชนชาวนาคาผ่านสภาสังคมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์ (NSCN) การเสียชีวิตของสุรินทร์นับเป็นการสูญเสียเพื่อนแท้ของประชาชนชาวนาคา

สภาสังคมนิยมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์เป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐนาคาแลนด์และเขตเทือกเขาในรัฐมณีปุระ นอกจากนี้ยังเคลื่อนไหวในบางพื้นที่ของรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศ รวมทั้งพื้นที่ติดต่อกับชายแดนพม่าอีกด้วย โดยเรียกร้องเขตปกครองที่มีชื่อว่านาคาลิมและต้องการแยกตัวออกจากอินเดีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net