Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อใบปริญญากลายเป็นใบผ่านทางในการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อค่าแรงที่สูงขึ้น แทนที่มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นตลาดวิชาที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างถ้วนหน้า ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชนหลายแห่งกลายเป็นห้างสรรพสินค้าเปิดหลักสูตรพิเศษและตั้งค่าเล่าเรียนที่สูงลิ่วเพื่อหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย ความรู้ไม่ใช่แก่นสำคัญในการเรียนระดับอุดมศึกษาแต่หากเป็นวุฒิที่ได้จากใบปริญญาที่่กลายเป็นใบเบิกทางเท่านั้น เรามาถึงจุดที่คำถามอย่าง “เรียนต่อที่ไหนดี เอาแบบเรียนง่าย จบง่าย” “เรียนคณะไหนจบง่ายที่สุด?” “ เรียนที่นี่จบง่ายจริงมั้ย?” มีอยู่เต็มกระทู้พันทิป และยิ่งกว่านั้นเรามาถึงจุดที่สโลแกนในการโฆษณามหาวิทยาลัยอย่าง “จ่ายครบจบแน่” มีให้เห็นทั่วไป หรือวัฒนธรรมการที่บีบให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยกลายเป็นนายหน้าหาลูกค้ามาเรียนและได้ค่าคอมมิชชั่นก็เกิดขึ้นแล้วในบางมหาวิทยาลัยเช่นกัน 

บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยเครือข่ายปกป้องสิทธิของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเพื่อส่งต่อข้อมูลสู่สังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องการปกป้องสิทธิ์ของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย และต้องการชี้ให้เห็นถึงวงจรปัญหาของระบบการศึกษาระดับสูงของประเทศไทยที่ส่งผลต่อทั้งคุณภาพการศึกษาและสิทธิในการได้รับความรู้ของนักศึกษา โดยได้รวบรวมข้อมูลจากอาจารย์ที่ได้ให้ข้อมูลกับเครือข่าย ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อ และข้อมูลจากกระแสสังคมออนไลน์ โดยชี้ให้เห็นถึงกับดักที่อาจารย์มหาวิทยาลัยถูกทำให้ไร้อำนาจต่อรอง ถูกละเมิดสิทธิ์ และกลายเป็นแรงงานใช้แล้วทิ้งที่ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ หากอาจารย์ไม่เล่นตามเกมส์ของผู้บริหารก็หมดอนาคตในองค์กร แต่หากอาจารย์เลือกที่จะเล่นตามเกมส์ก็ยิ่งเป็นการทำให้คุณภาพการศึกษาไทยไร้มาตรฐานขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นบทความชิ้นนี้จึงมุ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาภายในของการจัดการการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพื่อชี้ให้เห็นถึงหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย

 

1. มหาวิทยาลัยกับการมุ่งเน้นหากำไร

การหากำไรของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยปรากฏชัดขึ้นกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญนับตั้งแต่ปี 2540 พร้อมกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยรัฐบาล กล่าวคือ ความชอบธรรมในการหากำไรกับการศึกษาเริ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยเอกชนกลายเป็นกลจักรสำคัญในการยืนยันให้เห็นว่าเมื่อรัฐบาลจัดสวัสดิการที่ไม่เพียงพอสำหรับประชาชน การเข้าถึงสวัสดิการด้านการศึกษาในระดับสูงจำเป็นต้องจ่ายแพงเพื่อการเข้าถึงการศึกษาที่ดี และมหาวิทยาลัยรัฐบาลหลายแห่งก็ได้ใช้หลักการเดียวกันนี้ในการหากำไรกับการศึกษาเช่นกัน เมื่อการศึกษาถูกทำให้เป็นแค่ “พิธีกรรมเพื่อใบปริญญา” ยิ่งตอกย้ำว่าความรู้ ประสบการณ์ และความสามารถที่จะได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยตลอด 4-6 ปี ในชีวิตการเรียนในระดับปริญญาตรีหรือหลังจากนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการจ่ายเงินครบแล้วได้ใบปริญญา ตัวกลางระหว่าง ทุน ตลาด ผู้บริหาร กับนักศึกษา เห็นจะไม่พ้นอาจารย์ผู้สอน โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยเอกชนที่เผชิญเงื่อนไขความเสี่ยงอย่างยิ่ง และหากไม่ใช่อาจารย์ที่อยู่ในวงธุรกิจครอบครัวหรือสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ก็ต้องแบกรับความเปราะบางสูงมาก ซึ่งความเปราะบางในที่นี้ก็ปรากฏให้เห็นในมหาวิทยาลัยรัฐหลังออกนอกระบบเช่นกัน และเมื่ออาจารย์ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ต้องทำตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้น “ขายของ” บทบาทของอาจารย์จึงมีมากกว่าแค่การทำงานด้านวิชาการและอยู่ภายใต้สัญญาที่ยากจะต่อรอง
 

2. อาจารย์ทำงานภายใต้สัญญาระยะสั้น

 คำกล่าวที่ว่า “อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอาชีพที่มั่นคง” คงจะไม่จริงอีกต่อไปแล้ว หลังจากที่มหาวิทยาลัยรัฐฯออกนอกระบบรูปแบบสัญญาจ้างก็เปลี่ยนไปด้วย อาจารย์มหาวิทยาลัยกลายเป็นเซลส์แมนที่ทำงานภายใต้สัญญาระยะสั้นเริ่มต้นที่ 1-3 ปี พร้อมเงื่อนไขที่ที่ไม่ใช่แค่สอนตามชั่วโมงที่ได้รับมอบหมาย แต่ต้องผลิตผลงานวิชาการในระยะเวลาอันสั้นเพื่อรักษาสถานะความเป็นอาจารย์ งานวิชาการหรือผลงานสร้างสรรค์ที่ต้องการความละเอียดอ่อนถูกทำให้เป็นงานฝีมือที่เน้นความเร็วและปริมาณราวกับเครื่องจักรผลิตปลากระป๋อง อาจารย์จำนวนมากต้องแบกรับความเสี่ยงดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วยความ “กลัว” ว่าจะไม่ได้ทำงานต่อไป

ในมุมของผู้ว่าจ้างอาจมองว่าสัญญาลักษณะนี้ทำให้อาจารย์ขยันและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ลืมมองไปว่าหากมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ที่ทำให้นักศึกษาได้หาความรู้อย่างเต็มที่แต่อาจารย์กลับต้องทำงานเป็นเครื่องจักรภายใต้เงื่อนไขและแรงกดดันจำนวนมากเพื่อรักษาสถานะความเป็นอาจารย์ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่คุณภาพของการสอนและการศึกษาย่อมลดลงตามไปด้วย ผลที่ตามมาคืออาจารย์ขาดแรงจูงใจ ขาดเวลา ในการพัฒนางานวิจัยและทักษะทางวิชาการ แต่กลายเป็นหุ่นยนต์ที่พูดตามสไลด์ หรือ ไม่เข้าสอน เพราะต้องเอาเวลาไปทำอย่างอื่นตามเงื่อนไขสัญญา ทั้งเร่งผลิตผลงานวิชาการ งานบริการ หรือในบางมหาวิทยาลัยที่เน้นหากำไร อาจารย์กลายเป็นเซลส์แมนที่มุ่งหาลูกค้ามากกว่างานสอน หนึ่งในความเห็นออนไลน์ของนักศึกษาต่อมหาวิทยาลัยเอกชนแห่่งหนึ่งกล่าวว่า[1] “อ.บางคนไม่ค่อยสอน บางคนยุ่งกับการไปแนะนำเด็กมาเรียน เพราะได้ค่าหัวคนละห้าพัน ทำได้ยอด ได้พิเศษอีก”

การหาสมดุลของระยะเวลาสัญญาจ้าง เงื่อนไขการทำงาน และการประเมินผลงานอาจารย์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมองถึง คุณภาพ มากกว่า ปริมาณ และมุ่งการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยน ความรู้และประสบการณ์ มากกว่า การแสวงหากำไร ซึ่งผลของการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกดดันนี้ทำให้อาจารย์ไร้กำลังต่อรองต่อระบบการบริหารอื่นๆที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย
 

3. การยอมจำนนต่อระบบที่ไม่เป็นธรรม

เมื่ออาจารย์ไร้อำนาจต่อรองด้วยการทำงานภายใต้ระยะสัญญาที่จำกัด อาจารย์จำนวนมากต้องยอมจำนนกับระบบที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีช่องทางในการต่อรอง ไม่ใช่แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยภายใต้สัญญาจ้างเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอาจารย์พิเศษจำนวนไม่น้อยที่รับค่าสอนตามชั่วโมงสอนแต่กลับต้องแบกรับภาระงานอื่นๆนอกเหนือจากงานสอนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้จ้างที่มีอำนาจเหนือกว่าเพื่อที่จะทำให้ได้รับชั่วโมงสอนต่อไป อาจารย์พิเศษเผชิญกับสภาวะความเสี่ยงที่ไม่มีสัญญาจ้างที่ชัดเจน ไม่มีเกณฑ์หรือวันเวลาการจ่ายเงินค่าสอนที่แน่นอน หรือทำงานในลักษณะ “สัญญาใจ” ที่อ้างความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้อง ศิษย์เก่า หรืออ้างจิตวิญญาณของการเป็นครูที่ต้องมองข้ามเรื่องเงิน ให้มา “ช่วยกัน” ซึ่งข้ออ้างเหล่านี้มักจบลงด้วยการที่อาจารย์พิเศษจำนวนไม่น้อยต้องสอนฟรี หรือ ได้รับค่าสอนล่าช้า และไม่อาจร้องเรียนได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานสัญญาที่ตกลงกันไว้แต่ต้น

กรณีของระบบที่ไม่เป็นธรรมยังเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยบางแห่งได้ให้คำสัญญากับนักศึกษา (หรือลูกค้า) ว่าเรียนจบแน่นอนหากจ่ายเงินครบตามที่แจ้ง ผลที่ตามมาคืออาจารย์ผู้สอนต้องแบกรับแรงกดดันอย่างหนักจากที่นักศึกษาไม่เข้าเรียน ไม่ส่งงาน หรือไม่สามารถสอบได้ตามเกณฑ์ แต่ทางมหาวิทยาลัยได้ให้คำสัญญากับนักศึกษาไว้แล้ว หากพิจารณาในเชิงหลักการและจรรยาบรรณในการเป็นอาจารย์แล้ว แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้นว่าอาจารย์ไร้อำนาจต่อรองเกินกว่าจะต่อสู้กับระบบภายในของมหาวิทยาลัยได้ กลายเป็นว่าอาจารย์ที่ไม่ยอมจำนนกับระบบนี้ถูกตราหน้าว่า “ไร้เมตตาธรรม” ที่ไม่ให้นักศึกษาผ่านการสอบตามที่มหาวิทยาลัยขอร้อง  

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มีอาจารย์จำนวนมากที่ต้องยอมจำนนกับความไม่เป็นธรรมดังกล่าวทั้งๆที่เป็นอาจารย์ที่มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์ที่ดีในการพัฒนาการศึกษา แต่ติดกับกับดักของระบบอำนาจที่ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากเล่นตามน้ำ ปล่อยเลยตามเลย หรือยอมลาออกเพื่อเอาตัวออกจากระบบที่โดนเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมเพราะไม่เห็นหนทางในการเอาชนะอำนาจในองค์กรนั้นๆ


4. การใส่ความเท็จเพื่อไล่ออกและไม่จ่ายค่าชดเชย

มีอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่ถูกขอให้ลาออกเพื่อที่มหาวิทยาลัยจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน หรือมีการขู่อ้างว่าหากทางมหาวิทยาลัยไล่ออกจะทำให้ประวัติการทำงานเสื่อมเสีย แต่เมื่ออาจารย์ยืนยันในสิทธิ์ว่าตนไม่ได้ทำผิดวินัยและมหาวิทยาลัยไม่มีสิทธิ์ไล่ออก ทางมหาวิทยาลัยมักสร้างข้อกล่าวหาขึ้นมาหรือขู่ว่าจะปล่อยข่าวให้เสื่อมชื่อเสียงเพื่อให้หมดอนาคตในวงการวิชาการหรือตัดโอกาสในสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่มีอาจารย์ไม่น้อยที่ต้องยอมจำนนด้วยเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยังมีอาจารย์บางกลุ่มได้ลุกขึ้นตีแผ่ความไม่เป็นธรรมนี้สู่สังคม

ตัวอย่างล่าสุดเห็นได้จากกรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น[2] ได้เข้าร้องเรียนกับการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม และให้ข้อมูลกับสื่อว่าก่อนที่จะถูกไล่ออกนั้นถูกเรียกตัวเข้าไปพบรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและถูกกล่าวหาด้วยข้อหาเท็จซึ่งอ้างว่าทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง ซึ่งเมื่อทางกลุ่มอาจารย์ขอดูเอกสารและรายละเอียดเรื่องที่ถูกร้องเรียน ทางมหาวิทยาลัยกลับไม่มีคำตอบใดๆนอกจากขอให้เขียนใบลาออก ซึ่งเมื่ออาจารย์กลุ่มดังกล่าวไม่ยินยอม มหาวิทยาลัยได้ออกจดหมายเลิกจ้างทันทีโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ ซึ่งปรากฏให้เห็นเช่นกันแล้วในปี พ.ศ. 2559 [3] ที่กรณีของกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวน 15 ท่าน ร้องต่อสื่อว่าถูกเลิกจ้างกะทันหันโดยได้รับเพียงหนังสือขอบคุณและอ้างว่าเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆจนทำให้อาจารย์กลุ่มนี้ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตน

กรณีความไม่เป็นธรรมดังกล่าวยังเห็นได้จากกรณีของอาจารย์ที่ได้ให้ข้อมูลว่าตนถูกเลิกจ้างในลักษณะคล้ายกับกรณีข้างต้น โดยได้รับแรงกดดันให้แก้ไขผลการศึกษาของนักศึกษาที่สอบไม่ผ่านเพื่อให้นักศึกษาจบการศึกษาตามที่ทางนายหน้าของมหาวิทยาลัยได้สัญญากับนักศึกษาว่าจะเรียนจบแน่นอนหากจ่ายเงินครบ แต่เนื่องจากนักศึกษาไม่ได้ทำการสอบวัดผลตามเกณฑ์ทำให้หัวหน้าสาขาวิชาต้องยืนยันผลการศึกษาเดิม แต่กลายเป็นว่าทางผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยได้ทำการแก้ไขผลการศึกษาย้อนหลังเพื่อให้นักศึกษาสอบผ่าน แม้มีกลุ่มอาจารย์ที่เข้าร้องเรียนความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏนี้กับผู้บริหารแต่กลับไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ ทำให้นำไปสู่การร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อแจ้งว่าพบความผิดปกติที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา ผลสุดท้ายคืออาจารย์ผู้ที่ร้องเรียนกลับถูกมหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการสอบสวนและจบลงด้วยการตั้งข้อหาที่ไม่มีมูลโดยอ้างว่าทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง และยุติการจ้างทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆ

กรณีทุจริตดังกล่าวได้เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีการปลดอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเมื่อปี พ.ศ. 2556[4] ในข้อหาการแก้ไขผลการศึกษาให้กับคนในครอบครัวของตัวเองและจัดตั้งหลักสูตรพิเศษเพื่อเพิ่มคุณวุฒิให้กลุ่มนักการเมืองโดยไม่เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา หากแต่ที่เปลี่ยนไปคือทุกวันนี้ผู้ที่มีอำนาจในสถาบันการศึกษาไม่ได้ทำการทุจริตเพื่อช่วยเหลือคนในครอบครัวและเครือข่ายเท่านั้น แต่รวมไปถึง “ลูกค้า” หรือกลุ่มนักศึกษาที่ยอมรับเงื่อนไขของบางมหาวิทยาลัยที่มุ่งเพียงแค่ขายใบปริญญาโดยที่ทางมหาวิทยาลัยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณทางวิชาชีพใดๆเลย 

แม้จะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ระบุชัดเจนเรื่องการจ่ายค่าชดเชยแรงงานกรณีเลิกจ้าง แต่บางมหาวิทยาลัยมักใช้อำนาจภายในการบ่ายเบี่ยงที่จะไม่จ่ายเงินดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการตั้งข้อหาเท็จ หรือการจ่ายเงินน้อยกว่าที่ควรจะให้โดยอ้างว่าการจ้างอาจารย์เป็นการจ้าง ผลิตของ แบบมีกำหนดเวลา ไม่ใช่การจ้าง แรงงาน แม้จะมีช่องกฎหมายให้ฟ้องร้องได้แต่บางมหาวิทยาลัยเลือกที่จะยื้อเวลากับอาจารย์โดยการให้อาจารย์เสียเวลาในการฟ้องหรือดึงข้อกฎหมายมาสู้ซึ่งไม่ต่างกับธุรกิจอื่นๆที่นายจ้างมักเอาเปรียบลูกจ้างจนถึงที่สุด มีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่ต้องยอมจำนนกับการเอาเปรียบนี้ภายใต้การผูกการแสวงหากำไรเข้ากับ คุณธรรม ศีลธรรม และการอุทิศตนของอาจารย์ ความไม่โปร่งใสในธุรกิจการศึกษาที่มีการแสวงหากำไรอย่างมหาศาลทำให้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจสีเทาที่ผู้ปฏิบัติงานมีอำนาจต่อรองต่ำ ขาดการรวมตัวของสหภาพ และกฎหมายแรงงานที่ไม่ครอบคลุมในสภาพการจ้างนี้

 

5. คุณภาพการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร

ถ้าระบบอุดมศึกษาไทยยังติดอยู่กับกับดักนี้ ที่อาจารย์และนักศึกษาตกเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยที่มองการศึกษาเป็นการค้า มองบุคคลากรทางการศึกษาเป็นแรงงานที่ไร้อำนาจต่อรอง ผลเสียตกอยู่กับคุณภาพการศึกษาโดยตรง ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างถูกลิดรอนสิทธิ์ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลประโยชน์ทางธุรกิจตกอยู่กับแค่คนมีอำนาจเพียงไม่กี่คนเท่านั้น นอกจากจะเป็นการทำให้อาชีพอาจารย์เสื่อมความน่าเชื่อถือและคุณภาพแล้วยังเป็นการผลิตนักศึกษาที่เสื่อมคุณภาพเช่นกัน และยังทำให้อาจารย์รุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถขาดแรงจูงใจในการเป็นอาจารย์เนื่องจากต้องทำงานภายใต้สัญญาที่บีบรัด ไม่มีความมั่นคงในวิชาชีพ และต้องเป็นกลไกของนโยบายมุ่งเน้นการค้าเหล่านี้ หากวงจรนี้ยังดำเนินต่อไปและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผลเสียระยะยาวยังตกอยู่กับองค์กรและธุรกิจที่ต้องเผชิญกับบุคคลากรที่มีวุฒิการศึกษาแต่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการทำให้การศึกษากลายเป็นการค้าจึงเป็นยาร้ายในสังคมที่ต้องได้รับการเยียวยาโดยด่วน


6. ทางออกคืออะไร ?

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีอาจารย์จำนวนมากที่เผชิญความไม่เป็นธรรมแต่ต้องยอมรับด้วยข้อจำกัดทางเงื่อนไขเศรษฐกิจและความมั่นคงในวิชาชีพ ทางออกคือภาคสังคมต้องช่วยกันขับเคลื่อนและตีแผ่ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ให้เห็นว่าการที่นายจ้างเอาเปรียบแรงงานนั้นไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ผิดทั้งข้อกฎหมายและจรรณยาบรรณที่ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการปกป้องสิทธิของบุคคลากรทางศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ตัวกลางสำคัญที่ต้องทำหน้าที่อย่างหนักคือสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ตามนโยบายขององค์กรที่กล่าวว่า “ร่วมทีมทำงาน สร้างสรรค์องค์กร สอดคล้องเป้าหมาย โปร่งใสเป็นธรรม นำประโยชน์ส่วนรวม” [5] ดังนั้น สกอ. ในฐานะองค์กรต้องแสดงบทบาทในการตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพของการศึกษาอย่างเข้มข้น การประกันคุณภาพการศึกษาต้องไม่มุ่งเน้นแค่การประเมินปริมาณผลงานวิชาการ แต่ยังรวมถึงคุณภาพการศึกษาที่ต้องมองถึงความโปร่งใสของหลักสูตร คุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรทางการศึกษา ความมั่นคงในวิชาชีพ และปกป้องการละเมิดสิทธิบุคลากรทางการศึกษา หาก สกอ. ละเลยประเด็นสำคัญเหล่านี้ สกอ.เองที่จะกลายเป็นอีกแรงขับสำคัญที่ทำให้คุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยลดลงเรื่อยๆ

 

 

เชิงอรรถ

[1] อ้างจาก https://pantip.com/topic/31841628

[2] อ้างจาก https://www.posttoday.com/local/northeast/523829

[3] อ้างจาก http://www.khonkaenlink.info/home/news/2667.html

[4] อ้างจาก https://www.posttoday.com/social/edu/261577

[5] อ้างจาก http://www.mua.go.th/vision.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net