Skip to main content
sharethis

คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ 'ช้อปช่วยชาติ' ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัดไม่ถึงหมื่นล้าน ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายตามปกติ หวั่นเกิดการชะลอการบริโภคในระยะต่อไป มีกลุ่มคนได้ประโยชน์เพียง 7% แนะให้มุ่งเป้าไปที่การมีมาตรการช่วยคนยาก เสนอปฏิรูประบบการคลังโดยปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บแต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี

3 ธ.ค. 2560 อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นว่า หลังการสิ้นสุดของมาตรการช้อปช่วยชาติ (13 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2560) 19 วัน พบว่า ผลของมาตรการช้อปช่วยชาติต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัดไม่ถึง 10,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามปรกติอยู่แล้ว จะก่อให้เกิดการชะลอการบริโภคในระยะต่อไป มีกลุ่มคนได้ประโยชน์โดยตรงค่อนข้างจำกัด เป็นผู้เสียภาษีในอัตราภาษี  20% ขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 7% ของผู้ยื่นแบบเสียภาษี ปีนี้การกระตุ้นการใช้จ่ายอันเป็นผลจากมาตรการ ช้อปช่วยชาติมีผลน้อยกว่าปีที่ผ่านมาและมีความจำเป็นน้อยลง ตัวอย่างมาตรการช้อปช่วยชาติปลายปี 2559 การจัดเก็บภาษี  VAT เดือน ม.ค. 2560 อยู่ที่ 245,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ม.ค. 2559 รวม 3,688 ล้านบาท หรือ 1.5% ขณะที่เดือน ธ.ค. 2559 เก็บภาษี VAT ได้ 61,589 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ธ.ค. 2558 ราว 644 ล้านบาท หรือ 1%

ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมามากกว่า 10 ปีแล้ว มีความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มขึ้นและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอาจชนเพดาน 60% ในปี พ.ศ. 2564 ฉะนั้นการออกมาตรการที่อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า คุ้มค่ากับการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ แม้นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ในขณะนี้ แต่ยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังยังไม่สามารถดำเนินได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าให้มีการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี พ.ศ. 2561 เพราะมีความจำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก จึงต้องกู้เงินเพิ่มมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ในช่วงปีงบประมาณ 2552-2559 ประเทศไทยขาดดุลงบประมาณสะสมอยู่ที่ 2,687,027 ล้านบาท หรือคิดเป็นเฉลี่ยปีละ 335,878 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 14.4 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2559 (พูดง่ายๆมีเงิน 100 บาท แต่จ่าย 114.40 บาท)

อนุสรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอให้ปรับกรอบความยั่งยืนการทางคลังใหม่เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ต้องการให้จัดทำงบประมาณสมดุลในปี 2560-2561 กรอบเดิมทำไม่ได้แล้ว ต้องยอมรับข้อเท็จจริงและเหตุปัจจัยต่างๆ ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลดีขึ้น โดยอาจเลื่อนไปให้สามารถดำเนินการให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2568-2570 โดยต้องเร่งให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปตามศักยภาพที่ระดับ 4-5% เป็นอย่างน้อย ปรับโครงสร้างภาษีและเพิ่มภาษีทางตรงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาษีที่มีฐานจากทรัพย์สินและภาษีบาป ภาษีธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆ ภาษี E-commerce และการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากแรงงานต่างด้าว เพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สามารถส่งรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ลดการรั่วไหลทุจริตคอร์รัปชั่น ตามแผนยุทธศาสตร์กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ได้ทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2553 นั้น ในปีงบประมาณ 2560 นั้นต้องลดการขาดดุลมาอยู่ที่ระดับ 93,000 ล้านบาท และทำงบประมาณสมดุลหรือเกินดุลได้ 15,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้คืองบประมาณปี พ.ศ. 2560 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท และ ปี พ.ศ. 2561ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก การลงทุนเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการบูรณาการในระยะยาวให้ประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องตัดลดค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อลดภาระทางการคลัง และต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพและลดการรั่วไหล รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ความยั่งยืนทางการคลังขึ้นมาใหม่ 

อนุสรณ์ ในฐานะที่เคยทำหน้าที่กรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวเน้นย้ำว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ควรต้องกำหนดขึ้นใหม่นี้ มีความจำเป็นมาก เพราะกรอบเก่าทำไม่ได้แล้ว ต้องกำหนดใหม่เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการทางการคลังให้สอดคล้องกับเป้าหมายกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่ โดยกรอบความยั่งยืนทางการคลังใหม่นี้ ต้องสะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศโดยยึดหลักเสถียรภาพและความมีวินัยและความยั่งยืนทางการคลัง จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและยั่งยืนขึ้น มีความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการจัดสรรผลประโยชน์และงบประมาณให้กลุ่มต่างๆ ในสังคม ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการจัดสรรงบประมาณด้วยความโปร่งใสและยุติธรรมมากขึ้น มีหลักประกันว่า ระบบสวัสดิการต่างๆ ที่ประชาชนเคยได้รับทั้งเรื่องการศึกษาฟรี สวัสดิการรักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์จะมีงบประมาณในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง การมีกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ชัดเจนจะช่วยกำกับไม่ให้มีการสร้างภาระหนี้สินให้กับลูกหลาน ภาระการใช้หนี้ของรัฐบาลในอนาคตและเป็นภาระภาษีในอนาคตต่อประชาชนมากเกินไป รวมทั้ง ให้เกิดหลักประกันและความมั่นใจว่าประเทศจะมีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าได้เคยมีการเสนอให้มีการปฏิรูประบบการคลัง ขณะที่ทำหน้าที่กรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เมื่อหลายปีก่อน แต่ข้อเสนอปฏิรูปดังกล่าวไม่มีการดำเนินการ เวลานี้อยากเสนอปฏิรูประบบการคลังเฉพาะในส่วนการปฏิรูปกรมจัดเก็บภาษีใหม่ ไม่จัดสรรงบประมาณให้กรมจัดเก็บแต่ให้มีรายได้จากผลงานการจัดเก็บภาษี  กรมสรรพากร หรือ กรมสรรพสามิต จะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล แต่จะได้รับส่วนแบ่งจากการจัดเก็บภาษีให้กับรัฐบาล 1-2% ของภาษีที่จัดเก็บได้ ยกตัวอย่าง เก็บภาษีได้ 1 ล้านล้านบาท จะได้รับส่วนแบ่ง 10,000-20,000 ล้านบาท เป็นค่าบริหารจัดการของกรมสรรพากร เช่น เงินเดือนของคณะกรรมการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สรรพากร รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีด้วย หากกรมสรรพากรเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า บอร์ดที่ทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บภาษีต้องออกไป หรือ อีกวิธีหนึ่ง คือ การเปลี่ยน กรมจัดเก็บภาษี จากระบบราชการ เป็น องค์กรของรัฐ แบบเดียวกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ตลาดหลักทรัพย์ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับคนทำงานมากขึ้น หรือ ให้สัมปทาน “เอกชน” ในการทำหน้าที่จัดเก็บภาษีแทนรัฐบางส่วนแต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ

อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่าหากมีมาตรการทางเศรษฐกิจออกมาใหม่อยากให้เน้นมุ่งเป้าไปที่คนยากจน เนื่องจากข้อมูลระหว่างปี 2558-2559 จำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้น 963,000 คน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 20% เป็นคนยากจนที่เพิ่มขึ้นโดยประเทศไม่ได้มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอะไรและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมก็กระเตื้องขึ้นอีกด้วย สะท้อนปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำรุนแรงและมาตรการที่ออกมาไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาส่วนนี้ คนจนเมืองเพิ่มขึ้น  24%  คนจนชนบทในชนบทเพิ่มขึ้น  17%  ทำให้สัดส่วนคนยากจนเทียบกับประชากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 7.21% เป็น 8.61% คนจนเมืองที่เพิ่มขึ้นมากเป็นผลจากการไม่ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นเวลาสามปีและเพิ่งปรับในปีนี้โดยเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net