Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

นี่คือสิ่งที่เราจะอธิบายคอนเสิร์ต The Fairly Tell Founding and the หมอลำ คอนเสิร์ต ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่  16 ธันวาคม 2560 นี้

เป็นเวลากว่า 1 ปี ของการก่อตั้งกลุ่มเล็กๆที่ชื่อ FAIRLY TELL  ซึ่งเกิดขึ้นจากการก่อตั้งของผู้หญิง 3 คน ได้แก่ กอฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง อดีตนักโทษการเมือง ผู้ไม่เคยอยู่นิ่งๆแม้แต่ตอนอยู่ในคุก แจ่ม ฉัตรสุดา หาญบาง นักกิจกรรมทางสังคมที่มีอาชีพเป็นแม่ค้า และ กิฟท์ กมลชนก มั่นคง คนไทยในต่างแดนที่สนใจในการเยียวยาตนเองและผู้อื่น หลังจากช่วงชีวิตวัยรุ่นผ่านช่วงเวลาผันผวนทางการเมืองจนครอบครัวได้รับผลกระทบ

สิ่งแรกที่ทำขึ้นนามของ FAIRLY TELL คือการเขียนรายงาน ICCPR ชื่อ  Violation of the Rights of Women and Children at the Bangkok Central Women's

Correctional Institution เพื่อหวังว่าจะเป็นบันทึกหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวภายในกรงขังของประเทศไทย จากประสบการณ์ของกอฟ และ เพื่อนๆอดีตนักโทษหญิงในคดีอื่นๆ และต่อมาได้ส่งรายงาน CEWARW

“ไม่มีใครเล่าเรื่องในคุกได้แท้และจริงมากไปกว่าคนที่เคยติดคุก” เตรียมการนี้ถูกตระเตรียมมาตั้งแต่ที่กอฟถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำส่งต่อให้คนรักและเพื่อนอย่างแจ่มเก็บรักษาเอาไว้  เริ่มจากการชักชวนให้เพื่อนๆเห็นถึงความจำเป็นที่คุกจะต้องพัฒนาและเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน จนเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว ก็ได้ทำการติดต่อกับเพื่อนๆที่เคยใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงสูงด้วยกัน หลายต่อหลายคนกลัวที่จะพูดเรื่องคุก กลัวว่าจะมีคนรู้ว่าเคยอยู่ที่นั่น แต่ก็มีบางคนที่พร้อมจะเล่า พร้อมที่จะบันทึก ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนรายงานจึงเกิดขึ้น  โดยที่แต่ละคนในกลุ่มเองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะให้ผลอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงหรือไม่ ทั้งยังแทบไม่รู้จักกระบวนการเหล่านี้มาก่อนเลย แม้แต่ตัวของคนริเริ่มเองก็ตาม แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ ถือเป็นการร่วมทีมและสร้างสมาชิกกลุ่มในขั้นแรก

แต่การเขียนรายงานเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและไม่ใช่จุดประสงค์หลักของกลุ่ม “เราจะต้องช่วยเหลือคนที่ออกจากคุกมาแล้ว ให้มีที่ยืน และพึ่งพาตัวเองได้” หลังจากพบว่า กอฟและเพื่อนๆอดีตนักโทษหลายคนต้องเผชิญกับภาวะบอบช้ำในจิตใจ จากความรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของคนอื่น ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามที่ถูกคุมขัง ทั้งยังมีความเจ็บแค้นที่ก่อสุมอยู่ในหัวใจจากสิ่งที่ตนต้องเผชิญ ความรู้สึกผิดบาป และการถูกทอดทิ้ง จากมิตรและครอบครัวก่อเกิดบาดแผลใหญ่หลวงในใจของพวกเขา

“ทุกคนจะคิดว่า ออกจากคุมาแล้วก็จบกัน หาเงินให้สักก้อนเล็กๆแล้วปล่อยให้พวกเขาออกไปใช้ชีวิต แต่ไม่มีใครจะช่วยรักษาแผลที่ใจให้กับพวกเขา” ความจำเป็นของการเยียวยาที่เริ่มขึ้นจากจุดเล็กๆ ที่ทุกคนต้องเผชิญ คือการรักษาคามหวังและความฝัน ทั้งยังต้องฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพภายในที่สูญเสียให้กับพื้นกระเบื้องเย็นเฉียบหลังลูกกรง ด้วยการชักชวนกันเข้าโปรแกรมพูดคุย , กระบวนการละครเพื่อฟื้นฟูร่างกาย,โยคะ ,ศิลปะบำบัด ควบคู่ไปกับการสื่อสารเรื่องสิทธิที่ถูกจำกัด และการคอรัปชั่นในเรือนจำผ่าน  ลิปสติก ในโปรเจค ส่งความสวยให้สาวหลังกำแพง ร่วมกับเพจความงาม SiswalkSistalk

ส่งเสริมให้สมาชิกกล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังกำแพงต่อเวทีสาธารณะ ทั้ง…. ไม่ใช่เพียงแค่สื่อสารให้ผู้คนรับรู้ แต่คือการฟื้นคืนความมั่นใจที่สูญเสียไปให้แก่พวกเขา ….เพราะเราเชื่อมั่นว่า ถ้าหากพวกเขามีความมั่นคงและเข้มแข็งขึ้น พวกเขาก็จะเป็นผู้ช่วยเหลือคนอื่นๆต่อไป มันไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเยียวยา แต่มันหมายรวมถึงการพัฒนาให้ผู้รับกลายเป็นผู้ให้อย่างเต็มภาคภูมิ อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็ได้ช่วยบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นม่านลูกกรงแทนเพื่อนๆที่ไม่อาจสื่อสารได้จากข้างใน เพื่อพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ และไม่ต้องเผชิญการกระทำอย่างที่พวกเราเคยผ่านมา

“ถ้าเราเชื่อว่าทุกๆคนที่ถูกกระทำจากความไม่ยุติธรรม และ เกมส์การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งที่ดีกว่าของประเทศนี้ ในฐานะเหยื่อได้ เราก็ต้องเชื่อว่าเขา มีศักยภาพมากพอที่จะส่วนหนึ่งในพลังที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน” ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเราทำจากความเชื่อมั่นที่ว่า คุกไม่สามารถพรากเอาความเป็นมนุษย์ไปจากผู้คนได้ แต่การถูกสังคมทอดทิ้งและความสงสารจากโลกข้างนอกต่างหากที่ค่อยๆฆ่าพวกเขา

ในคุกมีข้าวหลวงให้กิน แม้ว่ามันจะไม่ได้ดีนัก มีที่ซุกหัวนอน แต่เมื่อก้าวเดินออกมาจากกำแพง บางคนออกมาไร้ญาติขาดมิตร บางคนไม่มีงานทำ  ผู้คนรอบตัว ผู้คนในประเทศนี้ อยู่ไปโดยไร้ความหวัง … คนที่เสียสละต่อสู้เพื่อสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยจนสูญเสียอิสรภาพไปแล้ว ยังต้องออกมาพบเจอสิ่งเหล่านี้อีกอย่างนั้นหรือ  ???

“หลายๆครั้งที่เราประสานไปหาใครต่อใครแล้วถูกปฏิเสธ เขาไม่ได้บอกเราตรงๆหรอกว่าเพราะอะไร แต่เราก็พอเดาได้ว่ามันเป็นเพราะว่าในกลุ่มเรามีอดีตนักโทษการเมืองอยู่ มีคนเคยโดน 112 ทำให้พวกเขาไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าเขาไม่ได้คิดว่าการดูแลกันและกันเป็นเรื่องสำคัญ เราก็ไปบังคับเขาไม่ได้ เราทำได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว”

สิ่งที่ทำอย่างดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดมากมายทำให้ทีมได้เรียนรู้ทั้งแง่ดีและเลวร้ายของโลกที่ไม่ใช่เทพนิยาย

กลุ่มเล็กๆที่เริ่มด้วยอดีตนักโทษ 112 และอีก 2 คนที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในมุมกว้าง องค์กรใหม่ ขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้ หลายต่อหลายคนไม่กล้าแม้แต่จะทักทาย แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเข้าใจได้ แผนงานของกลุ่มจึงไม่ใช่แผนงานแบบองค์กร NGOs ความเหน็ดเหนื่อยจากการต้องเขียนหลักการและเหตุผลให้สอดคล้องกับแหล่งทุน และการถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง ทำให้พลังของสมาชิกหดหายและกลายเป็นสิ่งตอกย้ำว่า “ไม่มีค่า”  และเพราะความเป็นแม่ค้าที่มีอยู่ในตัวผู้ก่อตั้งกลุ่มทั้งสามคน ทำให้เราแสวงหาความมั่นคงและยั่งยืนในรูปแบบอื่น ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนของบประมาณจากองค์กรต่างๆ เท่านั้น

สมาชิกทุกคนของเรามีอาชีพเป็นของตัวเอง ไม่ได้รับเงินเดือนจากกลุ่ม แต่ช่วยกันหาเงินเข้ากลุ่ม ตามศักยภาพของตัวเอง เพื่อไม่ให้การทำกิจกรรมบั่นทอนชีวิตส่วนตัวมากจนเกินไป

การจ้างงานและการผลิตสินค้าของกลุ่ม การสร้างแผนงานธุรกิจขนาดตลาดนัดจึงถูกทดลองนำมาใช้ แต่ก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่กลุ่มตั้งไว้ จึงต้องพัฒนาและทดลองในขั้นต่อไป เพื่อที่จะรองรับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษหญิง “เพื่อที่เราจะเป็นทางเลือกให้กับผู้คนต่อไป ได้ โดยที่ตัวเราเองต้องไม่เดือดร้อนไปด้วย เราต้องให้พวกเขาเริ่มต้นได้ ยืนได้ด้วยตัวเอง แล้วต่อไปเขาก็จะได้ช่วยคนอื่นๆต่อๆไป พวกเราก็จะได้วางมือได้”  ใช่แล้ว กลุ่มนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อจะส่งต่อให้กับคนอื่นๆต่อไป

เมื่อพูดถึงนักโทษ ผู้คนอาจจะคิดว่าพวกเขาจะต้องทนทุกข์ ลำบาก หดหู่และสิ้นหวัง แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อเราอยู่ในคุก เรามีความหวังถึงเช้าวันใหม่ในทุกๆวัน เราหวังกันแทบทุกนาที เราหวังว่า เมื่อเราพ้นโทษออกมาแล้ว ประเทศนี้จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่ก็เปล่าเลย ทุกสิ่งยังคงเป็นเช่นเดิม หรือ เลวร้ายลงกว่าเดิม

การจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอดีตนักโทษการเมือง และเพื่อจะให้กลุ่มเองได้สรุปบทเรียนและความเป็นไปได้ของการทำงานในอนาคต “ถ้าไม่มีคนมา ขาดทุน ก็คือล้มเหลว เราก็แค่หาวิธีการใหม่ แต่ถ้ามีคนมา ได้ตามเป้า ก็แปลว่าประสบความสำเร็จ เราไม่สามารถบอกให้ทุกๆคนเห็นพ้องต้องกันกับเราได้ แต่เรานำเสนอได้ ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของคนซื้อบัตร ” นี่คือวิธีการวัดผลง่ายๆสำหรับการจัดงานใหญ่ที่สุดเท่าที่กลุ่มเคยจัดมาในครั้งนี้

การจัดคอนเสิร์ตหมอลำในพื้นที่กรุงเทพนั้นถือว่ามีความเสี่ยงในระดับหนึ่งที่จะขาดทุน แต่เราก็พร้อมที่จะลองดู กับแบงค์   ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม อดีตนักโทษ 112 ผู้ที่เรียนรู้และร้องหมอลำมากว่า 10 ปี เพราะรักในการร้อง การลำ การฟ้อน การจะเป็นหมอลำนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายสำหรับคนที่เกิดมาในยุคของเพลงสมัยใหม่ และ ไม่ง่ายที่จะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์อีสาน เพื่อกลั่นออกมาเป็นกลอนร้องขับกล่อมพี่น้องที่กำลังดิ้นรนต่อสู้ชีวิต

หมอลำเป็นศิลปะพื้นถิ่นอีสานที่มักจะถูกจัดอยู่ในพวกของ ศิลปะ ขบถ ซึ่งรัฐก็พยายามจะเข้ามาจัดการควบคุมเนื้อหาต่างๆมาตั้งแต่อดีต จนทำให้หมอลำต้องปรับตัวไปอยู่ในเพลงลูกทุ่ง และพึ่งพิงการช่วยเหลือจากนายหน้าเพื่อการเจรจาต่อรองกับรัฐ แต่ปัจจุบันมีสื่อโซเชียลมีเดีย ที่ช่วยเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับผู้ฟังได้โดยตรง

“ฉันคิดว่าคอนเสิร์ตนี้คือพื้นที่ในการพบปะและถามไถ่ อยากให้ผู้คนรู้ว่า นักโทษการเมือง ทั้งฉัน และ คนอื่นที่ออกมาจากคุกแล้ว ไปอยู่ไหน ทำอะไร มีชีวิตยังไง ก็ได้แต่หวังว่าจะมีคนคิดถึงกันบ้าง”

แบงค์พูดถึงเป้าหมายของคอนเสิร์ตที่จะถึงนี้

หมอลำก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง มันถูกหยิบใช้เพื่ออุดมการณ์แบบไหนก็ได้ และในระหว่างถูกคุมขังกว่า 2 ปีในเรือนจำพิเศษกรุงเทพนั้น แบงค์พยายามปลุกปลอบและให้ความหวังตัวเองด้วยการแต่งกลอนลำ

“เพลงลาวแพนที่ฉันเอามาแต่งเนื้อหาใหม่ ที่จะขึ้นร้องในคอนเสิร์ตนี้ ฉันเขียนมันขึ้นมาเพื่อปลุกปลอบตัวเอง และบอกกับคนรอบข้าง ทั้งเพื่อนที่ติดคุกอยู่ด้วยกัน และคนข้างนอก  ว่าต้องเข้มแข็ง ฉันจึงอยากจะสื่อสารให้พวกเขาได้รับรู้”

แบงค์พูดถึงบทเพลงพิเศษที่เขาเขียนจากในเรือนจำ และในคอนเสิร์ตครั้งนี้ก็ยังมีอีกหลายบทเพลงที่ไม่เคยได้เผยแพร่ที่ใดมาก่อน มาขับกล่อมพี่น้องที่จะเข้ามาร่วมงาน

แต่กว่าที่แบงค์จะเข้มแข็งและพร้อมที่จะออกมาโชว์พลังและศักยภาพของเขานั้น ไม่ง่ายเลย

“คนข้างนอกต่อสู้เรื่องปากเรื่องท้อง ทุกข์ทรมานอยู่แล้ว คนอยู่ในคุกนั้นทุกข์ยิ่งกว่าเพราะไม่มีเสรีภาพที่จะหาเลี้ยงปากท้องของตัวเอง ยิ่งเมื่อเราออกมาแล้ว เรายิ่งต้องสู้ให้หนักกว่าคนข้างนอก ต้องปรับตัวให้ตัวเองอยู่ให้ได้ ให้ตื่นมาทุกๆ วันได้ ให้มีลมหายใจ ให้มีข้าวกินในทุกๆ วัน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองให้ได้ ที่เราต้องทุกข์กว่า เพราะเราออกมาจากคุกไง สังคมไทยไม่ได้ให้โอกาสคนที่ออกมาจากคุก  แม้แต่ในคดีของฉัน ฉันจึงต้องอยู่ให้ได้ ก่อนที่จะอยู่ให้เป็น”

แบงค์เล่าถึงการปรับตัวและสิ่งที่ต้องเผชิญหลังจากออกมาจากคุก

และเมื่อเราถามแบงค์ว่าถ้าไม่ให้ร้องหมอลำ แบงค์จะไปทำอะไร 

“มันคือชีวิตของฉัน คือลมหายใจของฉัน ถ้าไม่ให้ร้องจะให้ฉันไปทำอะไร”

และเขากำลังทำให้ตัวเองเป็นเหมือนคนปกติ ทำมาหากินเป็นพลเมืองของรัฐ 

“หรือจะต้องให้ไปทำธุรกิจมืด”

เขาตั้งคำถามกลับ ซึ่งเราเองก็ตอบไม่ได้ และทั้งนี้แบงค์ยังได้เชิญชวนพี่ๆ ฝ่ายความมั่นคงที่จับตาดูอยู่ ให้ซื้อบัตรเข้ามาฟังด้วยกัน

“มาสนุกด้วยกัน หมอลำใครฟังก็ได้”

เขาทิ้งท้ายปนเสียงหัวเราะ

และเนื่องจากคอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสริตระดมทุน คำถามที่ตามมาก็คือ จะนำเงินที่ได้ไปทำอะไร สิ่งที่เราตอบได้ก็คือ “เราไม่รู้ว่าจะขายบัตรหมดไหม ถ้าขายไม่หมดพวกเราก็ขาดทุนและเป็นหนี้ แต่ถ้าขายหมดเราก็จะมีเงินเหลือ หมื่นกว่าบาท อาจจะพอแบ่งปันให้กับอดีตนักโทษการเมืองที่เข้าร่วมโครงการกับเรา ราวๆ 5 คนได้ ส่วนจะเป็นใครบ้างนั้น อยากให้ได้มาพบกันในงาน”

เพราะ FAIRLY TELL เราเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ได้เปิดตัวหวือหวา คนอาจจะไม่ค่อยรู้จัก เราแค่ทำงานของเราเงียบๆ แต่เรามั่นใจว่างานเรามีคุณภาพแน่นอน และสิ่งที่ทำให้เราประทับใจมากที่สุดหลังจากการประชุมใหญ่ของกลุ่มคือ คำพูดที่ออกมาจากสมาชิกกลุ่ม ผู้เป็นอดีตนักโทษการเมืองคนหนึ่งว่า “เราไม่ได้อยากได้อะไรจากกลุ่มเลย เราอยากให้ตัวเองมั่นคงเร็วๆ เพื่อเราจะได้มาช่วยกลุ่ม มาช่วยคนอื่นที่กำลังจะออกมามากกว่า” นั่นเป็นเพราะว่า ทั้งรัฐหรือเอกชนนั้นไม่ได้เข้ามาให้การรองรับหรือเยียวยา ความเข้มแข็งของอดีตนักโทษจึงต้องเริ่มจากจิตใจภายในที่พร้อมจะเผชิญกับปัญหาและการยืนให้ได้ด้วยตัวเอง และคอยดูแลคนอื่นๆต่อไป

สิ่งที่เราผ่านพบมาตลอดกว่า 1 ปี ทำให้เรารู้ว่านอกจากการถูกปฏิเสธจากองค์กรต่างๆและคนที่มีชื่อเสียงในสังคมบางคนแล้ว ก็ยังมีผู้คนอีกหลายคนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือและประคับประคองพวกเราไป และผู้คนเหล่านั้นก็เป็นผู้คนตัวเล็กๆที่ยังมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเราได้ทำลงไป

“เราอยากให้คอนเสิร์ตนี้เป็นคอนเสิร์ตแห่งความหวัง โดยศิลปินที่เต็มไปด้วยความหวังจริงๆ” เพราะถึงแม้ว่าผู้คนมากมายต้องติดคุกและใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้น พวกเขาก็ยังมีความหวังและพยายามจะลุกขึ้นมาเป็นผู้ให้ ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องเผชิญในประเทศนี้ก็ไม่อาจทำลายความหวังของผู้คนที่มีใจรักความเป็นธรรมได้ ขอให้พวกเขาได้ส่งต่อความหวังและความฝันให้กับพวกคุณ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net