นักวิชาการร้องประยุทธ์ หนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยกต่างประเทศไม่มีปัญหา

ชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 43 รายชื่อ ร้องประยุทธ์ หนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยกต่างประเทศไม่มีปัญหาเจ็บป่วย ชี้ในไทยในนิคมฯมาบตาพุด ก็ตั้งริมทะเล แต่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพ ส่วนการตั้งโรงไฟฟ้าเทพาก็ห่างทะเลถึง 9 กม.

ภาพจากเฟซบุ๊ก Warich Noochouy

7 ธ.ค.2560 จากกระแสการเคลื่อนไหวคัดค้านแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.เทพา จ.สงขลา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก็มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการก่อสร้างด้วยเช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า เครือข่ายพัฒนาเทพา นำโดย พณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานเครือข่าย เดินทางยื่นหนังสือเรียกร้องให้สนับสนุนและเร่งรัดอนุมัติการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมี พ.อ.ธีรวัฒน์ ปิ่นแก้ว รองผู้บัญชาการมณฑณทหารบกที่ 46 เป็นผู้รับหนังสือ

วานนี้ (6 ธ.ค.60) สื่อหลายสำนัก เช่น TNN24 ข่าวสดออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ และโพสต์ทูเดย์ รายงานตรงกันว่า ภิญโญ มีชำนะ ประธานชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยคณะอาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัย และนักวิชาการ เดินทางมายื่นหนังสือสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา และพื้นที่ภาคใต้ พร้อมยื่นรายชื่ออาจารย์ และนักวิชาการที่ลงชื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถึงนายกรัฐมนตรี ผ่าน สมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ภิญโญ กล่าวว่า เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งตนเองและนักวิชาการในเครือข่ายได้ร่วมกันอธิบายและชี้แจงถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และอ.เทพา จ.สงขลา ให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมทั้งตอบข้อกังวลของประชาชน ที่มีเชื้อเพลิงถ่านหิน เนื่องจากอาจจะไม่ได้รับฟังข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ได้ออกมาสนบสนุนโครงการอย่างเปิดเผยแล้ว

ประธานชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ยืนยันได้ว่าจากประสบการณ์ตนเองและคณาจารย์ ที่ได้เดินทางไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินต่างประเทศ พบว่า ไม่เคยได้รับข้อมูลว่าเกิดความเจ็บป่วยร้ายแรงหรือสูญเสียชีวิต จากผลของมลภาวะที่ปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะที่กลุ่มคัดค้าน กลับให้ข้อมูลที่บิดเบือนไป โดยเข้าใจว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งใกล้พื้นที่ทะเลมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและวีถีชุมชนนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเพราะโรงไฟฟ้าถ่าน ในประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจ.ระยอง ก็มีที่ตั้งอยู่ริมทะเล ซึ่งพบว่าไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพประชาชน รวมการทำประมงกลับดีขึ้น ส่วนการตั้งโรงไฟฟ้าเทพาก็ห่างจากทะเลถึง 9 กิโลเมตร ดังนั้นมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน ส่วนข้อกังวลปริมาณสารโลหะหนักหรือสารปรอท บางประเทศที่ดำเนินการก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่นที่มีการจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ภิญโญยังชี้ว่า ในขณะนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ล่าช้าไปจากแผนเดิมไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว สวนทางกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ในจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน และชาวฝั่งอ่าวไทย ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นไปตามแผน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ ภาคใต้เข้าสู่ขั้นวิกฤต และการเกิดปัญหาไฟดับเป็นวงกว้าง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งนี้ ยิ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้าไปมากกว่านี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งทราบมาว่าบริษัทใหญ่ๆ ไม่เพิ่มการลงทุนในประเทศไทยแล้ว แต่ไปเพิ่มการลงทุนในประเทศรอบบ้านเราเอง

สมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวย้ำว่า จากการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ได้น่ากลัวหรือมีผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้น โครงการของรัฐ จึงควรได้รับการสนับสนุน เพราะเป็นโครงการที่ส้รางความยั่งยืนด้านพลังงาน ไม่ใช่เกิดการต่อต้าน จนทำส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ยืนยันคณะอาจารย์ นักวิชาการ ที่ลงชื่อในวันนี้ ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังหรือได้รับผลประโยชน์ใดๆ

สำหรับรายชื่ออาจารย์และนักวิชาการ ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ภาคใต้ มีทั้งสิ้น 43 ราย เช่น มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน, สุรพันธ์ วงษ์โอภาสี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน, สุนทร พุ่มจันทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มนูญ มาศนิยม หัวหน้าภาคววิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ และวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คมสูรย์ สมประสงค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เทียนไชย ตันไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ,ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดร.อภิรดี แซ่ลิ่ม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นต้น

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ทั้งนี้ รองปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เตรียมนำหนังสือนี้ส่งถึงนายกรัฐมนตรีให้ได้รับทราบต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท