Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ เผยสถิติสังหารและอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องใน 'วันสิทธิมนุษยชน' ระบุถูกสังหารเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวช่วงปี 58 - 59 ส่วนรัฐบาลทั่วโลกต่างล้มเหลวในการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย

8 ธ.ค. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า เนื่องในโอกาส "วันสิทธิมนุษยชนสากล" ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานเรื่อง "Deadly but Preventable Attacks: Killings and Enforced Disappearances of Those who Defend Human Rights" หรือ "การโจมตีที่รุนแรงแต่สามารถป้องกันได้: การสังหารและการบังคับสูญหายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" โดยพบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 281 คนทั่วโลกถูกสังหารตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2558 

แอมเนสตี้ฯ พบว่าประมาณ 49% ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารเป็นผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อม ที่เหลือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิสตรี สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พนักงานบริการ (sex workers) สหภาพแรงงาน ชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ ทนายความ นักข่าว ไปจนถึงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งหรือถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธ และอื่นๆ

รายงานยังระบุว่า เมื่อย้อนดูสถิตินับตั้งแต่ปี 2541 จะพบว่ามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารไปแล้วประมาณ 3,500 คน ซึ่งตัวเลขที่แท้จริงคาดว่าจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากมีหลายคนที่ถูกอุ้มหายจนไม่ทราบชะตากรรมที่ชัดเจน โดยทวีปอเมริกาเป็นพื้นที่มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารมากที่สุดในโลก 

รายงานดังกล่าวได้มาจากการรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติและการสัมภาษณ์สมาชิกครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารหรืออุ้มหาย ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ออกมาทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนของตนเองและผู้อื่นจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เรายังพบว่าวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งผู้ก่อเหตุสังหารหรืออุ้มหายไม่ถูกดำเนินคดี ยังเสริมให้การทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วทุกมุมโลกอันตรายมากขึ้นไปอีก นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือคนธรรมดาๆ ที่กล้าหาญและเสียสละในการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกทางหนึ่ง แอมเนสตี้จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย ยอมรับและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการและจริงใจ ภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้พวกเขาถูกคุกคามหรือทำร้ายจากการทำงาน ตลอดจนควรนำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการคุกคามทำร้ายต่างๆ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งสอบสวนต่อการสังหารและการอุ้มหายที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสังคมโดยเร็วด้วย

แถลงการณ์ ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล :

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างล้มเหลวในการป้องกันการสังหารและการหายตัวไปของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างล้มเหลวในการทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองบุคคลซึ่งปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้เกิดการสังหารและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ทั้ง ๆ ที่สามารถป้องกันได้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้

ในรายงานฉบับใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ชื่อ "การโจมตีที่รุนแรงแต่สามารถป้องกันได้: การสังหารและการบังคับสูญหายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" (Deadly but Preventable Attacks: Killings and Enforced Disappearances of Those who Defend Human Rights) ชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน

ในรายงานประกอบด้วยคำให้การของเพื่อน ญาติ และผู้ร่วมงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เป็นผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม นักกิจกรรมด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศและสตรี ผู้สื่อข่าว และนักกฎหมาย ซึ่งต่างถูกสังหารหรือทำให้หายตัวไป หลายคนให้ข้อมูลว่า ผู้เป็นเหยื่อเหล่านี้ได้พยายามร้องขอความคุ้มครองจากทางการ แต่ถูกเพิกเฉย ส่วนผู้ที่ทำร้ายกลับรอดพ้นจากกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ ซึ่งเป็นการส่งเสริมวงจรการลอยนวลพ้นผิด

“เราได้พูดคุยกับครอบครัวของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและถูกบังคับให้สูญหายทั่วโลก และมักได้ยินเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือคนเหล่านี้รู้ตัวดีว่าชีวิตตนเองตกอยู่ใต้อันตราย” กวาดาลูเป มาเรงโก (Guadalupe Marengo) ผู้อำนวยการแผนกนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับโลกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“ก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิตหรือหายตัวไป มักเกิดเหตุโจมตีทำร้ายหลายครั้ง โดยที่ทางการเพิกเฉย หรือยิ่งไปกว่านั้น ส่งเสริมให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น หากรัฐปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตนอย่างจริงจัง และดำเนินการอย่างเข้มข้นเมื่อได้รับรายงานว่ามีการคุกคามและการปฏิบัติที่เลวร้ายเช่นนี้ เราอาจสามารถช่วยปกป้องชีวิตคนเหล่านี้ไว้ได้”

รายงานใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประกอบด้วยเรื่องราวจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของ การโจมตีทำร้ายที่สามารถป้องกันได้ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและชี้ให้เห็นแบบแผนการลอยนวลพ้นผิดอันน่าตกใจดังกรณีต่อไปนี้

เบอร์ตา คาเซเรซ (Berta Cáceres)นักสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมด้านชนพื้นเมืองชาวฮอนดูรัส ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2559 โดยก่อนหน้านั้นเธอได้ถูกข่มขู่และทำร้ายมาเป็นเวลาหลายปี

ซูฮัซ มันนัน (Xulhaz Mannan) นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศซึ่งถูกฟันด้วยมีดจนเสียชีวิตที่บังคลาเทศ พร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่งเมื่อปี 2559 หลังผ่านไป 18 เดือน ยังไม่มีการนำตัวใครมาลงโทษ

ปิแอร์ คลาเวอร์ เอ็มโบนิมพา (Pierre Claver Mbonimpa) ผู้ก่อตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งบุรุนดี ซึ่งถูกยิงที่ใบหน้าและลำคอเมื่อปี 2558 หลายเดือนต่อมา ระหว่างพักรักษาตัวในต่างประเทศ ลูกชายและลูกเขยของเขาก็ถูกสังหาร

The “Douma 4” เป็นกลุ่มชาวซีเรียสี่คนซึ่งถูกลักพาตัวจากสำนักงานโดยกลุ่มติดอาวุธเมื่อเดือนธันวาคม 2556 และยังคงหายตัวไปจนถึงทุกวันนี้

อัตราการโจมตีทำร้ายที่เพิ่มขึ้น

ในขณะที่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรับรองปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2541 ประชาคมโลกแสดงพันธกิจที่จะปกป้องคนเหล่านี้ และยอมรับต่อการทำงานที่สำคัญของพวกเขา แต่รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยให้เห็นว่า การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนยังเป็นงานที่เสี่ยงภัยอย่างยิ่ง โดยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายพันคนที่ถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่น ๆ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

จากข้อมูลของ Front Line Defenders ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ระบุว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 281 คนจากทั่วโลกได้ถูกสังหารในปี 2559 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2558 ทั้งนี้ ตัวเลขที่แท้จริงคาดว่าจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากยังมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกมากที่ถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหายแต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้

รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยให้เห็นแรงจูงใจต่อการโจมตีทำร้ายเหล่านี้ ว่ามีหลายสาเหตุและซับซ้อน บางคนถูกโจมตีทำร้ายเพียงเพราะอาชีพของตน (เช่น การเป็นผู้สื่อข่าว ผู้ทำงานด้านกฎหมาย นักกิจกรรมด้านสหภาพแรงงาน) เพียงเพราะการยืนหยัดต่อต้านผู้มีอำนาจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการแชร์ข้อมูลหรือการรณรงค์เพื่อสร้างการตระหนักรับรู้

บุคคลบางกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกโจมตีทำร้ายมากขึ้น เพราะสิ่งที่พวกเขาทำและสิ่งที่พวกเขาเป็น ทำให้ถูกเลือกปฏิบัติและถูกกระทำด้วยความรุนแรง บุคคลเหล่านี้รวมถึงผู้ซึ่งปกป้องสิทธิสตรี พนักงานบริการ เลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล คนข้ามเพศ คนสองเพศ ชนพื้นเมือง และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ส่วนบางกลุ่มถูกโจมตีทำร้ายเนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาอยู่ท่ามกลางสงครามความขัดแย้งหรือกรณีที่ชุมชนของพวกเขาอยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มองค์กรอาชญากรรม และเป็นชุมชนที่ถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง

“แม้ว่าแรงจูงใจในการโจมตีทำร้ายอาจแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความประสงค์ที่จะปิดปากคนที่ออกมาพูดต่อต้านความอยุติธรรม หรือท้าทายผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ การปิดปากคนเหล่านี้ส่งผลสะเทือนในวงกว้างต่อชุมชน ทำให้เกิดวงจรความหวาดกลัว และทำลายสิทธิของทุกคน” กวาดาลูเป มาเรงโกกล่าว

การลอยนวลพ้นผิดทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

กรณีที่ไม่มีการสอบสวนและลงโทษอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดการข่มขู่และการโจมตีทำร้าย ย่อมส่งผลให้เกิดบรรยากาศการลอยนวลพ้นผิดที่บั่นทอนหลักนิติธรรม เป็นการส่งสัญญาณว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนก็อาจถูกโจมตีทำร้ายได้โดยไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้

เบอร์ธา ซูนิกา (Bertha Zúniga) ลูกสาวของเบอร์ตา คาเซเรซ(Berta Cáceres)นักสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมด้านชนพื้นเมืองชาวฮอนดูรัส (ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม National Council of Popular and Indigenous Organizations of Honduras (COPINH) ที่ถูกสังหารเมื่อปีที่แล้ว)กล่าวว่า

“ก่อนที่คุณแม่จะเสียชีวิต มีการรวมตัวอย่างชัดเจนของกลุ่มผลประโยชน์ด้านธุรกิจ บริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มองค์กรอาชญากรรม โดยกลุ่มเหล่านี้มีส่วนร่วมต่อการสังหารคุณแม่ ซึ่งทำให้การสอบสวนอย่างรอบด้านเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น คุณแม่ดิฉัน [เบอร์ตา คาเซเรซ] ควรได้รับความเป็นธรรม เราจำเป็นต้องเปิดโปงการสมคบคิดกันของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารเช่นนี้อีกในอนาคต”

ข้อเสนอแนะ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทุกประเทศ ให้ความสำคัญต่อการยอมรับและการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทางการต้องประกาศสนับสนุนการดำเนินงานของพวกเขาอย่างเปิดเผย และยอมรับบทบาทของพวกเขาในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยต้องมีการใช้มาตรการทุกประการที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการโจมตีทำร้ายพวกเขาอีก และให้นำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการโจมตีทำร้ายมาลงโทษ ทั้งนี้โดยดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีอย่างมีประสิทธิผล ต่อการสังหารและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

ที่สำคัญ รัฐบาลควรประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะชนว่า จะไม่ยอมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นนี้ได้

“การโจมตีทำร้ายที่โหดร้ายตามข้อมูลในรายงานนี้ เป็นผลลัพธ์ซึ่งมีที่มาจากแนวโน้มที่น่าสะพรึงกลัว กล่าวคือ แทนที่ผู้นำหลายประเทศในโลกจะยืนหยัดคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พวกเขากลับทำให้บุคคลเหล่านี้เสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้น มีการโจมตีใส่ร้ายพวกเขา มีการใช้ระบบยุติธรรมทางอาญาในทางที่ผิดหรือการสร้างภาพลวงว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ดำเนินการที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของเราทุกคน” กวาดาลูเป มาเรงโกกล่าว

“เพื่อแก้ไขการสร้างภาพที่อันตรายเช่นนี้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องประกาศยอมรับบทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พวกเราต่างเป็นหนี้บุคคลเหล่านี้ ซึ่งได้เสี่ยงชีวิตทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของเราอย่างกล้าหาญ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองบุคคลที่ยังคงมุ่งมั่นทำงานที่สำคัญของตนต่อไป”

ข้อมูลพื้นฐาน

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ “กล้า” (Brave) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศยอมรับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประกันว่าพวกเขาจะสามารถทำหน้าที่ต่อไปในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุน

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือใคร?

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย มีทั้งที่เป็นแกนนำชุมชน ผู้สื่อข่าว นักกฎหมาย ผู้ทำงานด้านสุขภาพ ครู นักกิจกรรมด้านสหภาพแรงงาน ผู้เปิดเผยข้อมูล (Whistle-blower) เหยื่อหรือญาติของเหยื่อการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน สมาชิกกลุ่มสิทธิมนุษยชน นักการเมือง และเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงหรือหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ 

พวกเขาอาจทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นอาชีพของตนเอง หรืออาจทำด้วยความสมัครใจ โดยอาจมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเพื่อทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ หรือเพียงแต่ดำเนินการโดยส่วนตัวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวอีกนัยหนึ่ง นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอาจเป็นใครก็ได้ ไม่ว่ามีอายุเท่าไร มีอาชีพ เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด มีสัญชาติหรือเป็นสมาชิกกลุ่มสังคมใด พวกเขาล้วนออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนหรือส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่มีการใช้ประโยชน์จากหรือสนับสนุนความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติหรือความรุนแรง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net