Skip to main content
sharethis

ทำความเข้าใจว่าทำไมนานาชาติประณามทรัมป์หลังยกเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล ย้อนดูเงื่อนปมดราม่าอิสราเอล-ปาเลสไตน์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศ นัยสำคัญของเยรูซาเลม และดอกผลความขัดแย้งที่โลกและไทยก็เคยได้รับ

กลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปแล้วสำหรับการประกาศยอมรับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและแผนการย้ายสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำอิสราเอลจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากชาวปาเลสไตน์ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และกระแสความไม่เห็นด้วยจากนานาประเทศด้วยหวั่นว่าจะมีผลกระทบต่างๆ นานา

ประกายความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประชาคมโลกรวมทั้งสังคมไทยต่างได้รับดอกผลของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ของอิสราเอล สหรัฐฯ ปาเลสไตน์ และชาติมุสลิมในตะวันออกกลางมานานแล้ว

ประชาไทรวบรวมปมความขัดแย้งยาวนานบนพื้นที่ตะวันออกกลางทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ อัตลักษณ์ และผลกระทบต่อโลกและสังคมไทยมานำเสนอ

ทั่วโลกประณาม-ชาวปาเลสไตน์ประท้วง หลัง 'ทรัมป์' ประกาศเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล

เยอรมนียกเลิกถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต 'โรเจอร์ วอเตอร์ส' จากกรณีที่เขาบอยคอตต์อิสราเอล

ปมปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์มาจากไหน

หากจะดูเค้าลางการเกิดความขัดแย้งในพื้นที่อิสราเอลต้องย้อนกลับไปสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พื้นที่ขัดแย้งในวันนี้เคยมีชื่อเรียกว่า ปาเลสไตน์ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสติเนียนที่เป็นอาหรับเสียส่วนใหญ่ ปาเลสไตน์ถูกครอบครองโดยจักรวรรดิออตโตมันที่เป็นศัตรูกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ก่อนที่สหรัฐฯ จะมาร่วมทีมในปี 1917

ในช่วงปี 1915-1916 ก่อนสงครามเสร็จสิ้น ทางอังกฤษพูดคุยกับฮุสเซน บิน อาลี เจ้าผู้ครองนครเมกกะ ให้บิน อาลีลุกขึ้นสู้กับจักรวรรดิออตโตมันเพื่อสร้างศึกภายใน และหลังสงครามจะแบ่งดินแดนให้บิน อาลีสร้างจักรวรรดิอิสลามขึ้น

ในขณะที่เจรจากับบิน อาลี อีกด้านหนึ่ง อังกฤษก็พูดคุยกับฝรั่งเศสจนมีข้อตกลงชื่อว่าข้อตกลงไซเกส-ปิโกต์ (Sykes-Picot Agreement) ขึ้นมาเพื่อแบ่งดินแดนที่เคยเป็นของจักรวรรดิออตโตมันกันเสียใหม่ ซึ่งต่อมารัสเซียเองก็ให้การสนับสนุนข้อตกลงนี้ ตัวข้อตกลงระบุว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของดินแดนปาเลสไตน์จะอยู่ภายใต้การดูแลของนานาชาติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทกันระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษและรัสเซียว่ามีใครไปยึดกุมพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความเป็นมาทางศาสนามายาวนานแต่เพียงผู้เดียว

ดราม่ายิ่งซับซ้อนขึ้นอีกเมื่อในปี 1917 อังกฤษทำข้อตกลงกับฝรั่งเศสภายใต้แถลงการณ์บัลโฟร์ ที่มุ่งหาพื้นที่สร้าง “ชาติอันเป็นบ้าน” ให้กับชาวยิว จนกระทั่งในวันที่ 2 พ.ย. 1917 รัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนอย่างเป็นทางการกับกลุ่ม องค์กรไซออนิสต์โลก ให้จัดตั้งประเทศที่เป็นบ้านของชาวยิวขึ้นในแผ่นดินปาเลสไตน์

ไซออนิสม์เป็นความเชื่อของชาวยิวที่ถือความเชื่อทางศาสนาของชาวยิว (ศาสนายูดาย) เป็นสัญชาติด้วย และเชื่อว่ายิวสมควรที่จะมีรัฐอิสราเอลเป็นของตัวเอง แนวคิดนี้ถูกนำมาตีแผ่จนเป็นลัทธิชาตินิยมแบบยิวในราวปี 1896 โดยนักข่าวเชื้อสายยิว-ออสเตรีย ชื่อว่าธีโอดอร์ เฮอร์ส

จากนั้นอิสราเอลค่อยๆ ก่อร่างสร้างรัฐขึ้นมาภายใต้สถานภาพการเป็นรัฐใต้อาณัติของอังกฤษ (รัฐเจ้าอาณัติคือสถานะรัฐที่มีรัฐหนึ่งคอยกำกับการสร้างรัฐก่อนที่จะปล่อยให้เป็นอิสระ) จากนั้นก็มีชาวยิวอพยพมาจากทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงที่ยุโรปมีการกวาดล้างชาวยิวภายใต้ระบอบนาซี

การสร้างรัฐของอิสราเอลไม่มีกลไกคุ้มครองสิทธิของชาวปาเลสไตน์ที่เป็นชนพื้นถิ่นเดิม ฝ่ายบริหารของทางการชาวยิวมีแต้มต่อในการเจรจากับยุโรปมากกว่ากลุ่มชาวปาเลสไตน์เพราะฝ่ายแรกมีสายสัมพันธ์อันดีกับองค์กรไซออนิสต์โลก ชาวยิวขับเคลื่อนการสร้างรัฐอิสราเอลผ่านทั้งการพูดคุยและการใช้กำลังเพื่อก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ประจำในปาเลสไตน์

ในปี 1947 มติที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UNGA – United Nations General Assembly) ระบุให้พื้นที่ปาเลสไตน์แบ่งเป็นสองประเทศ มตินี้ส่งผลกระทบสองอย่าง หนึ่ง มติดังกล่าวส่งผลให้เกิดการลุกฮือขึ้นในหลายเมืองที่อิสราเอลยึดครองเอาไว้ด้วยกำลังอยู่ รวมถึงเมืองใหญ่อย่างไฮฟาและเมืองจาฟฟา สอง ชาติสมาชิกอาหรับ ได้แก่ อียิปต์ เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย อิรัก และเยเมน เป็นชาติที่ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าวและพยายามหาแนวร่วมผลักดันให้ปาเลสไตน์เป็นของชาติอาหรับแต่สุดท้ายก็แพ้ในช่วงลงคะแนนเสียงไปด้วยคะแนน 33-13 ทั้งนี้ มติดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้เกิดความพอใจขึ้นทั้งในฝ่ายอิสราเอลและฝ่ายอาหรับ

ภายหลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากปาเลสไตน์เพราะปัญหาเศรษฐกิจและปฏิเสธที่จะต้านทานความสูญเสียที่ได้รับจากการก่อการร้ายชาวยิวอีกต่อไป ก็ได้ส่งไม้ต่อให้ยูเอ็น จนวันที่ 14 พ.ค. 1948 อิสราเอลก็ประกาศจัดตั้งรัฐอิสราเอลอย่างเป็นทางการท่ามกลางความไม่พอใจของชาวอาหรับในภูมิภาคจนเป็นผลให้ชาติอาหรับส่งกองกำลังผสมจำนวน 21,500 นายเข้าโจมตีกองกำลังอิสราเอลในปาเลสไตน์ทันที

แต่ด้วยปัญหาเรื่องการสื่อสารกันในกองกำลังผสม การขาดความสามัคคีในหมู่ชาติอาหรับและกองกำลังที่น้อยเกินไปทำให้อิสราเอลสามารถป้องกันการโจมตีเอาไว้ได้ ทั้งยังยึดครองพื้นที่อาณัติปาเลสไตน์เพิ่มเข้าไปอีกเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ของพื้นที่ทั้งหมด สงครามดังกล่าวส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์กว่า 7 แสนคนต้องพลัดถิ่นที่อยู่

ปัจจุบันชาวปาเลสไตน์จำนวน 2.6 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา ทางทิศตะวันตกของอิสราเอล อีกจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ทางทิศตะวันออกของอิสราเอล ทั้งสองพื้นที่ปัจจุบันเป็นดินแดนที่อิสราเอลยึดครองอยู่ จนปัจจุบัน เว็บไซต์ข่าว VOX รายงานว่ามีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ทั้งสิ้นมากกว่า 7 ล้านคน มากกว่าประชากรชาวยิวที่มีอยู่ในประเทศอิสราเอลในปัจจุบันเสียอีก หากวันหนึ่่งอิสราเอลเปิดประเทศให้ชาวปาเลสไตน์กลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ ชาวยิวจะเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศทันที

แผนที่แสดงการตั้งถิ่นฐานของประชากรชาวยิวและปาเลสไตน์ สีเขียวแสดงพื้นที่ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ที่ชาวปาเลสไตน์ตั้งรกรากอยู่ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

เยรูซาเลมคืออะไร

เยรูซาเลมเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนระหว่างอิสราเอลกับเขตเวสต์แบงก์ เป็นเมืองที่มีศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนายูดายและอิสลาม จึงเป็นเมืองที่ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็หมายปองจะใช้เป็นเมืองหลวง

แนวคิดเรื่องการแบ่งเมืองเยรูซาเลมอย่างยุติธรรมที่สุดยังคงเป็นปัญหาที่คุยกันไม่จบ ในช่วง 20 ปีแรกหลังอิสราเอลก่อตั้งประเทศ จอร์แดนเป็นเจ้าของพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของเทมเปิลเมาท์ หน้าผาที่เป็นที่ตั้งของกำแพงเวสเทิร์นวอลล์อันเป็นกำแพงโบราณจากวัดยิวที่ยังเหลืออยู่ ถือเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของศาสนายูดาย และยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดอัล-อัคซา และโดมทองแห่งเยรูซาเลม (Dome of the Rock) ที่เป็นทั้งศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองศาสนาที่กล่าวมา แต่หลังสงครามกับชาติอาหรับที่มีขึ้นอีกครั้งในปี 1967 อิสราเอลก็ได้เยรูซาเลมตะวันออกมาเป็นของตัวเอง


ภาพทางอากาศบริเวณทิศใต้ของเทมเปิลเมาท์ โดมสีทองตรงกลางคือ Dome Of Rock ส่วนโดมเล็กสีดำด้านหน้าคือมัสยิด อัล-อัคซา (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ทุกวันนี้อิสราเอลใช้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็แทบไม่มีประเทศไหนให้การยอมรับ สะท้อนจากการตั้งสถานทูตของหลายประเทศในเมืองเทล อาวีฟ แทนที่จะเป็นเยรูซาเลม ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ประกาศยอมรับสถานภาพเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอล เนื่องจากท่าทีเช่นว่าอาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นตัวกลางสานสันติภาพ และอาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมา กระนั้นก็ตาม แม้ท่าทีของทรัมป์ในปัจจุบันจะค้านสายตานานาประเทศอย่างไร แต่ก็ยังคงเหลือพื้นที่ให้เจรจาแบ่งกรุงเยรูซาเลมกันได้อยู่ เพราะทรัมป์เองก็ไม่ได้พูดชัดๆ ว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงที่แบ่งให้ปาเลสไตน์ไม่ได้

ชาวปาเลสไตน์โต้ตอบอิสราเอลอย่างไรบ้าง

ชาวปาเลสไตน์เองก็มีการจัดตั้งกลุ่มการเมืองและกองกำลังติดอาวุธมาตอบโต้อิสราเอลเช่นกัน ที่ได้ยินชื่อกันบ่อยมีอยู่ 2 กลุ่มคือกลุ่มฮามาส และกลุ่มองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization) ฝ่ายแรกควบคุมพื้นที่ฉนวนกาซาและมีกำลังติดอาวุธถึง 25,000 คนตามรายงานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน อีกฝ่ายคุมพื้นที่เขตเวสต์แบงก์ ทั้งสองฝ่ายยังคงไม่สามารถรวมตัวกันติดเพราะความแตกต่างด้านอุดมการณ์ ทั้งนี้ ความพยายามในการรวมตัวยิ่งซับซ้อนขึ้นหลังอิสราเอลประกาศไม่เจรจารัฐบาลปาเลสไตน์หากมีกลุ่มฮามาสร่วมรัฐบาลด้วยเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

เคยมีความพยายามสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและกลุ่มปาเลสไตน์ มีการประชุมมาดริดในปี 1991-1993 และเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนจากอิสราเอล ปาเลสไตน์ และชาติอาหรับ (จอร์แดน ซีเรีย เลบานอน) มีการเจรจาร่วมกันครั้งแรก แม้ตัวแทนจากปาเลสไตน์จะได้เป็นเพียงสมาชิกในชุดพูดคุยจากจอร์แดนเท่านั้น การแลกเปลี่ยนในที่ประชุมไม่ได้ไปถึงไหน จนกระทั่งยิตซัก ราบินได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอล จึงมีการรื้อฟื้นเรื่องการพูดคุยสันติภาพกับปาเลสไตน์อีกครั้ง นำไปสู่กระบวนการยุติความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือข้อตกลงออสโล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1993 โดยมีสหรัฐฯ เป็นตัวกลางในการสร้างสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ เป้าหมายของข้อตกลงคือการบรรลุสิ่งที่เรียกว่า “ข้อตกลงสุดท้ายด้านสถานะ” (final status agreement) ที่จะทำให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ขึ้นบนฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ แลกกับการที่ชาวปาเลสไตน์จะยุติการใช้ความรุนแรงกับชาวอิสราเอล

ตั้งแต่การพูดคุยที่ล้มเหลวในปี 2001 ก็ยังไม่มีข้อตกลงอะไรออกมา ผนวกกับปัจจัยเรื่องการรวมตัวไม่ติดของกลุ่มฮามาสและพีแอลโอ และการที่ทั้งสองฝ่ายยังใช้ความรุนแรงต่อกันก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นสำคัญอย่างไร

ที่ผ่านมา การปะทุของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์และชาติอาหรับสร้างผลกระทบให้กับโลกและไทยเป็นระยะๆ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อปี 1994 (พ.ศ.2537) มีความพยายามก่อเหตุระเบิดที่สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย คนขับรถชาวอิหร่านขับรถ 6 ล้อ บรรทุกระเบิดปุ๋ยยูเรียและระเบิดซีโฟร์มุ่งหน้าไปยังสถานทูตฯ แต่บังเอิญรถบรรทุกเฉี่ยวชนกับรถมอเตอร์ไซค์บริเวณหน้าห้างย่านชิดลม คนร้ายจึงทิ้งรถบรรทุกระเบิดและหลบหนีไป

ในปี 1973 ความขัดแย้งที่ขยายวงภายใต้บริบทสงครามเย็นที่สหรัฐฯ และหลายชาติเข้ามาช่วยเหลืออิสราเอล ทำให้ชาติอาหรับ 12 ชาติที่เป็นสมาชิกองค์กรประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปิโตรเลียม (โอเปค) คว่ำบาตรสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ สนับสนุนอิสราเอลในทางทหาร รวมถึงใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือสร้างแต้มต่อในกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาค ด้วยการลดไปจนถึงงดส่งออกน้ำมัน ทำให้ในเวลาหกเดือนต่อมาราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นถึงสี่เท่าตัว ในเวลานั้น ค่าครองชีพในสหรัฐฯ สูงขึ้นและส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ ค่าเงินดอลลาร์ลดลงในตลาดการเงินโลก ทำให้ทั่วโลกเกิดความเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ต่อมานโยบายดังกล่าวถูกนำไปใช้กับชาติที่สนับสนุนอิสราเอลได้แก่ เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกสและแอฟริกาใต้ การคว่ำบาตรทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ต่างขวนขวายหาน้ำมันมาเก็บสำรองไว้และรู้ว่าสหรัฐฯ เองก็ช่วยอะไรเรื่องนี้ไม่ได้เพราะตัวเองก็ติดกับดักการพึ่งพาแหล่งน้ำมันจากภายนอกในขณะที่ปริมาณน้ำมันสำรองก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งยังต้องคอยคานอิทธิพลสหภาพโซเวียตในตะวันออกกลาง รักษาสัมพันธ์กับชาติที่ผลิตน้ำมัน แถมยังต้องช่วยเหลืออิสราเอลอีก สุดท้ายสหรัฐฯ ต้องทำเจรจาคู่ขนาน ทางหนึ่งกับผู้ส่งออกน้ำมัน อีกทางหนึ่งจัดให้อิสราเอล อียิปต์และซีเรียมีการพูดคุยกันเพื่อขอให้อิสราเอลถอนกำลังออกจากคาบสมุทรไซนายและที่ราบสูงโกลานที่ยึดเอามาจากอียิปต์และซีเรียตามลำดับ แม้ผลการเจรจาจะล้มเหลว แต่ก็ช่วยลดความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับซีเรียได้ เป็นผลให้การคว่ำบาตรถูกยุติลงในเดือน มี.ค. 1974

แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางระบุว่าการคว่ำบาตรเช่นนี้สามารถทำได้ครั้งเดียว เพราะการคว่ำบาตรแต่ละครั้งส่งผลใหญ่หลวงต่อความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตน้ำมันเองที่จะทำให้มีผลเสียต่อพวกเขาในระยะยาว

หนึ่งประเด็นที่สำคัญในด้านความมั่นคงก็คือ อิสราเอลเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) รายงานว่า ในปี 2017 อิสราเอลมีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองถึง 80 ลูก แถลงการณ์จากสหรัฐฯ รอบนี้ทำให้หลายฝ่ายจับตามองปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแล้วในหมู่ชาวปาเลสไตน์ว่าจะขยายวงออกไปสู่กลุ่มติดอาวุธหรือรัฐบาลชาติอาหรับอื่นๆ หรือไม่ และถ้ามี อิสราเอลที่มีกำปั้นดินระเบิดนิวเคลียร์เพียงผู้เดียวในภูมิภาคจะตอบโต้อย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นคำถามที่ได้คำตอบในอนาคตอันสั้น

การออกตัวของทรัมป์ยังเป็นการตั้งคำถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงด้วยว่า การยืนข้างอิสราเอลอย่างชัดเจนจะเป็นชนวนใหม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้เป็นข้ออ้างในการปลุกระดมหาแนวร่วมหรือไม่ นอกจากนั้น เหตุรุนแรงในพื้นที่อิสราเอลที่แม้ในช่วงที่ไม่มีชนวนในระดับระหว่างประเทศที่ใหญ่เท่านี้ก็มีเหตุรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมเป็นระยะอยู่แล้ว การออกตัวแรงของทรัมป์ครั้งนี้จะนำไปสู่อะไรยังเป็นประโยคคำถามที่ทั้งโลกรอคอยคำตอบอย่างระมัดระวัง

แปลและเรียบเรียงจาก

Everything you need to know about Israel-Palestine, VOX, Dec 6, 2017

Israel will not negotiate with Palestinian unity government if Hamas is involved, The Guardian, Oct 17, 2017

Charles Smith, The Arab-Israeli Conflict, in International Relations of the Middle East, Oxford University Press, 2013, pp. 254-261

Oil Embargo, 1973–1974, US Office of the Historian, retrieved on Dec 8, 2017

100 years on: The Balfour Declaration explained, Aljazeera, Oct 29, 2017

A century on:Why Arabs resent Sykes-Picot, Aljazeera, retrieved on Dec 8, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net