Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


หมายเหตุ: ต่อจาก ก้าวคนละก้าว: ก้าวที่หลงทาง (1)


การขาดแคลนงบประมาณเป็นสาเหตุหลักในการบริหารประเทศทุกสมัย รัฐบาลส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การหารายได้ แต่ไม่สนใจรายจ่าย แม้มีรายได้ แต่บริหารรายจ่ายไม่เป็นย่อมมีผลให้งบประมาณถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

2. การจัดสรรงบประมาณ: งบประมาณ พ.ศ. 2561 (ต.ค. 2560-ก.ย. 2561) จัดสรรงบประมาณให้กับยุทธศาสตร์ 7 ด้าน รวมเป็นเงินกว่า 2.9 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้ คสช. จัดสรรงบประมาณให้กับด้านความมั่นคงกว่า 271,267 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 9.35 ของงบประมาณ

ปี พ.ศ. 2560 กองทัพมีความต้องการทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) จำนวน 103,097 นาย

เมื่อรวมทหารเกณฑ์เหล่านี้เข้ากับทหารเกณฑ์ที่ยังไม่ปลดประจำการ ไทยมีทหารกว่า 420,000 คน ติด 1 ใน 25 กองทัพที่ใหญ่ที่สุดของโลก

หากเปรียบเทียบขนาดกองทัพจีนที่มีทหารในกองทัพกว่า 2,300,000 คน เราจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

- จีนมีประชากร (2559) กว่า 1,379 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนประชากร 600 คนต่อทหาร 1 คน

ข้อมูลของกรมการปกครองไทยมีประชากร (2559) กว่า 65.9 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนประชากร 157 คนต่อทหาร 1 คน

เห็นได้ชัดว่า จีนมีทหารต่อประชากรน้อยกว่าไทยเกือบ 4 เท่า แถมจีนมีนโยบายลดขนาดกองทัพเหลือเพียง 2 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้เพื่อประหยัดงบประมาณ

- จีนมีพื้นที่ขนาด 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่ 2608.7 ไร่ต่อทหาร 1 คน

ไทยมีพื้นที่ขนาด 513,115 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นอัตราส่วนพื้นที่ 763.6 ไร่ต่อทหาร 1 คน

เห็นได้ชัดว่า ทหารจีนดูแลพื้นที่มากกว่าไทยกว่า 3 เท่า จำนวนทหารจึงไม่ใช่ตัวชี้วัดประสิทธิภาพของกองทัพ

เมื่อเปรียบสัดส่วนทหารไทย-จีนจะเห็นได้ชัดว่า ทหารไทยมีมากเกินความจำเป็น

เมื่อดูรายละเอียดงบประมาณด้านความมั่นคงเราจะพบว่า แผนงานบุคลากรภาครัฐ (ด้านความมั่นคง) มีการจัดสรรงบประมาณสูงกว่า 106,951 ล้านบาท

งบประมาณนี้ถูกจัดสรรให้กับเงินเดือน, เบี้ยเลี้ยง, สวัสดิการ, อาหาร และอื่นๆให้กับทหาร

ขณะที่แผนงานบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพมีการจัดสรรงบประมาณสูงกว่า 207,096.6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณจะพบว่า แผนงานบุคลากรภาครัฐ (ด้านความมั่นคง) มีงบประมาณมากกว่าครึ่งของแผนงานบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ

หากไทยลดขนาดกองทัพเหลือ 100,000-150,000 คนจะช่วยให้เราประหยัดงบประมาณส่วนนี้กว่า 50,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้สามารถช่วยเหลือแผนงานอื่นที่จำเป็นมากกว่า

นอกจากนี้ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งจะมีผู้อายุมากกว่า 60 ปีกว่า 14.4 ล้านคน แต่ประชากรวัยทำงาน (อายุ 20-60 ปี) กลับลดลงเหลือกว่า 30 ล้านคน ไทยอาจต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยทำงานในอนาคต

ดังนั้นการเกณฑ์ทหารเกินความจำเป็นจึงการซ้ำเติมสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานมากขึ้น

ขณะที่การลดขนาดกองทัพจะช่วยให้ประชากรวัยทำงานสามารถทำงานเพื่อสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้อย่างเต็มที่ รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น

การจัดสรรงบประมาณที่ไม่เหมาะสม การกักประชากรวัยทำงานจนไม่สามารถทำงาน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐขาดแคลนงบประมาณ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net