Skip to main content
sharethis

โซเชียลมีเดียกลายเป็นพื้นที่โพสต์ "ข่าวปลอม" และข้อความยุยงสร้างความเกลียดชังชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์ มีทั้งพระชื่อดัง คนของอองซานซูจี และกองทัพเมียนมาร์ โดยมีความพยายามใส่ร้ายป้ายสีและกล่าวอ้างความชอบธรรมต่างๆ นานา ในการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

12 ธ.ค. 2560 สื่อวอชิงตันโพสต์รายงานว่าในเมียนมาร์ก็ประสบปัญหา "ข่าวปลอม" และการสร้างข้อมูลเท็จใส่ร้ายป้ายสีเช่นกัน โดยเกิดขึ้นกับกรณีของโรฮิงญา ที่เต็มไปด้วยข่าวปลอมในทำนองสร้างความเกลียดชังและคลั่งชาติ สร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาในหมู่ชาวพุทธฯ ผ่านหน้าฟีดของเฟสบุ๊ค

มีการยกตัวอย่างรูปและการ์ตูนในเชิงยุยงให้เกิดความเกลียดชังที่อ้างว่า "ไม่เคยมีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น" กับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา เนื้อหาของสื่อเหล่านี้อ้างว่าสื่อต่างประเทศและนักสิทธิมนุษยชนกล่าวหาอย่างผิดๆ ในเรื่องที่กองทัพเมียนมาร์กระทำสิ่งที่โหดร้ายรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาเพื่อช่วยให้มีผู้ก่อการร้ายแฝงตัวเข้ามาในประเทศ พวกเขาอ้างอีกว่าผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะเข้ามาสังหารชาวพุทธฯ และเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน

วอชิงตันโพสต์ระบุว่าในประเทศที่ถูกปิดกั้นจากรัฐบาลทหารมาเป็นเวลาช้านานอย่างเมียนมาร์มีการควบคุมสื่อเก่า อย่างโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ อย่างเข้มงวด จนกระทั่งเมื่อประเทศเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยความเข้มงวดก็เริ่มหย่อนลงรวมถึงการที่คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วจากโครงการ Free Basics ของบริษัทเฟสบุ๊ค ที่ให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและเฟสบุ๊คฟรีแต่จะจำกัดเงื่อนไขการเข้าถึงเว็บอื่นๆ ทำให้ชาวเมียนมาร์ใช้เฟสบุ๊คเป็นพื้นที่หลักในการเสพข้อมูลข่าวสาร มีการสำรวจพบว่าชาวเมียนมาร์ผู้ใช้เฟสบุ๊คร้อยละ 38 รับข่าวสารผ่านเว็บนี้

ทว่าพื้นที่เฟสบุ๊คนี้ก็กลายเป็นตัวการในการแพร่กระจายความเกลียดชังทางเชื้อชาติในเมียนมาร์ ทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้นในช่วงที่กองทัพเมียนมาร์เข้าไปกวาดล้างชาวโรฮิงญาจนทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 ราย ต้องอพยพไปสู่ชายแดนบังกลาเทศ

วอชิงตันโพสต์ระบุอีกว่าผู้ที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังผ่านหน้าฟีดของเฟสบุ๊คไม่ใช่แค่คนธรรมดาทั่วไปเท่านั้นแต่ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงและโฆษกของอองซานซูจี ในเรื่องนี้ แมธธิว สมิทธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ส องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกว่าเมียนมาร์กำลังเผชิญกับ "การโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่ารังเกียจ" ในเรื่องการล้างเผ่าพันธุ์และเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ "ลุกลามดั่งไฟป่า" ผ่านเฟสบุ๊ค

รุจิกา บุธราจา โฆษกเฟสบุ๊คกล่าวว่าทางบริษัทกำลังพยายามจัดการเรื่องวาจาที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือเฮทสปีชในเมียนมาร์ โดยมีทีมงานภาษาเมียนมาร์คอยสอดส่องโพสต์ต่างๆ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และต้องอาศัยผู้ใช้ในการช่วยระบุว่าเนื้อหาไหนที่อาจจะ "ละเมิดมาตรฐานชุมชน" โซเชียลมีเดียแห่งนี้ อย่างไรก็ตามบุธราจากล่าวว่าการนำเสนอข้อมูลเท็จ (misinformation) ในตัวมันเองจะไม่ถูกนำมาพิจารณานำเนื้อหาออกเว้นแต่เนื้อหาเหล่านั้นจะมีความอนาจารหรือมีการข่มขู่คุกคามอยู่ด้วย

ทั้งนี้ยังมีกรณีที่พระอะชิน วิระธุ พระรูปดังที่พูดในเชิงสร้างความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมในเมียนมาร์ก็อาศัยช่องทางเฟสบุ๊คในการให้คนติดตามหลังจากที่เขาถูกรัฐบาลสั่งแบนไม่ให้เทศน์ในที่สาธารณะเป็นเวลา 1 ปี วิระธุมักจะกล่าวเหยียดชาวมุสลิม โพสต์รูปศพแล้วอ้างว่าเป็นชาวพุทธที่ถูกมุสลิมสังหาร ขณะเดียวกันก็ไม่เคยยอมรับรู้ความโหดร้ายที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญเลย ถึงแม้ว่าเฟสบุ๊คจะเคยแถลงว่าเขาเคยจำกัดการเข้าถึงเฟสบุ๊คของวิระธุมาก่อนในอดีตและมีการนำเนื้อหาบางอย่งของเขาออกไปแต่ก็ไม่ได้บอกว่าทางเฟสบุ๊คมีการตรวจสอบเฮชสปีชอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

เรื่องของพระวีระธุผู้ยุยงให้เกิดความรุนแรงทางศาสนาในพม่า
เผยนักข่าวพลเมืองชาวโรฮิงญาหายตัวเพียบ หวั่นฝีมือกองทัพเมียนมาร์
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: วิกฤตโรฮิงญาและการทูต

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่พระชาตินิยมรายอื่นใช้เฟสบุ๊คเป็นเครื่องมือในการเกณฑ์คน เช่น กรณีของธุ เสกตา (Thu Seikta) ผู้ที่มองว่าเฟสบุ๊คไม่ใช่แค่พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดแต่ยังใช้ขับเคลื่อนผู้ติดตามด้วย ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเขาเคยใช้โฆษณาการเดินขบวนนอกสถานทูตสหรัฐฯ ในย่างกุ้งเพื่อประท้วงที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้คำว่า "โรฮิงญา" และต่อมาก็ใช้เรียกอาสาสมัครไปข่มขู่คุกคามผู้ประกอบการชาวมุสลิมที่ค้าขายใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง

เสกตายังอ้างถึงปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาว่าเป็นปฏิบัติการที่ทหารเข้าไปสังหารกลุ่มติดอาวุธในนั้นเท่านั้น เขายังไม่เรียกชาวโรฮิงญาว่า "โรฮิงญา" แต่ยังเรียกว่าเป็น "พวกเบงกาลี" ซึ่งในบริบทนี้จัดเป็นคำที่มีความหมายทางลบสำหรับการใช้เรียกชาวโรฮิงญา เขายังกล่าวหาอีกว่า "พวกเบงกาลีเป็นกลุ่มคนที่อันตรายที่สุดในโลก" และพูดถึงการลี้ภัยหลังถูกกวาดล้างว่า "เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกนั้นกลับบ้านตัวเอง ถ้าพวกนั้นกลับมาอีก ก็จะมีความรุนแรงมากกว่านี้"

มีการตั้งข้อสังเกตจากวอชิงตันโพสต์ว่า ฝ่ายรัฐบาลและบัญชีผู้ใช้งานที่เป็นคนของกองทัพมักจะเป็นผู้ที่เริ่มเผยแพร่ความเกลียดชังและเรียกชาวโรฮิงญาว่า "เบงกาลี" แม้ว่าชาวบังกลาเทศจะเคยเกี่ยวโยงกับเมียนมาร์ก่อนช่วงยุคอาณานิคมก็ตาม เช่น ในกรณีของเพจผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาร์มีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านไลก์มีการเปิดเผยผลการสอบสวนภายในที่เป็นข้ออ้างให้กองทัพพ้นจากข้อกล่าวหาในการสังหารชาวโรฮิงญา ในนั้นยังมีการระบุคำว่า "ผู้ก่อการร้ายเบงกาลี" ถึง 41 ครั้ง 

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาเผาหมู่บ้านตัวเองเพื่อโทษกองทัพวาทกรรมการเล่าเรื่องแบบนี้แพร่หลายไปทั่วและโฆษกของอองซานซูจีเองก็ร่วมกล่าวอ้างในเรื่องนี้ด้วยรวมถึงโพสต์ภาพในเฟสบุ๊คเพจของตัวเองที่มีคนพิสูจน์แล้วว่าเป็นภาพตัดต่อแต่ก็ยังคงปล่อยให้ภาพนั้นอยู่ต่อไป  

เดวิด มาธีสัน นักวิเคราะห์เมียนมาร์ที่เคยทำงานให้ฮิวแมนไรท์วอทช์วิจารณ์การใช้สื่อโซเชียลมีเดียเผยแพร่แบบของรัฐบาลเมียนมาร์ว่าเป็นความ "ไร้วุฒิภาวะในการบริหารประเทศ" และวิจารณ์กองทัพเมียนมาร์ว่า "เป็นทาสโซเชียลมีเดีย"

วอชิงตันโพสต์ยังได้สัมภาษณ์ชาวเมียนมาร์รายหนึ่งที่ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ เขาพูดถึงรูปการ์ตูนที่เป็นภาพองค์กรความร่วมมืออิสลามกับสหประชาชาติผลักม้าโทรจันที่เต็มไปด้วยกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาเข้ามาในเมียนมาร์ว่า "ดูการเมืองเกินไป" ขณะที่พูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับรูปทหารเมียนมาร์ที่เสียชีวิตเมื่อนานมาแล้วว่าเป็นข่าวปลอมอย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็ยอมรับว่าตัวเขาแยกแยะข่าวปลอมและข่าวจริงได้จากประสบการณ์ล้วนๆ และเมียนมาร์ก็ยังเพิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลเมียนมาร์เองก็ดูจะพยายามควบคุมการแสดงออกบนสื่ออินเทอร์เน็ตด้วยการผ่านร่างกฎหมายใหม่ในรัฐสภาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมากฎหมายดังกล่าวระบุให้มีการสอดส่อง "การใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารในทางที่ผิดอันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อลักษณะนิสัยและจริยธรรมของเยาวชนและรบกวนความสงบเรียบร้อย"

รองประธานของเฟสบุ๊คระบุถึงปัญหาเฮทสปีชในเมียนมาร์โดยยอมรับว่าพวกเขามีปัญหาในการดำเนินนโยบายนี้อย่างถูกต้องเหมาะสมเพราะปัญหาเรื่องการทำความเข้าใจบริบท ถ้าหากมีการตรวจสอบเพิ่มเติมก็อาจจะสามารถดำเนินนโยบายได้ถูกต้องเหมาะสมได้ ถือเป็นความท้าทายของพวกเขาในระยะยาว



เรียบเรียงจาก

Fake news on Facebook fans the flames of hate against the Rohingya in Burma, Washington Post, 08-12-2017
https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/fake-news-on-facebook-fans-the-flames-of-hate-against-the-rohingya-in-burma/2017/12/07/2c1fe830-ca1f-11e7-b506-8a10ed11ecf5_story.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net